รู้หรือไม่ ในประเทศไทย พบ ‘กิ้งกือ’ มากถึง 263 ชนิดจาก 54 สกุล 17 วงศ์ และ 9 อันดับ
ในจำนวนนั้น มี 222 ชนิดที่เป็นชนิดเฉพาะถิ่น (endemic species) ของประเทศไทย – ยังไม่มีการค้นพบแห่งหนอื่นใดบนโลก
และเมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีรายงานการค้นพบกิ้งกืออีก 2 ชนิด ที่จังหวัดเลย ประเทศไทย
ทั้ง 2 ชนิด ประกอบด้วย
กิ้งกือกระบอกยักษ์ปัญหา Thyropygus panhai Pimvichai, Enghoff & Backeljau, 2023 ค้นพบที่ภูเรือ จ.เลย
กิ้งกือกระบอกยักษ์สมศักดิ์ Thyropygus somsaki Pimvichai, Enghoff & Backeljau, 2023 ค้นพบที่ภูผาล้อม จ.เลย
กิ้งกือกระบอกยักษ์ทั้ง 2 ชนิดตั้งชื่อเป็นเกียรติแด่ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการซิสเทแมติกส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ค้นพบโดย คณะนักวิจัยนำโดย รศ.ดร.ปิยะธิดา พิมพ์วิชัย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกของหน่วยปฏิบัติการซิสเทแมติกส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ร่วมกับ Prof. Dr.Henrik Enghoff จาก Natural History Museum of Denmark, University of Copenhagen ประเทศเดนมาร์ก
และ Prof. Dr.Thierry Backeljau จาก Royal Belgian Institute of Natural Sciences และ University of Antwerp ประเทศเบลเยียม
การค้นพบกิ้งกือชนิดใหม่ๆ เป็นการตอกย้ำว่า ผืนป่าและระบบนิเวศของไทยนั้นมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก
โดยกายภาพ แม้กิ้งกือจะเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ไม่ได้มีขนาดร่างกายใหญ่โต หรือได้รับการขนานนามว่าอยู่จุดสูงสุดบนห่วงโซ่อาหารอย่างเสือโคร่งหรือฉลาม
แต่เมื่อพูดถึง ‘หน้าที่’ บทบาทของสิ่งมีชีวิตมากขา ขี้อาย ชอบซ่อนตัว และออกหากินกลางคืน ก็มีความสำคัญไม่แพ้สัตว์ใดๆ
หากกล่าวอย่างเวอร์วังอลังการ กิ้งกือ คือส่วนหนึ่งของกลไกในระบบนิเวศที่โลกต้องมี มีผลงานประจักษ์ถึงการก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง นับย้อนหลังได้นานถึง 400 ล้านปี
ต้นไม้ในป่าผลัดใบเกือบทั้งหมดจะไม่สามารถยืนต้นอย่างสง่างามได้ หากไม่มีผู้ย่อยสลายตัวเล็กๆ ที่ช่วยสลายเศษซากต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ต้นไม้ และแปรเปลี่ยนเป็นธาตุอาหารเติมความอุดมสมบูรณ์
โดยเฉพาะเศษซากใบไม้ที่ทับถมในป่าเขตร้อน กิ้งกือได้ทำหน้าที่ย่อยสลายซากให้กับระบบนิเวษแบบนี้มาเป็นเวลาช้านาน
บทบาทของกิ้งกือ คือ ผู้กินเศษซากหลักในระบบนิเวศเขตร้อน และเขตอบอุ่น
ความชุกชุมและความหลากหลายชนิดของกิ้งกือก่อให้เกิดแร่ธาตุอาหารในดิน โดยกลไกกระบวนการสลายตัวของซากพืชก่อให้เกิดแร่ธาตุที่จำเป็น ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ทำหน้าที่แบบเดียวกัน
แม้จะพบว่ากิ้งกือช่วยย่อยสลายเศษซากพืชในระบบนิเวศเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ – อีก 90 เปอร์เซ็นต์ เกิดโดยจุลินทรีย์
แต่ขอบเขตของการกินอาหารของกิ้งกือก็ครอบคลุมถึงเศษซากใบพืช ดิน สาหร่าย ผลไม้ ซากสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มูลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเมล็ดพืช
กล่าวได้ว่า การทำงานของกิ้งกือ เปรียบเหมือนการช่วยเหลือจุนเจือ และเป็นการทำงานอย่างมีส่วนร่วม แม้ไม่มาก แต่ก็คือส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้
มากไปกว่านั้น กิ้งกือ ยังมีความสำคัญกับเราอีกหลายประการ
ตัวอย่างเช่น มีงานวิจัยค้นพบว่า มูลของกิ้งกือกระบอก มีคุณสมบัติกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและควบคุมยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในพืช
มีประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ด้านการแพทย์เกษตรกรรม
นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างประโยชน์ที่เราค้นพบในกิ้งกือ และเชื่อว่ากิ้งกือยังมีคุณประโยชน์กับโลกใบนี้อีกหลายอย่าง
เพียงแต่เราอาจยังหามันไม่เจอ
เช่นเดียวกับสายพันธุ์ของกิ้งกือที่วันนี้จำแนกชนิดได้แล้วราวๆ 10,000 ชนิด
แต่พวกเขาก็อาจมีมากกว่านี้
หรือในประเทศไทย ที่ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา มีรายงานการค้นพบสายพันธุ์ที่เราไม่เคยรู้จักเขามาก่อนเป็นระยๆ
ก็เชื่อว่า เรายังสามารถค้นพบกิ้งกือในประเทศไทยได้มากกว่านี้ …ในอนาคต
อ้างอิง
- Morphological and DNA Sequence Data of Two New Millipede Species of the Thyropygus induratus Subgroup (Diplopoda: Spirostreptida: Harpagophoridae)
- ความหลากชนิดของกิ้งกือในสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช และการกินอาหารของกิ้งกือกระบอก
- An Updated Catalogue of the Millipedes (Diplopoda) of Thailand
- Plant Growth-promoting Ability and Pathogen Inhibitory Effect of Actinomycetes Isolated from Fecal Pellets of the Giant Millipede Thyropygus resimus (Diplopoda)
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน