‘งูใหญ่เลื้อยผ่านหมู่บ้าน’ หายนะชุมชนกะเหรี่ยงแห่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

‘งูใหญ่เลื้อยผ่านหมู่บ้าน’ หายนะชุมชนกะเหรี่ยงแห่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

“งูใหญ่เลื้อยผ่านหมู่บ้าน ม้ามีเขา เสาบ้านออกดอก คนเสียงดังมาเรียกใกล้ ๆ บ้าน” คือคำตักเตือนของบรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยง พึงให้ลูกตระหนักถึงสัญญาณทั้ง 4 ที่บ่งบอกถึงหายนะที่กำลังมาเยือนทำให้หมู่บ้านล่มสลาย

“งูใหญ่เลื้อยผ่านหมู่บ้าน ม้ามีเขา เสาบ้านออกดอก คนเสียงดังมาเรียกใกล้ ๆ บ้าน” เป็นคำสอนทั้ง 4 ข้อ เป็นของบรรพบุรุษกะเหรี่ยงโผล่ว ในตำบลไล่โว่ ซึ่งถ่ายทอดเป็นคำสอนจากรุ่นต่อรุ่นมาช้านาน ซึ่งปราชญ์ชาวกะเหรี่ยงได้ตีความหมายเป็นลางบอกเหตุร้าย ที่ส่งผลต่อการล่มสลายของชุมชนกะเหรี่ยง โดยมีความหมายดังนี้

จากคำสอนดังกล่าวหากพิจารณาให้ดี ทั้ง 4 ข้อ คือสัญลักษณ์ของความเจริญที่เข้ามาทำลายชุมชนความเป็นคนกะเหรี่ยง โดยเฉพาะ ‘งูใหญ่เลื้อยผ่านหมู่บ้าน’ หรือ ‘ถนน’ ที่จะตัดผ่านเข้าไปดึงดูดทรัพยากรธรรมชาติออกมา อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง ‘การตัดถนน’ ที่เปรียบเสมือนงูใหญ่เลื้อยผ่านหมู่บ้าน ถือได้ว่าเป็นปัจจัยแรกที่ไปนำความเจริญทางวัตถุเข้าไปในชุมชน จากนั้นจึงตามมาด้วย ‘ม้ามีเขา’  หรือ รถมอเตอร์ไซค์ที่ต้องซื้อหาและต้องใช้น้ำมัน 

‘เสาบ้านออกดอก’ หมายถึง ‘เสาไฟฟ้า’ ซึ่งหากมีไฟฟ้าที่ สิ่งอำนวยความ เช่น ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า รายจ่ายประจำเดือนตามมา และสุดท้าย ‘คนเสียงดังมาเรียกใกล้ ๆ บ้าน’  หมายถึง พ่อค้าแม่ค้ารถเร่ขายกับข้าว ทำให้ต้องเกิดรายจ่ายในทุก ๆ วัน  ความหมายทั้ง 4 ข้อ จึงขัดต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง ที่ดำรงชีพอยู่กับการทำไร่ข้าวมีรายได้เป็นรายปี เพียงพอต่อการยังชีพ เน้นการพึ่งพิงบนพื้นฐานทรัพยากรที่มี ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากนัก 

ซึ่งหากทั้ง 4 ข้อ เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจหนี้สินภายในครัวเรือนเพียงอย่างเดียว ความเจริญทางวัตถุก็จะทำให้เกิด ‘เหลื่อมล้ำ’ ทางสังคมตามมาอีก เพราะจะเกิดการอยากมี อยากได้ เกิดการแข่งขัน กลุ่มผลประโยชน์ด้านต่าง ๆ ภายในชุมชนตามมา เช่นกลุ่มผู้ครอบครองที่ดิน สุดท้ายคือการฉกฉวยแย่งชิงทรัพยากร นำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติในที่สุด

ความเป็นจริงในปัจจุบันคำตักเตือนทั้ง 4 ข้อได้เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงในตำบลไล่โว่ แต่การเกิดขึ้นเป็นไปในลักษณะของความ “พอดีในวิถีชีวิต ตามบริบทของพื้นที่” หรือการอยู่ดำรงอยู่ได้โดยปัจจัยความเจริญดังกล่าวไม่ได้มีอิทธิพลส่งผลต่อการดำเนินชีวิตมากนัก เช่น ถนน ก็เป็นถนนลูกรังบดอัดเพื่อใช้ในช่วงหน้าแล้ง หรือรถมอเตอร์ไซค์ก็จะใช้ในยามจำเป็นที่ต้องออกนอกหมู่บ้าน ไฟฟ้าใช้เป็นระบบโซล่าเซลล์ ซึ่งไม่ต้องมีรายจ่าย รถกับข้าวหาบเร่ขายของจะเข้ามาเป็นบางครั้งบางคราวขายของที่มีความจำเป็น และเป็นบางหมู่บ้านที่สามารถเข้าถึงได้ตามความสะดวกของเส้นทาง ทั้งหมดคือการพัฒนาที่พอดีกับวิถีชีวิตในปัจจุบันของชาวตำบลไล่โว่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก 

ดังมีตัวอย่างของ ‘งูใหญ่เลื้อยผ่านหมู่บ้าน’ หรือ ‘ถนน’ ที่ตัดผ่านนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของชุมชนกะเหรี่ยงอย่างไม่มีวันกลับเคยเกิดขึ้นมาแล้ว  ณ บ้านทิพุเย ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นเส้นที่ตัดจากถนนเส้น 323 จากบ้านเกริงกระเวียไปบรรจบกันเส้นเหมืองแร่ลำแร่ที่บ้านคลิตี้ ผ่านบ้านทิพุเย ซึ่งในอดีตบ้านทิพุเยเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในหุบเขาที่รายล้อมด้วยป่าเขาอันสมบูรณ์ โดยผู้เฒ่าผู้แก่หมู่บ้านทิพุเยได้กล่าวว่า 

“หลังจากมีงูใหญ่เลื้อยผ่านหมู่บ้าน คนแปลกหน้าต่างภาษาก็เข้ามา พวกเขามากันเป็นจำนวนมาก มากกว่าพวกเราที่อยู่เดิม พวกเขาตัดโค่นต้นไม่ใหญ่ลงสร้างเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ 2 หมู่บ้าน ทั้ง 2 หมู่บ้านไม่ได้ปลูกข้าวกันเหมือนหมู่บ้านกะเหรี่ยง พวกเขาปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพดไว้ขาย”

ปัจจุบันหากใครได้ไปหมู่บ้านกะเหรี่ยงทิพุเยจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของชุมชนได้เป็นอย่างดี มีถนนตัดผ่านหน้าหมู่บ้านเส้นทางสัญจรไปมาสะดวกสบาย มีไฟฟ้าในหมู่บ้าน ทำการเกษตรเป็นลักษณะพืชเชิงเดี่ยว แต่ทุกอย่างที่เข้ามาต้องพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก วิถีชีวิตของชุมชนแทบไม่เหลือร่องรอยความเป็นชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อยู่กับป่า พึ่งพิงธรรมชาติอย่างพอเพียง เช่นเดียวกับหมู่บ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่อื่น ๆ ที่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากโครงสร้างพื้นฐานจากการพัฒนาจากภาครัฐที่ไม่สอดคล้องกับบริบท และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ 

ความจริงแล้วโครงการพัฒนากับชุมชนในเขตอนุรักษ์ โดยเฉพาะในตำบลไล่โว่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรนั้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกิดจากหน่วยงานของภาครัฐ ที่มักจะอ้างความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่เพื่อเป็นเสียงสนับสนุนการก่อสร้าง ดังที่ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านสเน่พ่องได้สะท้อนให้ฟังว่า 

“ทางราชการอยากจะปรับปรุงถนนเข้าหมู่บ้านให้สะดวกขึ้น และให้ชาวบ้านเสนอเรื่องไปว่ามีความจำเป็นจึงต้องมีถนนใช้ทั้งปี เพราะปกติหน้าฝนเราก็ไม่ค่อยได้ไปไหนอยู่แล้ว ต้องทำไร่ข้าว ผลผลิตที่ได้ก็เก็บไว้กินไม่ได้ขาย จึงไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางออกไปข้างนอก คนกะเหรี่ยงไปไหนมาไหนก็ใช้เดินเอา ไม่มีถนนก็เดินไปได้ เดินในป่าก็เย็นไม่ร้อน ทางการมักจะเอาชาวบ้านมาอ้างเสมอว่าชาวบ้านเดือดร้อน เดินทางลำบากเจ็บไข้ได้ป่วยก็ออกไปหาหมอยาก ซึ่งไม่ใช่ แท้จริงแล้วข้าราชการเดินทางเข้ามาตรวจราชการยาก แล้วเอาชาวบ้านมาอ้าง”

จากเสียงของชุมชนบ้านสเน่พ่องสะท้อนให้เห็นว่า ความเป็นจริงแล้วชาวบ้านส่วนใหญ่อาจจะไม่ต้องการการ “ถนน” เหมือนคนในเมือง เนื่องเพราะตามวิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงยังคงพึ่งพิงทรัพยากรจากในพื้นที่ โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกไปจับจ่ายใช้สอยติดต่อกับภายนอกหมู่บ้านทุกวัน เหมือนกับคนในเมือง ยกเว้นช่วงภายหลังจากการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะมีผลผลิตที่ได้จากการทำไร่ไปขายบ้าง การไปมาหาสู่กันในช่วงมีงานเทศกาล เป็นครั้งคราว แต่หากจะต้องเป็นเส้นทางราดยางคอนกรีตตลอดสายผ่านชุมชนทั้ง 7 ชุมชนในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแล้ว คงไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของชุมชนเป็นแน่ ดังนั้นหากจะก่อสร้างเส้นทางเพื่อจะพัฒนาไปสู่ความเจริญคงต้องพิจารณาบริบทในหลากหลายมิติ 

‘หายนะ’ ที่เกิดขึ้นกับชุมชนกะเหรี่ยง คือการสูญเสียความเป็นตัวตน และการล่มสลายของชุมชน ‘งูใหญ่เลื้อยผ่านหมู่บ้าน’ ถือได้ว่าเป็นปัจจัยแรกที่นำความเจริญทางวัตถุเข้ามาสู่ชุมชน วิสัยทัศน์ของบรรพบุรุษชาวกะเหรี่ยงมองเห็นถึงสิ่งที่เกิดในอนาคต ถ่ายทอดออกมาเป็นคำเตือนที่ต้องการให้ลูกหลานตระหนักภัยอันตรายจากภายนอก ที่จะเข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต รวมถึงตัวตนความเป็นชุมชนคนกะเหรี่ยง เพราะคนกะเหรี่ยงเชื่อว่าการมี ‘ป่า’ อันเป็นฐานทรัพยากรจะทำให้ชาวกะเหรี่ยงคงอยู่ได้สืบไป  

อ้างอิง

  • วีรวัธน์ ธีรประสาธน์ : ถนนสายมรณะแห่งผืนป่าตะวันตก กรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร : เวียผะดูป่าทุ่งใหญ่
  • รายงานประจำปีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พ.ศ. 2533 – 2534 

ผู้เขียน

+ posts

กองบรรณาธิการ ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และโปรดิวเซอร์รายการ Seub Talk