รองเท้าดี มีชัยไปกว่าครึ่ง บทเรียนจากการเดินป่า เพื่อสำรวจร่องรอยสัตว์ป่าและการใช้ประโยชน์ชุมชนในทุ่งใหญ่ตก

รองเท้าดี มีชัยไปกว่าครึ่ง บทเรียนจากการเดินป่า เพื่อสำรวจร่องรอยสัตว์ป่าและการใช้ประโยชน์ชุมชนในทุ่งใหญ่ตก

ปี 2021 ตัวเลขคลับคล้ายคลับคลาว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า แต่ด้วยผลกระทบจากโควิด 19 ทำให้โลกหยุดชะงักลง และเดินไปอย่างเชื่องช้า แม้มันจะสะดุดไปบ้างแต่ทุกคนก็ยังต้องใช้ชีวิตต่อ งานของมูลนิธิสืบก็เช่นเดียวกัน

สำหรับปีนี้ ผู้เขียนได้เปิดศักราชใหม่ของการทำงานด้วยการเดินป่า แน่นอนว่าไม่มีอะไรตื่นเต้นไปกว่าภารกิจที่อยู่ข้างหน้า ปลายทางของการเดินทางในครั้งนี้ คือ 3 กลุ่มบ้านในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก ได้แก่ หมู่บ้านทิไล่ป้า สาลาวะ และไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เพื่อเก็บข้อมูลสัตว์ป่าและการใช้ประโยชน์ชุมชน ในการนำไปสู่การบริหารจัดการชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์อย่างเหมาะสม

แน่นอนว่าช่วงสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ ต่างคนต่างต้องระวังตัวเองเป็นพิเศษ ซึ่งก่อนการเดินทางไม่กี่วันทีมงานของมูลนิธิสืบ ได้ไปตรวจเลือดหาเชื้อโควิด 19 เพื่อเป็นหลักฐานในการเดินทางข้ามจังหวัดและเพื่อความสบายใจของชาวบ้านใน 3 กลุ่มบ้านที่เราจะไปทำงานด้วย 

ถ้าคุณต้องเดินป่าไกล ๆ รองเท้าที่ดีจะทำให้คุณเจ็บตัวน้อยที่สุด (เพราะไม่มีใครไม่เจ็บตัวจากการเดินป่า)

เช้าของการทำงานเริ่มต้นขึ้น เมื่อทุกคนพร้อมหน้าพร้อมตากันที่จุดนัดหมาย ซึ่งผู้เขียนต้องไปช่วยเก็บข้อมูลที่หมู่บ้านทิไล่ป้า (ทีมงานอีกส่วนแยกไปเก็บข้อมูลที่สาลาวะ) ในหนึ่งเส้นทางจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และชาวบ้านในพื้นที่ การแบ่งทีมลักษณะนี้ทำให้เห็นถึงการทำงานร่วมระหว่างเอกชน เจ้าหน้าที่รัฐ และชาวบ้าน เนื่องจากแต่ละฝ่ายนั้นมีความชำนาญเฉพาะด้านและสามารถให้ข้อมูลที่แม่นยำกว่า

สไตล์การแต่งตัวของแต่ละคนบ่งบอกถึงความชำนาญในการเดินป่าที่แตกต่างกัน เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบดูจะมีอุปกรณ์เยอะกว่าเพื่อน ทั้งหมวก กระเป๋าสัมภาระ กล้อง เครื่องมือจดบันทึกข้อมูล ต่างจากชาวบ้านที่มีเพียงกระเป๋าและมีดพร้าสำหรับการเคลียร์ทางให้กับเพื่อนร่วมทางคนอื่น ๆ เหมือนเป็นด่านหน้าของสมรภูมิในครั้งนี้ 

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นก็คือความแตกต่างของรองเท้าที่แต่ละคนเลือกใส่ตามความถนัดของตัวเอง เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบจะมีรองเท้าหลากหลายแบบมาก เพื่อเซฟเท้าให้ได้มากที่สุด บางคนเลือกใส่รองเท้าเดินป่าเพราะมีความทนทานและยึดเกาะได้ดี บางคนเลือกใส่รองเท้าผ้าใบอย่าง Nike, Adidas, Skechers เพราะมันจะถนอมเท้า และสามารถเดินได้นานและไกลมากขึ้น ด้านเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะเลือกรองเท้าผ้าใบนันยาง เนื่องจากสวมใส่สบาย หาซื้อได้ง่าย เวลาเดินป่าที่ต้องลุยน้ำลุยโคลนอาจไม่เสียดายมากนัก ส่วนชาวบ้านจะใส่รองเท้าบูธยาวเพราะกันน้ำและยึดเกาะได้ดี แต่บางคนก็ใส่รองเท้าแตะขาหนีบโดยให้เหตุผลว่าใส่จนชินแล้ว 

รองเท้าที่เลือกใส่ไม่ใช่การแบ่งพรรคแบ่งพวก แต่เป็นการบ่งบอกถึงความชำนาญในพื้นที่ของคนต่างหาก ชาวบ้านรู้ดีว่าสภาพป่ารอบ ๆ บ้านเขาเป็นอย่างไร เขาต้องเจอลักษณะดินแบบไหนบ้าง ต้องเจอลำธาร ห้วย หรือหน้าผาตรงไหนบ้าง ความชำนาญในพื้นที่และความเคยชินในการเดินป่าทำให้พวกเขาดูเจ็บตัวน้อยที่สุดหากเทียบกับเพื่อนร่วมทางคนอื่น ๆ บางคนเท้าบวม เป็นตุ่มน้ำใส หรือเหี่ยวซีดเพราะรองเท้าเปียกชุ่มเป็นเวลานานจากการเดินข้ามลำธาร และบางคนถึงขั้นเอ็นอักเสบก็มี หากคุณอยู่กับป่านาน ๆ ความพิถีพิถันในการเลือกรองเท้าจะลดลง เพราะคุณคุ้นเคยกับมันไปแล้ว ป่าอาจไม่ใช่แค่ป่า แต่มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคุณต่างหาก

รองเท้าทุกคู่ที่ร่วมเดินเก็บข้อมูลจะเป็นหลักฐานหนึ่ง ว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างปลอดภัย

จากการสำรวจในแต่ละเส้นทางเบื้องต้น พบว่าบริเวณไร่ซากที่เป็นไร่หมุนเวียน หรือพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในระยะเพียง 3 กิโลเมตรจากชุมชนหรือพื้นที่ใช้ประโยชน์เรายังพบร่องรอยสัตว์ป่ามีการกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น กระทิง เก้ง กวาง เลียงผา หมูป่า และสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็ก ข้อมูลชุดนี้สามารถนำไปวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่ากับกิจกรรมมนุษย์ในพื้นที่โดยรอบชุมชนในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ตก เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการต่อไป และหาคำตอบที่ว่า “ชุมชนจะอยู่ร่วมกับป่าอย่างเหมาะสมได้อย่างไร” 

ในอนาคตมูลนิธิหวังว่ากิจกรรมนี้จะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการบริหารจัดการชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ และพยายามผลักดันไปสู่ระดับนโยบายตามมาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เพื่อให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำไปเป็นโมเดลปรับใช้กับพื้นที่อนุรักษ์ที่มีชุมชนอยู่ในพื้นที่ใช้ประโยชน์ในป่าทั่วประเทศไทย 

รองเท้าทุกคู่แตกต่างกัน แต่สำคัญเหมือนกัน

ไม่สำคัญว่าคุณจะสวมรองเท้าแบบไหน แต่สำคัญที่ว่าคุณรู้จักเพื่อนร่วมทางมากน้อยแค่ไหน สาเหตุหนึ่งของการเดินสำรวจร่องรอยสัตว์ป่าและการใช้ประโยชน์ชุมชนในครั้งนี้ต้องมีหลากหลายฝ่ายนั้น มีความสำคัญอย่างมากต่อข้อมูลที่คุณจะได้รับ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสวมรองเท้าของผู้เชี่ยวชาญด้านการลาดตระเวน เขามีความชำนาญในการเดินป่า ดูแผนที่ การใช้ GPS เพื่อมาร์คจุดพิกัดตลอดเส้นทางที่เดินผ่าน ชาวบ้านสวมรองเท้าผู้เชี่ยวชาญด้านพื้นที่ พวกเขารู้ดีว่าไร่หมุนเวียนที่อยู่ข้างหน้าถูกปล่อยให้ป่าฟื้นฟูมานานกี่ปีแล้ว นาเก่าเป็นของใคร รอยเท้าสัตว์ป่าที่เจอเป็นสัตว์อะไร พวกเขามีสายตาที่ว่องไวกว่าคนธรรมดามาก

ส่วนเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบสวมรองเท้าผู้เชี่ยวชาญด้านการบันทึกข้อมูล พวกเขามีเครื่องมือเฉพาะในการจดบันทึก รับหน้าที่ในการประเมินและตัดสินใจสถานการณ์ที่น่าอึดอัด ไม่มีใครสนว่าคุณจะสวมรองเท้าคู่ไหน แพงแค่ไหน คุณภาพดีอย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็เลือกรองเท้าที่ตัวเองใส่แล้วสบายที่สุด ถนัดที่สุด และสามารถช่วยเหลือเพื่อนร่วมทางให้ได้มากที่สุด

 


บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร