หนูรักป่าของเรา เดินดูงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร กับเยาวชน ที่ป่าห้วยขาแข้ง

หนูรักป่าของเรา เดินดูงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร กับเยาวชน ที่ป่าห้วยขาแข้ง

31 สิงหาคม วันแรกของงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เริ่มต้นงานด้วยภาพน่ารักๆ ของเหล่าเด็กๆ และเยาวชนเดินทางมาเป็นหมู่คณะ ลงทะเบียนพร้อมทำกิจกรรมตามบูธต่างๆ ที่ได้รับความร่วมมือจากองค์กร หน่วยงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้จัดไว้ให้ ที่พร้อมให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้สัมผัสธรรมชาติและการทำงานอนุรักษ์อย่างใกล้ชิด

นอกจากจะมีเอกสารแจก ณ จุดลงทะเบียนแล้ว ยังมีต้นไม้ และเชิญชวนให้ผู้ร่วมงานลงทะเบียนเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติเส้นทางต่างๆ ที่ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้จัดไว้ให้

โดยสามารถเดินทางมาลงทะเบียนร่วมงานได้ตั้งแต่ 10.00 น. บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบง่าย สายลมโชยผ่านแมกไม้ เย็นสบายน่าหลับนอนปล่อยให้เสียงนกน้อยรำพันและใบไม้เขียวขจีปกคลุมกล่อมฝัน แต่ไม่ได้เนื่องจากติดงานจึงต้องเดินไล่ชมบูธ และพูดคุยกับผู้เฝ้าบูธแต่ละที่ และบางที่ก็ติดลมยืนคุยกระทั่งเก็บบูธเลยเสียด้วย

เริ่มด้วยบูธของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พี่เจ้าหน้าที่มาประจำบูธด้วยความจำเป็นหลังหัวค่ำไปจัดการกับช้างที่ออกไปเดินเล่นด้านนอกแล้วต้อนกลับเข้ามายังป่าโดยดี บูธนี้นำอุปกรณ์ลาดตระเวนเชิงคุณภาพของจริงของผู้พิทักษ์ป่ามาโชว์ในงาน ไม่ว่าจะเป็นแผนที่ เข็มทิศ เครื่องจีพีเอส กล้องถ่ายรูป และเครื่องกรองน้ำ

ขณะเดียวกันได้อธิบายการเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมงานกัน รวมถึงทดสอบลวดที่ไว้ใช้สำหรับเตือนช้างป่า ซึ่งเมื่อสัมผัสมันจะส่งเสียงดังลักษณะคล้ายสัญญาณเตือนภัยดังๆ ให้คนดูการทดลองตกใจเล่น

ถัดมาเป็นบูธของทีมสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ที่นำเกมต่างๆ มาให้ผู้ร่วมงานได้ร่วมสนุก ทั้งการต่อจิ๊กซอว์ จุบคู่เสือโคร่งแต่ละตัว และมุมให้ความรู้เกี่ยวกับเสือโคร่ง รอยเท้าเสือโคร่งทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ขนสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือ อาทิ กวาง เก้ง วัวแดง เป็นต้น

และมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกได้นำความรู้และความน่ารักของนกเงือกทั้งหลายมาเผยแพร่ในรูปแบบข้อมูลของโปสเตอร์ หนังสือ และบุคคลทำงาน ซึ่งพร้อมตอบคำถามและบอกเล่าเรื่องราวมากมายระหว่างการทำงานของแต่ละคน กว่าจะเจอนกเงือกแต่ละชนิดแต่ละตัว กระทั่งปัญหาของเหล่านกเงือกที่ต้องเผชิญทุกๆ ปี ซึ่งปัจจัยหลายอย่างนั้นส่งผลต่อการตัดสินใจว่านกเงือกคู่นั้นๆ จะเข้าทำรังในปีนั้นๆ หรือไม่

หากเปรียบเทียบความรู้ประชาชนต่อเสือโคร่งและนกเงือกแล้ว ข้อมูลของเสือโคร่งถูกสื่อสารชักชวนให้คนเกิดความรักต่อชีวิตพวกมันอย่างแพร่หลาย แต่ด้านนกเงือกนั้นแอบมีความลึกลับไม่สลักซับซ้อนนักที่น่าเสียดายที่ไม่ถูกนำมาเล่าให้ประชาชนรู้สึกใกล้ชิดและรักนกเงือกยิ่งกว่าเดิม

รู้หรือไม่ว่าการที่นกเงือกตัดสินใจเข้าทำรังนั้นพวกมันสังเกตปริมาณอาหารพวกลูกไม้ที่มันหากผลไม้ที่เป็นอาหารออกผลน้อยพวกมันก็จะไม่ทำรังผลิตลูก หากไม่มีต้นไม้ที่มีโพรงรังเหมาะสมพวกมันก็จะไม่สามารถทำรังได้เช่นกัน อีกทั้งหากพื้นที่นั้นไม่ปลอดภัยโอกาสในการเข้าทำรังก็น้อยลงเช่นกัน

ในทางกลับกันในรอบสี่ปีจะมีผลไม้ผลิตพืชผลได้เต็มประสิทธิภาพปีนั้นเองเป็นเวลาที่คนรักนกเงือกต้องช่วยกันปรับปรุงซ่อมแซมโพรงรังให้ได้มากที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสให้นกเงือกจำนวนมากได้เข้าทำรังและออกลูกหลานต่อไป ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสทองในการเพิ่มประชากรนกเงือกนั่นเอง แน่นอนว่าหากบ้านของพวกมันหายไปพวกมันก็ไม่มีต้นไม้ให้ทำรังและจำนวนก็ต้องลดลงเรื่อยๆ และอาจจะสูญพันธุ์ในที่สุด

เดินมาเรื่อยๆ พบเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากับลูกๆ และเด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรม กำลังขมักเขม่นกับการประกอบร่างเสือโคร่งจากกระดาษ หลังขอถ่ายรูปคู่กับโมเดลกระดาษเสือโคร่งที่เสร็จแล้ว น้องก็นั่งก้มหน้าตัดกระดาษต่อด้วยใจจดจ่อ พลางเงยหน้าถามพ่อไปว่าตัดแบบนี้ใช่ไหม แบบนี้แล้วทำอย่างไรต่อ การสนทนาเรียบง่ายของพ่อกับลูกสร้างความอบอุ่นขึ้นให้กับบรรยากาศในหัวใจพอสมควร

ภาพที่ตั้งอยู่กลางลานชื่อ “ภาพฝันคุณสืบ” ร่างเป็นกรอบภาพเป็นโครงร่างคุณสืบ นาคะเสถียร ครึ่งตัวกำลังสวมแว่นตา ด้านในกรอบเป็นภาพภูเขา ป่าไม้ แม่น้ำลำธาร และสัตว์ป่ามากมาย โดยเด็กๆ หลายโรงเรียนร่วมมือกันวาดและลงสีเพื่อเติมเต็มภาพฝันนี้

น้องหวานเย็น วัย 12 ปี จากโรงเรียนวัดสะนำ เล่าขณะที่มือหนึ่งถือข้าวโพดปิ้งและอีกมือลงสีช้างว่าพวกเธอช่วยกันวาดภาพฝันคุณสืบร่วมกันกับเพื่อนๆ

 


เรื่อง/ภาพ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร