หลังมีรายงานการพบกระท่างน้ำชนิดที่ไม่มีใครรู้จักบนดอยสอยมาลัย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น มานานหลายปี จนนำมาซึ่งการสำรวจสืบเสาะ ในที่สุดก็ได้รับรายงานยืนยันแล้วว่า กระท่างน้ำปริศนาตัวนั้น “เป็นชนิดใหม่ของโลก”
กระท่างน้ำชนิดใหม่ถูกตั้งชื่อ ‘กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย’ ตามสถานที่พบ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Tylototriton soimalai) และนับเป็นการพบกระท่างน้ำชนิดที่ 7 ในระบบนิเวศของประเทศไทย
โดยกะท่างน้ำดอยสอยมาลัย มีลักษณะสัณฐาน หัวมีความยาวมากกว่าความกว้าง ปลายจมูกทู่หรือเป็นปลายตัด สันกระดูกกลางหัวแคบ สั้น และชัดเจน แนวสันกระดูกข้างหัวเด่นชัดและขรุขระ
มีต่อมพิษหลังตาที่เห็นได้ชัดเจน สันกระดูกสันหลังเด่นชัด กว้าง และไม่แบ่งเป็นท่อน มีต่อมพิษข้างลำตัว 14–16 ตุ่มซึ่งมีลักษณะกลมและแยกออกจากกัน ยกเว้นส่วนหลังที่เชื่อมต่อกัน และสีพื้นลำตัวเป็นสีดำ และส่วนอื่นๆ มีสีส้ม
และผลจากการวิเคราะห์ระดับโมเลกุลในยีน NADH dehydrogenase subunit 2 (ND2) ในไมโทคอนเดรีย พบว่ากะท่างน้ำดอยสอยมาลัยเป็นชนิดที่แยกต่างหาก โดยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกะท่างน้ำเหนือมากที่สุด
การศึกษานี้เป็นผลงานร่วม โดยคณะนักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ทั้งนี้ จากข้อมูลการศึกษาในปัจจุบัน ยังไม่พบกะท่างน้ำดอยสอยมาลัยในพื้นที่อื่นๆ นอกจากแอ่งน้ำบนดอยสอยมาลัย ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น
จึงกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดที่พบในวงแคบ หากไม่มีมาตรการอนุรักษ์ที่ชัดเจน ย่อมเสี่ยงต่อการรักษากระท่างน้ำชนิดนี้เอาไว้
กะท่างน้ำหรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า crocodile newt เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกลุ่มหนึ่งที่มีความใกล้เคียงกับกบ เขียด และคางคก แต่เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกลุ่มเดียวในประเทศไทยที่มีหางในระยะตัวเต็มวัย
มีรูปร่างลำตัวยาว ขามีทั้งขาหน้าและขาหลัง หางยาว หัวกลมมน มีผิวหนังค่อนข้างแห้งและขรุขระ มีตุ่มเรียงเป็นแถวอยู่ด้านข้างตัว ออกลูกเป็นไข่ที่มีเปลือกเป็นวุ้น ตัวอ่อนเติบโตในน้ำและมีพู่เหงือกทั้งสองข้างของส่วนหัว ซึ่งจะหายไปหรือลดรูปเมื่อเข้าสู่ระยะตัวเด็กและตัวเต็มวัยที่จะอาศัยอยู่บนบก
หรือกล่าวได้ว่าวงจรชีวิตมีความสัมพันธ์กับความชื้นและความสมบูรณ์ของผืนป่า เนื่องจากกะท่างอาศัยอยู่ในริเวณแหล่งน้ำตามเทือกเขาสูงในป่าดิบเขาที่ปราศจากการรบกวนหรือถูกรบกวนน้อย ดังนั้น การพิ่มขึ้นหรือลดลงของประชากรกะท่างสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และความเปลี่ยนแปลงของสภาพระบบนิเวศ
นอกจากนี้ในงานวิจัยบางชิ้นยังระบุ กระท่างน้ำอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำไหลธรรมชาติที่มีการระบายน้ำตลอดเวลา และน้ำใส มีพืชน้ำขึ้นอยู่ทั่วไป ซึ่งหมายความได้ถึงแหล่งน้ำที่สะอาด ที่จำนวนเชื้อโรคไม่น้อย หรือมีปริมาณของออกซิเจนมากพอที่เป็นปัจจัยจำเป็นสำหรับหายใจ
ปัจจุบัน มีการค้นพบกระท่างน้ำในประเทศไทย รวมแล้ว 7 ชนิด ได้แก่ กะท่างหรือกะทั่ง กะท่างน้ำเหนือหรือกะท่างน้ำอูเอโนะ กระท่างน้ำดอยลังกา กะท่างน้ำอีสาน กะท่างน้ำดอยภูคา กะท่างน้ำอุ้มผาง และกะท่างน้ำดอยสอยมาลัย
อ้างอิง
- The seventh species of the newt genus Tylototriton in Thailand : a new species (Urodela, Salamandridae) from Tak Province, northwestern Thailand
- อาหารของกระท่างเหนือ ในจังหวัดเชียงใหม่
- กะท่างน้ำดอยสอยมาลัย กะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลก
- โครงการสำรวจกะท่างน้ำที่จังหวัดเลย ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นชนิดใหม่ของประเทศไทย
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน