บันทึกส่งท้ายปีที่คลองแสง

บันทึกส่งท้ายปีที่คลองแสง

ลองคิดๆดูเเล้ว สารคดีดีๆสักเรื่องนี่ “สร้างพลัง” แปรเปลี่ยนไปเป็นอะไรต่อมิอะไรได้เยอะเลยนะ…

บ่ายวันหนึ่ง หลังกลับจากโรงเรียน…

เมื่อมาถึงบ้าน เตี่ยได้เปิดทีวีที่กำลังนำเสนอสารคดีเรื่องหนึ่ง เด็กน้อยชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น นั่งดูไปสักพัก เนื้อหาเป็นอย่างไรนั้นจำไม่ค่อยได้หรอก… แต่ภาพที่จำได้ไม่ลืม คือภาพของผู้ชายคนหนึ่งกำลังปั้มหัวใจกวางอยู่บนเรือ พร้อมเสียงพากษ์จากเตี่ย จึงรู้ว่าเขา คือ สืบ นาคะเสถียร 

วันเวลาล่วงเลยผ่านไป เด็กน้อย เติบโต ตลอดเส้นทางเข้าร่วมกิจกรรมค่ายธรรมชาติศึกษา ทำกิจกรรมชมรมอนุรักษ์ จนจบออกมา เข้าสู่แวดวงของคนที่นิยมชมชอบธรรมชาติ และยังคงมีเรื่องราวของคุณสืบ นาคะเสถียร เกาะกุมอยู่ในหัวใจ

จวบจนมาเป็น ฉัน เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร อย่างเช่นขณะนี้

วันนี้โอกาสพิเศษๆ ได้มาถึง เหมือนโชคชะตานำพาอย่างไรไม่ทราบ…

เมื่อช่วงปลายปี 2565 ทีมงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้มีโอกาสไปเยือนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสง เเละพบกับอนุสรณ์เรือ สืบ นาคะเสถียร ซึ่งเป็นเรือที่คุณสืบ เคยใช้ในการอพยพสัตว์ป่าออกจากเขื่อนเชี่ยวหลาน ในช่วงปี 2529 

แน่นอนว่ามันเป็นเรือลำเดียวกันกับที่ ฉัน เเละหลายๆ คนเคยเห็นในสารคดีนั่นเอง

แม้ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสงจะนำตัวเรือมาเก็บรักษาไว้อย่างดี ณ บริเวณที่ทำการเขตฯ เเต่ด้วยวันเวลาที่ล่วงเลยผ่านมามากกว่า 30 ปี ตัวเรือก็โทรมลงไป 

ทางเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสงเองก็ได้บำรุงรักษาตัวเรืออยู่เป็นระยะๆ เพื่อคงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด ในส่วนที่ผุพังก็ไม่ได้ซ่อมใหม่ จนดูเหมือนว่าเป็นเรือลำใหม่ซะทีเดียว

ตอนนั้นทางมูลนิธิสืบฯ เห็นพ้องว่าอยากจะดูเเลอนุสรณ์เรืออพยพสัตว์ป่าให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งหัวหน้าสุเมธ หนูณรงค์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสงในขณะนั้นก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง

วันเวลาผ่านไปร่วมปี ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2566 ฉันได้กลับมาเริ่มต้นงานนี้อย่างจริงจัง แม้จะทิ้งระยะเวลาไปแรมปี แต่ความตั้งใจที่จะดูเเลอนุสรณ์เรืออพยพสัตว์ป่านี้ยังอยู่ในแผนตลอด เเต่ด้วยภารกิจหลักๆ ของมูลนิธิฯ อยู่ในผืนป่าตะวันตก จึงต้องจัดการให้เรียบร้อยเป็นส่วนๆ ไป ถึงวันนี้ภารกิจตามเเผนงานได้จัดการลุล่วงไปแล้วเกือบทุกอย่าง จึงถึงคราวลงมือ ลงเเรง เเละมีสมาธิกับงานนี้อย่างเต็มที่ 

การมาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสงรอบนี้เราได้ชวนสถาปนิกจาก บริษัท แปลน สตูดิโอ จำกัด ร่วมเดินทางมาดูพื้นที่จริงเเละพูดคุยกับหัวหน้าปีย์ (นายพรธวัช เฉลิมวงศ์) หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสง เเละทีมเจ้าหน้าที่ฯ เพื่อคุยกันถึงพื้นที่ใหม่ที่เหมาะสมในการย้ายตัวเรือขึ้นมาจัดเเสดง วิธีการที่เป็นไปได้ ตลอดจนข้อจำกัดต่างๆ วัสดุเเละการออกเเบบที่สอดคล้องกลมกลืนกับสภาพเเวดล้อมเเละการใช้งาน

ภาพเหตุการณ์อพยพสัตว์ป่าเขื่อนเชี่ยวหลาน (ภาพโดย สืบ นาคะเสถียร)
สืบ นาคะเสถียรกับงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน (ภาพโดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์)
อนุสรณ์เรืออพยพสัตว์ป่า บริเวณที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง
สถานที่เก็บอนุสรณ์เรืออพยพสัตว์ป่า

สำหรับทีมสถาปนิกจาก บริษัท แปลน สตูดิโอ จำกัด นั้นเราเคยร่วมงานกันครั้งเเรกเมื่อสามปีก่อน ในการออกแบบอาคารบ้านพักจุดสกัดสามเเยกปางวัว-เด่นหญ้าขัด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนปราการป้องกันการลักลอบกระทำผิดในพื้นที่ดอยเชียงดาว เเละเป็นที่พักของทีมเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวในการปฏิบัติภารกิจศึกษาวิจัยเเละดูเเลกวางผา ตลอดจนสัตว์ชนิดอื่นๆ ในพื้นที่ เเละหนึ่งงานสำคัญของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในครั้งนี้ ก็ได้รับความกรุณาจากทีมแปลนฯ มาช่วยกันอีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งในช่วงเดือนธันวาคมนี้จะเป็นการทำงานในส่วนของการออกเบบเเละทำรายการวัสดุอุปกรณ์ โดยคาดว่าหลังจากที่เเบบเสร็จเเละคุยกับทางพื้นที่อีกครั้งให้เห็นพ้องต้องกันเเล้วจะสามารถดำเนินการได้เลยในช่วงต้นปี 2567 

เรือ พาหนะหลักในการเดินทางของชาวคลองเเสง

หลังจากการดูพื้นที่เเละวางเเผนการทำงานกันเสร็จสรรพ หัวหน้าปีย์ก็ได้พาทีมงานเข้าเยี่ยมหน่วยพิทักษ์ป่า 3 เเห่ง จากทั้งหมด 12 หน่วยพิทักษ์ป่า ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสง ซึ่งเป็นการเดินทางโดยเรือ ไปตามจุดต่างๆในอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา 

หากดูจากแผนที่จะพบว่าพื้นที่ทางน้ำทั้งหมดนั้นอยู่ในการดูแลของอุทยานแห่งชาติเขาสก ส่วนพื้นที่ทางบก หรือพื้นที่ป่านั้นอยู่ในการดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสง การเดินทางเข้าสู่หน่วยพิทักษ์ป่าต่างๆ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสงนั้นสามารถเข้าถึงได้โดยเรือเท่านั้น เเน่นอนว่าการส่งเสบียงเเละการเดินทางประสานงานต่างๆ ก็ต้องใช้เรือเช่นกัน

แผนที่หน่วยพิทักษ์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสง

จากที่ทำการเขตฯ ถึงหน่วยพิทักษ์ป่าเชี่ยวหลาน หน่วยพิทักษ์ป่าหน่วยเเรกที่เราจะไปนั้น มีระยะทางใกล้ที่สุด และจะไปจบที่หน่วยพิทักษ์ป่าคลองมอญ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของเราในวันนี้ โดยมีระยะทางน้ำกว่า 30 กิโลเมตร เเต่สำหรับหน่วยพิทักษ์ป่าคลองหยา ซึ่งอยู่ลึกที่สุดนั้น มีระยะทางถึง 64 กิโลเมตร นอกจากความกว้างใหญ่ของผืนน้ำที่เรือเเล่นไปนั้น สองฝากฝั่งก็มีเเนวเขาทะมึนล้อมหน้าล้อมหลัง หากย้อนกลับไปในอดีตนั้นพื้นที่นี้เคยเป็นป่าดิบชื้นแดนใต้ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากป่าอื่นๆ ทั้งยังเต็มไปด้วยทรัพยากรที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดของเทือกเขาตะนาวศรี พื้นที่มีสภาพราบต่ำ ลำธารอยู่ในพื้นที่ราบต่ำจนถึงสูง โดยมีป่าปกคลุม เต็มไปด้วยชนิดพรรณพืช เป็นบ้านของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ทั้งสัตว์ที่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่บนผืนดิน ผืนน้ำ และผืนฟ้า และชนิดพันธุ์สัตว์ป่าหายากในพื้นที่

แต่ปัจจุบันเมื่อพื้นที่กลายสภาพเป็นเขื่อน สัตว์ที่มีอยู่ก็ลดจำนวนลง บางชนิดก็ได้สูญหายไปจากพื้นที่ แม้ครั้งที่หัวหน้าสืบ นาคะเสถียร ได้พยายามที่จะช่วยชีวิตสัตว์ป่าออกจากพื้นที่น้ำท่วม ภายใต้โครงการ ช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการเขื่อนเชี่ยวหลาน รวมระยะเวลากว่า 2 ปีเเล้วก็ตาม (มิถุนายน 2528 – กันยายน 2530)

