เมื่อร่างกายสัมผัสได้ถึงสายลมหนาวที่พัดมาอ่อนๆ นั่นเป็นสัญญาณที่ทำให้ใครต่อใครกระหายที่จะออกเดินทาง
เเละสำหรับใครที่กำลังมองหาหมุดหมายปลายทางสำหรับฤดูหนาวนี้ เราขอเสนอหนึ่งสถานที่ที่ใช้เวลาไม่มากนัก นักเดินป่าขั้นเริ่มต้นสามารถไปได้ ระยะทางการเดินไม่ไกลจนเกินไป การกินอยู่ไม่ถึงขั้นลำบาก แต่ทิวทัศน์และบรรยากาศนั้นชนะเลิศทุกดงดอย ด้วยความที่มีภูเขาสูงสลับซับซ้อนจนสุดลูกหูลูกตาและเป็นที่ชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตก ที่สวยจับใจ
สถานที่ที่ว่านี้คือ “ดอยม่อนจอง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่
นอกจากผืนป่าอันบริสุทธิ์แล้ว สถานที่เเห่งนี้ยังมีสัตว์ป่าชนิดสำคัญอย่าง “กวางผา” อาศัยอยู่ด้วย ซึ่งยังคงพบเห็นได้ไม่ยากนัก หากสังเกตุดีๆตั้งเเต่หน้าผาบริเวณสนามกอล์ฟช้างยาวไปจนถึงบริเวณผาหัวสิงห์ อาจเห็นเจ้ากวางผายืนอาบเเดดนิ่งๆอยู่ก็เป็นได้ โดยระยะเวลาที่มีโอกาสพบได้คือ ช่วง 7 โมงเช้าไปจนถึงราวๆ 10 โมง เเละช่วงบ่าย ราวๆบ่าย 3 ถึง 6 โมงเย็น
ส่วนในเดือนธันวาคม-มกราคม จะได้เห็นสีสันงามตาของดอกกุหลาบพันปี ตัดกับสีของภูเขาอมน้ำตาล เเละท้องฟ้าหน้าหนาวสุดอลังการ แต่เนื่องจากปีนีสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน หากใครตั้งใจจะมาชมความงามของเจ้ากุหลาบพันปีอาจต้องลองติดตามข่าวเเละเช็คกับทางเพจของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยกันอีกที
ฤดูกาลเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยม่อนจอง ได้เปิดระบบจองเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เเละเดินรอบเเรกในวันที่ 9 พฤศจิกายน – 14 กุมภาพันธ์ 2568 โดยอนุญาตให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาธรรมชาติพักค้างแรมได้เป็นเวลา 1 คืน หรือจะเลือกไปเช้าเย็นกลับก็ได้ เดินเล่นนิดหน่อยอารมณ์เหมือนเดินเล่นในสวนหลังบ้าน ในระยะทางราวๆ 6 กิโลเมตร (ถึงยอดหัวสิงห์) แต่ถ้าจะไม่ให้เหนื่อยเกินไปนัก ก็พักสักคืน ค่ำๆหน่อยเดินออกมาดูดาวสุดอลังการ 360 องศา แบบไม่มีอะไรมาขวางกั้น ให้ร่างกายได้ปะทะสายลมหนาวบนยอดดอย
เช้าๆก็ต่อสู้กับความขี้เกียจสักหน่อย เอาชนะมันให้ได้!! แล้วออกไปชมพระอาทิตย์ขึ้น บริเวณผาหัวสิงห์ เดินจากแคมป์ไป 2 กิโลเมตร อาจต้องเผื่อเวลามากๆหน่อย แนะนำว่า เผื่อเวลาเดินไว้สักชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง จะได้ไม่ต้องเหนื่อยมากนัก หรืออาจออกจากแคมป์มาบริเวณสนามกอล์ฟช้างก็ได้เช่นกัน แม้วิวจะไม่อลังการเท่ากับการไปผาหัวสิงห์เเต่ก็ยังได้ชมทะเลหมอกแน่นๆ กับเเสงอาทิตย์ที่ฉาบลงมาบริเวณยอดเขาเบื้องล่าง
