มรดกโลก คืออะไร พื้นที่แบบไหนถึงจะถูกรับรองให้มีสถานะเป็นมรดกโลก แล้วมีความสำคัญต่อประเทศไทยและคนไทยอย่างไร มีมรดกโลกแล้วไม่ดูแลจะถูกถอดถอนหรือไม่ หลากหลายคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวมรดกโลก มีคำตอบในเวที รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร เสวนา สถานะมรดกโลกของประเทศไทยในปัจจุบัน โดย คุณสุนีย์ ศักดิ์เสือ ผู้อำนวยการส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติ ดำเนินรายการ โดย คุณเบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่ามรดกโลกบ่อยๆ แต่อาจไม่รู้ว่าอะไรคือมรดกโลก สรุปแล้วมรดกโลกคืออะไร ?
มรดกโลกเริ่มมาจากที่องค์การยูเนสโก มองเห็นถึงความสำคัญว่าในประเทศต่างๆ มีสถานที่ทางด้านวัฒนธรรมหรือสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความสำคัญ มีความสวยงาม มีความเป็นประวัติศาสตร์ หรือเมื่อเทียบคุณค่าแล้วมีความสำคัญในระดับโลก แล้วเขาก็ห่วงใยถึงการที่โลกมันเจริญและพัฒนาไปเรื่อยๆ แล้วสถานที่ต่างๆ เหล่านี้มันจะหมดไป ก็เลยได้มีการทำอนุสัญญาขึ้น ประมาณปี 2515 เป็นอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เพื่อที่จะได้เป็นการรวบรวมความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ที่จะดูแลสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ ภายใต้ตัวอนุสัญญา ซึ่งประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมในอนุสัญญานี้เมื่อปี 2530
พอหลังจากที่เราเข้าเป็นภาคีสมาชิกภายใต้อนุสัญญาแล้ว ก็ได้มีการผลักดันพื้นที่สำคัญของประเทศไทยขึ้นเป็นมรดกโลก มี 2 ส่วน ก็คือ มรดกโลกทางวัฒนธรรม เริ่มจากที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แล้วตามมาด้วยบ้านเชียง และที่เป็นที่จดจำของพวกเรา ก็คือ มรดกโลกทางธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ที่เป็นแห่งแรกของทางธรรมชาติ
เมื่อเราพูดคำว่ามรดกโลก แปลว่าต่างชาติมองเข้ามา จึงอยากให้เล่าถึงมุมมองว่า ต่างชาติเขาถึงเห็นอะไรของเรา ?
จริงๆ แล้วการจะขึ้นเป็นมรดกโลก มันมีหลักเกณฑ์ที่ได้ตกลงร่วมกันภายใต้ภาคีและสมาชิกในประเทศต่างๆ 190 กว่าประเทศ ได้ตกลงกันในเรื่องของหลักเกณฑ์ ซึ่งหลักเกณฑ์ทั้งหมดมันมีอยู่ 10 หลักเกณฑ์ หลักเกณฑ์ที่ 1-6 เป็นหลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม เช่น เป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเลิศที่สร้างด้วยความชาญฉลาดของมนุษย์ หรือเป็นแหล่งที่แสดงถึงประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา รวมกันเป็น 6 ข้อ ในขณะที่ทางธรรมชาติมีอยู่ 4 ข้อ เริ่มตั้งแต่ข้อที่ 7 ที่บอกว่าต้องเป็นแหล่งที่มีความงดงามตามธรรมชาติอย่างหาที่อื่นเปรียบไม่ได้ ทำให้เกิดสุนทรียภาพ มีความงามทางภูมิทัศน์ต่างๆ ข้อที่ 8 คือเป็นแหล่งที่เห็นวิวัฒนาการ หรือเห็นพัฒนาการทางด้านธรณีวิทยา ถ้ายกตัวอย่างที่เห็นชัดๆ เช่น แกรนด์แคนยอน หรืออาจจะมีฟอสซิล หลักฐานซากดึกดำบรรพ์ที่หาที่อื่นไม่ได้แล้ว เฉพาะเจาะจงไปในด้านธรณีวิทยา ส่วนหลักเกณฑ์ข้อที่ 9 เป็นเรื่องทางนิเวศวิทยา คือเป็นแหล่งที่มีวิวัฒนาการทางด้านระบบนิเวศ มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าชนิดต่างๆ มีความหลากหลาย และมีวิวัฒนาการ และข้อสุดท้าย เป็นแหล่งที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์สำคัญ ทั้งพืชและสัตว์ และเป็นชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม อย่างเช่น เสือโคร่ง ที่มีความสำคัญในระดับโลก มีความสำคัญในด้านการอนุรักษ์ มีความสำคัญเชิงวิทยาศาสตร์ แล้วก็เป็นข้อตกลงร่วมกันว่า การที่คุณจะได้เป็นมรดกโลก คุณจะต้องผ่านหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง
ขอเพิ่มเติมอีกนิดว่า มรดกโลกนอกจากมีทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติแล้วก็ยังมีแบบผสม ก็คือเป็นทั้งทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติด้วย ซึ่งอย่างน้อยในทางวัฒนธรรมต้องมี 1 เกณฑ์จากข้อ 1-6 ทางธรรมชาติต้องมี 1 เกณฑ์จากข้อ 6-10 แต่มรดกโลกแบบผสมก็ต้องมีอย่างน้อย 1 เกณฑ์ทั้งจากทางวัฒนธรรมและจากทางธรรมชาติ
ในประเทศไทยเราจะเห็นว่ามีป่าผืนใหญ่เยอะ นอกจากทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งแล้วมีที่อื่นอีกไหมที่จะเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทย ?
เราเริ่มต้นงานมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง โดยได้รับการประกาศเมื่อปี 2534 ภายหลังจากการเสียชีวิตของพี่สืบ (นาคะเสถียร) ไป 1 ปี เพราะว่าพี่สืบได้เริ่มต้นผลักดันในการทำตัวเอกสารนำเสนอขึ้นมา
ต่อมา เราก็มองว่า ในส่วนของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เลยได้ทำเอกสารนำเสนอ เริ่มมีการผลักดันตั้งแต่ปี 2540 แต่ทางคณะกรรมการมรดกโลกและองค์กรที่ปรึกษาที่สนับสนุนงานทางด้านวิชาการ บอกว่าเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์มันยังไม่พอ พอเมื่อเวลาผ่านมาเขาจะมองเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ในเชิงระบบนิเวศที่จะเป็นภาพใหญ่ขึ้น มองถึงความต่อเนื่องของป่าผืนใหญ่ มองถึงความสามารถที่สัตว์จะเคลื่อนย้ายถิ่นไปได้ในระบบนิเวศ ก็เลยได้มีการเพิ่มเติมเป็นกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งในพื้นที่ตรงนั้นมีขนาดกว่า 6,000 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใกล้เคียงกับทางทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ประกอบด้วยพื้นที่คุ้มครอง 5 พื้นที่ เป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติตาพระยา อุทยานแห่งชาติปางสีดา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จึงได้ทำการเพิ่มเติมพื้นที่ ทำเอกสารนำเสนอ และได้รับการรับรองปี 2548 เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแหล่งที่ 2 ของประเทศไทย
ถ้าเป็นมรดกโลกแล้ว บทบาทของประชาชนที่เข้าไปเที่ยวในพื้นที่มรดกโลก เราควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
การเป็นมรดกโลกก็คล้ายคลึงกับการเป็นพื้นที่คุ้มครองภายใต้กฎหมายทั่วไปของเราเอง เพราะฉะนั้นการปฏิบัติตัวในส่วนของนักท่องเที่ยวก็เหมือนกับการเข้าไปเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ คือต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เสียงดัง ไม่ทำอะไรที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ป่า เป็นเรื่องทั่วไปที่เราต้องปฏิบัติอยู่แล้ว เป็นสามัญสำนึกของนักท่องเที่ยว ที่จะไปช่วยกันดูแลทรัพยากร
หลายคนสงสัยว่า แล้วทำไมจะต้องมาเป็นมรดกโลก ในเมื่อเป็นพื้นที่คุ้มครองหรือว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์อยู่แล้ว แสดงว่าการขึ้นเป็นมรดกโลกต้องมีข้อดีมากกว่าปกติใช่ไหมครับ ?
