เส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านของเสือ “เดินให้รู้ มองให้เห็น” ถึงคุณค่าการมีอยู่ของเสือ

เส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านของเสือ “เดินให้รู้ มองให้เห็น” ถึงคุณค่าการมีอยู่ของเสือ

ทำไมต้องเป็นเส้นนี้ ? 

ในปี 2550 เจ้าหน้าที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้สำรวจการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าบริเวณพื้นที่ให้บริการเพื่อการศึกษาธรรมชาติ เพื่อจัดทำข้อมูลชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าที่ใช้ประโยชน์และสามารถพบเห็นได้ พบว่ามีร่องรอยการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าจำนวนมาก ทั้งสัตว์ผู้ล่า เช่น เสือโคร่ง เสือดาว และหมาจิ้งจอก และสัตว์กินพืช เช่น ช้างป่า วัวแดง กวางป่า เก้ง หมูป่า จึงได้ร่วมกับสถานีวิจัยเขานางรำ สำรวจข้อมูลซ้ำอีกครั้ง และพบว่าในพื้นที่บริเวณนี้ เป็นพื้นที่ที่ทั้งเสือโคร่งและเสือดาว ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและอาณาเขตหากิน

โดยพบเห็นรอยตีนและร่องรอยในลักษณะต่าง ๆ ที่เสือโคร่งได้ทำไว้  เช่น รอยคุ้ย รอยพ่นฉี่ (สเปรย์) รวมทั้งมีภาพเสือโคร่งและเสือดาวจากกล้องดักถ่ายภาพ จึงได้ดำเนินการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พัฒนาและปรับปรุงเส้นทางแนวกันไฟ จัดทำเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านของเสือ โดยใช้องค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยเสือโคร่ง สัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ของผืนป่าห้วยขาแข้งเป็นสื่อในการเรียนรู้

เส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านของเสือ ระยะทางประมาณ 800 เมตร ผ่านป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ที่เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ในระหว่างเส้นทางได้มีการจัดสถานีเรียนรู้เกี่ยวกับเสือโคร่งและสัตว์ป่า เพื่อเป็นสื่อในการทำความรู้จักนิเวศวิทยาของเสือและถิ่นอาศัยทั้งหมด 6 สถานี

 

1. สถานีรอยตีนสัตว์ป่า  เรียนรู้รูปแบบและลักษณะของรอยตีนสัตว์ป่าหลายชนิดที่อาจพบเห็นได้ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติเส้นนี้ เช่น เสือโคร่ง เสือดาว หมาจิ้งจอก หมาใน และสัตว์กินพืช เช่น เก้ง กวาง ละมั่ง เนื้อทราย หมูป่า และวัวแดง ซึ่งเป็นเหยื่อของเสือโคร่งและสัตว์ผู้ล่าชนิดอื่น ๆ การรู้จักรอยตีนของสัตว์ป่าจะทำให้การเรียนรู้ธรรมชาติในเส้นทางเป็นไปอย่างน่าสนใจ ซึ่งหาผู้ศึกษาธรรมชาติมีความสนใจและสังเกตก็จะสามารถระบุชนิดสัตว์ป่าผ่านรอยตีนที่พบเห็นได้ตลอดเส้นทาง

2. สถานีร่องรอยของเสือโคร่ง เรียนรู้การทำร่องรอยที่เป็นเครื่องหมายในการสื่อสารของเสือโคร่ง ในลักษณะต่าง ๆ เช่น การตะกุยดิน การตะกุยตามต้นไม้ และการพ่นฉี่หรือการสเปรย์ของเสือโคร่ง  วิธีการสื่อสารของเสือโคร่งไม่เหมือนคน เวลาคนเจอหน้าแล้วคุยกันแต่เสือไม่ใช่ เสือไปไหนมาไหนตัวเดียว เวลาไปไหนมันก็จะทิ้งข้อความไว้ตามต้นไม้ เผื่อว่าเสือตัวอื่นเดินมาก็จะทำให้รู้ว่าต้นไม้ต้นนี้มีเจ้าของ นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างการทำร่องรอยของเสือโคร่งและเสือดาวอีกด้วย

3. สถานีกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า เรียนรู้การตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติเพื่อประเมินประชากรและความหนาแน่นของเสือโคร่ง รวมถึงสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ การติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าต้องอาศัยความรู้และความชำนาญของผู้ติดตั้ง ตั้งแต่การเลือกพื้นที่และตำแหน่งในการติดตั้งกล้อง นักวิจัยจะนำภาพที่ได้จากกล้องดักถ่ายมาจำแนกเพื่อระบุตัวเสือโคร่ง และนำไปสู่การประเมินประชากรและความหนานแน่นของเสือโคร่งในพื้นที่

4. สถานีกรงดักจับเสือ เรียนรู้การดักจับเสือเพื่อศึกษาวิจัยนิเวศวิทยาของเสือ ในยุคแรก ๆ งานวิจัย  นักวิจัยใช้กรงดักจับเสือโดยใช้เหยื่อล่อใส่ไว้ในกรงเมื่อเสือกินเหยื่อ กลไกการทำงานของกรง จะทำให้ประตูกรงปิดลง นักวิจัยจะทำการเก็บประวัติของเสือ และสวมปลอกคอวิทยุ เพื่อศึกษาและติดตามนิเวศวิทยาของเสือตัวนั้น การดักจับเสือด้วยกรงในลักษณะนี้ (กรงบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ) เป็นการศึกษาวิจัยเสือดาว หรือเสือขนาดกลาง บางครั้งก็ติดสัตว์ล่าเนื้อชนิดอื่นอีกด้วย

5. สถานีการจัดการพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า แหล่งที่อยู่อาศัยที่สมบูรณ์และปลอดภัยเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงอยู่และการเพิ่มประชากรของสัตว์ป่า พื้นที่บริเวณหอดูสัตว์โป่งซับยาง เดิมทีเป็นพื้นที่ของชุมชนที่อยู่อาศัยในป่าอนุรักษ์ แต่เมื่อมีการอพยพชุมชนออกไปนอกพื้นที่ มีการจัดการแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และปล่อยให้ป่าได้ฟื้นตัวกลับมาตามธรรมชาติ เมื่อระยะเวลาผ่านไปทั้งป่าและสัตว์ป่าก็กลับคืนสู่ความสมดุลและกลายเป็นบ้านที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าอย่างเช่นทุกวันนี้

โป่งเทียม
สัตว์ที่เข้ามาใช้ประโยชน์ในบริเวณนี้

6. สถานีแหล่งต้นน้ำสายน้ำแห่งชีวิต คือคำตอบของการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า ลำห้วยที่ไหลผ่านเส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านของเสือ คือลำห้วยทับเสลาที่มีพื้นที่ต้นน้ำอยู่ตอนบนของผืนป่าห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในผืนป่า และเป็น 1 ใน 3 ของลำน้ำสาขาของแม่น้ำสะแกกรังซึ่งไหลลงไปหล่อเลี้ยงชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดอุทัยธานีแลจังหวัดใกล้เคียงก่อนที่จะไหลรวมลงไปเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในที่สุด

แนวโน้มประชากรเสือโคร่งของโลกลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา โดยมีการล่า และการบุกรุกพื้นที่เป็นสาเหตุหลัก แต่ประเทศไทยนับว่าประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์เสือโคร่ง ปัจจุบันผืนป่าตะวันตกมีเสือโคร่งประมาณ 88 – 116 ตัว ทั้งประเทศมีอยู่ประมาณ 150 ตัว จาก 10 กลุ่มป่า ใน 31 พื้นที่อนุรักษ์ สถานการณ์เสือโคร่งจาก 13 ประเทศ ที่ยังมีเสือโคร่งอยู่ในธรรมชาตินับว่าประเทศไทยมีสถานการณ์ในการรักษาเสือโคร่งที่ดีที่สุด

ในงานรำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร เส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านของเสือ เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จะเป็นอีกหนึ่งฐานกิจกรรมที่เปิดให้ทุกคนได้เข้าไปเดินและเรียนรู้ทั้ง 6 สถานี  กิจกรรมฐานเรียนรู้จะจัดขึ้นในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ หากใครสนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รายละเอียดกิจกรรมฐานเรียนรู้ป้องกันและรักษาป่าห้วยขาแข้ง (คลิก)

 


ข้อมูล เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี
ภาพ นูรซาลบียะห์ เซ็ง, กชกร พันธ์ุแสงอร่าม เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร