พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องโลกร้อน

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องโลกร้อน

เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดคิดขึ้น หรือควรพูดว่าได้ข้อมูลมาเกี่ยวกับเรื่องเรื่องหนึ่ง ซึ่งเขาเดือดร้อนกันทั่วโลก คือ ความเดือดร้อนที่ทุกคนจะต้องประสบแต่ไม่ใช่ทกคนจะได้รู้ แล้วคนที่รู้ บางทีก็โวยวาย ทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมาก ปัญหานี้ เคยได้พูดถึงที่อื่นมาแล้ว เกี่ยวข้องกับสภาพสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งกําลังวุ่นวายกันมากทั้งผู้ใหญ่ทั้งผู้น้อย ทั้งผู้ที่อยู่ในทวีปยุโรป อเมริกา เอเซีย ก็พูดกันทั้งนั้น คือปัญหาว่าสิ่งแวดล้อมจะทําให้โลกนี้เปลี่ยนแปลงไป

บางคนเขาบอกว่า ฝรั่งมาชี้หน้าและพูดว่านี่บางกอกนี่ก็จะอยู่ใต้ทะเล ภายในไม่กี่ปีน้ำก็จะท่วมความจริงเราก็รู้อยู่แล้วว่า กรุงเทพฯ น้ำท่วม แต่เขาบอกว่า น้ำจะท่วมจากทะเล เพราะว่าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เขาบอกว่าเพราะมีสารคาร์บอนขึ้นไปในอากาศมาก จะทำให้เหมือนเป็นตู้กระจกครอบ แล้วโลกนี้ก็จะร้อนขึ้น เมื่อโลกนี้ร้อนขึ้นมีหวังว่าน้ำแข็งจะละลายลงทะเล และรวมทั้งน้ำในทะเลนั้นจะพองขึ้น เพราะสิ่งของที่ร้อนขึ้นย่อมมีการพองขึ้น ปริมาตรก็มากขึ้น เมื่อน้ำพองขึ้นก็จะทําให้ที่ที่ต่ำ เช่น กรุงเทพฯถูกน้ำทะเลท่วม อันนี้ก็เป็นเรื่องเขาว่า ก็เลยสนใจว่าเรื่องเป็นอย่างไร จึงได้ข้อมูลว่าสิ่งที่ทําให้คาร์บอน (ในรูปคาร์บอนไดอ๊อกไซด์) ในอากาศ เพิ่มมากขึ้นนั้น มาจากการเผาเชื้อเพลิงซึ่งอยู่ในดินและจากการเผาไม้ ซึ่งตามตัวเลขจํานวนคาร์บอนในอากาศนี้ไม่ทราบว่าท่านจะจดจําไดหรือไม่ เพราะว่าพูดไปอย่างนี้อาจจดจําไม่ได้แต่บอกได้ว่าในอากาศนี้มีสารคาร์บอนมีคาร์บอนอยู่เดี๋ยวนี้จํานวน 700 พันลานตัน โดยประมาณ (700 พันล้านก็คือ เจ็ดแสนล้านนั่นเอง แต่เมื่อนับเป็นจํานวน พันล้าน ซึ่งฝรั่งเรียกว่าบิลเลี่ยนจึงพูดไป 700 พันล้าน)

คราวนี้การเผาเชื้อเพลิง เช่น ถ่าน ถ่านหิน น้ำมัน เชื้อเพลิงอะไรๆ ต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดทําให้คาร์บอนขึ้นไปในอากาศจํานวน 5 พันล้านตันต่อปีแล้วก็ยังมีการเผาทําลายป่าอีก 1.5 พันล้านตัน รวมแล้วเป็น 6.5 พันล้านตัน ถ้าขึ้น ๆ ไปอย่างนี้ก็เท่ากับเกือบสิบเปอร์เซ็นต์ของจํานวนที่มีอยู่แล้วในอากาศ ถ้าไม่มีอะไรที่จะทําให้จำนวนของสารนี้ในอากาศลดลง ก็จะทําให้สารนี้กลายเป็นเหมือนตู้กระจกครอบ ทําใหโลกนี้ร้อนขึ้น ก็เกิดเรื่องยุ่งตามที่ได้กล่าวแล้ว

พูดกันว่าต้นไม้ทําให้จํานวนคาร์บอนมีน้อยลงได้ ก็เป็นความจริง ต้นไม้ทั่วโลกในปัจจุบันนี้กินคาร์บอนได้ในอัตรา 110 พันล้านตัน (แสนหนึ่งหมื่นล้านตัน) ต่อปี ก็เป็นอันว่าถ้าเป็นเช่นนั้น ก็สบายใจได้ แต่ว่าถ้าเราดูต่อไปอีก ต้นไม้นั้นเองมันคายคาร์บอนออกมาในอัตราปีละ 55 พันล้านตัน (ห้าหมื่นห้าพันล้านตัน) ก็เหลือกําไรเพียงครึ่งเดียว ในครึ่งนี้ยังมีดินหรือสิ่งที่กําลังสลายตัวต่างๆ ที่จะส่งคาร์บอนขึ้นไปในอากาศอีก 54.5 พันล้านตัน (ห้าหมื่นสี่พันห้าร้อยล้านตัน) ลงท้ายก็จะได้กําไรเหลือเพียงห้าร้อยล้านตัน ฉะนั้นถ้าดูแล้ว ยังขาดทุนอีก 6 พันล้านตัน มีอีกอย่างหนึ่งก็คือทะเล ทะเลนั้น เขาจะส่งคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ขึ้นไปบนฟ้า 90 พันล้านตัน (เก้าหมื่นล้านตัน) แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็ดูดคาร์บอนจากอากาศมา 93 พันล้านตัน (เก้าหมื่นสามพันล้านตัน) ที่เขาส่งออกไปนั้นเก้าสิบ ที่เขาดูดลงมา เก้าสิบสาม หมายความว่าเขาทํากําไรให้ 3 พันล้าน ถ้าบวกทั้งหมด เป็นอันว่ายังมีการเพิ่มคาร์บอนในอากาศ 3 พันล้านตัน ทุกปีๆ อันนี้ทําให้นักวิชาการเขาเดือดร้อน วิธีแก้ไขก็คือต้องเผาน้อยลงและต้องปลูกต้นไม้มากขึ้น

นี้ก็เป็นตัวเลข ท่านทั้งหลายฟังแล้วก็คงปวดหัว แต่คงหาผู้ที่จะเขียนตัวเลขเหล่านี้ให้ได้ก็เป็นอันว่าปัญหามันมีจริง ว่าเราจะประสบความเดือดร้อน ความเดือดร้อนก็จะมีในรูปน้ำท่วมอย่างที่เขาว่า แต่ข้อนี้ก็ยังไม่แน่ใจนัก เพราะว่าถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น ก็จะทำให้น้ำนั้นระเหยมากขึ้น เมื่อน้ำระเหยมากขึ้น ก็จะทําให้อุณหภูมิลดลงมา ถ้าหากอยากจะขู่ท่านทั้งหลายว่าสถานการณ์แย่มาก ก็พูดว่ากรุงเทพฯ น้ำท่วมแน่สภาพของคนจะแย่จะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้าไม่นาน แต่ว่าถ้าหากอยากจะปลอบใจ หรืออยากจะหาทางแก้ไข ก็ปลอบใจได้ว่าอุณหภูมิสูงขึ้น ทําให้น้ำระเหย น้ำระเหยทําให้เย็นลง อากาศก็เย็นลง แล้วปัญหาอื่นๆ ก็ไม่ยุ่ง เพราะว่าถ้าระเหยไปมากน้ำก็ไม่ท่วม ก็เป็นอันว่ายังไม่หมดหวัง

ทั้งหมดนี้ ถ้าหากแต่ละคนที่เป็นผู้ชอบศึกษา และชอบออกความเห็น ชอบมาขู่ชาวบ้าน หรือผู้ปกครองประเทศ ก็ต้องเป็นคนมีความรู้ก่อน คือผู้ที่จะมาขู่ต้องมีความรู้ ผู้ที่รับฟังการขู่ ก็ต้องมีความรู้ เพื่อที่จะไม่ให้ความหนักใจในระดับโลก ความหนักใจในเรื่องจะเป็นหรือตายนี้ กลายมาเป็นความรู้สึกหวาดกลัว หรือเกิดความยุ่งยากยุ่งเหยิงถึงขั้นที่จะปะทะกันเลยอย่างเช่นที่จะบอกว่าถ้าไม่ฟังก็จะเดินขบวน จะมาขัดขวางการจราจร อะไรต่างๆ อย่างนี้มันอันตรายมาก เพราะว่าถ้าเราเอาอะไรแม้ที่มีความจริง น่าหนักใจจริง แต่ว่านำมาก่อสิ่งที่น่าหนักใจ และสิ้นเปลือง เราก็อยู่ไม่ได้ โลกก็อยู่ไม่ได้

อาจเป็นข้อนี้เองที่ทําให้เกิดนึกมาพูดเรื่องคาร์บอน เรื่องจะร้อนจะเย็น น้ำจะท่วมไม่ท่วม เพราะว่าถ้าหากว่าเรามาศึกษาอย่างใจเย็นอย่างมีเหตุผลแล้ว ก็จะหาทางแก้ไขได้ หรืออย่างน้อยก็ให้พยายามแก้ไขมันจะดีกว่าที่จะมาขัดแย้งกัน แล้วเมื่อขัดแย้งกัน ก็มักก่อเกิดปัญหาใหม่ คือปัญหาการเดินขบวนที การประท้วงที การจราจรวุ่นวาย เป็นต้น แล้วก็ทําให้ผู้ที่รับผิดชอบปวดหัว เลยไม่ต้องคิดแก้ไขอะไรต้องมาคิดแก้ไขแต่สิ่งวุ่นวายที่มีขึ้นมาใหม่โดยใช้เหตุ เรียกว่าเสียแรงเปล่าๆ แล้วเมื่อเสียแรงเปล่าๆ นี้มันก็เรียกว่าสิ้นพลังงาน เมื่อสิ้นพลังงานแล้ว คนเราก็หายใจเอาคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ออกไปมากขึ้น มากกว่าคนที่ใจเย็นๆ ก็ทําให้ปัญหาที่เราเป็นห่วงแต่เดิมเพิ่มขึ้น ฉะนั้นที่พูดอย่างนี้ก็เพราะเห็นว่าในที่นี้มีผู้ที่รับผิดชอบงานต่างๆ ซึ่งปัญหาที่พูดนี้ก็เกี่ยวข้องกับทุกสาขา เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของโลกมนุษย์ ข้อต่างๆ เหล่านี้ก็เกี่ยวพันกันพาดพิงไปถึงปัญหาอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว

วันก่อนนี้เราพูดถึงปัญหาว่าเมืองไทยนี้อีกหน่อยจะแห้งไม่มีน้ำเหลือ จะต้องไปซื้อน้ำจากต่างประเทศ ซึ่งก็อาจเป็นได้ แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าถ้าคํานวณดู น้ำในประเทศไทยที่ไหลเวียนนั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ต้องบริหารให้ดีถ้าบริหารให้ดีแล้ว มีเหลือเฟือ มีตัวเลขแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้ไปแยกแยะตัวเลขเหมือนที่ได้แยกแยะตัวเลขของคาร์บอน น้ำนั้นน่ะ ในโลกมีมากแล้วที่ใชจริงๆ มันเป็นเศษหนึ่งส่วนหมื่นของน้ำที่มีอยู่อาจไม่ถึง ก็ต้องบริหารให้ดีเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้ ก็มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำน้ำนี้จะต้องใช้ให้ดีคือน้ำนั้นมีคุณ อย่างที่เราใช้น้ำสําหรับบริโภค น้ำสําหรับการเกษตร น้ำสําหรับอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้ต้องใช้น้ำที่ดี หมายความว่าน้ำที่สะอาด

น้ำมีมากในโลก เป็นน้ำทะเลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะใช้อย่างนี้ไม่ได้แล้ว นอกจากนั้นเดี๋ยวนี้ที่กําลังมีมากขึ้น ก็คือน้ำเน่า จะต้องป้องกันไม่ให้มีน้ำเน่า น้ำเน่าจะมีอยู่เสมอ แต่อย่าให้น้ำเน่านั้นเป็นโทษมากเกินไป ฉะนั้นนี่เป็นอีกโครงการหนึ่ง ที่เราจะต้องปฏิบัติแล้วก็ถ้าไม่จัดการโดยเร็วเราก็จะนอนอยู่ในน้ำเน่า น้ำดีจะไม่มีใช้ แม้จะไปซื้อน้ำจากต่างประเทศมาก็กลายเป็นน้ำเน่าหมดเพราะว่าเอามาใช้โดยไม่ได้ระมัดระวัง

ถ้าเรามีน้ำแล้วมาใช้อย่างระมัดระวังข้อหนึ่ง และควบคุมน้ำที่เสียอย่างดีอีกข้อหนึ่ง ก็อยู่ได้เพราะว่าภูมิประเทศของประเทศไทยยังให้ใช้คําว่ายังให้ก็หมายความว่ายังเหมาะแก่การอยู่กินในประเทศนี้ไม่ใช้ไม่เหมาะ ประเทศไทยนี้เป็นที่เหมาะสมมากในการตั้งถิ่นฐาน แต่ว่าต้องรักษาเอาไว้ไม่ทําให้ประเทศไทย ซึ่งเป็นสวนเป็นนากลายเป็นทะเลทราย ก็ป้องกันได้ทําได้ พูดกันว่า ถ้าหากไปทําโครงการไฟฟ้าพลงน้ำก็จะไปทําลายป่า ทําใหเสียหายกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมต่างๆ ผู้ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็พูดอย่างนั้น อันนี้เป็นความจริง ถ้าไปทําลายป่าแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือสนามกอล์ฟ หรือการท่องเที่ยว หรือการลักลอบตัดป่า เป็นต้น ดังนี้ข้อเสียมันเพิ่มขึ้นได้จริง แต่ว่าถ้าหากไปทําในที่ที่เหมาะสม คำนวณได้ว่าผลเสียในการตัดไม้ส่วนหนึ่งจะคุมกับผลได้ คือเช่นที่บอกว่าตัดต้นไม้นั้น ทําให้คาร์บอนขึ้นไปในอากาศเป็นจำนวนเท่านั้นๆ ทําให้เกิดความระเหยของน้ำเท่านั้นๆ เราก็จะต้องมาเลือกดูว่าจะรักษาป่าไว้หรือจะต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

เมื่อใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เราจะต้องใช้อย่างหนึ่งอย่างใด อย่างมีผู้เสนอให้ไปซื้อถ่านหินจากออสเตรเลีย มาสร้างโรงไฟฟ้าใช้ไอน้ำ คือ ใช้ถ่านหินมาเผาเพื่อที่จะทําความร้อนและขับเทอร์ไบน์ให้เป็นไฟฟ้า คํานวณดูที่เราจะต้องซื้อถ่านหินจากประเทศออสเตรเลียมา ก็เสียเงินทองเท่าไหร่ มาเผาแล้วจะออกมาเป็นคาร์บอน เวลามาเผาสําหรับหมุนกังหันจะต้องเกิดคาร์บอนขึ้นไปเท่าไหร่ เปรียบเทียบกับที่จะเสียพลังการกําจัดคาร์บอนจากต้นไม้สัก 3-4 ต้น นั้นน่ะ มันคุ้มหรือเปล่าถ้าทําไฟฟ้าด้วยพลังน้ำที่ไม่ต้องตัดตนไม้ เพียงแต่ตัดต้นหญ้าก็คงไม่เสียหาย

พูดอย่างนี้ก็อาจฉงนว่าจะทําที่ไหน ไปคิดเอาเอง ว่าที่ไหนทําได้มันมีที่ที่จะทําได้รวมทั้งน้ำที่จะกักเอาไว้ปล่อยออกมาทําไฟฟ้าและปล่อยออกมาทําการเพาะปลูกในที่ที่อย่างน้อย 200,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันนี้รกร้างว่างเปล่า เพราะว่าไม่มีน้ำ เมื่อรกร้างว่างเปล่าอย่างนั้น ก็ทําใหเสียเศรษฐกิจไปแยะ จะต้องสงเคราะห์ชาวนา ชาวสวน ที่เป็นเจ้าของที่เหล่านั้น ลงท้ายพวกนั้นก็จะต้องขายที่ กลายเป็นทําให้ราคาของที่ดินแพงขึ้น ก็เป็นปัญหาอีกต่อไป แล้วผู้ซื้อที่ดินนั้นก็จะอยากไปประกอบอุตสาหกรรมที่นั่น เมื่อมีอุตสาหกรรมที่นั่นก็จะต้องมีน้ำ ก็จะต้องขุดน้ำบาดาล หรือต้องทําโครงการนําน้ำมา เสียเงินเป็นหลายร้อยล้าน เป็นหมื่นเป็นแสนล้าน ฉะนั้นถ้าหากวาที่ดินเหล่านั้น จะมาใช้สําหรับการเกษตรได้โดยเหมือนว่าได้เปล่า รู้สึกว่าควรจะทํา แต่ถ้าไปทํา ก็จะมีผู้ที่คัดค้านว่าในการทําต้องไปตัดต้นไม้ ในข้อนี้ถ้าพิจารณาแล้ว ที่เขาคัดค้านไม่ให้ตัดต้นไม้เพราะเหตใดุ เขาก็ต้องคิดดูเหมือนกันว่าเราต้องการไฟฟ้า แล้วเราเผาถ่านหิน ก็จะเสียหายไปเท่าใด เปรียบเทียบกับการต้ดต้นไม้ไม่กี่ต้น

พูดอย่างนี้ท่านทั้งหลายก็งง วันนี้มีแต่งง เพราะวันนี้ไปถึงสิ่งแวดล้อมขั้นโลก แต่ก่อนนี้เคยพูดถึงสิ่งแวดล้อมขั้นประเทศ เดี๋ยวนี้ถึงขั้นโลก ก็เป็นความรับผิดชอบที่เรามี ความจริงต้องพูดถึงขั้นโลกเพราะประเทศไทยนี้ก็เติบโตขึ้นมาจะมีหน้ามีตาในโลกว่าเป็นประเทศที่มั่นคง เป็นประเทศที่ดีอย่างนั้นอย่างนี้เราจึงต้องมีความรับผิดชอบในโลกมากขึ้น ทั้งนี้ก็เชื่อว่า เป็นความดีของประเทศไทยถ้ามีความดีแล้วต้องรักษาความดี ที่ไหนที่ไมมีความดีก็จะต้องสร้างความดี ที่ไหนที่มีความเลวก็จะต้องระงับความเลว ที่ไหนที่มีความดีแล้ว ก็ต้องรักษาความดีอันนี้เป็นหลัก แต่ว่าถ้าเรามีความดีอยู่แล้ว แล้วก็ทำลายความดีนั้น มันเป็นสิ่งที่นาเสียดาย ไม่ได้บอกว่าเป็นสิ่งที่เลวมันก็เลวอยู่ในตัวแต่น่าเสียดาย ถ้าเรามีของดีแล้ว เราต้องรักษา และส่งเสริมความดีในของดีนั้นให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

 


 

คัดลอกมาจาก พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2532 เข้าถึงได้ที่ http://www1a.biotec.or.th/brt/dmdocuments/Sheech_of_king.pdf?phpMyAdmin=dc109ce0f4374de03bd82620757db7f3
เข้าถึงเมื่อ ตุลาคม 2559