บางท่านอาจได้ชมภาพยนตร์สารคดี Kedi เมืองแมว ที่นำเสนอชีวิตของแมวพร้อมนางหรือนายทาสแต่ละคนแห่งเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ทำให้เห็นความพฤติกรรมจำเพาะของเจ้าแมวหง่าวพอให้หลงรักกันไปตามสมควร
วันนี้เนื่องใน “วันอนุรักษ์เสือโลก” (29 กรกฎาคม) มูลนิธิสืบนาคะเสถียรขอนำท่านทั้งหลายมาติดตามสัตว์ในตระกูลเดียวกับแมว แต่เป็นแมวตัวเขื่องลายพาดกลอน คอมมอนเนมว่า “เสือโคร่ง” ผ่านสายตา สองมือ หนึ่งหัวใจจากหนึ่งในคณะทำงาน ผู้เฝ้าติดตามชีวิตเสือโคร่งมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
และนี่คือเรื่องราวของเสือโคร่งในความประทับใจของ ดร.ศักดิ์สิทธิ์
จุดเริ่มต้นการติดตามประชากรเสือในไทย
สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เริ่มทำงานโดยใช้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ตอนนั้นมีนักศึกษาปริญญาโทจาก มหาวิทยาลัยมิเนียโซต้าเข้ามาร่วมทำงานกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เพื่อสำรวจสัตว์ผู้ล่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในปีแรกถ่ายภาพเสือโคร่งได้เพียงภาพเดียว ทางทีมงานตั้งชื่อว่า T5 จึงกลายจุดเริ่มต้นของการติดตามประชากรเสือโคร่งในประเทศไทย
เสือรตยา
‘รตยา’ เป็นการตั้งชื่อให้กับเสือโคร่งโคร่งเพศเมียแห่งหุบเขานางรำครั้งแรก (แทนการใช้รหัส) ซึ่งชื่อนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาจารย์รตยา จันทรเทียร อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่ได้รับสมญานามว่า นางสิงห์เฝ้าป่า
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ได้พบเสือตัวนี้เมื่อราวปี พ.ศ. 2539 ซึ่งตอนนั้นเสือรตยาได้เติบโตเป็นวัยรุ่นแล้ว จึงได้มาติดปลอกคอเพื่อติดตามสัญญาณวิทยุในปี พ.ศ. 2548 หลังจากการเฝ้าติดตามสัญญาณทำให้ทราบว่าเสือรตยาได้ออกเดินทางจากทิศตะวันออกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขยับเข้าไปใกล้สวนป่าห้วยระบำที่อยู่ใกล้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จากนั้นสัญญาณวิทยุได้หายไป ดร.ศักดิ์สิทธิ์และทีมงานจึงไม่ได้ข่าวคราวจากเสือรตยาอีกนับตั้งแต่นั้น แต่มรดกจากเสือรตยาคือลูกๆ ของเธอ โดยหนึ่งในนั้นคือ ‘เสือบุปผา’
เสือบุปผา และน้องเอื้อง
‘เสือบุปผา’ เป็นเสือตัวเดียวในโลกที่นักวิจัยได้สัมผัสชีวิตของเธอตั้งแต่เกิดจนใกล้วาระสุดท้ายของชีวิต บุปผาเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2545 นักวิจัยได้เห็นวิวัฒนาการตั้งแต่ยังเป็นเสือน้อย วัจนเติบโตเต็มวัย และเข้าครอบครองพื้นที่เดิมของแม่เสือรตยา ‘เสือบุปผา’ ยังเป็นแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ เธอประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกถึง 2 ครอกด้วยกัน หนึ่งในที่นี้คือ ‘น้องเอื้อง’ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2553 ซึ่งปัจจุบันตั้งท้องมาแล้วอย่างน้อย 2 ครอก
ส่วนบุปผาปัจจุบันกลายเป็นผู้อาวุโส มีอายุราว 14-15 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์แล้วถือว่ามีอายุประมาณ 80 ปี นับเป็นเสือโคร่งที่แก่ที่สุดในข้อมูลปัจจุบัน โดยอายุขัยเฉลี่ยของเสือในป่าธรรมชาติจะอยู่ที่ราวๆ 15-16 ปี แต่อายุของเสือโคร่งจะมากหรือน้อยยังต้องดูองค์ประกอบแวดล้อมอีกหลายปัจจัย
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เล่าว่า บุปผาเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างที่เราพยายามติดตามดูบั้นปลายชีวิตของเธอว่าจะเป็นอย่างไร การศึกษาชีวิตบุปผานี้จะเป็นคุณูปการที่มีค่าสำหรับการอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทย
ที่ผ่านมา (28 มิถุนายน พ.ศ. 2560) เฟสบุ๊คแฟนเพจ Thailand Tiger Project ถ่ายทอดเรื่องราวความผูกพันของเสือโคร่งแม่ลูก ระหว่างเสือบุปผาและน้องเอื้อง เมื่อเสือบุปผาได้เดินทางกลับไปเยี่ยมลูกของเธอ น้องเอื้องที่ครอบครองพื้นที่ใกล้เคียงกัน แม้ทั้งสองเสือจะไม่มีการใช้พื้นที่ร่วมกัน แต่บุปผาได้เดินทางไปเยี่ยมพร้อมกินเหยื่อที่น้องเอื้องล่าได้แล้วจึงเดินทางกลับบ้านของตัวเอง แสดงให้เห็นว่าเสือโคร่งแม่ลูกนั้นมีความผูกพันกันมากกว่าที่คนคาดคิด
เสือวีรยาและเสือวีระพงศ์
เป็นกรณีเดียวที่พบว่าลูกเสือโคร่งวัยเด็กสามารถมีชีวิตรอดได้หลังจากแม่เสือของพวกเขาถูกล่า เพราะโดยปรกติแม่เสือจะมีหน้าที่เลี้ยงดูและหาอาหารมาให้ลูก
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะพ่อเสือยังอยู่ปกป้องลูกจากศัตรู และในพื้นที่มีเหยื่อเพียงพอทำให้เสือน้อยทั้งสองสามารถหากินเองจนเติบโตพ้นวัยเด็กมาได้ และต่อมา ‘เสือวีรยา’ พยายามเบียดพื้นที่ของบุปผา ส่วน ‘เสือวีระพงศ์’ นั้นออกเดินทางราวกับนักผจญภัยหนุ่ม เขาเดินทางไปมาระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งถึงอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไปมาประมาณ 7 รอบ และอาศัยครอบครองพื้นที่รอยต่อของพื้นที่อนุรักษ์ทั้งสองที่มีลักษณะสูงชัน ซึ่งไม่เหมาะสำหรับครอบครองพื้นที่เท่าไรนัก เสือวีระพงษ์จำเป็นต้องรอจังหวะดีๆ เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป
ซึ่งการครอบครองพื้นที่ของเสือโคร่ง เพศผู้ใช้พื้นที่ประมาณ 200 – 300 ตร.กม. เพศเมียใช้พื้นที่หากินและเลี้ยงลูกประมาณ 30 – 80 ตร.กม. พื้นที่หากินของเพศเมียนี้มีความสัมพันธ์กับความชุกชุมของปริมาณเหยื่อในพื้นที่ หากเหยื่อมีน้อย พื้นที่หากินก็จะกว้างยิ่งขึ้น
เสือข้าวจี่
‘ข้าวจี่’ เป็นเสือโคร่งวัยรุ่น เป็นลูกสาวของ ‘สิทธิ์ตรี’ ที่เกิดกลางเขตรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เสือข้าวจี่มีความโดดเด่นเรื่องการเดินทางของเสือเพศเมีย เธอเป็นเสือโคร่งเพศเมียตัวแรกที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้วยการเดินทางไกลได้หลายร้อยกิโลเมตร ดร.ศักดิ์สิทธิ์ รู้จักกับเสือข้าวจี่เมื่อปี พ.ศ. 2558 ตอนพบเธอครั้งแรกคาดว่าน่าจะอาศัยอยู่กับแม่เสือสิทธิ์ตรีแต่ออกหากินเป็นอิสระ หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน ข้าวจี่จึงเริ่มออกเดินทาง
เสือข้าวจี่เดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาบ้านหลังใหม่ให้ตัวเอง โดยเดินทางมาฝั่งตะวันออกบริเวณแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งไปถึงอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หลังจากนั้นก็กลับที่ตั้งเดิมและออกเดินทางอีกครั้งไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดตาก ไปถึงชายเขตด้านตะวันตก และเดินทางไปทิศใต้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี อีกทั้งเธอยังเคยเดินข้ามไปเที่ยวต่างประเทศที่พม่า และกลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ยึดครองพื้นที่เพื่อหากิน จับคู่ และออกลูกอยู่ที่นั่น ช่วยเพิ่มประชากรเสือโครงในป่าตะวันตก
โดยปรกติเสือโคร่งจะใช้ระยะเวลาตั้งท้อง 102-105 วัน และจะให้กำเนิดลูกครอกละ 3-5 ตัว แต่โอกาสที่ลูกน้อยจะอยู่รอดและโตเต็มวัย (อายุประมาณ 18 เดือน – 2.5 ปี) มีเพียง 1-2 ตัวเท่านั้น
การเพิ่มประชากรเสือในป่าธรรมชาติจึงเป็นเรื่องยาก ต้องอาศัยความเหมาะสมของพื้นที่ ความหนาแน่นของเหยื่อในพื้นที่นั้น รวมถึงการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ซึ่งการที่ลูกเสือจะเติบโตได้นั้นต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตจากแม่ และฝึกประสบการณ์ที่คัดสรรจากธรรมชาติ
ความผูกพันระหว่างเสือโคร่งกับผู้วิจัย
เมื่อถามถึงความผูกพัน ดร.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ผูกพันกับ เสือรตยา เสือบุปผา และน้องเอื้อง เพราะเห็นเผ่าพันธุ์นี้ตั้งแต่รุ่นแรกมาเมื่อสมัยเป็นวัยรุ่น เรื่อยมาจนได้เห็นการสืบทอดเชื้อสายมาจนปัจจุบัน ได้ศึกษาข้อมูลของเสือรตยาจนเธอมีลูกคือเสือบุปผา ต่อมาเสือบุปผาก็มีลูกคือน้องเอื้อง จนกระทั่งน้องเอื้องก็มีลูกอีก เห็นการเจริญเติบโต การครอบครองพื้นที่ และเชื้อสายนี้ยังคงอยู่ ราวกับคนคุ้นเคยที่รู้จักกันมานาน
ประชากรเสือโคร่งในปัจจุบัน
ข้อมูลจาก WWF (World Wildlife Fund) ระบุถึงจำนวนประชากรเสือโคร่งทั่วโลกล่าสุดมีประมาณ 3,890 ตัว ซึ่ง The IUCN Red List ประเมินว่ามีจำนวนลดลง ด้านสถานะเสือโคร่งในประเทศไทย คุณสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ระบุว่าจำนวนเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ในป่าธรรมชาติมีประมาณ 150 ตัว ซึ่งอยู่ในพื้นที่กลุ่มป่าหลักๆ อย่างกลุ่มป่าตะวันตก, กลุ่มป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ และกลุ่มป่าแก่งกระจาน
แต่ในพื้นที่ป่าตะวันตกยังมีข่าวดี จากการทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ด้วยการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพทำให้พบว่า เสือโคร่งมีการฟื้นฟูประชากรและกระจายตัวไปหลายพื้นที่ในป่าตะวันตก รวมถึงพื้นที่ที่ไม่เคยเจอก็สามารถพบตัวและร่องรอยได้ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติพุเตย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง (และมีในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน)
ดังนั้นหากมีการคุ้มครองพื้นที่เหล่านี้ให้เข้มแข็ง เช่น การเดินลาดตระเวน ก็มีโอกาสที่เสือโคร่งจะสามารถฟื้นฟูประชากรจนสามารถอาศัยยู่รอดในพื้นที่แห่งนั้นได้
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเสือโคร่งได้ที่ www.worldwildlife.org/species/tiger และ www.iucnredlist.org/details/15955/0