การติดตามประชากรควายป่า ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

การติดตามประชากรควายป่า ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

จากการประชุมหารือการฟื้นฟูประชากร ‘ควายป่า’ และถิ่นอาศัยในประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ ‘จุดการกระจายของควายป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง’ จากฐานข้อมูลลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 

โครงการสำรวจการกระจายตัวของควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ดำเนินการโดยฝ่ายวิชาการ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคม 2565 โดยสำรวจพื้นที่ตั้งแต่ห้วยไอ้เยาะ-เขาบันไดบนจนถึงบริเวณโป่งขาม-กรึงไกร ใช้วิธีการสำรวจโดยการการเดินตามร่องรอยควายป่า การตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ (Camera trap) และการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม 

ผลการสำรวจพบว่า ควายป่าอาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีประมาณ 44 ถึง 64 ตัว โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ดังนี้ 

– กลุ่มที่อาศัยอยู่บริเวณห้วยไอ้เยาะ-เขาบันไดบน พื้นน้ำเป็นโขดหิน สังคมพืชป่าผสมผลัดใบ/พงหญ้าริมลำห้วยขาแข้ง และกก พบประมาณ 1-4 ตัว  

– กลุ่มที่อาศัยอยู่บริเวณเขาบันไดล่าง-ห้วยองค์เอี้ยง พื้นน้ำเป็นทราย มีพงมากขึ้นและเนินดินริมห้วยมากขึ้น ป่าผสมผลัดใบ และป่าไผ่ พบประมาณ 4-6 ตัว 

– กลุ่มที่อาศัยอยู่บริเวณจุดชมวิวโป่งตาเต่า-ห้วยมดแดง สังคมพืชเป็นป่าผสมผลัดใบ ที่ราบริมลำห้วยขาแข้งแคบ ๆ  สลับเนินสูง พบประมาณ 14-20 ตัว 

– กลุ่มที่อาศัยอยู่บริเวณหนองม้า-ห้วยตลิ่งสูง สังคมพืชป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ป่าไผ่ ที่ราบริมลำห้วยขนาดกว้าง พบประมาณ 10-14 ตัว 

– กลุ่มที่อาศัยอยู่บริเวณโป่งขาม-กรึงไกร เป็นพื้นทราย สังคมพืชป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ป่าไผ่ น้ำเอ่อท่วมในฤดูฝน (ตุลาคม-ธันวาคม) พบประมาณ 15-20 ตัว 

ควายป่าที่พบมีการกระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่ แต่มีความหนาแน่นสูงบริเวณตอนใต้ของพื้นที่ห้วยขาแข้ง บริเวณนี้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งน้ำที่สำคัญสำหรับควายป่า เช่น ไผ่ หญ้า และโป่งน้ำ บริเวณตอนเหนือของพื้นที่ห้วยขาแข้งเป็นพื้นที่ที่มีความสูงชัน พบควายป่ากระจายตัวอยู่บริเวณนี้บ้าง แต่ไม่หนาแน่นเท่าบริเวณตอนใต้ 

ควายป่าอาจมีการเคลื่อนที่ไปมาระหว่างกลุ่มย่อยต่าง ๆ ตามแหล่งอาหารและแหล่งน้ำ เช่น ในช่วงฤดูฝน ควายป่าอาจอพยพขึ้นไปหาแหล่งอาหารและแหล่งน้ำบนภูเขา ในขณะที่ในช่วงฤดูร้อน ควายป่าอาจอพยพลงมาหาแหล่งอาหารและแหล่งน้ำในบริเวณที่ราบลุ่ม 

และจากการประเมินของเจ้าหน้าที่พบว่า ควายป่ามีแนวโน้มที่จะย้ายถิ่นฐานขึ้นไปทางเหนือของพื้นที่ห้วยขาแข้ง เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีแหล่งอาหารและแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์กว่าบริเวณที่อยู่ในปัจจุบัน 

ควายป่าในพื้นที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีตัวใดมีสีซีดผิดปกติหรือมีลักษณะผิดปกติที่ชัดเจน ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อสุขภาพของควายป่า คือ คุณภาพของอาหาร ปริมาณของอาหาร คุณภาพของน้ำ ความปลอดภัยจากภัยคุกคามต่าง ๆ 

และจากข้อมูลการรายงานพบว่า เคยพบควายป่าตัวหนึ่งตายโดยธรรมชาติ คาดว่าน่าจะเกิดจากการต่อสู้กัน ซึ่งสาเหตุการต่อสู้กันเกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ การแย่งชิงพื้นที่ อาหาร ตัวเมีย หรือการปกป้องลูก เป็นต้น 

อ้างอิง 

  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 
  • การประชุมเรื่องแนวทางการฟื้นฟูประชากรควายป่าและถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุมศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์   

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว