รู้จัก เสือโคร่ง และงานอนุรักษ์ในประเทศไทย

รู้จัก เสือโคร่ง และงานอนุรักษ์ในประเทศไทย

รู้จัก เสือโคร่ง 

เสือโคร่งจัดอยู่ในจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมและเป็นสัตว์กินเนื้อ โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera tigris อยู่ในวงศ์ Felidae เป็นสัตว์ที่มีขนาดที่สุดในวงศ์นี้ และเป็นเสือชนิดที่ใหญ่ที่สุดด้วย

สีขนบนลำตัวจะมีสีตั้งแต่โทนแดงส้มไปยังเหลืองปนน้ำตาล ส่วนล่างใต้ท้องจะเป็นสีขาว ลำตัวมีลายพาดผ่านเป็นสีดำและเทาเข้ม (ลายพาดกลอน) อาจดูเหมือนหมือนกันทั้งหมด แต่ในความจริงแล้ว ลวดลายของเสือโคร่งแต่ละตัวจะมีความแตกต่างกัน แม้กระทั่งลายทั้งสองด้านของลำตัวก็ยังแตกต่างกัน

ขนาดของลำตัว หากวัดจากความยาวลำตัวรวมความยาวของหางแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 140-300 เซนติเมตร เสือโคร่งหนึ่งตัวอาจมีน้ำหนักถึง 300 กิโลกรัม โดยส่วนใหญ่แล้วเสือโคร่งเพศผู้มักมีน้ำหนักและลำตัวที่ใหญ่กว่าเสือโคร่งเพศเมีย โดยเฉพาะเสือโคร่งในสายพันธุ์ไซบีเรียที่เป็นสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด เพศผู้อาจมีความยาวลำตัวเกิน 10 ฟุต และมีน้ำหนักกว่า 300 กิโลกรัม ในขณะที่เพศผู้ของสายพันธุ์ที่เล็กที่สุดอย่างเสือโคร่งสุมาตรานั้น จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 100-140 กิโลกรัมเท่านั้น

เสือโคร่งมีอุปนิสัยชอบออกล่าในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน โดยใช้วิธีซุ่มรอเช่นเดียวกับเสือชนิดอื่นๆ และแมวทั่วไป จะอาศัยต้นไม้ใบหญ้าพรางตัวแล้วค่อยๆ ย่องเข้าไปใกล้เหยื่อทางด้านหลังหรือด้านข้าง เมื่อได้จังหวะและระยะที่พอเหมาะก็จะกระโจนเข้าใส่อย่างรวดเร็ว จุดตายสำคัญที่เสือโคร่งเลือกกัดคือคอ มันจะกัดเข้าที่คอหอยและค้างไว้ให้เหยื่อหายใจไม่ออกจนตาย การกัดที่จุดนี้มีข้อได้เปรียบกว่าการกัดที่จุดอื่นๆ เพราะเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยจากเขาและจากการเตะถีบของเหยื่อ และยังทำให้ง่ายในการบังคับไม่ให้เหยื่อลุกขึ้นยืนอีกครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่มักใช้กับเหยื่อขนาดใหญ่ เช่น กระทิงหรือกวาง แต่หากเป็นเหยื่อตัวเล็ก เสือมักเลือกที่จะกัดตรงด้านหลังคอที่ตำแหน่งใกล้กะโหลก แรงกัดจะทำให้กระดูกคอแตกและกดเส้นประสาทจนเหยื่อตาย

เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่รักสันโดษ แต่ละตัวจะมีอาณาเขตอาศัยเป็นของตัวเอง ซึ่งเสือตัวเมียครอบครองอาณาเขตราว 10-20 ตารางกิโลเมตร และ 30-70 ตารางกิโลเมตรสำหรับเสือตัวผู้ การประกาศอาณาเขตจะทำโดยการทิ้งรอยข่วนตามต้นไม้และการปล่อยปัสสาวะไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่นพุ่มไม้ โคนไม้ หรือก้อนหิน กลิ่นของปัสสาวะจะสามารถระบุตัวเสือโคร่งได้ เมื่อเสือโคร่งตัวอื่นมาได้กลิ่นนี้ จะรู้ได้ทันทีว่าเจ้าของพื้นที่เป็นเพศใด และพร้อมที่จะสืบพันธุ์แล้วหรือไม่ กลิ่นของปัสสาวะนี้คงอยู่ได้ไม่นาน ดังนั้นเจ้าของพื้นที่จะต้องหมั่นแวะเวียนตรวจตราพื้นที่และเติมกลิ่นของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าหากกลิ่นหายไป เสือโคร่งตัวอื่นอาจถือว่าเป็นพื้นที่ไม่มีเจ้าของและยึดพื้นที่ไปได้ ถึงแม้ว่าเสือโคร่งจะเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่ตามลำพัง แต่ในบางครั้งเราอาจพบเสือโคร่งอยู่รวมกัน ที่เป็นการร่วมกันล่าเหยื่อที่ใหญ่กว่าหรือเป็นแม่เสือที่เลี้ยงดูลูก

 

ภาพ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

 

วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก

เสือโคร่งทั่วโลกเริ่มมีแนวโน้มของจำนวนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุจากการสูญเสียพื้นที่แหล่งอาศัย อาหารที่ลดน้อยลง หรือแม้กระทั่งการถูกล่า ด้วยเหตุนี้ ในปี 2553 จากการประชุมสุดยอดผู้นำด้านเสือโคร่ง ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งประกอบ ประกอบด้วยประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง 13 ประเทศในทวีปเอเชีย ได้ร่วมกันลงนามในปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยมีเป้าหมายคืออนุรักษ์ฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งที่อยู่ในขั้นวิกฤตเสี่ยงสูญพันธุ์

จากการประชุมและร่วมกันลงนามฯในครั้งนั้น ทำให้ในวันที่ 29 กรกฏาคมของทุกๆ ปี ถูกจัดให้เป็น “วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก” หรือ “วันอนุรักษ์เสือโลก” เพื่อเป็นการให้สังคมตระหนักถึงการอนุรักษ์เสือโคร่ง หยุดล่า หยุดค้า รวมถึงหยุดทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง

จากข้อมูลเรื่องตัวเลขของเสือโคร่งในธรรมชาติทั่วโลก องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF-World Wildlife Fund) ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันคาดว่าทั่วโลกมีจำนวนเสือโคร่งไม่เกิน 4,000 ตัว ที่สามารถพบได้จาก 13 ประเทศในทวีปเอเชีย ประกอบไปด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย(สุมาตรา) ลาว มาเลเซีย พม่า เนปาล รัสเซีย ไทยและเวียดนาม

ในประเทศไทยนั้น คาดว่ามีเสือโคร่งอยู่ประมาณ 250 ตัวจากผืนป่าทั้งหมด และผืนป่าที่พบเสือโคร่งนั้นมีเพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มป่าตะวันตก ที่ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ดีสำหรับเสือโคร่งในประเทศไทยมาก เพราะด้วยขนาดที่ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด มีขนาดพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 12 ล้านไร่ หรือ 18,727 ตารางกิโลเมตร บวกกับผืนป่าตะวันตกมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในระดับพันธุกรรม มีสัตว์หลากหลายชนิดที่มากพอจะเป็นอาหารให้แก่เสือโคร่ง และยังมีกลุ่มป่าดงพญาเย็นทางภาคตะวันออก-ภาคอีสาน เป็นอีกที่หนึ่งที่ยังมีเสือโคร่งปรากฏอยู่ กลุ่มป่าอื่น ๆ ก็อาจจะมีเสือโคร่ง แต่น่าจะน้อย เช่น กลุ่มป่าแก่งกระจาน

 

ภาพ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

 

วิกฤตผู้ชี้วัดระบบนิเวศน์ป่า

เรามีคำกล่าวที่ว่า “ผืนป่าที่มีเสือโคร่งนั้น ถือได้ว่าเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์” จากบทความสาส์นสืบ เรื่องสุขภาพป่า อธิบายถึงคำกล่าวนี้ไว้ว่า เพราะเสือโคร่งแต่ละตัวมีอาณาเขตพื้นที่หากินที่ไม่ซ้อนทับกับตัวอื่น ดังนั้นแล้วผืนป่าที่เสือโคร่งจะสามารถอาศัยอยู่ได้ต้องมีอาณาบริเวณที่กว้างมาก ๆ เพื่อให้เสือแต่ละตัวอาศัยอยู่ และต้องมีปริมาณอาหารที่เหมาะสม เช่น จำนวนสัตว์กีบที่เพียงพอ และสัตว์กีบยังมีบทบาทที่ถ่าทอดพลังงานและควบคุมสายใยอาหารให้แก่ป่า ซึ่งเสือโคร่งก็เป็นหนึ่งในผู้บริโภคอันดับสูงสุดและควมคุมจำนวนสัตว์กีบ ทำให้เสือโคร่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการชี้วัดสุขภาพกลุ่มป่าได้

แต่จากสถานการณ์ของเสือโคร่งในหลายๆ ปีที่ผ่านมานั้น บอกได้เลยว่าเข้าขั้นวิกฤตเป็นอย่างมาก เสือโคร่งกลายเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในหลายๆ ประเทศ ในประเทศไทยเองเสือโคร่งมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์โดย IUCN Red List of Threatened Species ที่ถูกคุกคามจากการล่าและการสูญเสียที่อยู่อาศัย

ปัจจุบันประเทศไทยเรามีเสือโคร่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าราว 250 ตัว จากผืนป่าที่มีอยู่ทั้งหมดของประเทศไทย

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ให้เหตุผลการลดลงของจำนวนประชากรเสือโคร่ง ว่า “ปัจจัยที่ทำให้จำนวนเสือโคร่งในอดีตมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว ก็คือการสูญเสียพื้นที่ป่าหรือพื้นที่มีขนาดเล็ก นี่คือปัญหาหลักในอดีตที่ทำให้จำนวนเสือโคร่งลดลง แต่ในปัจจุบัน มันมีปัญหาหลักอยู่ 3 ปัจจัยที่ทำให้จำนวนเสือโคร่งลดลง ก็คือ การล่า จำนวนของเหยื่อลดน้อยลง และพื้นที่ป่าถูกทำลาย แต่จากปัจจัยทั้ง 3 ที่ยังคงเป็นปัญหาหนักที่สุดคือการสูญเสียพื้นที่ป่า แต่ถึงอย่างนั้นปัญหามันก็มาพร้อมๆ กันทั้งหมด”

แต่เมื่อปี 2553 หลังจากที่ประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำด้านเสือโคร่ง ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก พร้อมกันทั้ง 13 ประเทศที่ได้เข้าร่วมในครั้งนั้น ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยการอนุรักษ์เสือโคร่ง ที่ต้องการเพิ่มประชากรเสือโคร่งร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2565 จึงทำให้เกิดโครงการ “โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง” ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งภายใต้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง ร่วมกับการใช้มาตรการป้องกันการกระทำผิดอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน

และจากการทำงานของนักวิชาการ หน่วยงานจากหลากหลายฝ่ายที่พยายามทำงานร่วมกัน ในการติดตาม ศึกษา และเฝ้าระวังเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นภัยต่อเสือโคร่ง ตลอดระยะเวลาหลายปี ในที่สุดจำนวนเสือโคร่งในประเทศไทยก็มีอัตราเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าสองเท่า และประเทศไทยก็ได้กลายเป็น 1 ความหวังจากทั่วโลกของการอนุรักษ์เสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีน ประชากรเสือโคร่งกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันตก ที่ครอบคลุมพื้นที่ 18,727 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ 17 แห่ง ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง คือ ทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตกและตะวันออก ที่มีจำนวนเสือโคร่งประมาณ 120 ตัว โดยเสือโคร่งที่แก่ที่สุดมีอายุขัยถึง 15 ปี มีชื่อว่า “บุปผา”

ซึ่งชิ้นงานที่สำคัญที่ทำให้เราสามารถปกป้อง ฟื้นฟูและอนุรักษ์เสือโคร่งได้ในทุกวันนี้ก็คืองานวิจัย ดร.ศักศิทธิ์ได้อธิบายเหตุผลของการที่ต้องทำการศึกษาวิจัยไว้ในบทความ เรื่องเสือโคร่งในประเทศไทย กับงานวิจัยเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ ว่า “เพราะในอดีตไม่มีองค์ความรู้เรื่องเสือโคร่ง มีเพียงข้อมูลที่เป็นคำบอกเล่าปากต่อปาก สามารถอ้างอิงได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ทั้งหมด ไม่สามารถอ้างอิงข้อมูลตามหลักวิทยาศาสตร์ได้เลย จึงต้องทำงานวิจัย ซึ่งงานวิจัยน่าจะช่วยให้เกิดการจัดการอย่างจริงจังได้สำเร็จ”

ดังนั้นการที่เรามีงานวิจัย ก็เพื่อที่จะได้ทราบถึงจำนวนของเสือโคร่ง ทราบถึงตำแหน่งที่อยู่อาศัย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราสามารถเสริมประสิทธิภาพการลาดตระเวนด้วยระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ สร้างจิตสำนึกและเครือข่ายการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่าได้

 


เรื่อง ปทิตตา สรสิทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน
ภาพเปิดเรื่อง วัชรบูล ลี้สุวรรณ