เมืองไทยเริ่มศึกษาวิจัยเสือโคร่งครั้งแรกในปี 2539 โดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เพราะเล็งเห็นว่า สัตว์ใหญ่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ของโลก มีความสัมพันธ์และสำคัญต่อการคงอยู่ของระบบนิเวศ การจะรักษาป่าต้องรักษาเสือโคร่ง การจะรักษาเสือโคร่งจึงต้องรักษาป่า เพราะเสือโคร่งจำเป็นต้องใช้ป่าขนาดใหญ่ที่เพียงพอ มีความเหมาะสมในด้านต่างๆ ทั้งเหยื่อ น้ำ และสภาพแวดล้อมสำหรับการอยู่อาศัย
ปัจจุบัน งานวิจัยเสือโคร่งในประเทศไทย ได้รับการยอมรับในระดับโลก จากการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง มีระบบและข้อมูลสามารถนำไปอ้างอิงเพื่องานอนุรักษ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม หรือแม้แต่การติดตามคดีการล่าสัตว์ ก็อาศัยข้อมูลจากงานวิจัยจากนักวิจัยช่วยคลี่หลายปัญหา และยังนำไปสู่แนวโน้มการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งของประเทศในอนาคต
แต่การทำงานวิจัยใช่ว่าง่าย และใช่ว่าจะมีวันสิ้นสุด อย่างที่นักวิจัยได้กล่าวไว้ งานวิจัย (และนักวิจัย) จำเป็นต้องพัฒนาตลอดเวลา เพื่อหาข้อมูลใหม่และข้อมูลที่เป็นความจริงมากขึ้น ให้สิ่งที่ทำในวันนี้เป็นผลดีต่ออนาคตให้มากที่สุด
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร อยากแนะนำนักวิจัยเสือโคร่งคนสำคัญแห่งผืนป่าตะวัน คือ คุณสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ รับผิดชอบในด้านการศึกษาวิจัยเสือโคร่ง และ ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือ
ความยากง่ายในการทำงานในผืนป่าใหญ่เพื่อศึกษาวิจัยเสือโคร่งที่เป็นสัตว์บนห่วงโซ่อาหารจะเป็นอย่างไร ติดตามเบื้องหลังของความสำเร็จได้ในบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้
ผืนป่าอันกว้างใหญ่ทำไมต้องเลือกศึกษาวิจัยเสือโคร่ง
นายสมโภชน์ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติ เราพบว่าเสือมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ เป็นผู้ล่าสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร (Top predators) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รวมถึงปัจจัยเรื่องโอกาสในการศึกษาสัตว์ป่าอื่นๆ ทำได้ไม่ง่ายนัก จึงเลือกเสือโคร่งมาเป็นตัวแทนของความหลากหลายในพื้นที่ และองค์ความรู้ที่ได้จากเสือโคร่งนั้นมีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ขอบเขตการวิจัยเสือโคร่งในพื้นที่ป่าตะวันตก
นายสมโภชน์ : สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำเน้นการทำงานในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นหัวใจหลักในการติดตามประชากรและศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกและด้านตะวันตกที่เน้นการติดตามประชากรเสือโคร่งเป็นหลัก ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 เมื่อปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2559) เริ่มทำการติดปลอกคอเสือในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
แค่ดูแลป่าให้สมบูรณ์ไม่พอหรือ ทำไมต้องมีการทำงานศึกษาวิจัยเสือโคร่ง
ดร.อัจฉรา : หากป่าอยู่ในสถานภาพปรกติเราสามารถปล่อยให้ป่าเป็นไปตามยถากรรมธรรมชาติได้ แต่ก่อนที่เราจะเริ่มศึกษามีการล่าสัตว์ป่ามากมาย ทั้งการล่าเสือ และสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือ รวมไปถึงการบุกรุกพื้นที่ ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ไม่ปรกติ ฉะนั้นในสถานการณ์แบบนี้ เราจะแก้ปัญหาอย่างไร เราไม่สามารถหลับหูหลับตาเชื่อข้อมูลต่างๆ ทั้งจำนวนของเสือโคร่งหรือเหยื่อที่มันกินเป็นอาหารโดยไม่มีหลักฐานมารองรับได้ จึงต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์สำหรับประเทศไทย
ในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยเสือโคร่งมาแล้วเช่นอินเดีย ทำไมไม่นำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้
ดร.อัจฉรา : แม้เป็นเสือโคร่งชนิดเดียวกัน แต่สภาพป่า สิ่งแวดล้อม ปัจจัยต่างๆ ไม่เหมือนกัน ทำให้มีวิธีการดูแลแตกต่างกัน ประเทศไทยจึงควรมีการข้อมูลการวางแผนการจัดการดูแลเป็นของเราเอง
ก่อนที่เราจะวิจัยเสือโคร่งอย่างจริงจัง เคยมีชาวต่างชาติมาวิจัยเสือโคร่งในไทยและให้ข้อมูลว่าเสือโคร่งประเทศไทยกินเก้งเป็นอาหาร ซึ่งทุกวันนี้ในต่างประเทศยังอ้างอิงข้อมูลว่าเสือโคร่งประเทศไทยกินเก้ง เป็นคำถามในระดับโลกว่าทำไมเสือโคร่งประเทศไทยถึงมักน้อย กินแค่เก้ง ในขณะเดียวกันเสือโคร่งประเทศเพื่อนบ้านกินสัตว์ใหญ่ เช่น วัวแดง กวาง
แต่เมื่อเราทำการศึกษาวิจัยข้อมูลกันต่อเนื่อง จึงทราบว่าเสือโคร่งประเทศไทยกินวัวแดงเป็นอาหาร ในส่วนของเก้งนั้นโดยข้อเท็จจริงแล้วโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก จนถึงปัจจุบันที่ทำการศึกษาวิจัยด้วยการจับเสือใส่ปลอกคอวิทยุและติดตามพฤติกรรมพบว่า อาหารหลักของเสือโคร่งคือ วัวแดง กวาง กระทิง หมูป่า ส่วนเก้งเป็นเหมือนขนมขบเคี้ยวเท่านั้น เพราะด้วยลักษณะของขนาดตัว ความเปรียวกว่า เหมือนเราเสียเวลาวิ่งจนเหนื่อยเพื่อได้กินอาหารเพียงเล็กน้อยได้แค่ค่อนกระเพาะ
การทำวิจัยอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่เพราะเราไม่เชื่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่การที่เราพัฒนาไปเรื่อยๆ จะทำให้เราเจอข้อมูลใหม่ๆ ที่อัพเดทและเป็นความจริงมากขึ้น ไทยแลนด์ยัง 4.0 ทำไมเสือโคร่งจะ 4.0 บ้างไม่ได้หรือ
ขนาดของทีมในการปฏิบัติงาน
นายสมโภชน์ : ขนาดทีมในการทำงานแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับภารกิจ เช่น การตั้งกล้องดักถ่ายภาพ หากเป็นการเดินไปกลับ คือจะตั้งแคมป์ใหญ่หนึ่งแคมป์ เดินตั้งกล้องทั้งวันแล้วกลับมานอนแคมป์ด้วยกัน ทีมตั้งกล้องหนึ่งทีมจะมีประมาณ 10 คน โดยจะแบ่งทีมย่อยแยกกันไป 5 ทีม ทีมละ 2 คน แล้วกลับมา ในภารกิจติดกล้องก็จะมีทีมละ 2 คนเป็นหลัก ขณะที่ภารกิจเข้าไปตามเสือหรือเช็คพิกัดเสือ ก็จะมีอย่างน้อย 2-3 คนขึ้นไป และหากต้องไปค้างคืนต้องมีอย่างน้อย 3-4 คน
ดร.อัจฉรา : แต่ถ้าจับเสือเพื่อใส่ปลอกคอใช้ประมาณ 6 คน แต่หากต้องเข้าไปในป่าลึกเราต้องเผื่อกำลังคนเข้าไปเพิ่ม 2-3 คน เพราะการเข้าไปในป่าเราไม่รู้ว่าต้องเจออะไรบ้างจึงต้องมีการสำรองกำลังคน ยกตัวอย่างหากเจอไม้ล้มขนาด 2 คนโอบ หากตัดตัวเองซึ่งเป็นผู้หญิงก็จะเหลือกำลัง 5 คนที่เป็นผู้ชาย จึงต้องสำรองกำลังคนเพิ่ม แต่เมื่อเอาคนเข้าไปแล้วจะต้องทำงานให้คุ้ม จะไม่มีเวลาไว้เดินเล่น เข้าไปแล้วต้องทำงาน
อันตรายในการปฏิบัติงานวิจัย
ดร.อัจฉรา : เนื่องจากสถานที่ทำงานเป็นป่า ไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะต่อการเข้าไปใช้ชีวิตจึงมีอันตรายอยู่แล้ว การจะทำงานจึงมีความเสี่ยงตลอดเวลา ต้องไม่ประมาท มีสติตลอดเวลา ระมัดระวังตัวตลอดเวลา เช่นว่า สัตว์ป่าไม่คิดว่าจะเจอคนอยู่กลางป่า ถ้ามีสัตว์วิ่งสวนมาเราจะต้องรับรู้ก่อนที่มันจะถึงตัวเรา
อุปสรรคในการทำงาน
ดร.อัจฉรา : อุปสรรค คือสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ในการทำงาน สิ่งที่ยังมาไม่ถึง พอมาถึงนั่นแหละก็คืออุปสรรค
นายสมโภชน์ : การทำงานในป่าเราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น สภาพธรรมชาติสร้างความลำบากให้ทีมงานได้เรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับธรรมชาติว่าจะลงโทษเราตอนไหน รวมไปถึงอุปกรณ์ เช่น รถที่อาจจะทำให้เวลาคลาดเคลื่อนไป อุปสรรคเกิดขึ้นได้ตามรายทาง
ความยาก
ดร.อัจฉรา : หากนิยามความง่ายหรือความยากของงานคงขึ้นอยู่ความปลอดภัยของคนและสัตว์ ภารกิจสำเร็จ ถือว่าการวางยาเสือของเรานั้นง่าย แต่ “ความยาก” มันเกิดขึ้นมาก่อน “ความง่าย” ก่อนที่สัตว์และคนจะปลอดภัยมันมีช่วงวัดใจอยู่ช่วงหนึ่ง ช่วงนั้นแหละคือความยาก ในความเป็นจริงเวลาเราดักจับสัตว์มันไม่อยู่เฉยๆ เราไม่สามารถควบคุมหรือสั่งให้สัตว์อยู่นิ่งได้อย่างที่เราต้องการ มันจะขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมตอนนั้น
ยกตัวอย่างเช่น ความยากง่ายระหว่างการทำงานกลางวันกับกลางคืน ตอนนี้สารภาพว่าติดใจการทำงานเวลากลางคืน เพราะเราสามารถควบคุมแหล่งที่มาของแสงและเสียงได้ ในเวลากลางคืนสัตว์จะก้าวร้าวน้อยกว่ากลางวัน ทำให้ทำงานได้ไว ส่วนกลางวันจะมีเสียงรบกวนจากทุกทิศทาง ทั้งนก ไก่ การ้องกันระงม รวมถึงเรื่องแสงที่สัตว์น่าจะเห็นภาพรวมได้ดีกว่าที่เรายิ่งสปอร์ตไลท์ไปยังจุดใดจุดหนึ่ง
อีกเรื่องที่ต้องฝึกคือความอึด เราไม่สามารถนัดเจอกับเสือได้ว่าให้มาเจอกันที่จุดไหน เราไปเปิดกับดักเพื่อรอมัน ถ้าโชคดีก็ 4-5 วัน ถ้าโชคร้ายก็รอเป็นเดือน การที่ต้องเฝ้ารอมันนี่คือการฝึกความอึด เป็นความยากของการที่ไม่สามารถกำหนดได้ เราก็ต้องหาวิธีทำงานให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ใกล้เคียงรอบที่มันจะมาหาเรามากที่สุด เช่น การเอากล้องไปดักตามทางที่เขาจะเดิน เราก็จะพอกะระยะเวลาคร่าวๆ ได้ว่ามันสำรวจบ้านมันรอบหนึ่งใช้เวลากี่วันถึงจะเดินกลับมา เราก็จะกะเวลาให้ได้ใกล้เคียง แต่พอเราพัฒนา เสือเองก็มีพัฒนาการเช่นกัน เรารู้แล้วว่ามันจะมา มันก็รู้เช่นกันว่าเราจะมา เสือก็เดินเล่น ไม่แวะให้ เราก็ไปคิดค้นวิธีว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลสำเร็จ ทำไปเรียนรู้ไป อย่างน้อยเราก็ต้องเชื่อว่าเราเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ฉลาดที่สุด เฉพาะฉะนั้นเสือจะมาฉลาดกว่าเราไม่ได้ เราก็ต้องมีการเรียนรู้คิดค้นไปเรื่อยๆ
สถานการณ์ประชากรเสือโคร่งในพื้นที่
นายสมโภชน์ : เนื่องจากพื้นที่ศึกษาของเราคือเขตรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และด้านตะวันตกเป็นหลัก เมื่อเทียบข้อมูลกับปี 2550 จะเห็นว่าแนวโน้มของประชากรในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งดูดีขึ้นกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะช่วงปีนั้นเราถ่ายรูปเสือได้ประมาณ 20 ตัว ไม่ถึง 30 ตัว แต่ปีล่าสุดนี้ถ่ายได้เป็นตัวเต็มวัยทั้งหมดประมาณ 50 ตัว หรือคิดเป็นเกือบเท่าตัวของ 10 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ฝั่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกและด้านตะวันตกมีจำนวนประชากรคงที่ และมีข้อมูลอีกอย่างก็คือเสือในห้วยขาแข้งมีการกระจายออกไปในป่าตะวันตก ในด้านตัวเลขที่เรามีมันเป็นเชิงบวก แต่ว่าสถานการณ์ในป่าห้วยขาแข้งเองยังมีปัจจัยคุกคามเข้ามาอยู่เรื่อยๆ จึงต้องเฝ้าระวังกันตลอดเวลา
ความประทับใจในการทำงาน
ดร.อัจฉรา : ประทับใจในทีมของเรา ไม่ว่าจะยากลำบาก ฝนตก น้ำล้นตลิ่งเราก็ไม่เคยทิ้งกัน มีปัญหาเราไม่เคยหันหลังให้กัน ถึงแม้ว่าจะไม่อยู่ในบริเวณที่เกิดปัญหาก็ตาม ก็สามารถช่วยกันได้ มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีวินัย มีความซื่อสัตย์ในการเก็บข้อมูล
ความคาดหวัง
นายสมโภชน์ : งานที่ทำมามันเริ่มจะเห็นในพื้นที่อื่นด้วย เราเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2547 ตั้งแต่เรื่องของการติดตามประชากร การติดตั้งกล้องในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขยายไปจนกระทั่งงานติดปลอกคอวิทยุด้วย แต่การตั้งกล้องจะเป็นงานหลักที่มีการเริ่มขยายไปทำงานในพื้นที่อื่น มีนักวิจัยและองค์กรที่เล็งเห็นความสำคัญ ตามสถานการณ์ สำรวจประชากรเสือในพื้นที่อนุรักษ์สำคัญๆ และเข้ามาช่วยเราทำงานในพื้นที่ เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน ที่มีทีม WWF เข้ามาช่วย ส่วนทางตอนใต้ของป่าตะวันตกมีทีม ZXL เข้ามาช่วยกรมอุทยานในการสำรวจเสือโคร่ง ส่วนทางฝั่งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน ก็จะมีทีมที่พยายามผลักดันให้มีการสำรวจหรือติดตามประชากรเสือในพื้นที่ เพื่อดูแนวโน้มสถานภาพของประชากรและแปรผลทั้งประเทศไทยว่าเสือโคร่งเป็นอย่างไร
ดร.อัจฉรา : ถ้าหมายถึงเนื้องานก็จะคาดหวังว่างานวิจัยที่เราทำออกมาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการงานอนุรักษ์ได้จริง แต่ถ้าในส่วนของภาคประชาชนก็คือเราพยายามจะสื่อสารออกมาว่าเสือมันคืออะไร มีชีวิตอย่างไร มันกินอะไร ในมุมมองง่ายๆ ให้สาธารณชนได้รู้ เพื่อให้เขารู้สึกถึงคุณค่าและเกิดความรักความหวงแหน เพราะในเวลาที่เรามีปัญหาในหลายๆ เรื่องๆ คนส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่าทำไมต้องไปเลือกเสือ ทำไมไม่เลือกคน เช่นความขัดแย้งในการใช้พื้นที่ แต่ถ้างานวิจัยที่เราทำออกมาสามารถสร้างความเข้าใจได้ว่ามันมีเสือแล้วจากนั้นมันเกิดอะไรขึ้น มีความสมบูรณ์ตามมา ซึ่งความสมบูรณ์ในที่นี้เป็นของคนทุกคน ไม่ใช่ของเสือ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งในพื้นที่ตรงนั้น นี่คือสิ่งที่เราคาดหวัง
สาธารณชน ภาคประชาชน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เสือได้อย่างไร
ดร.อัจฉรา : เรามองว่า เอ็นจีโอที่มองการอนุรักษ์เป็นงานใกล้เคียงกับเรา อยากให้คิดเห็นไปในทางเดียวกัน แล้วเมื่อเราแปรผลออกไปเราก็จะแปรผลออกไปในทิศทางเดียวกับภาครัฐที่ทำงาน ในส่วนของประชาชน คิดว่าแค่เห็นคุณค่า เกิดความรัก และหวงแหนก็เพียงพอแล้ว ด้านองค์กรที่มีบทบาท มีผลต่อการทำงาน น่าจะเป็นพวกเอ็นจีโอ แหล่งทุน น่าจะมีส่วนช่วยได้เยอะ
นายสมโภชน์ : ด้านการใช้แรงงานที่ยังเป็นเพียงแนวคิดว่าจะนำอาสาสมัครมาช่วยทำงาน เพราะมีตัวอย่างจากประเทศอินเดียที่มีการใช้อาสาสมัคร แต่ว่าป่าอินเดียกับไทยไม่เหมือนกัน และป่าอินเดียสามารถเดินทางไปเช้าเย็นกลับได้ เราค่อนข้างกังวลเวลานำอาสาสมัครเข้าไปทำงานกับเรา เพราะคุณต้องไปอยู่กับเรา 5 – 7 วัน จะมีปัจจัยด้านเวลา เรื่องความปลอดภัยที่ต้องคำนึง ข้อจำกัดต่างๆ ทำให้แนวคิดการนำอาสาสมัครมาช่วยงานยังไม่เกิดขึ้น
ดร.อัจฉรา : มันเป็นงานที่ละเอียดอ่อน และมีความเสี่ยง จะนำใครเข้าไปช่วยเราต้องคิดแล้วคิดอีก ต้องเป็นคนที่มีทักษะในระดับหนึ่ง สมมุติว่าชวนสัตวแพทย์มายิงยาสลบให้ เขาอาจจะทำได้ เพราะมีเทคนิคและความรู้ในระดับหนึ่ง แต่การจะเข้าไปทำงานจริงมันไม่ได้อยู่ในพื้นที่สี่เหลี่ยม ไม่สามารถนำเข็มไปจิ้มได้ง่ายๆ มีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง บางคนเข้าไปครั้งแรกได้ยินแค่เสียงร้องของเสือก็ถึงกับเข่าอ่อนทั้งๆ ที่ไม่ได้เข้าใกล้มันเลย ยืนห่างๆ ให้ถือของเข้าไปเท่านั้น มันเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะจริงๆ เราก็อยากได้ความช่วยเหลือแต่ก็ต้องมาคิดก่อนว่าเข้าไปอย่างไรสามารถทำงานได้อย่างคุ้มค่า เป็นประโยชน์และไม่มีความเสี่ยง
สิ่งที่อยากฝากถึงประชาชน
ดร.อัจฉรา : เวลาเราคิดถึงเสือก็คือการคิดถึงตัวเราเอง เพราะการที่เรามีเสือในป่าอยู่นั่นแปลว่าเรามีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสมหรับทุกคน อย่ามองว่าเสือว่าเป็นสัตว์อันตราย เรื่องปัญหาการใช้พื้นที่ คนต้องการพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรม ทำอ่างเก็บน้ำ ก็จะมีคำถามว่าจะเอาคนหรือเอาเสือ เราไม่อยากให้คิดอย่างนั้น อยากให้มองในภาพใหญ่ ไม่ใช่ว่าเรารักษาเสือไว้เพื่อเสือ แต่เรารักษาเสือไว้เพื่อเราทุกคน ถ้าไม่เอาเสือก็ได้ แต่คุณก็จะได้ป่าที่ไม่มีชีวิต มีต้นไม้ไว้ดูดคาร์บอนฯ แต่ไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น