แน่นอนว่าการเดินทางมาที่นี่นั้นจะต้องทำการจองผ่านทางเว็ปไซต์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย (รายละเอียดต่างๆจะระบุไว้ไห้ท้ายบทความ) เมื่อได้รับการยืนยันสิทธิ์แล้วจึงนำหลักฐานมาแสดง ณ จุดยืนยันตัวตน โดยเราสามารถเลือกได้ว่าจะเริ่มเดินจากจุดไหน ซึ่งมีด้วยกัน 2 จุดเริ่มเดิน คือ 1. บ้านมูเซอปากทาง เเละ 2. บ้านห้วยปูลิง
รอบก่อนๆ เรามีโอกาสได้เริ่มเดินจากบ้านมูเซอปากทาง โดยรวมเเล้วระยะทางจะไกลกว่าการเดินจากบ้านห้วยปูลิง ไปยังยอดดอย แต่สภาพเส้นทางนั้นถือว่าเดินง่าย ไม่ได้เดินขึ้นชันมากนัก เดินผ่านป่าใต้เงาร่มไม้ ลดการแผดเผาจากแสงแดดไปได้เยอะทีเดียว
ส่วนรอบนี้เป็นครั้งเเรกที่ได้เดินขึ้นจากทางบ้านห้วยปูลิง จากจุดนี้ที่ผ่านๆมานักท่องเที่ยวจะไม่ได้หนาแน่นเท่าจุดเริ่มเดินบ้านมูเซอ ด้วยระยะทางจากที่ทำการเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอมก๋อย(ปางตึง) มายังบ้านห้วยปูลิงนี้ระยะทางจะไกลกว่าการไปบ้านมูเซอ
แต่หากพิจารณาจากปัจจัยหลายๆอย่างเเล้วเราว่า เส้นทางขึ้นดอยม่อนจองจากบ้านห้วยปูลิงนี้น่าสนใจมากๆเลยทีเดียว
อันดับเเรกคือ วิวทิวทัศน์ระหว่างเส้นทางการเดิน หากมุ่งหน้าขึ้นม่อนจอง เกือบตลอดเส้นทางด้านขวามือจะเป็นวิวเปิดโล่ง เพียงแค่ลงจากรถโฟวิลที่มาส่งยังจุดเริ่มเดินก็สามารถเสพวิวอลังการได้ตรงจุดนั้นเลย และถ้าเปลี่ยนใจไม่อยากเดิน จะนอนตรงนี้ก็คุ้มค่าเเล้ว ฮ่าๆ
สอง ระยะทางสั้นกระชับกว่า ก่อนหน้านี้ได้ยินกิติศัพท์มาว่าเส้นทางนี้เเม้จะสั้นกว่าเเต่ก็โหดไม่ใช่เล่นเพราะทางค่อนข้างชัน หากกล้ามเนื้อขาไม่แข็งเเรงพอ คงจะทรมานจนแทบคลาน แต่พอมีโอกาสได้มาเดินจริงๆก็พบว่าเนินที่ว่าชันเเละยาวหน่อยมีเพียงเนินเดียวเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็เป็นทางระดับที่ต้องเดินขึ้นลงตามทรงของภูเขา ไม่ได้หนักหนาสาหัสตามที่เขาว่า แต่นั่นก็อาจเพราะตอนที่เราไปชาวบ้านได้มาเซาะดินไว้เป็นลักษณะของขั้นบันได เพื่อให้เดินง่ายขึ้น ตรงส่วนไหนที่เป็นทางลาดจนดูเเล้วว่าน่าจะลื่นหน่อย ก็ทำราวไม้ไว้ให้จับเป็นจุดๆไป
โดยในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพี่น้องปกาเกอะญอบ้านห้วยปูลิง กลุ่มคนนำทาง และคนขับรถนำเที่ยว ได้ร่วมมือกันพัฒนาเส้นทางขึ้นดอยม่อนจอง โดยเริ่มตั้งเเต่การปรับปรุงลานกางเต้นท์ เเละลานจอดรถในหมู่บ้าน ลากยาวมาตลอดเส้นทางรถยนต์จากหมู่บ้านไปถึงจุดเริ่มเดิน เเละยังต่อเนื่องไปยังบริเวณลานกางเต้นท์ ที่ร่วมกับทางเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยในการทำกองอำนวยการ เเละสร้างห้องน้ำชั่วคราว สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่เข้ามาศึกษาธรรมชาติ
ปีนี้ทางชุมชนจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์บ้านห้วยปูลิงค่อนข้างกระตือรือร้นเอาจริงในเรื่องของการบริการด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อยกระดับมาตราฐานเเละการบริการให้ดีขึ้นกว่าเดิม ถึงเเม้จะต้องใช้ระยะเวลาในเส้นทางถนนหมายเลข 1099 มากขึ้นอีกสักหน่อย แต่มันคงไม่มากจนเกินไปหากเราจะสนับสนุนความตั้งใจของพี่น้องชาวบ้านห้วยปูลิง
เรื่องควรรู้
เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยม่อนจอง เปิดตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 – 14 กุมภาพันธ์ 2568
- หยุดทุกวันพุธของแต่ละสัปดาห์ หรือจนกว่าจะมีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง
- การศึกษาธรรมชาติและพักแรม อนุญาตให้มีการพักแรมได้เพียง 1 คืน เท่านั้น
- จำกัดจำนวนนักศึกษาธรรมชาติ
วันจันทร์ – วันพฤหัสบดี จำนวนไม่เกิน 180 คน/วัน
วันศุกร์ – วันอาทิตย์ จำนวนไม่เกิน 230 คน/วัน
การจองสิทธิ์ แบบพักแรม
- ผ่านทางเว็ปไซต์ https://wildlifesanctuaryfca16.com/omkoi เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น
- เปิดให้จองในระบบในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 เวลา 08:00 น. เป็นต้นไป
- สามารถจองสิทธิ์ได้ ไม่เกิน 5 คน ต่อ 1 ใบจอง
- จองสิทธิ์ก่อนวันที่จะเข้าศึกษาธรรมชาติไม่น้อยกว่า 3 วัน
- หากยืนยันสิทธิ์การจองแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรายชื่อในใบจองได้
- ระบบจะยืนยันสิทธิ์ก็ต่อเมื่อผู้จองสิทธิ์ได้ดำเนินการอัปโหลดแบบฟอร์มคำขออนุญาตเข้าไปเพื่อศึกษาธรรมชาติเท่านั้น
การจองสิทธิ์ แบบไม่พักแรม
- กรณีการขออนุญาตแบบไป-กลับ (ไม่พักแรม) นักศึกษาธรรมชาติจะต้องมายื่นเอกสารหนังสือขออนุญาตเข้าพื้นที่ตามแบบฟอร์มที่กำหนดด้วยตัวเอง พร้อมชำระค่าบริการ ณ หน่วยพิทักษ์ป่าอุ้มหลอง (สำหรับเส้นทางบ้านมูเซอ) หรือจุดยืนยันตัวตนบ้านห้วยปูลิง (สำหรับเส้นทางบ้านห้วยปูลิง) ไม่เกินเวลา 09:00 น. และต้องกลับลงมาแสดงตน ณ จุดยืนยันตัวตนเดิม ไม่เกินเวลา 17:00 น. ของวันที่ได้รับอนุญาต
นักศึกษาธรรมชาติที่ได้รับการยืนยันสิทธิ์การเข้าพื้นที่แล้ว ให้ติดต่อศูนย์บริการนักท่องเที่ยวดอยม่อนจองบ้านมูเซอ หรือศูนย์บริการนักท่องเที่ยวดอยม่อนจองบ้านห้วยปูลิง เพื่อดำเนินการเลือกใช้บริการประเภทต่างๆ เช่น รถยนต์นำเข้าพื้นที่ ลูกหาบ หรืออุปกรณ์พักแรมอื่น ๆ เป็นต้น
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวดอยม่อนจองบ้านมูเซอ
FACEBOOK: ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวดอยม่อนจอง บ้านมูเซอ
โทรศัพท์: 093-731-0626 และ 092-560-2488
Line id: monjong2566
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวดอยม่อนจองบ้านห้วยปูลิง
FACEBOOK: ดอยม่อนจอง บ้านห้วยปูลิง ชุมชนจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
