ขึ้น ‘ภูกระดึง’ อีกครั้ง

ขึ้น ‘ภูกระดึง’ อีกครั้ง

ผมตัดสินใจเดินทางกลางดึกมาที่อำเภอภูกระดึง เพราะอยากเห็นภูเขายอดตัดที่กำลังถูกตัดสินชะตากรรมว่าจะมีพาหนะผ่านรางลวดที่เรียกว่ากระเช้าลอยฟ้าพาผู้คนขึ้นไปเที่ยวชมหรือไม่ หลังจากมีแนวคิดเรื่องนี้ผ่านมาหลายสิบปี แต่ก็ติดปัญหาที่มีคนคัดค้านเป็นจำนวนมาก

ผมพบตัวเองมาหมดแรงง่วงงุนระหว่างหาที่พักเล็กๆ อยู่ระหว่างทางเข้าอำเภอภูกระดึง ที่แยกจากทางหลวงสายหลัก หมายเลข 201 ที่ตรงขึ้นเหนือไปยังเมืองเลยในตอนรุ่งสาง ท่ามกลางอากาศหนาวเอาเรื่อง

ก่อนผมหลับไป พยายามทบทวนเรื่องที่ตัวเองมาก่อนจะขึ้นภูกระดึงเป็นครั้งที่สาม ในระยะเวลาห่างจากครั้งแรกและครั้งที่สองกว่า 20 ปี

แม้ในวันนี้เหตุผลใหญ่ของการคัดค้านกระเช้าขึ้นภูกระดึงในเวทีสื่อสารสมัยใหม่ ที่เมื่อไหร่มีใครโพสต์ประเด็นนี้ขึ้นมาก็จะมีความเห็นในเรื่องคุณค่าความหมายเชิงนามธรรมในเรื่องความประทับใจ ความภาคภูมิใจ ในการได้เดินขึ้นไปเห็นป้าย ‘เราคือผู้พิชิตภูกระดึง’ ที่บริเวณยอดภูที่เรียกชื่อกันว่า ‘หลังแป’ อย่างมากมาย

หากลองไล่เรียงอ่านความเห็น ก็น่าจะพบความคิดสนับสนุนให้สร้างกระเช้าแทรกมาเป็นจำนวนที่น้อยเทียบกันไม่ได้ ในเหตุผลเรื่องสิทธิในการเข้าถึงความงามบนภูของคนสูงวัย และผู้ไม่พร้อมในทางสุขภาพด้านอื่นๆ

ที่น้อยกว่านั้นก็จะพยายามอภิปรายกันในเรื่อง ‘ข้อมูล’ ที่ได้รับ หรือคิดไตร่ตรองกันไปต่างๆ นานา

ข้อมูลที่ว่าก็คือ กระเช้าภูกระดึงเป็นการก่อสร้างที่ตัดต้นไม้น้อยมาก ใช้พื้นที่ก่อสร้างเพียงแค่เสาสูงและอาคารรับกระเช้าบนหลังภูซึ่งเป็นลานกว้างอยู่แล้ว เมื่อทำแล้วก็สามารถขนคนป่วยคนเจ็บลงมาได้ด้วย ส่วนใครอยากเดินก็เดินไปสิ ไม่ได้ห้ามเดิน เส้นทางเดินก็ยังมีอยู่ ดังนั้น ใครจะหาความภาคภูมิใจอะไรที่ว่ากระเช้าก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางอะไรของใครเลย

นอกจากนั้นแล้ว คนที่ได้ข้อมูลลึกขึ้นไปกว่านั้นก็จะอภิปรายในมิติของ ‘การจัดการ’ พื้นที่ท่องเที่ยวบนภูกระดึง ได้แก่ การใช้กระเช้าใส่ขยะลงมาข้างล่าง และใช้กระเช้าเป็นเครื่องมือในการ ‘จำกัด’ คนค้างอ้างแรมในช่วงเทศกาลที่ทราบกันว่ามัน ‘มากไป’ เกินขีดจำกัดการรองรับของธรรมชาติ ทั้งที่กินที่นอน ที่ขับถ่าย อะไรก็ว่ากันไป

แทบไม่มีฝ่ายสนับสนุนสร้างกระเช้าในเวทีอภิปรายทั่วๆ ไป อภิปรายเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยของอำเภอภูกระดึง ว่าตั้งเป้าให้กระเช้าเป็นจุดขายใหม่ของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และเพิ่มจำนวนกลุ่มเป้าหมายผู้มาเยือน ทั้งๆ ที่เหตุผลนี้คือเป้าหมายที่จริงแท้กว่าเรื่องใดที่ว่ามา

ข้อมูลเรื่องกระเช้าพาคนป่วยเจ็บ และไม่พร้อมขึ้นไป ก็จะมักจะมีตัวอย่างความคิดแย้งว่า คนสูงวัย เยาวชน คนอ้วน ผู้ทุพลภาพต่างๆ ที่สามารถขึ้นไปได้ และลงมาอย่างปลอดภัย เป็นจำนวนมากมาหักล้าง แต่ส่วนใหญ่เสียดายเรื่องความภูมิใจ ที่ได้เป็นคนพิเศษที่ได้ขึ้นไปเพราะ ‘ใจและร่างกาย’ ของตัวเอง และเสนอว่าคนไม่พร้อมก็ไม่น่าจะต้องขึ้นไป เนื่องจากมีที่เที่ยวอื่นที่รถเข้าถึงได้ง่ายๆใกล้ๆ อยู่แล้ว มีเหตุผลแย้งอื่นบ้างอย่างในเรื่องผลกระทบต่ออาชีพ ‘ลูกหาบ’ ที่เป็นอาชีพเสริมรายได้ให้ชาวบ้านผู้แข็งแรงแถวนั้นมาเนิ่นนาน

ส่วนมิติการจัดการขยะ การอภิปรายก็จะนำไปสู่การจัดการจำกัดปริมาณขยะตามทฤษฎีต่างๆ นานา ว่าจริงๆ แล้วที่เที่ยวแบบนี้มันควรสะดวกสบาย พาขยะขึ้นไปอะไรมากมายปานนั้นหรือไม่ รวมถึงการคาดเดาว่า การจัดการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว มีความน่าจะเป็นที่จะไม่สำเร็จ ในที่สุดแล้วนักท่องเที่ยวก็อยากนอนค้างเต็มภูไปหมด คนที่ทราบมิติการจัดการลึกไปกว่านั้น ก็จะพูดเรื่องสำคัญคือ เมื่อคนขึ้นภูไม่มีความพร้อมเรื่องการเดินทางขึ้นเขา จะมีสักเท่าไหร่ที่มีความพร้อมเรื่องการเดินเที่ยวบนภูที่มีระยะบนทางราบไกลหลายกิโลเมตร โดยเฉพาะจุดไฮไลต์อย่างหน้าผาชมวิวพระอาทิตย์ตกชื่อ ‘ผาหล่มสัก’ ดังนั้นการพัฒนาถนนหนทาง และนำพาหนะขึ้นไปวุ่นวายทำลายสิ่งต่างๆ บนเขายอดตัดสวยงามย่อมตามมา

ในการอภิปรายเรื่องรูปแบบการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ ก็จะวิพากษ์กันในเชิงนามธรรม เรื่องการเห็นแก่ธุรกิจฉาบฉวยทำลาย ไม่ยั่งยืน และน้อยมากที่จะลงลึกถึงความคุ้มไม่คุ้มในเชิงวิชาการเศรษฐศาสตร์ ทั้งความคุ้มทุน และความเสี่ยง แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องคุยกันยาวแบบวิชาการ

ในวงการอนุรักษ์เองก็ไม่มีฉันทามติเสียทีเดียวว่าควรทำหรือไม่ เพราะฝ่ายที่ต้องดูแลอย่างเป็นทางการอย่างกรมอุทยานฯ ก็แตกกันว่าหากทำการจัดการก็ควบคุมความเสียหายได้ เห็นโอกาสในการจัดการง่ายขึ้น แต่ก็มีเสียงแย้งมากมายตามข้อมูลการจัดการที่จะเกิดผลเสียหายต่อระบบนิเวศในเรื่องต่างๆ ตามมา ทั้งข้อจำกัดในการจัดการของกรมเอง และความล้มเหลวในความพยายามที่จะจำกัดคนในทุกๆ แห่งของการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล

สำหรับผมเอง แน่นอนว่าหัวจิตหัวใจย่อมอยู่กับฝ่ายไม่อยากให้มีกระเช้า 100 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะจำอารมณ์เหนื่อยแทบตายตอนขึ้นไปสองครั้งได้ดีไม่มีลืม

แต่ก็นั่นแหละ หากจะขึ้นไปอีกเหมือนอย่างที่ตัดสินใจวันนี้ ก็พร้อมจะใช้เส้นทางไกลพิสูจน์ขนาดของหัวใจเหมือนเมื่อหนุ่มๆ

แต่ผมก็ชัดนะว่ามีกระเช้าก็คงยั่วยวนให้ลัดเวลาแว่บไป เกินความอยากจะพิสูจน์ขนาดของหัวใจอะไรที่ว่ามา

พูดง่ายๆ คือ ใครจะบ้าเดินวะ…

ในมุมของผมแล้ว เรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ที่สุดของการใช้ประโยชน์จากประเทศไทย จาก ‘ภูกระดึง’

ถามผมว่า ภูกระดึงได้ประโยชน์อะไรกับการอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทย? สำหรับผม ภูกระดึงน่าจะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวด้วยการเดินปีนเขา (Trekking) ที่ดีที่สุดที่เรามีอยู่ใช่ไหม ?

คำว่า ‘ดีที่สุด’ ผมประเมินจากระยะที่พอวัดใจกันได้อย่างที่ว่า ไม่ไกล ไม่ใกล้ ใครๆ ถ้าฟิตร่างกาย ใจถึงๆ ส่วนใหญ่ก็ไปได้โดยไม่อันตรายอะไร คนป่วยคนเจ็บก็มีบ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่ได้มีมากอะไร ที่สำคัญคือ ด้านบนมีที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย สวยงามพอที่จะเป็นแหล่งนันทนาการ ดึงดูดให้คนขึ้นไปอย่างรู้สึก ‘คุ้มค่าเหนื่อย’

เส้นทางเดินที่ว่าจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางไกลมากๆ อย่างโมโกจู ดอยหลวงเชียงดาว ภูสอยดาว เขาพะเนินทุ่ง ที่ต้องใช้พลังและเวลารวมถึงการเตรียมการมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่ใครก็ไปได้เหมือนภูกระดึง ในขณะเดียวกันความงดงามด้านบนก็แสนจะคุ้มค่าเมื่อเทียบกับเส้นทาง ระยะใกล้ๆ ในภูอื่นๆ

ที่ว่ามาคนจะรู้สึกผูกพัน และอยากปกปักรักษาธรรมชาติเกิดขึ้นได้เอง โดยไม่ต้องอ่านป้ายสื่อความหมาย หรือต้องไปเรียนรู้พันธุ์ไม้ สัตว์ป่าระบบนิเวศ

ความรู้สึกที่ว่ามันเกิดภายในจิตวิญญาณได้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อ ‘ผ่านความไกลมาใกล้ความงาม’

แน่นอนผมเชื่อว่าประเทศไทย โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบภูกระดึงอย่างกรมอุทยานฯ ก็คงไม่ได้คิดอะไรในมิตินี้อย่างจริงจัง ว่าเราควรเก็บผู้กระดึงไว้บ่มเพาะหัวใจให้ผู้คนรู้จักความงาม และรู้สึกอยากรักษาความงาม ในจำนวนที่ภูกระดึงเป็น ‘โรงงาน’ สร้างหัวใจให้อยากอนุรักษ์ ขึ้นมารุ่นแล้วรุ่นเล่าในราว 50 ปี ผ่านไปมีแต่จะมากขึ้นๆ ด้วยซ้ำ

ผมเดินทางมาเติมความรู้สึกแบบนั้นให้หัวใจ ก่อนที่มันจะถูกตัดสินชะตากรรม

ดีใจที่ได้พบกันอีกครั้งนะ ภูกระดึง ไม่เจอกันตั้งนานแล้ว

ผมจำรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับการเดินขึ้นภูกระดึงเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วได้ไม่ชัดเจนนัก โดยเฉพาะชื่อจุดพักที่เรียกว่า ‘ซำ’ ต่างๆ ต้องขอบคุณการผลักดันให้สร้างกระเช้าภูกระดึงครั้งใหม่ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมปีนภูขึ้นมาทบทวนความหลังในวัยขนาดนี้ แน่นอนว่าซำแรกที่ยังจำได้แม่นอยู่ซำเดียวคือ ‘ซำแฮก’

อากาศสายปลายเดือนมกราคมยังคงหนาวเย็นตั้งแต่ตีนภู แต่พอพระอาทิตย์ขึ้นเต็มที่พ้นยอดไม้ ที่ไม่ค่อยเหลือใบไม้ในหน้าแล้ง เนื่องจากเป็นป่าเต็งรังตลอดเส้นทางชันพันกว่าเมตร ก็ทำให้ความร้อนจากภายนอกปะทะกับภายในที่หอบเหนื่อยตั้งแต่ไม่กี่สิบเมตรแรกของการเดินทาง ระหว่างทางผมสวนทางกับคุณลุงคุณป้าคณะหนึ่งที่กำลังเดินกลับ คณะนี้ดูแล้วไม่ได้เตรียมตัวมาเที่ยวแบบนี้ แต่ละคนใส่รองเท้าแตะ หอบเหนื่อย แต่มีแววตาสนุกสนาน บอกกับผมว่าขึ้นถึงซำแฮกก็ไม่ไหว เลยเดินลงกลับมา

ผมก็ว่าดีแล้ว เพราะต่อจากนั้นไปทางจะยาวไปอีกสี่ห้าเท่าตัว ถ้าไม่ได้เตรียมตัวมาเที่ยวขึ้นไปค้าง แบบนี้ขึ้นต่อไปก็กลับไม่ทัน แต่ดูจากการเตรียมความพร้อมของคนวัยนั้นที่ไม่พร้อม ไม่รู้ข้อมูลยังไปได้ถึงซำแฮก ทำให้ผมค่อยๆ เดินขึ้นบันไดหินที่น่าจะปรับปรุงขึ้นใหม่ บางช่วงเดินยากก็มีราวจับ ทำให้การขึ้นถึงซำแฮกของผมไม่ทุลักทุเลเท่าที่กังวล

เพิงอาหารที่ซำแฮกสักสิบกว่าร้านรอรับนักท่องเที่ยวอยู่ แน่นอนว่าผมไม่พลาดที่จะไปอุดหนุนน้ำและขนม เพื่อที่จะหาโอกาสพูดคุยกับแม่ค้า และเก็บข้อมูลราคาอาหาร

ไม่ได้ขึ้นมาซำแฮกยี่สิบกว่าปี ผมพบว่าซำแฮกมีของขายมากขึ้น อาหารไม่แพง ข้าวราด 45 บาท น้ำกระป๋อง 30 แบกขึ้นมาขนาดนี้ แม่ค้าอัธยาศัยน่ารักมากๆ สุภาพ ใจดี แม้จะเชิญชวนให้เข้าไปนั่ง แต่กริยาอาการดูน่ารัก มีน้ำใจไมตรีอย่างจริงใจ

‘พี่ร้อย’ แม่ค้าร้านที่ผมเลือกนั่งร้านนี้บอกว่าคนอำเภอภูกระดึงที่อยากได้ ก็บอกว่าอยากให้ข้างล่างเจริญๆ มีนายทุนมาซื้อที่รอบภูไว้เยอะแล้ว …แล้วแกก็บอกผมอย่างปลงๆ ว่า “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดเน๊าะ…”

ผมก็บอกพี่เขาว่า… “ไม่แน่หรอกครับ”

ระหว่างทางต่อจากนั้นผมสวนทางกับคนรับจ้างแบกของของภูกระดึงอายุน่าจะสักหกสิบ เมื่อสอบถามน้ำหนักที่เขาแบกลงมาเขาตอบว่าเที่ยวนี้ 40 กว่ากิโลกรัม ยังบอกผมอีกว่าคนหนุ่มๆ ได้ถึง 70 กิโลกรัม (เท่าน้ำหนักผมเลย) ระหว่างนั้นรู้สึกว่า คนเรานี่ช่างมีศักยภาพจริงๆ ลำพังเป้ที่ผมเอาขึ้นมาไม่ถึงสิบกิโลฯ ตั้งใจจะแบกเองนี่ก็แทบตายแล้ว

เห็นแล้วคิดถึงตัวเอง ปัญหานิดหน่อยก็ไม่อยากเดินต่อท้อบ่อย ทั้งการเดินครั้งนี้และอุปสรรคปัญหาอื่นของชีวิต ระหว่างนั่งพักใต้ต้นไม้ผมก็คิดได้ว่า …ท้อได้แต่ไม่แพ้… ก็จบ

บางทีการเดินขึ้นภูกระดึงอาจไม่ใช่การขึ้นไปเที่ยวเล่นอย่างเดียว คนเดินทางขึ้นเขานี่เป็นการต่อสู้กับแรงดึงดูดของโลกที่ดึงเราลงต่ำ ให้เราแพ้ต่อความเย้ายวนใจที่จะเลิกเดินขึ้นแล้วหันหลังกลับ ผมว่าเรื่องแบบนี้คงไม่ใช่มีผมคนเดียวที่แว่บคิดได้ระหว่างการเดินเป็นแน่ ระหว่างทางพบน้อง ป.6 ลุง ป้า น้า อา ทุกวัย สาวบูติก ลูกหาบผู้หญิง เจอหนุ่มคนหนึ่งมาทักเพราะจำผมได้ชวนคุยไปจบว่า ภูกระดึง ไม่ใช่ภูกระเช้า ฮ่าๆ

ในที่สุดผมก็พาร่างกายวัยกลางคน กับน้ำหนักตัวที่มากกว่าเมื่อขึ้นครั้งแรกตอนหนุ่มๆ ผ่านป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาบนเส้นทางโหดทางหินชันดิกก่อนขึ้นถึงยอดหลังแปในตอนบ่าย ที่ผมบันทึกไว้บนเฟสบุ๊คว่า “วันนี้ใช้เวลา จาก 9.19-15.14 รวมเวลา ขึ้นถึงหลังแป 5 ชั่วโมง 55 นาที 555”

จากหลังแป ทิวทัศน์ป่าสน และไม้พุ่มดูหนาตาขึ้นมาก ระหว่างทางเดินทรายตามการผุพังของหินชุดภูพานที่ผิดทับยอดภูตัดเป็นที่ราบกว้าง ผมพบตัวเองเจ็บขา ตึงไปหมด เมื่อถึงบริเวณกางเต็นท์ ก็นำเอกสารจองเต็นท์ และเครื่องนอนจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวไปแสดง พบการบริการแบบมืออาชีพ อัธยาศัยการต้อนรับดีมาก ทั้งๆ ที่เขาก็จำผมไม่ได้ ผมประเมินการบริการรวมถึงคุณภาพเครื่องนอนเทียบกับค่าใช้จ่ายแล้วคิดว่าไม่แพงเลย และพูดได้เต็มปากว่าการทำงานบริการของอุทยานแห่งชาติที่นี่ดีพอที่จะรองรับ นักท่องเที่ยวอย่างน่าประทับใจ หากจำนวนไม่มากจนเกินไป

เย็นค่ำนั้น อากาศเย็นลงฮวบฮาบ ดีที่อาหารร้อนๆ จากร้านค้าที่มีให้เลือกหลายร้านอร่อย ไม่แพงเมื่อเทียบกับการขนส่งที่ต้องจ้างคนแบกขึ้นมาทำให้เราอบอุ่นร่างกาย และที่สำคัญก็คือความน่ารัก และอัธยาศัยใจคอของเจ้าของร้านแทบทุกร้านที่สร้างความอบอุ่นใจอย่างยิ่ง

ผมตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะต้องฝ่าความหนาวไปดูพระอาทิตย์ขึ้นให้ได้… ก่อนหลับไปในเต็นท์ ที่อุณหภูมิภายนอกต่ำลงไปเป็นเลขตัวเดียวตั้งแต่ยังไม่ดึก

ตีห้า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง นัดหมายให้คนมาชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น มาพร้อมกัน

เราออกเดินตรงเวลาออกมาในความมืด ไฟฉายจากคณะเดินทางที่ไม่รู้จักกันส่องทาง ให้เห็นกลุ่มต่างๆ ผมเดินดุ่มตามกลุ่มแรกในความมืด ลองปิดไฟฉายเดินไปเรื่อยๆ สักพักมีหนุ่มสาวคู่หนึ่งเร่งฝีเท้าแซงขึ้นไป… รู้แล้วว่าอายุและร่างกายต่างกับเมื่อก่อนเยอะ นั่นทำให้ผมต้องเร่งฝีเท้าขึ้นมา มีอีกกี่คณะอยู่เบื้องหลังไม่ทราบ เห็นเพียงแสงไฟและแว่วเสียงคุยมาไกลๆ ร่างกายเมื่อเริ่มเร่งเดินก็หายหนาว ผมจำได้ว่าเมื่อก่อนเคยเดินมาเองครั้งหนึ่งและหลงทาง แล้วทางเมื่อก่อนไม่กว้างขนาดนี้ นอกจากนี้ได้ยินว่าเส้นทางนี้มักมีช้างเดินออกมาเจอกับนักท่องเที่ยวบ่อยๆ ยังไม่ถึงตีห้าครึ่งดี เราก็มาถึงผานกแอ่นที่ระยะห่างออกมา 2.3 กิโลเมตร

ในความมืดรอบตัว ผมมานั่งสงบอยู่ที่ก้อนหินติดหน้าผา วิวเบื้องหน้า เป็นเมืองเล็กๆ มีไฟระยิบระยับ และมีไฟถนนเหยียดยาว ลมหนาวเริ่มพัดมาให้เย็นขึ้นหลังจากร่างกายหายร้อนจากการออกกำลังกายเดินจ้ำมาสองกิโลกว่า ผมนั่งอยู่ในความมืดสักครู่ก็มีคนอื่นๆ มานั่งกันอยู่ใกล้ๆ ไม่ทราบจำนวน แต่คาดว่าคงเต็มหน้าผา ถ้าเป็นเมื่อก่อนเสียงคุยกันคงดังมากกว่านี้

แต่เดาว่าเช้านี้ ครึ่งหนึ่งของคนที่มากำลังใช้โทรศัพท์สื่อสารก้มหน้ากันอยู่เหมือนผม

ท่ามกลางอากาศเย็น ลมหนาวมากขึ้น โดยรวมแล้วผมรู้สึกดีกับระบบการจัดการของอุทยาน มีเจ้าหน้าที่อัธยาศัยดีคอยดูแลนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ที่พัก และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็อยู่ในสภาพดี ร้านค้าอยู่ในบริเวณเขตบริการตามระเบียบเรียบร้อย อาหารราคายุติธรรม สะอาดสะอ้าน รสชาติดี ภูกระดึงยังสงบ และงดงามในยามไม่ใช่เทศกาล นักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ต่างร่วมใจ รักษาธรรมชาติ แม้ผ่านเวลามายาวนาน

แน่นอนว่าความรู้สึกแบบนี้ ก็คงเป็นกันทุกคนที่ได้ขึ้นมาสัมผัสที่จะรู้สึกตรงกันว่า “เก็บไว้แบบนี้นานๆ ได้ไหม”

พระอาทิตย์ดวงเดียวกัน สวยมหัศจรรย์นักที่ผานกแอ่น ผมมองไปยังลานหินรอบตัว นักท่องเที่ยวสักร้อยกว่าคนในแสงแรกของวันก็คงคิดเหมือนผม ดูเหมือนว่าหลายคนจะเริ่มจำผมได้ และเข้ามาทักทายถ่ายรูปด้วยมิตรภาพ

ดีที่ไม่มีใครชวนคุยเรื่องหนักๆ แบบ ‘กระเช้าภูกระดึง’ กับผมในเช้าวันนั้น

แน่นอนว่าผมก็ไม่อยากคุยเปิดประเด็นกับใคร ในเช้าวันสวย

ยามสายของปลายหนาว ผมพบตัวเองอยู่บนเส้นทางท่องเที่ยวบนภูกระดึงเดินผ่านร้านอาหาร ‘เจ๊กิม’ เจ้าเก่าแก่จากพื้นที่โซนบริการของอุทยานแห่งชาติไปสู้เส้นทางน้ำตกวังกวาง ซึ่งครั้งนี้ผมรู้อยู่แล้วว่าอยู่ในช่วงแล้งและไม่ค่อยมีน้ำ แต่ต้นอ่อนยอดสนสองใบสามใบ และเฟิร์นใต้ต้นก็ยังงดงามอยู่ข้างทาง สำหรับคนชอบธรรมชาติ เส้นทางเดินระหว่างทางแม้แล้งขนาดนี้ก็ยังมีอะไรสวยๆ ให้ดู และเมื่อถึงที่น้ำตกวังกวาง หน้านี้แล้งมีน้ำหยดริน แลดูสวยแบบคนชอบธรรมชาติเข้าใจฤดูกาล

แต่ผมพลันคิดถึงว่าน่าสงสารนักท่องเที่ยวที่หากมีกระเช้าขึ้นมาทุกฤดู แล้วจะมาดูอะไร เดินไหวไหม แต่ละที่จะเดินเข้าไปก็ไกลนัก

จากน้ำตกวังกวางบนเส้นทางต่อไป แม้จะแล้ง แต่ลานหิน และเส้นทางก็จินตนาการได้ว่ามีฝนลงมาจะสวยแค่ไหน

ทางไปน้ำตกเพ็ญพบรายทางแล้งๆ ผมรู้สึกว่าหากสังเกตรายละเอียดก็ยังมีความงดงามเล็กๆ ให้ชมบนดูเส้นทางเชื่อมไปยังสถานที่ท่องเที่ยวบนภูกระดึง เส้นทางใกล้ๆ ก็มีการขยายกว้างแต่ไกลออกไปยังเป็นทางเล็กๆ ลัดเลาะลานหินและดงหญ้า แสงแดดหน้าหนาวก็ทำให้รู้สึกร้อนและไกล แต่นั่นไม่เป็นอุปสรรคใดๆ กับคนที่ปีนภูสูงขึ้นมาได้

ผมมาถึงน้ำตกเพ็ญพบใหม่มีน้ำรินๆ แต่เห็นแผ่นหินและพืชเกาะก็จินตนาการได้ถึงฤดูที่น้ำไหลแผ่หินมาตกเป็นม่านบางฝอยกระเซ็น ผมสังเกตตามที่ท่องเที่ยวแทบไม่มีร่องรอยของคนทิ้งขยะ สถานที่ดูมีการจัดการที่ดี ระหว่างทางเดินไปที่ต่างๆ มีป้ายบอกทางชัดเจน ป่าสนรอบๆ ตัวผมดูสมบูรณ์หนาตามากกว่าที่ผมเคยเห็นเมื่อยี่สิบปีที่แล้วมาก

ตกเย็น… ผมนั่งรอเวลานัดกับพระอาทิตย์ตกที่ผาหมากดูก

ที่นี่รอรับผู้คนที่ไม่ต้องเป็นนักเดินทางชั้นเซียน คนส่วนใหญ่ก็ขึ้นมาได้ถ้าตั้งใจสักนิด ระหว่างนั้นผมนั่งมองนักท่องเที่ยวกลุ่มต่างๆ ที่แต่งตัวสวยสบายๆ ไม่ใช่นักเดินป่าผู้ช่ำชองก็ยังมาได้ ทุกคนดูมีความสุขกับอากาศที่เย็นลงอีกครั้ง

แสงเย็นสวยให้ถ่ายรูปกันสนุกสนาน ทุกอย่างสบายๆ บรรยากาศของความสุขในความสวยงามของภูมิประเทศ และความพอดีของจำนวนนักท่องเที่ยวกับพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่อึดอัด และเอะอะมะเทิ่ง ทุกคนให้เกียรติ ยิ้มแย้ม เอื้ออาทรกันและกัน แม้จะไม่รู้จักกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มอื่นๆ ถ่ายภาพในมุมสวย และต่อคิวถ่ายรูปหน้าป้าย

ผมนั่งมองผู้คนสลับกับท้องฟ้าและดวงอาทิตย์ พลางคิดว่าอยากให้ภูกระดึงเป็นจุดหมายของคนที่เริ่มเดินทางสัมผัสธรรมชาติด้วยสองเท้า เพื่อผลิตหัวใจที่ใกล้ๆ กันในการเห็นคุณค่าของความไกลในวันงามของโลก และแน่นอนว่าให้นำความรู้สึกตอนนี้ไปเป็นแนวร่วมที่มีพลังที่จะรักษามันไว้

ที่ผาหมากดูกนี้เป็นหน้าผาที่ใกล้จุดที่เขาวางไว้ว่าจะสร้างกระเช้าภูกระดึง ดังนั้นเข้าใจได้ว่าที่นี่คงเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักในการให้คนขึ้นกระเช้ามาชมวิว ว่ากันว่าร้านค้าชาวบ้านที่นี่อาจจะอยากให้เกิดกระเช้าไวๆ ต่างจากร้านที่อื่นที่ไม่ค่อยอยากให้มีกระเช้า

แต่ผมก็ไม่ได้ไปสอบถามให้เป็นประเด็น เสียบรรยากาศงดงามในหัวใจ

ดวงอาทิตย์ลดระดับลงมาใกล้เหลี่ยมผา แสงจ้าฝ้าหมอกค่อยๆ หายไปกลายเป็นลูกกลมส้มแดงลอยอยู่เบื้องหน้าพวกเรา ผมเดินผ่านทางป่าสนสวยงามมา 2 กิโลเมตร จากที่กางเต็นท์หลังจากไปเดินตากแดดดูป่าสนบนเส้นทางท่องเที่ยวน้ำตกในวันที่แห้งแล้ง เพื่อนั่งรอแสงสุดท้ายของวันกลางอากาศเย็นสบาย ไม่น่าเชื่อว่าพระอาทิตย์ดวงเดียวกับที่อื่นๆ กลับมีความหมายแตกต่างไปเมื่อเดินถึงสุดขอบผาที่ยกระดับแผ่นดินขึ้นมาเมื่ออดีตกาลโพ้นจนใกล้มวลเมฆงามด้วยพลังขาและพลังใจ

ผมอดคิดไม่ได้ว่าอีกหน่อยจะขึ้นมาก็แค่รอเวลาที่เหมาะ จองตั๋วทัวร์ขึ้นกระเช้า มาชมแล้วลงไปหาร้านอาหารหรูๆ ที่ข้างล่าง แต่นั่นคงไม่ใช่ความหมายเดิมๆ ของนักเดินทางรุ่นเราอีกต่อไป

ผมเชื่อว่าคุณค่าของภูกระดึงคือเรื่องนี้จริงๆ เรื่องความหมายแห่งการเดินไกลเพื่อมาใกล้คุณค่าของธรรมชาติ และผมแน่ใจว่าภูเขายอดตัดสวยๆ แบบนี้ เป็นเส้นทาง trekking ที่ดีที่สุดของประเทศไทย ไม่ไกลเกิน ไม่ลำบากเกิน แต่ขึ้นมาแล้วสวยคุ้ม องค์ประกอบของการบ่มเพาะความเข้าใจใกล้ชิดธรรมชาติ ให้คนจำนวนมากเข้าถึงได้ ถึงมีกระเช้าแล้วบอกว่าเส้นทางเดินก็ยังอยู่ แต่เชื่อไหม จะไม่ใช่คุณค่าความหมายของภูกระดึงที่ทำหน้าที่นี้ให้ประเทศไทยมาหลายสิบปี เส้นทางแห่งความหมายร่วมกันของยุคสมัย รุ่นคุณปูย่าตายายมาถึงเรา และมันจะเป็นเพียงประวัติศาสตร์เส้นทางที่จะหายไปจากยุคสมัยที่ผ่านมา

ผ่านคืนหนาวเหน็บบนภูสูงอีกคืน ผมเดินผ่านเส้นทางเดินสู่หลังแปเพื่อเดินทางกลับ ขณะเดินทอดน่องสบายๆ ก่อนลงเขาทางยาว มีรถเข็นกระเป๋าพร้อมหนุ่มหน้าเข้มเดินสวบๆ เข็นรถมาทันผม และทักทายด้วยความที่จำได้ว่าผมเป็นใคร เขาเปิดประเด็นถามผมก่อนเรื่องกระเช้าว่า “เขาจะสร้างแน่ใช่ไหม ?”

ผมเหน็บอยู่ในใจ “แหม… ทำอย่างกับผมเป็นคนตัดสินใจ หรือไปรู้ใจเขาอย่างนั้น”

บนเส้นทางตลอดเกือบ 3 กิโลเมตร ก่อนลงเขาที่หนุ่มคนนั้นต้องเปลี่ยนจากรถเข็นเป็นหาบลง เราคุยกันมาตลอดทาง ผมถามเขาได้ความว่าเขาเป็นหนุ่มใต้ชื่อเบียร์มาได้เมียที่นี่ หาบของมาตั้งแต่สิบปีที่แล้วตอนนี้อายุสามสิบกลางๆ น้ำหนักรวมของกระเป๋าที่จะเอาลงวันนี้ 75 กิโลกรัม

เบียร์เล่าให้ฟังว่า ครั้งแรกแบกแค่ 18 กิโลกรัมเท่านั้น ใช้เวลาสะสมประสบการณ์อยู่เป็นปีกว่าจะได้ขนาดน้ำหนักนี้ ทั้งเทคนิค ความแข็งแรง และความอดทน

ผมทราบจากเขาว่าตอนนี้มีคนหาบของ 330 คน เป็นลูกหาบผู้หญิงประมาณ 50 คน บางคนแบกได้ถึงอายุ 60 คนแข็งแรงหนุ่มๆ ก็ว่ากันที่ 60 – 70 กิโลกรัม ผู้หญิงราวๆ 40 คน แบกได้ราวๆ คนละ 40 กิโลกรัม การมาเป็นลูกหาบจะไม่มีคนต่างถิ่นเลย อย่างเขานี่ก็ต้องมาเป็นเขยบ้านนี้ถึงมาแบก เคยมีคนตายระหว่างแบกคนหนึ่งจากโรคหัวใจ นอกนั้นก็กระดูก เส้น ไปตามเรื่อง ไม่มีอะไรร้ายแรงมาก ตอนนี้ค่าจ้างน้ำหนัก 30 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเป็นแบกของร้านค้าประจำอยู่ที่ 15 บาท เดือนที่ได้งานเยอะคือช่วงพฤศจิกายนถึงมกราคม

ผมคำนวณคร่าวๆ พบว่ามีรายได้ 50,000 – 150,000 บาท แล้วแต่ความแข็งแรงและขยัน แต่อย่างร้านค้าประจำที่ผมฝากท้องอยู่หลายมื้อเมื่อสองวันที่ผ่านมา บอกว่าตั้งแต่เปิดการท่องเที่ยวเดือนตุลาคมถึงวันนี้ ก็จ้างแบกของขึ้นทุกวัน ร้านเดียวนี่จ้างแบกไปสามแสนกว่าบาท มีร้านข้างบน 32 ร้าน หมายความว่าเศรษฐกิจเม็ดเงินจากการแบกของอยู่ที่ 30 – 50 ล้านบาท ที่มีต่อท้องถิ่นต่อปี

ส่วนเรื่องกระเช้า เบียร์เล่าว่าเคยลงชื่อเห็นด้วย ไม่ใช่ว่าเพราะเห็นด้วยจริงๆ แต่มีคนจากกรุงเทพที่บอกว่าเป็นนักวิชาการมาศึกษามาจัดประชุมกับผู้นำการเมืองท้องถิ่นของอำเภอภูกระดึง และจังหวัดเลย ยืนยันว่า ไม่ว่าลูกหาบเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ‘เขา’ ก็สร้าง พวกเขาก็คิดกันว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ ผู้นำท้องถิ่น ไปแสดงความไม่เห็นด้วยก็ไม่มีทางสู้ ลงชื่อไปเลยก็ได้ว่าเห็นด้วย จะได้ไม่ขัดกัน

ผมอธิบายว่า ‘เขา’ ที่น้องพูดคือ ‘รัฐบาล’ ซึ่งก็เปลี่ยนกันเรื่อยๆ แล้วแต่ใครมีอำนาจช่วงไหน สนใจประเด็นนี้มากน้อยต่างกันอย่างไร อย่างตอนคุณปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ท่านเป็น ส.ส. จังหวัดเลย มาเป็นรมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่านก็ถือโอกาสผลักดันเพราะอยู่ในอำนาจของท่าน แต่พอผ่านไปในรัฐบาลการเมืองของท่านเองก็มีการเปลี่ยนตัวรมต.พรรคท่านมา ซึ่งอาจจะไม่สนใจเรื่องนี้มาก เรื่องมันก็ไม่เร่ง เพราะในกรมอุทยานฯ ที่รับผิดชอบคนไม่เห็นด้วยเขาก็มี หัวหน้าอุทยานเขาก็ต้องเออออตามนายตามการเมืองอยู่แล้ว

จากนั้นเราก็ถึงปลายทางหลังแป เราแยกทางกันที่ตรงนั้น ผมเดินลงเขา ส่วนเบียร์แยกไปเตรียมตัวเอาของขึ้นหาบที่ศาลาใกล้ๆ

จริงๆ แล้วผมไม่ชอบเห็นพี่น้องต้องมาทำงานหนักหาบของที่อาจจะสร้างผลเสียต่อร่างกาย และต้องอดทน แบกของไปให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปมีความสุข ชมธรรมชาติ สำราญกันบนอาชีพลูกหาบ แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน ประเด็นนี้มองไปก็ลำบากใจ ส่วนตัวแล้วขึ้นสามครั้งหลังๆ เราก็จำกัดของมีแค่ชุดนอนอีกชุดเดียว เอาขึ้นไปเอง เพราะบนนั้นมีทุกอย่าง ค่าแบกกับค่าใช้จ่ายซื้อข้าวข้างบนก็พอกัน ร้านค้าเขาก็ทำธุรกิจจ้างแบกอยู่แล้ว ส่วนใครจะต้องเอาของไปเยอะอันนั้นก็สิทธิส่วนตัว

แต่ประเด็นใหญ่คือ คนที่ทำงานเป็นลูกหาบ ที่เป็นกลไกสำคัญพัฒนาการท่องเที่ยวบนนี้มานาน รับกระจายรายได้ปีละ 30 – 50 ล้านบาท จากการแบก 3 – 4 เดือน และจากร้านค้าอีกไม่น้อยกว่ากันสู่ท้องถิ่น ก็จะเปลี่ยนไป เศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวที่สู่ชาวบ้านโดยตรงก็จะไปเป็นสัดส่วนให้นายทุนระดับตำบล อำเภอ จังหวัด มากขึ้น เหมือนใช้อำนาจแย่งกันซึ่งๆ หน้า ส่วนจะบริหารได้ดี และกระจายรายได้ ไปหาชาวบ้านได้จริงหรือไม่ก็เดาได้ว่าในที่สุดกำไรก็กระจุกอยู่กับใคร

ส่วนธรรมชาตินะหรือ?

หากวันนี้กำไรไม่พอหรือขาดทุน ก็คงเพิ่มการลงทุนจากการทำลายมากขึ้น ทำถนน เพิ่มรถ ทำรถราง ที่พักมีไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวกกันเข้าไปบนภู เพิ่มวิธีให้คนขึ้นไปเที่ยว แบบที่เคยเห็นๆ

ส่วนที่ดินรอบภูกระดึง ก็แน่นอน ใครมีตังค์ซื้อไว้ แค่ข่าวมีกระเช้า ก็มีโครงการสารพัดคอยปั่นที่ปั่นเงินรวยกันไปก่อนนานแล้ว

คนแบกของที่ทรหดอดทน แข็งแรงเกินมนุษย์ 330 คน ย่อมไม่มีความหมายอะไร กับความแรงของพลังความอยาก ความไม่พอของ ‘เขา’

ผมลงมาถึงตีนภูตอนเที่ยงวัน…

พร้อมคำถามว่าจะมีโอกาสขึ้นไปข้างบนอีกครั้งไหม?

โดยวิธีเดิน หรือ ขึ้นกระเช้า ก็ยังไม่รู้สินะ?

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)