เมื่อคนไม่แข็งแรง ป่าก็ไม่แข็งแรง : สุขภาพของผู้พิทักษ์ป่าจึงเป็นสิ่งที่ต้องดูแลควบคู่ไปกับผืนป่า 

เมื่อคนไม่แข็งแรง ป่าก็ไม่แข็งแรง : สุขภาพของผู้พิทักษ์ป่าจึงเป็นสิ่งที่ต้องดูแลควบคู่ไปกับผืนป่า 

ผู้พิทักษ์ป่าเปรียบเสมือนผู้ที่คอยรักษากฎหมายและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่คุ้มครองหรือพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศ อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน พื้นที่ป่าไม้และป่าสงวนแห่งชาติ รวมทั้งพื้นที่คุ้มครองทั้งทางบกและทางทะเลของประเทศไทย 

ทว่าสุขภาพป่าที่แข็งแรงก็ย่อมต้องมาพร้อมกับสุขภาพกายที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ด้วยเช่นกัน ถ้าร่างกายหรือสุขภาพของผู้พิทักษ์ป่าไม่สมบูรณ์หรือป่วยไข้ ก็ย่อมส่งผลต่อการดูแลผืนป่าด้วย ดังนั้นหากไม่มีผู้พิทักษ์ป่ามาทำหน้าที่ในไม่ช้าทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และผู้คนที่อาศัยอยู่โดยรอบผืนป่าก็อาจจะได้รับผลกระทบในที่สุด ด้วยเหตุนี้การส่งเสริมสุขภาพของผู้พิทักษ์ป่าจึงเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญ เพราะผู้พิทักษ์ป่าเป็นกำลังสำคัญในการดูแลรักษาผืนป่านั่นเอง 

บทบาทของผู้พิทักษ์ป่าต่อผืนป่า 

ในปัจจุบันมีปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในผืนป่าและบริเวณรอบป่า อาทิ การลักลอบล่าสัตว์ป่า การตัดไม้ทำลายป่า การเก็บหาของป่า ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นภัยคุกคามต่อทั้งผืนป่าและสัตว์ป่า ทำให้ผู้พิทักษ์ป่าจะต้องทำหน้าที่เป็นคนกลางในการที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ของคน ป่า และสัตว์ป่าไว้ด้วยกัน เพื่อที่จะรักษาผืนป่าอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเอาไว้ 

ด้วยหน้าที่และอุดมการณ์อันแรงกล้าในการจะปกป้องผืนป่าเอาไว้ ทำให้ผู้พิทักษ์ป่าคือกลุ่มคนสำคัญที่เราจะขาดพวกเขาไปไม่ได้ ถ้าเปรียบป่าเป็นร่างกายมนุษย์ ผู้พิทักษ์ป่าก็คงเป็นเม็ดเลือดขาวที่จะคอยดูแลและป้องกันภัยอันตรายที่จะมาทำร้ายร่างกายของเรา 

หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของผู้พิทักษ์ป่าคือการลาดตระเวนเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับป่า ทั้งนี้การลาดตระเวนยังช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถทราบข้อมูลและปัญหาของชุมชนทั้งในและรอบที่เกิดขึ้นด้วย เพราะในหลายภารกิจจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากการลาดตระเวนเพื่อนำมาออกแบบวิธีการในการจัดการและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่า  

อย่างในกรณีของป่าห้วยขาแข้ง นายอุดม กลับสว่าง เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้ข้อมูลถึง “โครงการธรรมชาติปลอดภัย” โดยปัญหาบริเวณรอบเขตป่าห้วยขาแข้งที่ชุมชนมีความขัดแย้งกับช้างป่าที่เข้ามาทำลายพืชไร่ของชาวบ้าน ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ผู้พิทักษ์ป่าเองก็มีส่วนสำคัญในโครงการนี้ พวกเขามีส่วนช่วยในการเก็บข้อมูลรวบรวมข้อมูลพื้นที่ที่ช้างป่าได้ออกมาในเขตพื้นที่ทำกินของชุมชน รวมถึงข้อมูลผลกระทบที่ชุมชนได้รับจากช้างป่าด้วย ซึ่งชุดข้อมูลต่าง ๆ นั้นมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการออกไปวิธีป้องกันอันตรายจากช้างป่าและสามารถทำให้คนและช้างอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

กรณีดังกล่าวเป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายภารกิจของผู้พิทักษ์ป่าเท่านั้น ยังมีภารกิจและหน้าที่อีกมากมายที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องรับผิดชอบ ซึ่งแต่ละภารกิจของพวกเขาล้วนเป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผืนป่า หากขาดผู้พิทักษ์ป่าไปเราก็อาจจะไม่เหลือพื้นที่ป่าให้ได้ใช้ประโยชน์กัน

อุดม กลับสว่าง เจ้าหน้าที่โครงการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

การให้ความสำคัญต่อสุขภาพผู้พิทักษ์ป่า และการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อผู้พิทักษ์ป่า 

ด้วยบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญของผู้พิทักษ์ป่า ประกอบกับการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าที่อยู่บนความเสี่ยงจากทั้ง อันตรายและโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ จึงทำให้หลายองค์กรและหลายฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพผู้พิทักษ์ป่า จึงนำไปสู่การจัดกิจกรรมลงพื้นที่ตรวจสุขภาพผู้พิทักษ์ป่าในครั้งนี้ 

เมื่อวันที่ 7 – 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี-นครสวรรค์ ซึ่งครอบคลุมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เพื่อตรวจสุขภาพให้กับเหล่าผู้พิทักษ์ป่าในสองพื้นที่เขตดังกล่าว ตลอดจนดูแลสุขภาพร่างกายให้กับชาวบ้านในชุมชนโดยรอบพื้นที่

หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในครั้งนี้ประกอบไปด้วย การตรวจโรคทั่วไป การแพทย์ทางเลือก (ฝั่งเข็มประยุกต์) ทันตกรรม และการให้ความรู้ด้านสุขศึกษา นอกจากนี้ทางสภากาชาดไทยยังได้นำอุปกรณ์การแพทย์ ยาสามัญประจำบ้าน เครื่องมือด้านสุขภาพ มาแจกให้แก่ผู้พิทักษ์ป่าด้วย  

“ถ้าเราเป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งที่สามารถมอบให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและให้กำลังใจแก่เหล่าผู้พิทักษ์ป่าได้ เราก็อยากจะทำ เพราะเราอยู่ในเมืองเราก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน ซึ่งป่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ดังนั้นเราจึงเห็นถึงความสำคัญของคนที่ทำงานตรงนี้จึงเกิดเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อผู้พิทักษ์ป่าขึ้นมา” กล่าวโดย พ.ญ.วรางคณา ทองคำใส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุแพทย์ และแพทย์ทางเลือกฝังเข็มประยุกต์ หัวหน้าหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ สํานักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย

พ.ญ.วรางคณา ทองคำใส หัวหน้าหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ สํานักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย

กิจกรรมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในครั้งนี้ถือว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าและชาวบ้านจากชุมชนในพื้นที่เดินทางมาเข้ารับบริการจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่อย่างไม่ขาดสาย กิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการสนับสนุนการดูแลรักษาป่า ถ้าเราไม่มีผู้พิทักษ์ป่า เราก็จะไม่มีผืนป่า เพราะสุขภาพป่าที่ดี ย่อมมาพร้อมกับสุขภาพกายของผู้พิทักษ์ป่าที่แข็งแรงด้วยเช่นกัน 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