“เขาสก-คลองแสง” 30 ปี วันวานที่ไม่อาจหวนคืน

“เขาสก-คลองแสง” 30 ปี วันวานที่ไม่อาจหวนคืน

“เชี่ยวหลาน” เป็นชื่อแก่งกลางน้ำแห่งหนึ่งบริเวณคลองแสง คลองทอดยาวแบ่งระหว่างฝากฝั่งคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและอุทยานแห่งชาติเขาสก ในอดีตพื้นที่นี้เคยเป็นป่าดิบชื้น เต็มไปด้วยทรัพยากรชีวภาพที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดของเทือกเขาตะนาวศรี ระบบนิเวศของป่าภาคใต้มีความเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกับป่าอื่นๆ พื้นที่มีสภาพราบต่ำ ลำธารอยู่ในพื้นที่ราบต่ำจนถึงสูง โดยมีป่าปกคลุม เต็มไปด้วยชนิดพรรณพืช เป็นบ้านของสัตว์ป่านับน้อยใหญ่ ทั้งสัตว์ที่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่บนผืนดิน ผืนน้ำ และผืนฟ้า และชนิดพันธุ์สัตว์ป่าหายากในพื้นที่

แต่ปัจจุบันสัตว์บางชนิดสูญหายไปจากพื้นที่และกำลังสูญหายไปจากโลก ยังไม่รวมถึงนักวิจัยที่เชื่อว่ามีสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ แต่น่าจะสูญพันธุ์ไปก่อนได้รับการสำรวจพบ อันมีสาเหตุมาจากเขื่อนรัชชประภา ซึ่งสร้างเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

เรื่องราวพลิกผันไปหลังเขื่อนถือกำเนิดเข้ามายังพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2529 ที่ กฟผ. เริ่มปิดอุโมงค์ทำให้พื้นที่เปลี่ยนแปลงสภาพไปเป็นอ่างเก็บน้ำ เกิดธุรกิจท่องเที่ยวของมนุษย์ และสร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสัตว์ป่าทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างใหญ่หลวงและกินระยะเวลายาวนาน

คุณสมหญิง ทัฬหิกรณ์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ อ้างอิงงานวิจัยของคุณบุษบง กาญจนสาขา ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสงว่า จากการวิจัยติดตามความชุกชุมและแพร่กระจายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในพื้นที่คลองแสง พบว่า ความหลากชนิดของพันธุ์สัตว์ป่าลดลง สัตว์ในกลุ่มผู้ล่าขนาดใหญ่ เสือดำ เสือไฟ แมวลายหินอ่อน แต่ไม่พบเสือโคร่ง ส่วนสัตว์กินพืชขนาดใหญ่พบ กระทิง เก้ง กวาง เก้งหมอ สมเสร็จ ช้าง หมูป่า และเลียงผา ในช่วงที่มีการสำรวจมีการกระจายตัวไม่มาก โดยเฉพาะเก้งมีความชุกชุมลดลงไปค่อนข้างเยอะ ด้านวัวแดงได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีถิ่นอาศัยอยู่บนพื้นที่ราบ มีความจำเพาะเจาะจงต่อการเลือกใช้พื้นที่ ไม่สามารถอพยพหรือเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ภูเขาสูงชันได้

 

คุณสมหญิง ทัฬหิกรณ์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ

 

สัตว์สำคัญที่เคยปรากฏในพื้นที่ได้สูญหายไป นั่นคือ วัวแดง เสือโคร่ง หมาไน นากจมูกขน และเสือปลา ซึ่งนากชนิดดังกล่าวนี้เป็นชนิดที่นับว่าหาได้ยากมากในโลก

งานวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยของคุณสมหญิงในหัวข้อ การใช้ประโยชน์พื้นที่อาศัยของสมเสร็จ (Tapirusindicus) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่พบว่า พื้นที่ที่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าสมเสร็จเกิดความเปลี่ยนแปลงสภาพไปหลังจากมีการสร้างเขื่อนขึ้น

หลังการสร้างเขื่อนส่งผลกระทบต่อสัตว์ในพื้นที่อย่างสมเสร็จที่ต้องย้ายถิ่นอาศัยอยู่ด้านบนภูเขาซึ่งมีความสลับซับซ้อนไม่ลาดชันมาก ทำให้เห็นว่าพื้นที่ที่มีความเหมาะสมของสัตว์ได้ถูกเปลี่ยนสภาพไป แทนที่จะได้อยู่อาศัยบนพื้นที่ราบที่มีทั้งแหล่งอาหาร สามารถหากินได้สะดวกและเหมาะสม กลับต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่พื้นที่สูงเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของมันไว้ แม้จะลำบากในการดำรงชีวิตแต่เป็นสิ่งจำเป็นที่พวกมันต้องทำ

ผลสรุปของงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า สัตว์ป่าล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการสร้างเขื่อน ที่เข้ามาทำให้สภาพพื้นที่ป่าเปลี่ยนแปลงไป เกิดความไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ ก่อนที่สัตว์เหล่านี้จะทะยอยลดจำนวนประชากรและสูญหายไปจากพื้นที่ อีกทั้งยังเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาจากมนุษย์ ทั้งด้านธุรกิจท่องเที่ยวที่ขาดมาตรการควบคุม การประมงขาดการดูแล และการลักลอบล่าสัตว์ในพื้นที่ ถึงแม้ภายหลังปี 2543 ถึงปัจจุบัน ภาครัฐจะนำบทเรียนในครั้งอดีตมาเรียนรู้ ปรับปรุง และเพิ่มมาตรการดูแล แต่ต้องยอมรับว่าการลักลอบล่าสัตว์ยังคงอยู่ และสัตว์ป่าที่สูญหายไปจากพื้นที่แล้วไม่สามารถฟื้นฟูประชากรกลับคืนมาได้อีก นับว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรทางชีวภาพที่สำคัญยิ่ง

คุณเกร็ก เออร์วิง (Mr. Greg Iring) นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ “ความหลากหลายของชนิดพันธุ์นกบนเกาะในบริเวณอ่างเก็บน้ำเชี่ยวหลาน” ว่า การสร้างเขื่อนป็นการทำลายพื้นที่ใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เกิดเป็นหย่อมป่าไม่เชื่อมต่อกัน ส่งผลให้นกแต่ละชนิดขาดแหล่งอาหารที่เพียงพอ ไม่มีพื้นที่หลบภัยจากผู้ล่า เกิดเลือดชิด (Inbreeding) และค่อยๆ สูญหายไปจากพื้นที่ เช่น นกปรอดแม่พะ นกกระสาคอขาวปากแดง และกำลังเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ไปจากโลก

คุณเกร็ก เออร์วิง (Mr. Greg Iring) นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

 

เคยมีคนกล่าวว่า ‘นกมีปีก พวกมันสามารถบินไปไหนก็ได้’ คุณเกร็กอธิบายอย่างชัดเจนว่าไม่เป็นความจริง นกป่าประจำถิ่นภาคใต้หรือนกซุนดาอิคเป็นนกพื้นที่ราบต่ำ ไม่สามารถกระจายตัวบินข้ามน้ำหรือข้ามภูเขาได้ เคยมีคนทำวิจัยนำนกลงเรือมาปล่อยให้มันบินเหนือน้ำ นกซุนดาอิคจะบินไปได้เพียงไม่กี่เมตรก่อนจมน้ำในที่สุด

จะเห็นว่าไม่ใช่นกทุกชนิดพันธุ์จะสามารถบินระยะไกลพอที่จะข้ามน้ำหรือภูเขาได้ ก็คงเหมือนมนุษย์ส่วนมากที่มีแขนและขาเหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ทุกคนจะว่ายน้ำหรือปีนภูเขาได้ทุกคนกระมัง

นกกระสาคแขาวปากแดง ค้นพบโดย สืบ นาคะเสถียร เมื่อครั้งทำโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน

 

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านระบบนิเวศน้ำจืด เองก็ได้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การสร้างเขื่อนเป็นการทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไปเป็น ‘ภูมิทัศน์ประดิษฐ์’ หรืออ่างเก็บน้ำ ส่งผลกระทบต่อพรรณปลา รวมทั้งได้แสดงความกังวลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ปูนซีเมนต์อุดรูรั้วตามถ้ำซึ่งเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิต เช่น ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนและพิษณุโลก เราพบว่าในลำธารใต้ธรณีมีปลาชนิดใหม่และมีเพียงแห่งเดียวในโลก เชี่ยวหลานเอง มีความเป็นไปได้ที่จะมีสัตว์หรือพืชชนิดพันธุ์ใหม่ แต่น่าจะสูญพันธุ์ไปก่อนได้รับการสำรวจพบ

