นกกะรางหัวขวาน หรือ ‘ทุช่องผ้า’ ในภาษากะเหรี่ยง ถือได้ว่าเป็นนกที่มีความสวยงาม และทรงอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมในหลายประเทศ
ในภาพเขียนโบราณบนผนังและวิหารโบราณของอียิปต์เชื่อว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ บางประเทศแถบยุโรป และสแกนดิเนเวียมีความเชื่อว่านกชนิดนี้เป็นนกหัวขโมย และเสียงของมันเป็นลางร้ายที่จะก่อให้เกิดสงคราม ประเทศอิสราเอลได้จัดให้เป็นนกประจำชาติ และชาวกะเหรี่ยงโผล่วในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ได้ยกย่องนกกะรางหัวขวาน เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของความ ‘เจ้าปัญญา’
คนกะเหรี่ยงมีความเชื่อว่า ‘สัตว์’ เป็นสิ่งที่มีชีวิตและจิตใจ เช่นเดียวกับมนุษย์ คือ มีคู่ มีครอบครัว มีสัจจะ มีญาณ มีการรับรู้ สัตว์ถือเป็นผู้รู้ใน ‘ความเป็นไปของธรรมชาติ’ มากกว่ามนุษย์ และสามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติได้ พร้อมทั้งปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยที่สัตว์เป็นเสมือน ‘สื่อกลาง’ หรือ ‘ตัวสื่อสาร’ ระหว่างธรรมชาติและมนุษย์
จากความเชื่อดังกล่าว สัตว์บางชนิดที่มีพฤติกรรมที่เป็นเสมือนสื่อกลาง หรือการส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ จึงได้รับความคุ้มครองจากความเชื่อดังกล่าว ไม่ให้ถูกล่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร โดยถือว่าสัตว์สัญลักษณ์ (Sign) ที่บ่งบอกถึงเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติมาสู่ครอบครัวและชุมชน ดังเช่น ความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับชะนี เก้ง โดยเชื่อว่าเก้งและชะนี เป็นสัญลักษณ์การเตือนภัยอันตราย และสามารถบอกถึงความเปลี่ยนแปลงด้านดินฟ้าอากาศได้ การฆ่า ‘ช้าง’ เท่ากับฆ่าพระภิกษุองค์หนึ่ง ถือได้ว่าเป็นบาปมหันต์จะเกิดไม่ทันยุคพระศรีอารย
ความเชื่อเกี่ยวกับ ‘นก’ คนกะเหรี่ยงมีความเชื่อเกี่ยวกับนก โดยถือว่าเป็นสัตว์สัญลักษณ์ทั้งความซื่อสัตย์ สัจจะ และการเตือนภัย เช่น นกกกดำ เป็นยานพาหนะของพระพุทธเจ้า นกเงือกกรามช้างเป็นสัญลักษณ์ของสัจจะและความซื่อสัตว์ต่อครอบครัว นกเขาหากร้องในตอนกลางคืน เป็นการเตือนภัยว่าจะมีหนุ่มสาวตายในหมู่บ้าน และนกทู่ซ่อง หรือนกขุนแผนแดงหากร้องจะเป็นลางบอกเหตไม่ดี หากร้องทักในขณะที่กำลังฟันไร่ ให้ หยุดฟันไร่ทันที
‘ทุช่องผ้า’ สัตว์สัญลักษณ์แห่งความเจ้าปัญญา
ตามความเชื่อของคนกะเหรี่ยง ‘ทุช่องผ้า’ หรือ ‘นกกะรางหัวขวาน’ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจ้าปัญญา โดยมีนิทานที่บอกเล่าสืบต่อกันมาถูกถ่ายโดย ลุงหม่องเป กนกกรสกุล (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) อดีตสหายพักคอมมิวนิสต์ และปราชญ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านทิไล้ป้า ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรีไว้ดังนี้