ที่น่าเศร้าคือจากการทำอย่างอย่างหนักของทีมอพยพสัตว์ป่าเพียงไม่กี่คนที่ต้องเร่งทำงานเเข่งกับเวลาทั้งกลางวันเเละกลางคืนเพื่อช่วยชีวิตสัตว์ให้ได้มากที่สุดก่อนน้ำจะเต็มอ่าง สัตว์หนึ่งพันกว่าตัวที่ช่วยมาได้นั้น สุดท้ายเเล้วก็ตายลงระหว่างการช่วยเหลือเเละการรักษาด้วยความอ่อนเเรง ทั้งพบว่าสัตว์ป่าจำนวนมากไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันได้ 

จากรายงานผลการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน ของสืบ นาคะเสถียร มีใจความตอนหนึ่งว่า “จากแผนการแก้ไขผลกระทบต่อสัตว์ป่าอันเนื่องมาจากการก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ยังไม่ได้มีการติดตามผลที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าที่ได้รับการช่วยเหลือนำไปปล่อยนอกเขตอ่างเก็บน้ำ จึงมิอาจกล่าวได้ว่าสัตว์ป่าที่ได้รับการช่วยเหลือเหล่านี้จะสามารถปรับตัวให้มีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ ดังนั้นการแก้ไขผลกระทบดังที่ได้ปฏิบัติมาแล้ว จึงเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ลุล่วงไปในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น ทั้งยังไม่อาจนำมาประเมินผลได้ผลเสียกับสิ่งที่สูญเสียไปจากากรสร้างเขื่อนด้วย”

หลังจากงานอพยพสัตว์ป่าผ่านไป มีนักวิชาการหลายคนได้เข้ามาทำวิจัยเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสง เเละอุทยานแห่งชาติเขาสก มีผลงานทางวิชาการตีพิมพ์ออกมาอีกหลายชิ้น ซึ่งในทุกๆ รายงานกล่าวเนื้อหาโดยสรุปไว้คล้ายๆ กันว่า การสร้างเขื่อนในป่าอนุรักษ์ทำให้เกิดความล่มสลายเชิงระบบนิเวศ เป็นกระบวนการที่ทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ร่องรอยของสัตว์ป่าบางชนิดก็พบน้อยลง รวมถึงสัตว์ป่าเกิดความเสี่ยงอันตรายจากกิจกรรมที่มนุษย์เข้าไปใช้ประโยชน์

บรรยากาศสองข้างทางระหว่างเเล่นเรือในเขื่อนเชี่ยวหลาน

เอาล่ะ แค่นั่งเรือเดี๋ยวเดียว กลับพาย้อนอดีตไปเสียนาน ถึงเวลาขึ้นจากเรือ เข้าสู่หน่วยพิทักษ์ป่าเชี่ยวหลานกันเเล้ว…

มีงานเขียนบางงานที่พูดถึงเเพที่พัก ที่ใช้เป็นฐานในการทำงานอพยพสัตว์ป่าของทีมคุณสืบ เเต่ก็ไม่ได้มีรายละเอีดมากนักว่าอยู่ส่วนไหนของอ่างเก็บน้ำ หรือมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร 

ครั้งนี้หัวหน้าปีย์จึงเล่าให้ฟังขณะพาเดินบริเวณเเพที่ว่านั้น…

แพที่คุณสืบ เคยใช้เป็นแพที่พักขณะทำงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลานครั้งนั้น มีด้วยกัน 3 แห่ง คือ แพที่หน่วยพิทักษ์ป่าเชี่ยวหลาน หน่วยพิทักษ์ป่า(ชั่วคราว)ถ้ำเจียร์ เเละหน่วยพิทักษ์ป่าคลองหยา 

ซึ่งหากดูจากเเผนผังการตั้งหน่วยฯจะพบว่าเป็นจุดที่ครอบคลุมพื้นที่ตอนต้น ตอนกลาง เเละตอนปลายของเขื่อนเชี่ยวหลาน หน้าที่หลักๆ ของเเพนี้คือใช้เป็นกองอำนวยการประชุมเเละวางเเผนงาน เป็นที่เก็บเครื่องมือต่างๆ ตลอดจนเป็นที่พักผ่อนเเละประกอบอาหาร ซึ่งน้อยครั้งมากที่จะได้กินอาหารบนเเพ โดยมากเป็นการห่อไปกินระหว่างการล่องเรือออกไปทำงาน

เเพที่หน่วยพิทักป่าเชี่ยวหลานมีขนาดใหญ่พอสมควร ภายในเเพมีห้องนอน 2 ห้อง ห้องน้ำ 1 ห้อง เเละโถงโล่งๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของเเพ สภาพโดยทั่วไปใช้งานได้ปกติเนื่องจากทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสงเพิ่งมีการปรับปรุงตัวอาคารเเละเปลี่ยนทุ่นใหม่

บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าเชี่ยวหลาน
ภายในเเพ หน่วยพิทักษ์ป่าเชี่ยวหลาน

แพที่เรามีโอกาสได้มาในครั้งนี้อีกเเห่งคือเเพที่หน่วยพิทักษ์ป่า(ชั่วคราว)ถ้ำเจียร์ สภาพเเพของหน่วยฯ นี้ ค่อนข้างทรุดโทรม ด้วยระยะเวลากว่า 30 ปี ที่ผ่านมา แพหลังนี้ยังไม่ได้รับการซ่อมบำรุง แต่ยังคงมีการใช้งาน เพิ่งมาระยะสองปีนี้ที่ไม่ได้มีการเข้าไปใช้ เนื่องจากโครงสร้างต่างๆ ตลอดจนทุ่นใต้อาคารเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เสี่ยงว่าจะจมลงเมื่อไหร่ 

พี่ดาร์กี้ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่า(ชั่วคราว)ถ้ำเจียร์ เเละทีมเจ้าหน้าที่ช่วยกันพยุงเเพไว้โดยการผูกไว้กับต้นไม้ที่ยืนต้นตายริมน้ำ เพื่อรอการจัดสรรงบประมาณในรอบต่อไปมาทยอยซ่อมแพ ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีอะไรเเน่นอน หลังจากหารือกันจึงได้ข้อสรุปว่า ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจะจัดหางบประมาณมาใช้สำหรับเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ เเละทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสงเป็นผู้ดำเนินการซ่อมบำรุง ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะหากรอนานไปกว่านี้เสี่ยงที่ทุ่นจะรับน้ำหนักไม่ได้ เเละหากแพจมลงก็จะเป็นเรื่องใหญ่อีก

ไปๆ มาๆ งานปรับปรุงแพ กลับเป็นงานนอกเเผนที่ต้องเร่งทำก่อน โดยเบื้ยงต้นตกลงกันว่าจะเริ่มในช่วงกลางเดือนมกราคม 2567 นี้ โดยมีพี่ดาร์กี้เป็นหัวแรงหลักในการดูเเลงาน เพราะโดยปกติเเล้วพี่เเกก็เป็นทุกช่าง ประจำหน่วยฯ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างหลังคา งานไฟ งานพื้น บริเวณสำนักงาน ก็ฝีมือช่างดาร์กี้เเละทีมงานทั้งนั้น ทั้งหน่วยฯนี้ยังดูสะอาดสะอ้าน เป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้มั่นใจได้ว่างานนี้จะมีคนดูเเลได้อย่างดีเเน่นอน

หน่วยพิทักษ์ป่า(ชั่วคราว) ถ้ำเจียร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสง
แพนายสืบ หน่วยพิทักษ์ป่า(ชั่วคราว) ถ้ำเจียร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสง
พี่ดาร์กี้ ให้ดูรายการวัสดุอุปกรณ์ที่ประเมินไว้คร่าวๆ
เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่า(ชั่วคราว)ถ้ำเจียร์

การเดินทางครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งเเรกที่ฉันมีโอกาสได้ไปยังสถานที่ต่างๆ ที่คุณสืบเคยทำงาน ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (ตามเเผนยุทศาสตร์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร) ฉันถือเป็นความโชคดีของตัวเอง ที่ได้มีโอกาสทำงานในที่ที่คุณสืบเคยทำ (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาเเข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเเสง) ได้สานต่อเเละสนับสนุนการต่อยอดในบางงาน (งานกวางผา สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย) รวมถึงได้เข้ามาดูแลงานผู้พิทักษ์ป่าอย่างเต็มตัว 

ซึ่งเมื่อครั้งคุณสืบมีชีวิตอยู่ ก็ได้ให้ความสำคัญด้านสวัสดิภาพ สวัสดิการของผู้พิทักษ์ป่าเป็นอันดับต้นๆ แม้ทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดมากๆก็ตาม แต่สำหรับฉันนี่เป็นการส่งท้ายแผนงานยุทธศาสตร์ ปี 2563-2566 ที่สร้าง ‘พลังใจ’ ได้อย่างมหาศาล เเละพร้อมจะเป็นพลังงานส่งผ่านไปยังปีต่อๆ ไป

ขอบคุณทุกโอกาสดีๆ ขอบคุณทุกๆ สิ่ง เเละทุกๆ คนที่ได้พบเจอ

ผู้เขียน

+ posts

ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส