ช่วงหยุดยาวปีใหม่ หลาย ๆ ท่านอาจได้มีโอกาสขึ้นไปเป็นผู้พิชิตภูเขาหินทรายยอดตัดรูปหัวใจมาแล้ว “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” นอกจากมิตรภาพที่พบเจอได้ระหว่างการเดินขึ้นลงภูแห่งนี้จากคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแล้ว บนภูกระดึงมีอะไรน่าสนใจมากกว่าที่หลายคนคิด จึงอยากชวนมาทำความรู้จักภูกระดึงให้มากขึ้นอีกนิด และครั้งต่อไปคุณอาจจะขึ้นภูกระดึงด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป
ภูกระดึงถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกในจังหวัดเลย และเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 2 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 โดยตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย ปกคลุมไปด้วยป่าตามธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 98 มีลักษณะเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด ที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์หายาก เช่น กุหลาบพันปีสีแดงและสีขาว ฯ รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิด เช่น เลียงผา ลิ่นชวา เต่าเหลือง ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว ฯลฯ
นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีกิจกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญคือ กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธเมตตา
ด้วยคุณสมบัติที่กล่าวมาทำให้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2566 อุทยานแห่งชาติภูกระดึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Park) แห่งที่ 57
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ทำให้ภูกระดึงได้รับการยอมรับจนถูกประกาศเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนเพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์ ผู้เขียนจึงอยากเชิญชวนทุกท่านมาสัมผัสความงามของพรรณไม้บนยอดภูกระดึงหลาย ๆ ชนิดที่น่าสนใจกันค่ะ
พรรณไม้ที่สำรวจพบเป็นครั้งแรกของโลกบนภูกระดึง และมีการเก็บตัวอย่างแห้งแล้วนำไปจำแนกชื่อวิทยาศาสตร์ได้เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก (New species) หลายชนิด ถือว่าภูกระดึงเป็นแหล่งตัวอย่างต้นแบบ (Type locality) ของพืชเหล่านั้น เช่น ดอกหรีดกอ หญ้าบัวแบ กระดุมภูกระดึง กระดุมสยาม ฯ
ดอกหรีดกอ, ดอกหรีด Gentiana hesseliana Hoss. var. lakshnakarae (Kerr) Toyokuni เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กต้นเตี้ยติดผิวดินสูง 3 – 5 ซม. ดอกออกที่ปลายยอดเป็นกระจุก 2 – 8 ดอก โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปถ้วยสีน้ำเงินอ่อน ยาว 1.2 ซม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ดอกหรีดกอเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย ออกดอกเดือนตุลาคม-เมษายน หมอคาร์ ชาวไอริช สำรวจพบบนภูกระดึงเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2467 ตัวอย่างแห้งต้นแบบเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพ กรมวิชาการเกษตร

หญ้าบัวแบ Xyris Kradungensis B.Hansen เป็นพืชล้มลุก ลำต้นเป็นเหง้าหรือมีหัวอยู่ใต้ดิน ใบออกเป็นกระจุกที่โคนต้น ช่อดอกออกที่ปลายยอดมีก้านช่อดอกยาว 8 – 15 ซม. ปลายก้านเป็นตุ่มดอกที่มีกาบโค้งสีแดงคล้ำเรียงสลับซับซ้อนติดกันแน่นเป็นก้อนกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 – 8 มม. ระหว่างกาบมีกลีบดอกบาง ๆ สีเหลือง ยื่นพ้นออกมากาบละ 3 กลีบ กลีบดอกบานอยู่ได้วันเดียว ออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม

กระดุมสยาม, จุกนกยูงหรือข้าวตอก Eriocaulon siamense Moldenke วงศ์ Eriocaulaceae เป็นไม้ล้มลุกปีเดียวหรือหลายปีและเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของประเทศไทย ศ. ดร.เต็ม สมิตินันท์ สำรวจพบบนภูกระดึงเป็นครั้งแรก เป็นพรรณไม้ที่ขึ้นในที่ชุ่มน้ำตามทุ่งหญ้าบนภูกระดึง ในระดับความสูง 1,100 – 1,300 เมตร ออกดอกในเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ ดอกตูมกับดอกบานเต็มที่จะมีลักษณะต่างกันเล็กน้อย ในดอกบานจะเห็นอับเรณูเป็นจุดเล็ก ๆ สีม่วงดำ คำระบุชนิดว่า “siamense” หมายถึงสยาม หมายความว่าพืชชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศไทยนั่นเอง

กระดุมกระดึง, กระดุมภูกระดึง Eriocaulon Ubonense f. kradungense วงศ์ Eriocaulaceae เป็นไม้ล้มลุกปีเดียวหรือหลายปี T.Shimizu ชาวญี่ปุ่นและคณะ สำรวจพบบนภูกระดึงเป็นครั้งแรก ออกดอกในเดือนกรกฎาคม – กุมภาพันธ์ บนภูกระดึงพบได้ตามลานหินและตามริมทางเดินที่ชุ่มน้ำหรือในทุ่งหญ้าในระดับความสูง 280 – 1,300 เมตร

พืชกินแมลง กับดักสัตว์อันน่าพิศวง เหล่าพืชกินแมลงมักจะขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่พืชหาธาตุอาหารได้ยาก อาจจะเป็นที่ที่ดินไม่ดี ดินมีสารพิษมาก หรือดินมีน้ำขัง ขาดออกซิเจนซึ่งจำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ของแบคทีเรียตัวย่อยสลายซากอินทรีย์ เช่น ตามป่าพรุ หรือหนองโคลนตม หรือในที่ที่ดินมีค่าความเป็นกรดสูง และมีธาตุอาหารในดินต่ำ และแน่นอนว่าบนภูกระดึงแห่งนี้ก็มีพืชกินแมลง แถมมีหลายชนิดอีกด้วย
หม้อข้าวหม้อแกงลิง พืชกินแมลงที่มีการสร้างกับดักแบบหลุมพราง “Pitfall traps” โดยหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะมีใบที่เปลี่ยนไปเป็นกับดักรูปหม้อหรือกระเปาะ (Pitchers) พวกมันล่อแมลงด้วยน้ำหวานกลิ่นหอม ยั่วยวนเจ้าเหล่าแมลง เมื่อแมลงหรือสัตว์ขนาดเล็กตกลงไปในกระเปาะ ผนังด้านในกระเปาะที่มีไขเคลือบอยู่จะทำให้เหยื่อลื่นและไต่ขึ้นมาได้ยาก ภายในกระเปาะมีของเหลวที่สามารถย่อยแมลงและสัตว์ขนาดเล็กได้ เมื่อเหยื่อจมในของเหลวจะถูกย่อยอย่างช้า ๆ และหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะได้รับสารอาหารที่ถูกย่อยเหล่านี้

หยาดน้ำค้าง, จอกบ่วาย (Drosera burmannii Vahl) ใบของพืชกลุ่มนี้จะมีขนต่อม (Glandular trichomes) ที่สร้างของเหลวเป็นเมือกเหนียวดูคล้ายหยดน้ำค้างที่เกาะอยู่บนใบ แมลงอาจจะมาตอมเพราะเข้าใจว่าเป็นดอกไม้ที่มีน้ำหวาน เมื่อแมลงสัมผัสก้อนเหนียว ๆ นั่น มันก็จะติดกับดักเมือกเหนียวเหล่านี้ พืชกลุ่มหยาดน้ำค้าง จะใช้น้ำย่อยที่สร้างจากขนต่อมในการย่อยและดูดซึมสารอาหารจากเหยื่อ พืชกลุ่มหยาดน้ำค้างจึงได้รับธาตุอาหารเพิ่มเติมจากแมลงที่ติดกับดัก ทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่ที่มีธาตุอาหารในดินต่ำได้

ทิพเกสร Utricularia minutissima Vahl. หน้าตาอาจดูไม่เหมือนพืชกินแมลงที่มีสารเหนียว ๆ หรือมีลักษณะเหมือนถ้วยหรือหม้อใบยาวมีฝาปิดแบบหม้อข้าวหม้อแกงลิง แต่หญ้าเข็มก็เป็นพืชกินแมลงเช่นเดียวกัน พวกมันสร้างกับดักแบบดูด “Suction” โดยพืชในกลุ่มนี้หลายชนิด ใบเปลี่ยนเป็นถุงกับดักที่มีขนาดเล็ก (Bladder traps) สำหรับดักสิ่งมีชีวิตในน้ำขนาดเล็ก ซึ่งเหยื่ออาจจะเป็นกลุ่มแมลงน้ำหรือแพลงก์ตอนสัตว์ ตรงบริเวณปากถุงกับดักจะมีส่วนของรยางค์หรือเส้นขนเล็ก ๆ โดยระบบกลไกการดักจับเหยื่อ พืชจะมีการขับน้ำออกจากถุงกับดักจนเกิดลักษณะคล้ายระบบสุญญากาศ เมื่อสิ่งมีชีวิตในน้ำขนาดเล็กสัมผัสกับรยางค์เหล่านี้ ถุงกับดักแมลงจะดูดน้ำเข้า ทำให้เหยื่อที่อยู่ในน้ำไหลเข้ามาในถุงกับดักแมลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้อีกหลายชนิดที่น่าสนใจ บางชนิดยังไม่สามารถหาชื่อได้ แต่พวกมันก็สวยจนผู้เขียนไม่อยากเก็บภาพความงามนี้ไว้แค่เพียงคนเดียว ตามมาดูความสวยงามของพรรณไม้บนภูกระดึงกันค่ะ
หางเสือหรือหางเสือลาย Platostoma cochinchinense (Lour.) A. J. Paton ไม้ล้มลุกบนดินทราย สกุลพืชที่ลงท้ายด้วยคำว่า “stoma” ส่วนใหญ่เป็นสกุลไร้เพศ (neuter) คำระบุชนิด “cochinchinense” หมายถึงภาคใต้ของเวียดนาม














อ้างอิง
- หนังสือซุปเปอร์มดถั่วยักษ์และแม่หมี สำนักพิมพ์สารคดี
- หมายเหตุนิเวศวิทยา (Ecological Notes) บันทึกธรรมชาติหลากเผ่าพันธุ์ The record of natures ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ 2550
- Princess Maha Chakri Sirindhorn Natural History Museum
- หอพรรณไม้ Forest Herbarium
ผู้เขียน
ตำแหน่ง หมาเฝ้าป่า ผู้มีความหลงใหลในโลกใบจิ๋วของพืชและสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย มีความสุขกับการปั่นจักรยาน ทำขนมปัง และชอบใช้ของมือสอง