จากการประชุมหารือการฟื้นฟูประชากร ‘ควายป่า’ และถิ่นอาศัยในประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ การนำเสนอข้อมูลอนุกรมวิธานในสายวิวัฒนาการของควายป่าและควายบ้านในประเทศไทย โดย น.สพ.ดร.มาโนชญ์ ยินดี วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบว่า
ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเลี้ยงควายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550 มีการเก็บตัวอย่างเลือดของควายเลี้ยงในประเทศไทยจำนวน 6 จุด รวม 60 ตัวอย่าง และได้มีโอกาสเก็บมูลควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจำนวน 1 ตัวอย่าง แต่มีอุปสรรคคือการเก็บตัวอย่างจากมูลสัตว์จะได้ข้อมูลดีเอ็นเอสายสั้น จากนั้นนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของพันธุกรรมจากควายป่าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กับสัตว์ในตระกูลควายป่าที่พบในโลก พบว่าควายป่าของไทยเป็นตัวเริ่มต้นของควายปลักทั่วไปในประเทศจีน
ควายป่าในประเทศไทยมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่าควายเลี้ยงในจีน เนื่องจากว่าควายป่าในประเทศไทยมีวิวัฒนาการมาเป็นเวลานานกว่า 3,000 ปี ในขณะที่ควายเลี้ยงในจีนมีวิวัฒนาการมาจากควายป่าในประเทศไทยเมื่อประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว
ปี พ.ศ. 2552 ศึกษา cytochrome b (ยีนที่อยู่ในไมโตคอนเดรียลดีเอ็นเอที่นิยมนำมาใช้ในการจำแนกชนิดของสิ่งมีชีวิตในสัตว์) ใน 10 ประเทศ และพบว่าจุดกำเนิดของควายปลัก (swamp buffalo) อยู่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งประกอบด้วยประเทศไทย พม่า ลาว และควายปลัก (swamp buffalo) มีความหลากหลายทางพันธุกรรมกว่าควายแม่น้ำ (river buffalo)
ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2553 ศึกษา cytochrome b ระหว่างควายไทยและควายจีน พบว่าความหลากหลายของรูปแบบดีเอ็นเอค่อนข้างจะชัดเจนมากกว่าเมื่อเทียบกับควายปลักที่ประเทศจีน
จากการวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมของควายปลักและควายแม่น้ำพบว่ามีความแตกต่างและสายแยกวิวัฒนาการกันอย่างชัดเจน และจากการได้ตัวอย่างควายป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเพียง 1 ตัวอย่าง จึงยังไม่เพียงพอที่จะวิเคราะห์ได้ว่าควายป่าเป็นควายชนิดใด แต่สามารถยืนยันได้ว่าจากการศึกษาข้อมูลด้านพันธุกรรมควายปลักในประเทศไทยมีเอกลักษณ์ที่จะเป็นต้นกําเนิดเผ่าพันธุ์ของควายปลักได้
ปัญหาโรคระบาดที่สามารถแพร่กระจายจากสัตว์เลี้ยงสู่สัตว์กีบในป่า
พบได้ทั้ง โรคคอบวม (Hemorrhagic septicemia) โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โดยเฉพาะโรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis) ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อควายป่าในประเทศไทย เนื่องจากสามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ
จากงานวิจัยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แม้จะยังไม่สามารถระบุสถานะของควายป่าในประเทศไทยได้อย่างแน่ชัด แต่ก็ช่วยไขปริศนาบางอย่างได้ โดยพบว่าควายป่าในประเทศไทยมีความใกล้ชิดกับควายป่าในอินเดียและศรีลังกามากกว่าควายป่าในจีน และผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีทางพันธุกรรมมีศักยภาพที่จะนำมาใช้เพื่อไขปัญหานี้ในอนาคตได้
นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีทางพันธุกรรมในการศึกษาสัตว์ป่า โดยเทคโนโลยีนี้สามารถช่วยไขปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสัตว์ป่า เช่น ปัญหาการระบุชนิดพันธุ์ ปัญหาการแพร่กระจายของโรค และปัญหาการอนุรักษ์
แนวทางการอนุรักษ์ควายป่าในประเทศไทย
การสร้างเขตกันชนระหว่างพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เพื่อลดโอกาสที่สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงจะสัมผัสกัน และการสร้างแหล่งประชากรสำรองของควายป่าในประเทศไทย เพื่อเพิ่มโอกาสในการอนุรักษ์
นอกจากนี้ การนำเสนอแนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดีเอ็นเอของควายในประเทศไทย โดยการนำข้อมูลดังกล่าวมาศึกษาความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของควายในประเทศไทย จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสายพันธุ์ควายที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของประเทศไทย แนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดีเอ็นเอของควายในประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยได้
อ้างอิง
- น.สพ.ดร.มาโนชญ์ ยินดี วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- เรียบเรียงจากการประชุมเรื่องแนวทางการฟื้นฟูประชากรควายป่าและถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุมศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์
ผู้เขียน
สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว