อำเภออุ้มผางมีพื้นที่ 4,325.38 ตารางกิโลเมตร นับเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เทียบได้กับพื้นที่ประมาณ 3 เท่าของพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่ป่าของผืนป่าตะวันตกตามแนวเทือกเขาถนนธงชัยที่ทอดตัวยาวจากเหนือลงสู่ใต้และเชื่อมติดกับพื้นที่ป่าของประเทศพม่า ขณะเดียวกันในอำเภออุ้มผางเอง พื้นที่โดยส่วนใหญ่ก็ยังคงสภาพเป็นผืนที่ป่าอุดมสมบูรณ์ โดยเป็นป่าอนุรักษ์ถึง 4,156.84 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง 2,584.858 ตารางกิโลเมตร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกถึง 1,571.982 ตารางกิโลเมตร นับเป็นพื้นที่ถึงร้อยละ 96 ของพื้นที่ทั้งหมดในอำเภอ ส่วนพื้นที่ที่เหลือเป็นที่ตั้งชุมชน หน่วยงานราชการ พื้นที่เกษตรกรรม โดยมีบางส่วนยังคงสภาพเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
อุ้มผางโดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอุ้มผางและทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำแม่กลอง ที่ให้น้ำถึงปีละ 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับใช้ในภาคเกษตรกรรม อุปโภค บริโภค ของประชาชนในอุ้มผางกาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร นอกจากนี้ยังใช้เป็นน้ำดิบผลิตประปาให้คนในกรุงเทพด้านตะวันตกได้ใช้อีกด้วย
ในผืนป่าอุ้มผางยังมีน้ำตกทีลอซู ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 6 ของเอเชีย ที่เกิดจากสายน้ำสาขาของแม่น้ำแม่กลอง ในปีหนึ่งๆ มีคนมาเที่ยวชมความงามของน้ำตกแห่งกว่า 30,000 คน นับเป็นการสร้างรายได้หลักให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวกว่า 60 กิจการ และชาวเมืองอุ้มผางทั่วไป นอกจากนี้ความสวยงามตามธรรมชาติได้ก่อเกิดแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการศึกษาธรรมชาติอีกหลากหลายกิจกรรม อาทิ การล่องแก่งตามลำน้ำต่างๆ การเที่ยวชมดอยหัวหมดและวิวทิวทัศน์ที่งดงาม นอกจากนี้พื้นที่ป่าในอุ้มผางยังคงเป็นพื้นที่สงวนไว้เพื่อการรักษาทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของโลก ในพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
ชาวกะเหรี่ยงในอุ้มผางเองยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไว้ได้อย่างมากมาย ทั้งประเพณีการแต่งกาย วิถีชีวิต และวัฒนธรรม
ประชากรในอำเภออุ้มผางมีประมาณ 27,896 คน หรือ ประมาณ 6,700 ครอบครัว ใน 6 ตำบล ได้แก่ ต.อุ้มผาง ต.หนองหลวง ต.โมโกร ต.แม่จัน ต.แม่ละมุ้ง ต.แม่กลอง แบ่งเป็นหมู่บ้านต่างๆ 38 หมู่บ้าน
ความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของอุ้มผาง คือ เป็นพื้นที่ที่ตั้งของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมชาวกะเหรี่ยงสองกลุ่มชาติพันธุ์ คือ ชาวปากะญอ และชาวโผล่ว โดยมีศูนย์กลางวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือฤๅษี ร่วมกัน อยู่ที่หมู่บ้านเลตองคุ ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าตั้งชุมชนขึ้นมาพร้อมกับ การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานี เมื่อ 200 กว่าปี ที่ผ่านมาและชุมชนที่ยังคงสืบทอดวัฒนธรรมนี้ผ่านผู้นำทางวัฒนธรรมคือฤๅษี จากองค์ที่ 1 จนถึง องค์ที่ 10 ในปัจจุบัน
ชุมชนกะเหรี่ยงในอุ้มผาง มีอยู่ทั้งสิ้น 28 หมู่บ้าน เป็นชาวปากะญอ 19 หมู่บ้าน และชาวโผล่ว 9 หมู่บ้าน มีประชากรชาวกะเหรี่ยงอยู่ถึงร้อยละ 60 ของคนอุ้มผาง
นอกจากนี้อุ้มผางยังประกอบด้วยพี่น้องชาติพันธุ์ม้ง 2 หมู่บ้านทางตอนเหนือของอำเภอ ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ส่วนคนไทยจากภาคเหนือ และไทยพื้นราบมาตั้งถิ่นฐานในตัวอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2432 ปัจจุบันมีการกระจายไปตัวอยู่รอบๆตัวเมือง และออกไปปะปนกับชุมชนกะเหรี่ยง
ปัญหาของอุ้มผาง
จากกิจกรรมและนโยบายเพื่อการพัฒนาอุ้มผางที่ผ่านมา ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพทรัพยากรธรรมชาติทั้งดิน น้ำ และผืนป่าในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาการขยายพื้นที่การเกษตรเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือข้าวโพด และผัก ในพื้นที่ต้นน้ำธารของแม่น้ำแม่กลอง และลำน้ำสาขาต่างๆ เหนือเมืองอุ้มผาง ทำให้น้ำในลำน้ำเหล่านี้มีความขุ่นข้นจากการพังทลายของหน้าดิน การปนเปื้อนของสารเคมีเพื่อการเกษตร จนส่งผลกระทบต่อการท่องเทียวที่ยึดโยงอยู่กับลำน้ำสายนี้ นอกจากนี้ในพื้นที่ต้นน้ำของน้ำตกทีลอซู ทีลอเร มีการขยายตัวของพื้นที่การเกษตรจนส่งผลถึงปริมาณน้ำที่ลดลง และช่วงเวลาที่มีน้ำตกสวยงามลดลงอีกด้วย
แต่ด้วยระยะทางและสภาพเส้นทางที่ห่างไกลจากตัวจังหวัดตาก หรือเมืองใหญ่อย่างแม่สอด ทำให้อุ้มผางยังคงดำรงความเป็นธรรมชาติ การรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม รวมถึงการพัฒนาในงานแก้ไขปัญหาในภาคสังคมไว้ได้อย่างโดดเด่นในด้นต่างๆ ตามมา อาทิ
การจัดการการท่องเที่ยว
การที่น้ำตกทีลอซู และธรรมชาติของอุ้มผาง เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมเยียนพื้นที่แห่งนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างเล็งเห็นความสำคัญของการการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ กลุ่มผู้ประกอบการจึงได้รวมกันจัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์อุ้มผาง ขึ้น เพื่อควบคุม ดูแล กิจกรรมการท่องเที่ยวของผู้ประกอบการให้เป็นไปตามกรอบกติกาและข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ รวมถึงการสนับสนุน ส่งเสริม กิจกรรมการอนุรักษ์ในพื้นที่ ด้วยการทำงานของคณะกรรมารชมรมอย่างเข้มแข็ง และความสามัคคีกลุ่มผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือ จึงเป็นการจัดการด้านการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน และสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจกับการอนุรักษ์ได้เป็นอย่างดี
การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ปัจจุบันนี้เยาวชนในท้องถิ่นอุ้มผางทุกคนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงด้วยระบบการจัดการศึกษาที่หลากหลายและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และวัฒนธรรมในชุมชน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ การศึกษาในชุมชนขนาดใหญ่ๆ หรือในตัวอำเภอ จะมีการเรียนการสอนที่รับผิดชอบโดยสำนักคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 สำหรับในถิ่นทุรกันดาลกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนได้จัดการเรียนการสอนขึ้นเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ยุทธ์ศาสตร์และเพื่อความมั่นคง และมีศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) ของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน ตั้งขึ้นในชุมชนที่เหลือสำหรับเปิดการเรียนการสอนให้กับเด็กและผู้ใหญ่ที่สนใจเรียนเพิ่มเติม สำหรับระดับมัธยมปีที่ 1-6 สามารถเข้าเรียนได้ที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด หรือสามารถเรียนได้กับศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน
การสาธารณะสุข
ด้วยสภาพที่ตั้งของชุมชนอยู่ในถิ่นทุรกันดานและมีความห่างไกลกัน ระบบการรักษาพยาบาลและการส่งเสริมด้านสาธารณะสุขจึงต้องมีการจัดการแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุน อุ้มผางมีโรงพยาบาลอุ้มผาง เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ที่รับผิดชอบการรักษาพยาบาลในอำเภออุ้มผาง โดยมีสถานีอนามัย 7 แห่ง และสำนักงานสาธารณะสุข 6 แห่ง กระจายอยู่ในชุมชนต่างๆในพื้นที่ แต่ด้วยประชากรในอำเภออุ้มผางมีเกือบ 30,000 คน และยังมีประชากรในศูนย์อพยพบ้านนุโพเกือบ 20,000 คน ทำให้การรักษาพยาบาลยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึงในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีชุมชนหลายแห่งไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกจากพื้นที่ได้ ชุมชนจึงมีการจัดระบบการรักษาดูแลด้านสุขภาพและอนามัยของคนในชุมชนเอง เช่น เครือข่ายสุขภาพชุมชนลุ่มน้ำแม่จัน ที่รวบรวมคนในชุมชนทั้ง 14 ชุมชนกว่า 30 คนที่มีความรู้ ความสามารถด้านการพยาบาลผู้เจ็บป่วย มาเป็นอาสาสมัครช่วยกันดูแลคนป่วยภายในชุมชน หรือการจัดการรักษาพยาบาลภายในศูนย์อพยพบ้านนุโพที่เปิดรับการรักษาทั้งคนภายในศูนย์อพยพและจากชุมชนโดยรอบ
การรักษาวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง
ชาวกะเหรี่ยงถือเป็นประชากรหลักในอำเภออุ้มผาง เนื่องจากเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มาอย่างยาวนานกว่า 200 ปี ชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชนที่รักความสงบ สมถะ อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนเพราะชาวกะเหรี่ยงให้ความเคารพธรรมชาติ มองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่เจ้าของเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยการทำสิ่งใดจึงต้องขออนุญาตจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีและวัฒนธรรมและความเชื่อเหล่านี้ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันโดยผ่านกลุ่มแกนนำไม่เป็นทางการในชุมชน ประกอบกับสภาพพื้นที่ที่เป็นเมืองปิด ปัจจัยแวดล้อมจากภายนอกยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่โดยรวมไม่มากนัก ชาวกะเหรี่ยงที่อุ้มผางจึงยังคงเป็นชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเอง และดำรงชีวิตตามประเพณีและวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงได้อย่างเข้มแข็งท่ามกลางสภาพธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และเกื้อกูลต่อกัน