เรื่อง ทุช่องผ้าเจ้าป่าจอมปัญญา
“เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่ง ในป่าใหญ่ ช้าง กับ เสือ ต่างก็ถกเถียงกันเพื่อการว่าใครจะได้เป็นเจ้าป่า ซึ่งสัตว์ทั้ง 2 ตัว ต่างก็ถกเถียงกัน โดยยกเหตุผลความเก่งกาจของตนเองออกมาทั้งคู่ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ จนกระทั่งเสือจึงได้บอกว่า ให้ประลองเปล่งเสียงร้องกัน หากใครส่งเสียงร้องได้น่ากลัว ทำให้สัตว์ในป่าทั้งหมดกลัวและเงียบหมดทั้งป่า จะได้เป็นผู้ชนะ และได้เป็นเจ้าป่า แต่หากใครส่งเสียงแล้วยังมีเสียงสัตว์อื่นๆ เล็ดรอดออกมาถือว่าแพ้ และต้องถูกจับกินเป็นอาหารภายใน 7 วัน เมื่อช้างได้ฟังเช่นนั้นก็ตอบรับคำท้าทำตามข้อเสนอดังกล่าว
ครั้นเมื่อถึงการแข่งขัน เสือได้ส่งเสียงร้องคำรามก่อน ซึ่งพอเสือออกเสียงร้องเสร็จสิ้น สัตว์ทุกตัวในป่าก็ได้เงียบสงบทั้งหมดไม่มีเสียงเล็ดรอดออกมาแม้แต่ตัวเดียว
จากนั้นก็ถึงทีช้างร้องบ้าง ซึ่งพอช้างร้องคำรามจนสุดเสียง ก็ยังมีคงมีเสียงนก และสัตว์ป่าอื่น ๆ ส่งเสียงอยู่ทั่วป่าเป็นปกติ ทำให้ช้างเป็นฝ่ายแพ้ และจะต้องตกเป็นเหยื่อของเสีอในอีก 7 วันข้างหน้า
เมื่อเป็นเช่นนั้นช้างจึงกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะเป็นกังวลว่าอีก 7 วันข้างหน้า จะต้องเป็นอาหารของเสือ เมื่อเจ้านกกะรางหัวขวานบินผ่านมา จึงถามช้างว่าเป็นอะไร ทำไมถึงกินไม่ได้นอนไม่หลับ ช้างจึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟังพร้อมความกังวลใจ
เมื่อนกกะรางหัวขวานได้ฟังดังนั้นจึงได้ออกอุบายวางแผนกับช้าง โดยเมื่อถึงกำหนดวันที่ต้องเป็นอาหารของเสือ ให้ช้างทำเป็นนอนแกล้งตาย ส่วนตัวของมันจะไปยืนอยู่บนตัวช้าง จากนั้นเมื่อจิกขาช้าง ให้ช้างยกขาขึ้นมา จิกงวงให้ยกงวงขึ้นมา จิกหางให้ยกหางขึ้นมา ช้างตกลง
เมื่อถึงวันที่ช้างต้องเป็นอาหารของเสือตามสัญญา ช้างจึงแกล้งนอนตาย โดยมีนกกะรางหัวขวานยืนอยู่บนตัว เมื่อเสือมาถึง นกกะรางหัวขวานจึงจิกไปที่ขาของช้าง ช้างก็ยกขาขึ้น จิกไปที่งวงก็ยกงวงขึ้น แล้วอุทานขึ้นว่า “ช้างตัวเดียวเรายังกินไม่หมด เสือจะมาให้เรากินอีกแล้วหรอ” เมื่อเสือได้เห็นและได้ยินดังนั้นจึงรีบเผ่นหนีไปโดยเร็ว ทำให้ช้างรอดตายได้ด้วยปัญญาของเจ้านกกะรางหัวขวาน
จากนิทานดังกล่าว ทุช่องผ้า หรือ นกกะรางหัวขวาน เป็นสัตว์ที่มีความเฉลียวฉลาดสามารถใช้ปัญญาช่วยให้ช้างรอดชีวิต กำราบเสือให้เผ่นหนีไปได้ ด้วยเหตุนี้เอง ‘ทุช่องผ้า’ จึงได้ถูกยกให้เป็นสัญลักษณ์ของความเจ้าปัญญา อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของ คณะกรรมการอนุรักษ์ชุมชนและมรดกของโลก ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกอีกด้วย
อ้างอิง
ผู้เขียน
กองบรรณาธิการ ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และโปรดิวเซอร์รายการ Seub Talk