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านระบบนิเวศน้ำจืด

 

จากการสำรวจ 4-5 ปี หลังการสร้างเขื่อนพบว่าปลาหายไปจากพื้นที่เชี่ยวหลานจำนวนมาก หนึ่งในนี้มีปลาใกล้สูญพันธุ์ เช่น ปลาฝักพร้า ปลาตุม ปลากา ปลาตะโกก ปลาแค้ ปลาเค้า และภายหลังการสร้างเขื่อนได้ 5-10 ปี ปลาตะพัด ปลาแขยง ปลาหน้าหมอง ได้สูญหายไปจากพื้นที่

มีข้อสรุปอย่างหนึ่งจากการสร้างเขื่อนทั่วโลก ว่า ในระยะ 1-5 ปีแรก การประมงจะสามารถจับปลาได้หลายชนิดและจำนวนมากขึ้น เพราะเมื่อเขื่อนถูกปิดปลาจึงถูกไล่ออกมาจากแหล่งอาศัยและที่ซ่อนตามลำธาร ส่วนปลาหลากชนิดที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะจะเริ่มลดจำนวนลงและหายไปเพราะขาดถิ่นอาศัยที่เหมาะสม การขยายพันธุ์ลดลง จะมีปลาบางชนิดพันธุ์ที่สามารถปรับตัวได้ แต่สิ่งที่มาซ้ำเติมคือ ไม่มีมาตรการควบคุมการประมง ปลาจึงถูกจับในปริมาณมากเกินกว่าที่ปลาจะสามารถขยายพันธุ์ตามธรรมขาติเพื่อทดแทนได้ทัน

“ระยะหลังการสร้างเขื่อน 15-20 ปี เป็นระยะที่ปริมาณประชากรปลาขึ้นอยู่กับการจัดการ แต่แม้จะสามารถจัดการได้ดีแล้วก็ตามก็ช่วยให้ปริมาณทรงตัวเท่านั้น ไม่สามารถเพิ่มให้คงเดิมเท่าที่เคยมีตามธรรมชาติได้ เพราะระบบนิเวศได้สูญไปแล้ว มีปลาหลายชนิดสูญพันธุ์ เช่น ปลาเค้าดำ ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ระดับประเทศ และปลาตะพัดที่ใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก”

ด้วยระบบนิเวศที่มีอยู่อย่างจำกัด เมื่อผลผลิตแห่งความสมบูรณ์ถูกใช้ไปจนหมด ความเหมาะสมลดลง รอบข้างไม่มีป่า ปริมาณอาหารเริ่มจำกัด คุณภาพน้ำเริ่มแย่ลงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากสิ่งก่อสร้างรอบข้าง การปล่อยสิ่งปฏิกูลลงมายังแหล่งน้ำ ผลพวงจากการสร้างเขื่อนกัดกินทรัพยากรธรรมชาติอย่างโหดร้าย เกิดความเสียหายต่อสัตว์ป่าทุกหย่อมหญ้า สัตว์บนบกแม้หนีน้ำได้ทันก็ไม่สามารถปรับตัวให้มีชีวิตรอดได้ สัตว์ปีกเช่นนกบางชนิดพันธุ์ไม่สามารถบินหนีข้ามน้ำได้ และแม้แต่ปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำยังต้องเผชิญเคราะห์กรรมระบบนิเวศถูกทำลายด้วยความตั้งใจ เหลือเพียงภูมิทัศน์ประดิษฐ์ที่สวยงามแต่เต็มไปด้วยหยาดน้ำตาและคาบเลือดอันเศร้าหมองเก็บไว้ให้มนุษย์ตราตรึงและตรึกตรองไว้เป็นบทเรียนราคาแพงว่า

เมื่อครั้นอดีต 30 ปีที่ผ่านมา เราเคยมีและได้สูญเสียทรัพยากรอันทรงคุณค่าไปอย่างไม่อาจหวนคืน ด้วยความความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพวกเราเอง

 


เรียบเรียงบทความจากเวทีงาน จากป่า สู่เมือง บทเรียนงานอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน (รำลึก 26 ปี สืบ นาคะเสถียร)
บทความโดย พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร