นกแร้งผ่านความเชื่อในแต่ละวัฒนธรรมทั่วโลก

นกแร้งผ่านความเชื่อในแต่ละวัฒนธรรมทั่วโลก

บ่อยครั้งที่หลากหลายอารยธรรมทั่วโลกมักมีความเชื่อมโยงกับสิ่งมีชีวิตให้เข้ากับเรื่องราวทางความเชื่อ อันมีที่มาจากพฤติกรรม รูปลักษณ์ ซึ่งได้ถูกจับมาผสมรวมผ่านภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้น

นกแร้งก็เป็นสัตว์อีกชนิดที่ถูกยึดโยงเข้ากับความเชื่อต่างๆ มากมาย บางเรื่องราวอาจอ้างอิงมาจากพฤติกรรม ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการหาศพของสัตว์ที่ตายแล้วได้อย่างว่องไว มนุษย์ในอดีตจึงมีความเชื่อว่านกแร้งมีความสามารถในการพยากรณ์อนาคตและความตาย

นกแร้งพบได้ในเกือบทุกทวีป ซึ่งอาศัยอยู่ในระบบนิเวศที่หลากหลาย ตั้งแต่ทุ่งหญ้าสะวันนาของแอฟริกาไปจนถึงภูเขาของทิเบต ในปัจจุบันแร้งทั่วโลกมีทั้งหมด 23 สายพันธุ์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ แร้งโลกใหม่ (Cathartidae) พบในอเมริกาเหนือ ใต้ และอเมริกากลาง และแร้งโลกเก่า (Accipitridae) พบในแอฟริกา เอเชีย และยุโรป)

แต่สำหรับมุมมองต่อแร้งในทางด้านวัฒนธรรม แร้งในแต่ละทวีปหรือประเทศก็ถูกมองแตกต่างกันออกไป จากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น ความเชื่อทางศาสนา และบริบททางประวัติศาสตร์

เริ่มจากบริบทที่ใกล้ตัวเราก่อน ประเทศไทยในอดีต นกแร้งถูกมองอย่างเข้าใจผิดว่าเป็นลางร้าย กรณีศึกษาที่สำคัญเป็นบันทึกจากเหตุการณ์แร้งรุมทึ้งศพที่วัดสระเกศในสมัยที่อหิวาตกโรคระบาดหนัก จนถึงขั้นบันทึกไว้ในตำรา ‘สกุณฤกษ์’ ซึ่งคือตำราที่กล่าวถึงฤกษ์ที่ดีในการทำสิ่งต่างๆ ไว้ว่า “ถ้าเห็นพญาแร้งบินมา ดุจพระยามาร ถ้าเห็นนกกระเรียนมา ดุจมนตรีหรือเสนาบดีมา ถ้าแลเห็นนกกาบินมา ดุจอำมาตย์ผู้ใหญ่มา ถ้าแลเห็นนกทั้งหลายบินมา ดุจสมณะและพราหมณ์มา”

แต่ในบางกรณีนกแร้งได้รับการเคารพในฐานะสัญลักษณ์ของการชำระล้าง การเปลี่ยนแปลง และความเชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์และจิตวิญญาณ พวกมันปรากฏในตำนานเปรียบดั่งวัฏจักรของชีวิตและความตาย ในอียิปต์โบราณมีความเชื่อว่านกแร้งนั้นเปรียบเสมือน ผู้ปกป้องจากสรวงสวรรค์ ไปจนถึงประเพณีการฝังศพบนท้องฟ้า (Sky buria) ในทิเบต หรือพิธีศพของศาสนาโซโรอัสเตอร์ที่มองว่าศพไม่ควรถูกฝังเพราะจะทิ้งความสกปรกแก่ผืนดินดังนั้นวิธีที่บริสุทธิ์ที่สุดคือการให้แร้งรุมทึ้งกินบนหอคอยที่เรียกว่า แดฆแมฮ์ (Dakhma) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการเดินทางของจิตวิญญาณ ความเชื่อเหล่านี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงความเชื่อมโยงอันสลับซับซ้อนของมนุษย์และวัฎจักรทางธรรมชาติที่คอยค้ำจุนโลกเอาไว้

Dakhma

ในอียิปต์โบราณยังมีความเชื่อว่านกแร้งนั้นเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่ทรงพลังในการปกป้อง ความเชื่อเหล่านี้ถูกฝังรากลึกอยู่ในโครงสร้างทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของอารยธรรม อาทิ เทพธิดาที่แปลงร่างเป็นนกแร้งเพื่อปกป้องและป้องกันทารกแรกเกิดจากวิญญาณชั่วร้ายและโรคภัยไข้เจ็บ จนได้รับฉายาว่าเทพีแห่งการคลอดบุตร นามว่า เนคเบท (Nekhbet) หรือเทพธิดาอิแร้ง ในตำนานเธอมักถูกมองว่าเป็นอีแร้งหรือผู้หญิงที่มีหัวเหมือนอีแร้ง โดยจากภาพเขียนบนฝาผนังวิหารจะพบว่าปีกของเธอกางออกเพื่อโอบกอดฟาโรห์และประเทศชาติ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการปกป้องและการเลี้ยงดูของนกแร้ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นแม่ด้วย อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของฟาโรห์ด้วยดั่งที่ปรากฎในมงกุฎและผ้าโพกศีรษะ

Nekhbet

เช่นเดียวกับในทิเบต ที่ภูมิประเทศเต็มไปด้วยขุนเขาสูงชัน ก็มีพิธีการฝังศพบนท้องฟ้า ซึ่งเป็นประเพณีงานศพโบราณที่เรียกว่า เจฮาเตอร์ (Jhator) ซึ่งแปลว่า ‘การให้ทานแก่นก’ การปฏิบัตินี้สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับทางปรัชญาอย่างลึกซึ้งต่อความไม่จีรังยั่งยืน มีการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป ของชีวิต การฝังศพบนท้องฟ้าไม่เพียงแต่เป็นสิ่งจำเป็นในทางปฏิบัติในภูมิประเทศที่ขรุขระมีแต่หิน ซึ่งพื้นดินแข็งเกินไปสำหรับการฝังศพแบบดั้งเดิม และไม้ก็หายากสำหรับการเผาศพ แต่ยังรวมเอาหลักการทางพุทธศาสนาอันลึกซึ้งที่เป็นส่วนสำคัญในชีวิตของชาวทิเบตอีกด้วย

ในระหว่างพิธีการฝังศพบนท้องฟ้า ร่างของผู้ตายจะถูกนำไปถวายแก่นกแร้ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือ ‘ฑากินี’ (Dakini – นักเต้นระบำบนท้องฟ้า) ในการกระทำครั้งสุดท้ายของการเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่น ปล่อยให้ร่างกายสามารถดำรงชีวิตรูปแบบอื่นได้ พิธีกรรมนี้เน้นย้ำปรัชญาทางพุทธศาสนาในการละจากโลกวัตถุ โดยมองว่าการรุมทึ้งกินซากศพของนกแร้งไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นความต่อเนื่องของวงจรชีวิต มีส่วนช่วยให้จิตวิญญาณเดินทางไปสู่การเกิดใหม่ การปฏิบัติดังกล่าวยังเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเข้าใจทางนิเวศวิทยาของวัฒนธรรมทิเบต ซึ่งแสดงถึงแนวทางสู่ความตายที่ยั่งยืน 

นกแร้งยังมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมการห่อศพหรือการทำมัมมี่ โดยปรากฏภาพเขียนฝาผนังรูปนกแร้งกางปีก ภายในห้องเก็บศพของชาวอียิปต์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งนำทางสำหรับดวงวิญญาณไปสู่โลกหลังความตาย จากบทบาทของอีแร้งในธรรมชาติที่รุมทึ้งกินทำความสะอาดซากศพจนเหลือแต่กระดูก

สถานภาพอันศักดิ์สิทธิ์ของนกแร้งในอียิปต์โบราณเน้นย้ำถึงกระบวนทัศน์ทางวัฒนธรรมที่สัตว์ไม่เพียงถูกมองว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางของกรอบทางจิตวิญญาณและตำนานเล่าขานของสังคมอีกด้วย แสดงให้เห็นอารยธรรมที่กลมกลืนอย่างลึกซึ้งกับโลกธรรมชาติ

ในทวีปอเมริกา นกแร้งได้รับการยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ของการชำระล้าง การฟื้นฟู และตัวกลางทางจิตวิญญาณโดยเป็นความเชื่อที่ปรากฏรูปร่างของสรรพชีวิตในธรรมชาติที่เป็นวัฏจักรก่อให้ความสมดุลระหว่างอาณาจักรทางกายภาพและโลกของวิญญาณ

วัฒนธรรมพื้นเมืองทั่วอเมริกาเหนือ ยกย่องบทบาทของ แร้งไก่งวง (Turkey vulture) ในการชำระล้างผืนดิน เนื่องจากพฤติกรรมการกำจัดซากสัตว์ซึ่งช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรค เปรียบดั่งตัวแทนของการทำให้บริสุทธิ์ ขจัดความเสื่อมโทรมออกไปเพื่อสร้างหนทางสู่ชีวิตใหม่ วัฏจักรของการบริโภคซากศพและอำนวยความสะดวกในกระบวนการฟื้นฟูทางธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้มีความสอดคล้องกับปรัชญาของชนพื้นเมืองจำนวนมากที่มองว่าชีวิต ความตาย และการเกิดใหม่เป็นขั้นตอนของการดำรงอยู่ที่สำคัญและเชื่อมโยงถึงกัน

Turkey Vulture / PHOTO Abhishek Kambhampati

ในส่วนของทวีปอเมริกาใต้ บริเวณเทือกเขาแอสดีส ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของ แร้งคอนดอร์แอนดีส (Andean condor) ซึ่งเป็นนกบินบนบกที่ใหญ่ที่สุด สามารถแผ่ขยายปีกได้มากกว่าสามเมตร จากความอัศจรรย์ทางธรรมชาติของมัน นกชนิดนี้จึงได้รับการยกย่องอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชนเผ่าพื้นเมืองในเทือกเขาแอนดีส เนื่องจากมีการบินอันสง่างามซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพ อำนาจ และการเชื่อมต่อกับพระเจ้า ซึ่งเชื่อมระหว่างโลกและท้องฟ้า

ความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ของแร้งในทวีปอเมริกาปรากฏชัดในสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมต่างๆ ตั้งแต่ภาพสกัดหินและโทเท็ม (Totem – เสาสลักของชาวอินเดียแดง) ไปจนถึงเครื่องแต่งกายในพิธีการและนิทานพื้นบ้าน การแสดงเหล่านี้มักเน้นย้ำถึงบทบาทของนกในการเป็นพาหะนำความตาย สัญลักษณ์แห่งการชำระให้บริสุทธิ์ และผู้ส่งสารระหว่างโลก และพิธีกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับการอัญเชิญวิญญาณของนกแร้งมาชำระล้างพื้นที่หรือชุมชน

Totem

บทบาทของแร้งถือเป็นส่วนสำคัญ การยอมรับร่างกายเป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยจิตวิญญาณและความพร้อมที่จะเข้าสู่ขั้นต่อไปของการดำรงอยู่โดยปราศจากข้อจำกัดทางกายภาพของโลก การฝังศพบนท้องฟ้าจึงห่อหุ้มแก่นแท้ของจิตวิญญาณของชาวทิเบต โดยที่ความตายถูกมองว่าเป็นขั้นตอนสำคัญในวงจรนิรันดร์แห่งการดำรงอยู่ในโลกธรรมชาติที่มีนกแร้งเป็นตัวแทน

ในอินเดียนกแร้งได้มีอิทธิพลต่อ วัฒนธรรม ศาสนา และระบบนิเวศอย่างมีนัยสำคัญ พวกมันเป็นตัวแทนของความเป็นคู่ (Duality) ที่ซับซ้อนเนื่องจากถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความตายและความเสื่อมโทรมแต่ในอีกด้านหนึ่งก็ได้รับการเคารพในฐานะเทพเจ้าที่มีชีวิตและผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ

ในตำนานเทพเจ้าฮินดู นกแร้งถูกมองว่าเป็นนกศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เห็นได้จากเรื่องราวมหากาพย์รามเกียรติ์ได้พรรณนาถึง นกแร้งสดายุ (Jatayu) ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญจนกระทั่งปีกหัก เพื่อพยายามช่วยเหลือนางสีดาจากทศกัณฐ์  ถือสัญลักษณ์ของอีแร้งกับการปกป้อง ความภักดี และการต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่ว ทำให้นกมีสถานะที่คล้ายกับเทพเจ้าที่มีชีวิตมีความกล้าหาญและเสียสละ ความเชื่อเหล่านี้ได้ยกสถานะของนกแร้งจากสัตว์กินของเน่าไปจนถึงผู้พิทักษ์และแบบอย่างทางศีลธรรมภายในภูมิทัศน์ทางจิตวิญญาณ

Jatayu

กลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคอนุทวีปอินเดียซึ่งนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ อย่างชาวปาร์ซี (Parsis) ก็ได้มีแนวทางปฏิบัติแบบดั้งเดิมในการกำจัดซากศพมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอาศัยนกแร้งในหอคอยแห่งความเงียบงัน (Tower of Sillence) คนตายจะถูกวางไว้ในหอคอยเปิดโล่งเพื่อให้นกแร้งกัดกิน สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในความบริสุทธิ์ของดิน ไฟ และน้ำ ที่ไม่ควรทำให้ซากศพมนุษย์เป็นมลทิน พิธีกรรมนี้ได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของนกในวงจรชีวิตและความตาย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติทางวัฒนธรรมในอินเดียแสดงให้เห็นภาพนกแร้งในฐานะสัญลักษณ์หลายมิติของความบริสุทธิ์ การต่ออายุ และความสมดุลของระบบนิเวศ

ในวัฒนธรรมแอฟริกัน นกแร้งเป็นตัวแทนของการฟื้นฟู ชุมชน และธรรมชาติของชีวิตและความตาย สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่หยั่งรากลึกของวิถีชีวิตในทุ่งหญ้าสะวันนา มีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพทางนิเวศวิทยาของแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมันในฐานะทีมทำความสะอาดธรรมชาติ พวกมันได้รับความเคารพนับถือในคติชนและสัญลักษณ์ทางสังคมทั่วแอฟริกา ซึ่งเป็นตัวแทนของการชำระล้างและการทำให้บริสุทธิ์ทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณ ผ่านกรอบแนวคิด อูบุนตู (UBUNTU) เป็นกรอบความคิดของชาวแอฟริกาดั้งเดิม คือสิ่งที่บ่งบอกถึงบทเรียนสำคัญของการเป็นมนุษย์ที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งหมดและความรับผิดชอบร่วมกันของเราต่อความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและความสามัคคีในระบบนิเวศ

ความสำคัญทางวัฒนธรรมของนกแร้งทำหน้าที่เป็นภาพสะท้อนถึงทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปของเราต่อธรรมชาติ และความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับจุดยืนของเราบนโลกใบนี้  เรื่องราวของนกแร้งสนับสนุนให้เราเพิ่มความชื่นชมต่อสัตว์เหล่านี้ และรับทราบถึงความสมดุลที่สำคัญที่พวกมันยึดถือในระบบนิเวศทั่วโลก 

การปกป้องนกแร้งไม่ได้เป็นเพียงการอนุรักษ์เท่านั้นแต่ยังเป็นการยอมรับถึงสายใยแห่งชีวิตที่สลับซับซ้อน ความมุ่งมั่นที่จะรักษาความหลากหลายของมรดกทางวัฒนธรรมของเรา และการยอมรับในภูมิปัญญาอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ 

เมื่อมองผ่านเลนส์ของวัฒนธรรม อีแร้งจะรับความหมายใหม่ในฐานะสัญลักษณ์ของความยืดหยุ่น การเปลี่ยนแปลง และการเชื่อมโยงที่ยั่งยืนซึ่งผูกมัดเราไว้กับโลกธรรมชาติ มันกระตุ้นให้เรามุ่งสู่อนาคตที่เราให้ความสำคัญและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อรักษาไว้สำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia