801 รหัสทางไกลจากป่าทุ่งใหญ่

801 รหัสทางไกลจากป่าทุ่งใหญ่

24 เมษายน พ.ศ. 2517 ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พื้นที่กว่า 2  ล้านไร่ ในเขตอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรอย่างเป็นทางการ นับเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ก่อนที่จะถูกแบ่งการบริหารจัดการพื้นที่ออกเป็นสองส่วนคือ ทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก และด้านตะวันออก ในปี 2532

ระยะเวลากว่า 41 ปีจากการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในพื้นที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการบริหารจัดการอย่างมากมาย ที่แห่งนี้มีชายคนหนึ่งเริ่มหน้าที่การงานของเขาในฐานะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าพร้อมกับช่วงเวลาเดียวกันที่ประกาศให้ทุ่งใหญ่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จนมาถึงวันที่เขาเกษียณอายุราชการ (พ.ศ. 2557) แม้ในตอนนี้ ลุงเฮี้ยบ หรือ ‘ประสิทธิ์ ศรีวัฒนะมงคล’ จะผ่านวัย 60 ปีแล้ว แต่ก็ยังคงทำหน้าที่ของตนเอง ประหนึ่งว่านี่คืองานที่เขาไม่อาจเลิกราได้

เรารู้จักกับลุงเฮี้ยบ ในช่วงเวลาที่ทาง ‘มูลนิธิสืบนาคะเสถียร’ เข้าไปปฏิบัติภารกิจมอบถุงนอนให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าตามหน่วยพิทักษ์ป่าในเขตทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก ขณะที่รถจอดหยุดพักและได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่านายหนึ่ง เขาพยักพเยิดให้มองไปหาชายสูงวัยที่ยืนอยู่ใต้ร่มไม้ห่างจากเราไปแค่ถนนดินแดงแข็งๆ คั่นกลาง

“อยากรู้ตำนานความเป็นมาของพิทักษ์ป่าในทุ่งใหญ่ฯ ถามคนนั้นเลยครับ ลุงเฮี้ยบแกเป็นพิทักษ์ป่ารุ่นแรกของที่นี่ จริงๆ ลุงแกเกษียณไปแล้วครับ แต่ก็ยังมาออกลาดตระเวนกับเราอยู่ตลอด แกทำงานที่นี่มาตั้งแต่ก่อนจะบรรจุจนกระทั่งเกษียณ ไม่แปลกหรอกครับที่จะผูกพันกับที่นี่ เพราะมันเหมือนบ้านของแกไปแล้ว”

ลุงเฮี้ยบ หรือ ‘ประสิทธิ์ ศรีวัฒนะมงคล’

นั่นจึงทำให้เราได้มีโอกาสมานั่งคุยกับลุงเฮี้ยบ ซึ่งเมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้ลุงเข้ามาทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่านั่นคือ

ที่นี่เป็นเหมือนบ้านของผม ผมต้องการดูแลรักษาป่าบ้านเกิดของผมเอาไว้ ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคนอื่นก็คิดเหมือนผมนั่นคือการดูแลป่าบ้านเราให้ลูกให้หลานต่อไป

 

เส้นทางอันยาวนานกว่า 41 ปีในการทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าไพร เริ่มต้นจากการชักชวนของญาติผู้ใหญ่ ในขณะนั้นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเพิ่งได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์ฯ และยังไม่มีการแบ่งแยกอาณาเขตรับผิดชอบออกเป็นด้านตะวันตกและด้านตะวันออก ผืนป่าอันกว้างเปรียบเทียบกับขนาดที่ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ถึงเท่าตัวจึงเป็นหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบของลุงเฮี้ยบและผองเพื่อน

“การจะเข้ามาทำงานในตำแหน่งพิทักษ์ป่าในตอนแรกเริ่มนั้นต้องผ่านการทำงานในตำแหน่งลูกจ้างทั่วไปมาก่อน 5 ปี มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านงานในพื้นที่ แล้วถึงจะสามารถสอบเข้ามาเป็นลูกจ้างประจำได้ครับ ผมเข้ามาทำรุ่นแรก รหัสวิทยุที่ได้ก็เป็น 801 คือเป็นรหัสแรก พิทักษ์ป่าคนแรกที่ได้รหัสวิทยุนี้ ส่วนที่ทำการเขตฯ ที่แรกอยู่ที่หน่วยเซซาโวในปัจจุบันครับ”

แม้ปัจจุบันถนนจะดีขึ้นกว่าเดิมมาก และไม่ได้เดินทางในฤดูฝน แต่กว่าจะเดินทางเข้ามาถึงก็ใช้เวลาเกินครึ่งวัน ทำให้พวกเราอดคิดไม่ได้ว่า แล้วกว่า 40 ปีที่แล้ว ซึ่งเทคโนโลยีไม่ได้ดีแบบนี้ โครงสร้างรถไม่ได้แข็งแกร่งทนทานบุกไปได้ทุกที่ ความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในตอนนั้นจะเป็นอย่างไร

“ถ้าถามถึงอุปสรรคในการทำงานนะ อันดับต้นๆ เลยน่าจะเป็นการเดินทางนี่ล่ะ บางทีรถเสียไม่มีอะไหล่ก็ต้องจอดทิ้งไว้กลางป่าแล้วเดินเท้าต่อ หรือบางทีก็ขี่ช้างเอา เพราะมันไม่มีรถไง ก็รถเสีย เดินเท้าออกไปตัวเมืองสังขละเพื่อซื้อเสบียงแล้วก็จ้างให้เขาเอาช้างขนเสบียงขนข้าวกลับมาส่งที่หน่วย ก่อนหน้านี้ทั้งเขตมีรถคันเดียว เดือนหรือสองเดือนจะได้มีโอกาสเข้าตัวเมือง เพื่อซื้อเสบียงหรือไปเยี่ยมครอบครัว ผมเคยไม่ได้ออกมาจากป่าเลยเกือบหกเดือน”

ตอนนั้นเรานิ่งไป… คิดในใจว่า หกเดือนกับป่าเงียบๆ ความเป็นอยู่จะเป็นอย่างไรหนอ

“แต่นั่นยังพอทนไหวนะ เพราะมันมีเสบียง มีคนอยู่ด้วย แต่มีครั้งหนึ่งผมอยู่กับลูกน้อง 3 คน เสบียงใกล้จะหมด เหลือข้าวแค่ถังเดียว ไม่รู้จะทำยังไง รถก็ไม่มี เงินก็ไม่มี อีกสิบห้าวันกว่าจะถึงสิ้นเดือน เลยสั่งให้ลูกน้องออกกลับออกไปอยู่บ้าน แล้วผมนอนเฝ้าหน่วยอยู่คนเดียว”

ฟังดูแล้วโหดร้าย แต่นั่นยังไม่มากเท่าอุปสรรคในการทำงานที่นอกจากจะเป็นการเดินทางแล้ว อุปกรณ์เครื่องมือในการทำงานในตอนนั้นยังไม่มีเพียบพร้อมอย่างทุกวันนี้

“นี่ดีขึ้นมากแล้วนะผมว่า เมื่อก่อนยังไม่มีเครื่องจีพีเอส ส่วนปืนบางทีทั้งหน่วยมีอยู่กระบอกเดียว ถ้าถามว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าตอนนี้ต้องการอะไร น่าจะเป็นอาวุธนี่แหละ เพราะบางทีเจอพรานป่า ปะทะกัน อาวุธพรานดีกว่า เยอะกว่าของเจ้าหน้าที่อีก”

หน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม่ได้มีเพียงการลาดตระเวน ดูแลปกป้องผืนป่า เท่านั้น แต่ยังต้องคอยจัดการ ดูแลชาวบ้านที่อยู่อาศัยรอบผืนป่า และบางหมู่บ้านยังมีพี่น้องชาวกะเหรี่ยงโผล่วที่อพยพมาจากพม่าอาศัยในพื้นที่ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์เป็นเวลานาน (คาดว่าน่าจะอพยพมาตั้งแต่สมัยอยุธยา)

“ส่วนมากเป็นชาวพม่าอพยพมาจากเมืองมะละแหม่งครับ เพราะพ้นเขตเขาลูกนี้ไปก็เป็นพม่าแล้ว” ลุงเฮี้ยบชี้บอกให้เราดูภูเขาที่ทอดขวางระหว่างพรมแดนไทยพม่า “เพราะชาวบ้านพวกนี้เขาอยู่มาก่อนที่เราจะประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พวกเขาจึงมีสิทธิ์ในพื้นที่ ตอนนี้ไม่มีปัญหาอะไรกันแล้วครับ เพราะได้เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิสืบเข้ามาเป็นตัวประสานงานด้วย นอกจากนี้แล้วสมัยก่อนยังมีปัญหาคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ด้วย การเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสมัยก่อนจึงไม่ได้ทำงานด้านปราบปรามดูแลป่าไม้แค่ด้านเดียว แต่ยังต้องมีงานชุมชนด้วย”

ปัญหาและอุปสรรคที่ลุงเฮี้ยบต้องเผชิญมาตลอด 41 ปีในการทำงาน มันอยู่เหนือจินตนาการที่เราจะคิดได้ว่าตอนนั้นต้องพบกับความลำบากมากแค่ไหน นอกจากปัญหาภายในเช่นเรื่องเบี้ยเลี้ยง เสบียงที่ไม่เพียงพอ ยังต้องเจอปัญหาภายนอก เช่น ผู้มีอิทธิพล ปัญหาจากการทำงาน ทั้งเรื่องอาวุธ หรือเรื่องการปะทะพรานป่าที่ทำให้ลุงเฮี้ยบเสียเพื่อนร่วมงาน แล้วมีสาเหตุใดที่ยังทำให้ลุงเฮี้ยบทำงานได้ยาวนานขนาดนี้

คำตอบสั้นๆ ที่เราได้รับก็คือ

ก็เป็นเพราะมันเป็นป่าของพื้นที่บ้านเรา เราเลยอยากดูแลเอาไว้ให้ดีที่สุด

อีกทั้งตลอดสามคืนสี่วันที่ได้คลุกคลีกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เราเคยมองว่าพวกเขามีชีวิตที่ยากลำบาก เรากลับพบว่าพวกเขามีแต่รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ด้วยความสุขกับการที่ได้ดูแลป่าแทนคนไทยอีกหลายล้านคน เราจึงได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า

‘งานของพิทักษ์ป่าจึงน่าสรรเสริญ มากกว่าน่าสงสาร’

 


เรื่อง / ภาพ นางสาวทัชชา ศรียานนท์