งานวิจัยเผย อาหารโปรด ‘เสือปลา’ สามร้อยยอด คือ…

งานวิจัยเผย อาหารโปรด ‘เสือปลา’ สามร้อยยอด คือ…

ปลาหมอไทย ปลาช่อน ปลานิล ปลาดุก หนูพุกใหญ่ หนูท้องขาว กระแตเหนือ ไก่ นกกวัก เป็ดแดง แมลง สัตว์เลื้อยคลาน ปู และหอย

เหล่านี้คือรายชื่อ ‘เหยื่อ’ หรืออาหารของ ‘เสือปลา’ ที่ปรากฏในงานวิจัยฉบับล่าสุด ที่ศึกษาจากกลุ่มประชากรในพื้นที่บริเวณเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ข้อมูลนี้ได้จากการศึกษาเศษอาหารที่ปะปนอยู่ในกองมูล อาทิ เส้นขน เกร็ด กระดูก จนพบว่า เสือปลากินอาหารต่างๆ อย่างน้อย 16 ชนิด โดยเหยื่อหลักของเสือปลา ประกอบด้วย

  • ปลาหมอไทย พบ 21.5 เปอร์เซ็นต์
  • หนูพุกใหญ่ พบ 18.82 เปอร์เซ็นต์
  • ไก่ พบ 14.95 เปอร์เซ็นต์
  • ปลาช่อน พบ 11.84 เปอร์เซ็นต์
  • และปลานิล พบ 9.97 เปอร์เซ็นต์

โดยปลาหมอไทยและปลาช่อนนั้น เป็นสัตว์น้ำธรรมชาติ แสดงให้เห็นถึงการทำหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์น้ำในระบบนิเวศ

อย่างไรก็ดีในกรณีของ ไก่ และปลานิล เป็นสัตว์เลี้ยงของชุมชน ซึ่งหมายถึงการหากินในพื้นที่ชุมชน แหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่อาจนำมาซึ่งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าได้

นอกจากเรื่องที่กล่าว อีกประเด็นที่ต้องชวนคิดไปพร้อมๆ กัน คือ การพบ ‘ไมโครพลาสติก’ ในมูลของเสือปลา จำนวน 29 ตัวอย่าง ที่สะท้อนถึงสิ่งปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมพื้นที่ชุ่มน้ำ และถิ่นหากินของเสือปลา

โดยเนื้อความในงานวิจัยได้เสนอให้มีการวางแผนเพื่อจัดการปัญหาการปนเปื้อนของพลาสติกร่วมกับชุมชน เพื่อลดความรุนแรงด้านมลพิษต่อการอยู่รอดของเสือปลาในพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด

“การอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองภายใต้สภาพธรรมชาติมีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นฐานที่มั่นที่สำคัญสำหรับประชากรเสือปลาในอนาคต ควรมีการริเริ่มเพื่อให้ความรู้แก่ผู้คนเกี่ยวกับคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำ และดำเนินการเร่งด่วนในการปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่าที่หายากและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์” งานวิจัยระบุ

เช่นเดียวกับเรื่องการหากินในพื้นที่ชุมชน การรับรู้ว่าเสือปลากินอะไร และเกี่ยวข้องกับชุมชนอย่างไร สิ่งนี้จะนำไปสู่การอนุรักษ์ การวางแผนการบริหารจัดการร่วมกับชุมชนต่อไปในอนาคต

สำหรับข้อมูลอาหารของเสือปลานี้ เป็นการเก็บข้อมูลกองมูลที่เสือปลาถ่ายทิ้งไว้ตามเส้นทางหากิน เช่นพื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่เพาะลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่รกร้าง ถนน ทางรถไฟ ตลอดจนพื้นที่ชุมชน และในเขตอุทยานแห่งชาติ จัดทำโดย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์กรแพนเทอรา ประเทศไทย

ผู้สนใจสามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ Dietary habits of fishing cats in a human-dominated wetland in Coastal Thailand