สิ่งที่เราได้รับจากการประกาศเป็นมรดกโลก อันดับแรกน่าจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเกิดความภาคภูมิใจ ความรู้สึกของเราในฐานะที่เราเป็นเจ้าของพื้นที่ เจ้าของบ้าน พื้นที่เราได้รับการยกย่องจากคนทั่วโลก เพราะการที่จะได้รับการรับรอง มันไม่ใช่แค่คนสองคนเดินมารับรอง แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนมาจากทั่วโลกในการที่จะพิจารณาประเมินว่าพื้นที่นี้มันมีความสำคัญจริงๆ สิ่งที่ตามต่อมา เมื่อเป็นมรดกโลกก็จะมีชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งจะนำมาซึ่งเรื่องการท่องเที่ยว เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนในพื้นที่ ผู้ประกอบการต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่
เรื่องที่สาม เป็นเรื่องของการป้องกันดูแลทรัพยากร ข้อนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพื้นที่ที่เป็นมรดกโลกเมื่อมาอยู่ในระดับของประเทศ ผู้บริหารในระดับนโยบายจะต้องให้ความสำคัญมากกว่าพื้นที่ที่เป็นอุทยานแห่งชาติทั่วไป ในส่วนนี้ก็จะเกิดการจัดสรรงบประมาณ มีโครงการอะไรต่างๆ เข้าไปดูแลพื้นที่ ดูแลทรัพยากร ดูแลบุคลากรมากขึ้น อย่างเช่น การจัดตั้งมูลนิธิเพื่อผู้พิทักษ์ป่า ตรงนี้เป็นแรงกระเพื่อมจากมรดกโลก เพราะว่าเมื่อปี 2556-2557 มันมีปัญหาเรื่องไม้พะยูง ซึ่งเป็นปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรงในกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ แล้วมีการปะทะกับผู้ลักลอบตัดไม้ ทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต ก็เลยเกิดมติคณะกรรมการทางมรดกโลกลงมาบอกว่า ในฐานะที่ประเทศไทยดูแลพื้นที่ตรงนี้ คุณต้องจัดสรรสวัสดิการ ทรัพยากร งบประมาณในการดูแลเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะไม่ได้เกิดเหตุต่างๆ เหล่านี้ ก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นมา เป็นแรงผลักที่ทำให้เกิดการดูแลรักษาทรัพยากรให้มันดีขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น
จากที่ได้ฟัง มันดูดีมาก แต่ต้องบอกก่อนว่า ได้ลาภเสื่อมลาภ ได้ยศเสื่อมยศ มีโอกาสไหมครับที่ทางยูเนสโกให้พื้นที่ตรงนี้เป็นมรดกโลกแล้ว จะถูกยึดความเป็นมรดกโลกกลับไปได้หรือไม่ ?