โทรศัพท์: 098-789-2201 และ 092-404-0094
Line id: pizzadoi2520
นักศึกษาธรรมชาติที่ได้รับอนุญาตแล้ว จะต้องมายืนยันตัวตน แสดงเอกสารการได้รับอนุญาต และชำระค่าบริการการศึกษาธรรมชาติและพักแรม
- ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย (ปางตึง) ท้องที่หมู่ที่ 16 ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
- ศูนย์เรียนรู้ป่าไม้และสัตว์ป่า (ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย และสถานีควบคุมไฟป่าอมก๋อย) ท้องที่หมู่ 3 ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ (สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากเส้นทางอำเภอแม่สอด – อำเภออมก๋อย)
สอบถามข้อมูลเรื่องการอนุญาต และการจองสิทธิ์ ได้ที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย
FACEBOOK: เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย – Omkoi Wildlife Sanctuary
โทรศัพท์: 083-482-1983
Line id: omk1983
การเตรียมตัว
- จุดสุดท้ายที่สารมารถหาซื้อเสบียงได้คือบริเวณตัวอำเภออมก๋อย (ในหมู่บ้านอาจมีบ้างเล็กน้อย เตรียมพร้อมไว้ก่อนดีกว่า)
- อากาศค่อนข้างหนาว ควรเตรียมเสื้อกันหนาว เเละอุปกรณ์เครื่องนอนที่กันหนาวได้ดีมาด้วย
- ฟรายชีท ควรมีติดไปด้วยเพราะบริเวณแคมป์น้ำค้างค่อนข้างเเรง หรือบางทีอาจมีฝนตกได้
- พื้นที่แคมป์รองรับได้ทั้งเปลเเละเต้นท์
- ควรเตรียมอุปกรณ์เครื่องครัวเเละแก๊สกระป๋องมาด้วย (ทางเขตฯอนุญาตให้ก่อกองไฟได้ในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น)
- บริเวณแคมป์มีแหล่งน้ำสามารถดื่มกินได้ ไม่ต้องแบกน้ำขึ้นไปเยอะ จะให้ดีเตรียมที่กรองน้ำแบบพกพาไปด้วยดีที่สุด (บริเวณแหล่งน้ำมีทากและแมลงอีกนิดหน่อย แม้เจ้าหน้าที่ฯจะต่อเป็นท่อน้ำมาเเล้ว แต่จะปลอดภัยเเละมั่นใจได้มากขึ้นหากมีการกรองน้ำก่อนดื่มกิน หรือหากไม่มีเครื่องกรองน้ำแบบพกพาควรต้มน้ำให้สุกก่อนนะ)
- ทากมีบ้างประปราย ใส่ถุงกันทากไว้จะช่วยให้สังเกตุทากได้ง่าย เเละจัดการได้เร็วขึ้นก่อนที่จะเสียเลือด
- จัดการเรื่องขยะให้ดี เอาอะไรขึ้นไปอย่าทิ้งไว้ข้างบน ควรเก็บกลับลงมาด้วย
การเดินทาง
รถตู้โดยสารสาธารณะที่สามารถใช้เดินทางเข้ามายังพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย มี 2 แบบ
- รถส่งถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (เชียงใหม่ – ฮอด – อมก๋อย – แม่ตื่น)
ผ่านจุดยืนยันตัวตน และจุดชำระค่าบริการ - รถส่งถึงอำเภออมก๋อย (เชียงใหม่ – ฮอด – อมก๋อย)
สามารถติดต่อศูนย์บริการของชุมชนในเส้นทางที่เลือกเดิน ให้จัดรถมารับได้ (มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม)
ผู้เขียน
ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส