ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกที่ป่าฮาลา-บาลา แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าของไทย 

ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกที่ป่าฮาลา-บาลา แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าของไทย 

นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มอ. และภาคีเครือข่าย ค้นพบพืชวงศ์กระดังงาสองชนิดใหม่ของโลก แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าฮาลา-บาลา  

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ได้รับรายงานจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่า ค้นพบพืชวงศ์กระดังงา 2 ชนิดใหม่ของโลก ได้แก่ “บุหงาเซิงเบตง” และ “บุหงาเซิงฮาลา” โดย รศ.ดร.จรัล ลีรติวงศ์ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.ร่วมกับ Prof. Dr. David M. Johnson: Biological Science Department, Ohio Wesleyan University, Delware, Ohio, U.S.A ดร.จิรัฐิ สัตถาพร : ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช นายสุเนตร การพันธ์ : สถานีวิจัยสัตว์ป่า ป่าพรุ ป่าฮาลา-บาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา  

พืชสกุลบุหงาเซิง 2 ชนิดนี้ ถูกสำรวจพบในพื้นที่ป่าฮาลาของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา พื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา  

บุหงาเซิงเบตง (Friesodielsia betongensis Leerat) เป็นไม้พุ่มเลื้อยหรือไม่เถาเนื้อแข็ง มีลักษณะเด่นเป็นดอกสีเหลือง มีสีเขียวบริเวณโคนกลีบ กลีบดอกชั้นนอกมีภาคตัดตามขวางเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกชั้นในมีความยาวมากกว่าความยาวครึ่งหนึ่งของกลีบดอกชั้นนอก อาศัยบริเวณป่าดิบเชา อยู่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,000-1,200 เมตร จะออกดอกและผลในช่วงเดือนพฤษภาคม  

บุหงาเซิงฮาลา (Friesodielsia chalermgliniana Leerat) เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีลักษณะเด่นคือใบประดับขนาดใหญ่รูปไข่กว้าง กลีบดอกสีเหลือง มีกลีบดอกชั้นนอกที่มีลักษณะภาคตัดตามขวางเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกชั้นในจะมีความยาวมากกว่า ความยาวครึ่งหนึ่งของกลีบดอกชั้นนอก ขึ้นอาศัยในบริเวณป่าดิบชื้น อยู่เหนือความสูงเหนือระดับทะเลประมาณ 500 เมตร พบออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม 

ทั้งนี้ชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชทั้งสองชนิดตั้งตามสถานที่และบุคคลสำคัญในการค้นพบในครั้งนี้ โดยชื่อวิทยาศาสตร์ของบุหงาเซิงเบตง มาจากสถานที่ที่มีการค้นพบพืชชนิดดังกล่าวในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ด้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ของบุหงาเซิงฮาลา เป็นการตั้งเพื่อให้เกียรติแก่ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชียวชาญพิเศษ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการศึกษาและวิจัยพืชวงศ์กระดังงาของประเทศไทย เป็นผู้ให้ความรู้และนำทีมออกภาคสนามในการสำรวจ  

ทาง รศ.ดร.จรัล กล่าวว่า การค้นพบพืชชนิดใหม่ทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นการตอกย้ำให้เราเห็นว่า ป่าฮาลา-บาลาของไทย มีความระบบนิเวศที่สมบูรณ์มากแค่ไหน นี้จึงเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการจุดประกายให้ทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป อีกทั้งการค้นพบในครั้งนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถนำไปต่อยอดในด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติได้ด้วย  

การค้นพบพืชสองชนิดใหม่นี้จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีในการแสดงให้เราเห็นว่าป่าไม้ของประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์มากเพียงใด ถ้าเราร่วมกันรักษาผืนป่าแห่งนี้เอาไว้ ในอนาคตเราอาจได้พบกับพืชหรือสัตว์ป่าชนิดใหม่ ๆ ต่อไปอีกก็ได้ 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