เรื่องนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันอยู่เยอะ บ่อยครั้งที่ช่วงประชุมสามัญของคณะกรรมการมรดกโลก สื่อจะตีข่าวว่าป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่จะถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลก ซึ่งจริงๆ แล้ว การที่คุณได้ขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกแล้วแสดงว่าตัวคุณค่าตามเกณฑ์ที่บอกไปก่อนหน้ามันผ่านแล้ว ถ้าวันใดวันหนึ่งคุณค่าตามเกณฑ์ที่ว่านี้มันหายไปจนไม่สามารถบอกได้ว่ามันเหมือนเดิมแล้ว นั่นคือจะถึงจุดวิกฤตที่จะถูกถอดถอน
ซึ่งตั้งแต่มีมรดกโลกมาปัจจุบันมีแหล่งมรดกโลกอยู่ 1,092 แห่งทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นทางวัฒนธรรม 800 กว่าแห่ง และทางธรรมชาติ 209 แห่ง ปัจจุบันนี้มีแหล่งมรดกโลกที่ถูกถอดถอนแล้ว 2 แห่ง แห่งแรกคือที่โอมาน เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Arabian Oryx Wildlife Sanctuary เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ดูแลออริกซ์ สัตว์กีบที่คล้ายเลียงผาของบ้านเรา เขามันจะยาวๆ พอหลังจากนั้นสัก 10 ปี ปรากฏว่าเขาไปลดขนาดพื้นที่ลงประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่ในเรื่องอื่น รัฐบาลตัดสินใจว่าฉันต้องการพื้นที่นี้เพื่อการพัฒนาไม่ใช่เพื่อการอนุรักษ์แล้ว ปรากฏว่าออริกซ์จากเดิมมีอยู่ 400 กว่าตัว เหลือประมาณ 60 กว่าตัว และคู่ที่สามารถผสมพันธุ์กันได้เหลือประมาณ 4 คู่ ทางคณะกรรมการก็พิจารณาว่าคุณค่ามันไม่เหลือแล้วเป็นโอยูวี (Outstanding Universal Value) มันหมดแล้ว ไม่ได้เป็นตามที่เคยได้รับการรับรองตอนที่ประกาศ ในที่สุดก็ถูกถอนออก อีกแห่งหนึ่งคือที่เมืองเดรสเดิน ประเทศเยอรมัน เขาประกาศเมืองทั้งเมืองด้วยสถาปัตยกรรมเหมาะสมเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ปรากฏว่าวันดีคืนดีทางเมืองก็บอกว่า ฉันเลือกที่จะพัฒนา สรุปว่าในปัจจุบันจึงมีเพียง 2 แห่งที่ถูกถอดถอน
แต่ว่าในมรดกโลกทั้งหมด 1,000 กว่าแห่งก็ใช่ว่าแต่ละที่จะไม่มีปัญหา หลายๆ ที่ก็มีปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการ แต่คณะกรรมการเขาไม่ได้ต้องการจะถอดถอน คณะกรรมการต้องการให้แต่ละประเทศแก้ไขปัญหา ถ้าที่ไหนมีปัญหามากๆ ก็จะถูกขึ้น “ภาวะอันตราย” แล้วคณะกรรมการก็จะบอกว่าคุณต้องไปแก้ปัญหามา ในฐานะประเทศที่เป็นเจ้าของมรดกโลกก็จะต้องไปแก้ปัญหา มีแผนการจัดการว่าแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง คณะกรรมการมรดกโลกก็จะมาประเมินผลว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ ถ้าเกิดว่ามันเป็นไปตามแผน การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพ หรือว่าปัญหามันถูกลดลงไปแล้วจริงๆ ก็จะได้รับการปรับบัญชีขึ้นมาอยู่ในภาวะปกติธรรมดา ยกตัวอย่างอุทยานแห่งชาติเอเวอร์เกลดส์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เคยถูกขึ้นบัญชีอันตราย แต่ก็ได้แก้ไขปัญหาจนหลุดจากบัญชีอันตราย จนมาล่าสุดก็ขึ้นบัญชีอันตรายอีกครั้ง เนื่องจากเกิดปัญหา จนมาถึงตอนนี้ก็ยังแก้ไขไม่เรียบร้อย ก็ยังอยู่ในภาวะอันตราย คณะกรรมการก็จะดูจนกว่าในที่สุดแล้วคุณค่าโอยูวีไม่เหลือเท่าเดิมตามที่เคยรับรองแล้ว
อย่างในประเทศไทยมีมรดกโลกไหนที่จะมีความเสี่ยงที่จะถูกถอดออกไหมครับ ?
ในฝั่งกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เราเคยเผชิญเหตุอย่างที่เคยเป็นข่าวออกมา ซึ่งมรดกโลกทางธรรมชาติของไทยทั้ง 2 แห่ง ทางทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งกับทางดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จะมีความแตกต่างในเรื่องของการขึ้นทะเบียน เนื่องจากทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ถือเป็นมรดกโลกแห่งแรกๆ ที่ตอนนั้นจำนวนมรดกโลกยังมีไม่เยอะ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ และอะไรหลายๆ อย่างก็ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยไม่ได้มีเงื่อนไขใดๆ ขณะที่พอเวลาผ่านมา 10 กว่าปี ทางฝั่งดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เราขึ้นทะเบียนโดยที่เราได้รับเงื่อนไขและการบ้านที่ต้องมาทำ มีข้อแนะนำจากคณะกรรมการที่บอกมาว่า มันมีปัญหา หนึ่ง สอง สาม สี่ เขาเห็นว่าเรามีศักยภาพทางทรัพยากรที่สำคัญแต่ก็ต้องแก้ปัญหาไปด้วย หลังจากนั้นเขาก็จะติดตามการทำงาน พอปี 2557 มันมีปัญหาเรื่องการลักลอบการตัดไม้พะยูงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน คณะกรรมการเลยมีมติออกมาว่าจะขึ้นทะเบียนอันตรายถ้าคุณไม่แก้ไข ก็มีประเด็นที่กรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องเร่งทำแผนแก้ไขปัญหาต่างๆ เรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้วยังเป็นขั้นตอนของการเตือน ยังไม่ถูกขึ้นบัญชีอันตราย เราก็รีบแก้ไข ในตอนนี้ก็อยู่ในสถานะปกติ แต่ทางคณะกรรมการมรดกโลกก็ยังติดตามเฝ้าดูอยู่สม่ำเสมอ
ทางคณะกรรมการมรดกโลกได้ชี้แจงไว้ว่า อย่าไปคิดว่าการขึ้นมรดกโลกในภาวะอันตรายมันเป็นการเสียหน้า หรือเสียภาพพจน์ ขอให้มองว่ามันเป็นทางที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหา เป็นทางที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ แต่มุมมองของหลายๆ ประเทศ เรามองว่าเราทำงานกันเข้มข้น เจ้าหน้าที่ของเราทำงานกันเต็มที่ ถ้าเรามาถูกขึ้นบัญชีในภาวะอันตรายมันเป็นการบั่นทอนกำลังใจของเจ้าหน้าที่ เป็นมุมมองที่มองต่างกัน
ตอนนี้เรามีมรดกโลกทางธรรมชาติ 2 แห่ง ในอนาคตจะมีพื้นที่ไหนอีกไหมครับ ที่มีโอกาสที่ยกระดับขึ้นเป็นมรดกโลกได้ ?
การทำงานตอนนี้มีอยู่ 3 ระดับ ระดับแรก เป็นเรื่องของกลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งได้มีการทำเอกสารนำเสนอไปแล้ว มีทางผู้เชี่ยวชาญมาประเมินพื้นที่แล้ว ทางผู้เชี่ยวชาญก็ได้ทำรายงานนำเสนอคณะกรรมการมรดกโลกว่าไม่มีความสงสัยในตัวทรัพยากร มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งกลุ่มป่าแก่งกระจานเรานำเสนอไปในเกณฑ์ข้อที่ 10 ถือเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยสำคัญของพืชป่าสัตว์ป่าที่หายาก ประเด็นนี้คณะกรรมการมรดกโลกบอกว่าไม่มีปัญหา แต่ยังติดเรื่องความเข้าใจของชุมชนที่มีอยู่ในพื้นที่ ที่ทางคณะกรรมการขอให้กรมอุทยานฯ ทำความเข้าใจกับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ว่าเราจะอยู่กันได้อย่างไร และชุมชนก็ต้องยอมรับที่จะเสนอพื้นที่แก่งกระจานเป็นมรดกโลกด้วย ในขณะเดียวกันคณะกรรมการก็เสนอว่า เราน่าจะมีการพูดคุยกับทางประเทศพม่าว่าจะสามารถเสนอให้เป็นการประกาศพื้นที่ร่วมกันได้ไหม เพราะในปัจจุบันจะมีการมองในภาพใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เช่นการเชื่อมต่อทางความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสรุปก็เข้ามาอยู่ในกระบวนการพิจารณาแล้ว
ระดับต่อมา คือพื้นที่ที่กำลังจะผลักดันต่อไป เป็นส่วนของแหล่งอนุรักษ์ทางทะเลตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งได้ทำเอกสารศึกษาความอุดมสมบูรณ์และความเหมาะสมตามเกณฑ์พิจารณาข้อต่างๆ และคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางประเทศไทยได้มีข้อเสนอมาว่าให้มีการศึกษาในประเด็นการรับรู้ของประชาชน การยอมรับ และวิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน
นอกจากนี้เราก็ยังมองไปยังกลุ่มป่าอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่นทางเทือกเขาเพชรบูรณ์ ตรงนี้เคยมีการศึกษาว่าน่าจะมีศักยภาพที่นำเสนอได้ ไม่ว่าจะเป็นทุ่งแสลงหลวง น้ำหนาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว และอีกส่วนหนึ่ง คือ ในกลุ่มป่าตะวันตก ที่มีพื้นที่อยู่ 12 ล้านไร่ มีพื้นที่คุ้มครอง 17 แห่ง มีทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก เราได้มองเพิ่มเติมไปทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลานว่าจะขยายพื้นที่มรดกโลกจากที่ประกาศไว้เดิมออกไปได้ไหม ในทางกลุ่มป่าแก่งกระจาน คณะกรรมการมรดกโลกเองก็เคยมีมติว่า จะสามารถเชื่อมต่อจากกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นไปที่กลุ่มป่าตะวันตกด้วยได้ไหม เราเองก็มีแผนอยู่แล้ว และเราก็มองเห็นว่ามีหลายพื้นที่ที่มีศักยภาพและทางกรมอุทยานฯ ก็อยากเพิ่มเติม
จากที่ฟังมา เราจะได้ยินคำว่าต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ชุมชน อยู่ตลอด เช่นแก่งกระจาน ซึ่งไม่ต่างจากป่าตะวันตกที่มีชาวบ้าน มีการทำเกษตรกรรมต่างๆ ถ้าดูในภาพรวมก็เห็นส่วนเว้าแหว่งในพื้นที่ แล้วเราจะต้องตอบคำถามชาวบ้านอย่างไร เรามีการประกาศพื้นที่มรดกโลกขึ้นมา ชาวบ้านเขาต้องทำอย่างไร เพราะตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราอาจช่วยกันได้ ?
ตอนนี้ทางกรมอุทยานฯ ได้จัดประชุมทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่อยู่เรื่อยๆ เกิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ชุมชนได้รับรู้รับทราบว่าการเป็นมรดกโลกมีอะไรอย่างไรบ้าง จะมีผลกระทบหรือเปล่า นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะอยู่ในพื้นที่ที่ต่อไปอาจเป็นมรดกโลกก็ตาม แต่ก็อย่าลืมว่าพื้นที่ตอนนี้ก็อยู่ภายใต้พื้นที่คุ้มครอง ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายอุทยานแห่งชาติอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังต้องมีการทำกติการ่วมกันในการที่เราจะอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าด้วย
ตอนนี้ทางฝั่งแก่งกระจานก็มีการพูดคุยว่าจะมีแนวทางอะไรที่จะสนับสนุนอาชีพที่มันไม่ทำลายทรัพยากร ก็มีหลายฝ่ายเข้าไปช่วย เช่น เป็นไปได้ไหมที่จะเป็นการท่องเที่ยวในหมู่บ้านเชิงวัฒนธรรม ก็ต้องมีการปรับตัว เพราะอันดับแรกก็ต้องยอมรับก่อนว่าอยู่ในพื้นที่คุ้มครอง แต่เราจะอยู่อย่างไรถึงจะอยู่กันอย่างมีความสุข ก็ต้องมาทำกติกาที่รับกันได้ทั้งสองฝั่ง ทั้งฝั่งของเจ้าหน้าที่และฝั่งของชาวบ้าน
แนวโน้มน่าจะเป็นไปในทางบวกใช่ไหมครับ ?
น่าจะดี เพราะมีชาวบ้านส่วนที่ให้ความร่วมมือที่ดี ก็มีบางส่วนที่เขามีการทำการเกษตร แต่ก็อยู่ในขอบเขตที่ได้มีการตกลงกัน และก็มีบางส่วนที่เขาสนใจที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเข้ามาดูในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง และตรงนั้นก็อาจจะมีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพราะอาจมีแหล่งที่จะพัฒนาด้านการท่องเที่ยว เช่น การล่องแก่ง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการศึกษาอยู่
อย่างในส่วนของพื้นที่อันดามัน ในปีหน้าเรามีแผนไปประชุมในรายพื้นที่เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของชุมชนว่ามีข้อห่วงกังวลอะไรบ้าง และเราเองในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ในส่วนมรดกโลกก็ต้องไปสร้างความเข้าใจว่าเมื่อเป็นมรดกโลกแล้วจะเป็นอย่างไร จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่อย่างไร ให้เขาได้รับรู้รับทราบ
เราได้ทราบถึงมรดกโลกในประเทศไทยไปแล้ว อยากให้ช่วยยกตัวอย่างมรดกโลกที่น่าสนใจของโลกหน่อย มีที่ไหนที่เป็นโมเดลที่ดีเลยครับ ?
จริงๆ แล้ว ถ้ามีโอกาสก็อยากให้มองที่มรดกโลกของไทยเราเองก่อน ถ้ามีโอกาสก็อยากให้ไปเที่ยวไปเยี่ยมชม ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งดงพญาเย็น-เขาใหญ่ หรือทางฝั่งทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง อยากบอกว่ามรดกโลกเราไม่น้อยหน้าใคร มีแขกหลายท่านที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมแล้วประทับใจในตัวทรัพยากร ถึงแม้ทางฝั่งแก่งกระจานเองที่ยังไม่ได้เป็นมรดกโลก ก็ได้รับคำชมว่าไม่มีที่ไหนหรอกที่มาแล้วจะเจอสัตว์ป่าได้ขนาดนี้ ก็ได้รับคำชมมา
ในส่วนของประเทศเพื่อนบ้าน ถ้ามองในเชิงวัฒนธรรมก็คงเป็นนครวัด เพราะอยู่ไม่ไกลจากเราด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแล้วยังมีปัจจัยที่เขาจะต้องดูแลในเรื่องของภูมิทัศน์ และแหล่งน้ำด้วย กลายเป็นว่ามันแยกกันไม่ขาดระหว่างมรดกโลกทางวัฒนธรรมกับมรดกโลกทางธรรมชาติ ที่นครวัดจะมีบึงเป็นแหล่งน้ำรอบๆ พื้นที่ ซึ่งต้องดูแลพื้นที่ภูเขารอบๆ นครวัด เพื่อให้น้ำไม่แห้งแล้ง เพราะเมื่อน้ำหายไป มันจะส่งผลต่อตัวปราสาท
หรืออีกแห่งเจจู ที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีระบบสื่อความหมาย การให้ความรู้ทำได้ดีมาก และนอกจากจะเป็นมรดกโลกแล้ว ยังเป็นเขตสงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve) และเป็นอุทยานธรณีโลก (Geopark)
แล้วในประเทศไทยพอจะมีที่ไหนไหมครับที่จะได้สวมสัก 2 มงกุฎแบบเจจูบ้าง หรือที่เป็นมรดกร่วมทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติบ้างไหมครับ ?
ถ้า 2 มงกุฎจะเป็นที่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เพราะที่สะแกราช (จังหวัดนครราชสีมา) เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นพื้นที่ที่เป็นเขตสงวนชีวมณฑลอยู่แล้ว และตอนนี้ทางจังหวัดนครราชสีมาก็อยู่ระหว่างการผลักดันที่จะให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดอุทยานธรณีโลกเหมือนที่สตูลที่เพิ่งได้รับการประกาศไป ก็จะเห็นว่าทางดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีศักยภาพที่จะสวม 3 มงกุฎ