เมื่อปีที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับนักวิชาการด้านผืนป่าและสัตว์ป่าหลายท่านได้จัดทำรายงานสุขภาพกลุ่มป่าของประเทศไทย
กล่าวโดยสรุปในที่นี้ จากการรวบรวมข้อมูลที่มีบันทึกและรายงานไว้โดยหน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่า กลุ่มป่าตะวันตก ถือเป็นกลุ่มป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างดี จากเกณฑ์ชี้วัดทั้งด้านขนาดพื้นที่ ยังพบประชากรสัตว์ป่าขนาดใหญ่ แต่ยังมีภัยคุกคาม และมีการบริหารจัดการ (จำนวนหน่วยพิทักษ์ป่า) ไม่สมดุลกับขนาดพื้นที่
ในงานเสวนา จาก 16 ถึง 61 คลี่ม่านเกมล่าสัตว์ ‘ทุ่งใหญ่’ เกมชีวิตอภิสิทธิ์ชน ? ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้นำเรื่องนี้มาวิพากษ์ในเวทีอีกครั้ง
เพราะในความเห็นของประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่าอนาคตของการดูแลรักษาสัตว์ป่านั้นเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญไปที่การบริหารจัดการข้อมูลและนำระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพที่มีการเก็บข้อมูลมาใช้ในการดูแลพื้นที่อนุรักษ์
ส่วนประเด็นที่สังเกตกันถึงเรื่องกฎหมายอย่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ว่ามีโทษเบาเกินไปหรือเปล่า และหากเพิ่มโทษก็น่าจะลดภัยคุกคามลงนั่นอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการจัดการผืนป่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคามซ้ำ
“กฎหมายดีอยู่แล้ว มีการบังคับใช้ที่รัดกุม ระบบทำงานดี และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลัง แต่ที่สำคัญต้องให้เจ้าหน้าที่ไปลาดตระเวนเพื่อป้องปรามผู้กระทำผิด ซึ่งนั่นเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด”
หากจะรักษาสัตว์ป่าพื้นที่อนุรักษ์ควรต้องให้น้ำหนักไปที่งานลาดตระเวนป้องปรามภัยคุกคามมากกว่าเรื่องการท่องเที่ยว
จากคดีเรื่องการล่าสัตว์ในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทำให้ต้องย้อนกลับมามองว่าสุขภาพป่าของประเทศไทยเป็นอย่างไร พื้นที่ป่าใหญ่พอให้สัตว์ผู้ล่าอย่างเสือดำสามารถอาศัยอยู่ได้พอหรือไม่ ถ้าป่ามีขนาดเล็กเสือก็อาจอยู่ไม่ได้ พื้นที่ป่าต้องไม่แตกออกเป็นหย่อมๆ หากมีอาณาเขตติดกับป่าประเทศรอบข้างก็ยิ่งแลกเปลี่ยนพันธุกรรมให้เกิดความแข็งแรงยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างในเรื่องของสัตว์ป่า เช่น มีเสือดำดีกว่าไม่มี เพราะมีเสือดำแสดงว่าป่านั้นมีกวาง แต่ถ้ามีเสือโคร่งแสดงว่าป่ามีกระทิง ไม่มีปัญหาเรื่องช้างออกมารบกวนชุมชนเพราะเสือโคร่งเป็นตัวควบคุมประชากรลูกช้าง แต่เสือดาวควบคุมช้างไม่ได้
ประเด็นต่อมาเรื่องภัยคุกคาม เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน การล่าสัตว์ การท่องเที่ยวที่มากเกินไป เรื่องของการบริหารจัดการดูแล พื้นฐานที่สุดคือทุกวันนี้ มีหน่วยพิทักษ์ที่มากพอครอบคลุมพื้นที่ป่าที่ตัวเองดูแลหรือไม่
ที่กล่าวมาเป็นเรื่องของการนำข้อมูลมาดูแลพื้นที่อนุรักษ์
นับตั้งแต่ พ.ศ.2559 เป็นต้นมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทำโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก โดยใช้งานลาดตระเวนเชิงคุณภาพเป็นเครื่องมือสำคัญ
“จากการทำงานช่วยกันเก็บข้อมูลมาพบว่าผืนป่าตะวันตกมีสัตว์ผู้ล่า พบพื้นที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็พบห้างยิงสัตว์ พบภัยคุกคามสูง ก็ต้องดำเนินการคุยกับหัวหน้า ต้องทำงาน ไปจัดการเพิ่มการลาดตระเวน”
ข้อมูลต่างๆ ใช้เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อลดภัยคุกคามที่เกิดขึ้น แต่การเก็บข้อมูลจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบ ผู้บังคับบัญชาของพื้นที่อนุรักษ์ไม่เอาข้อมูลของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนมาประชุม หรือไม่มีชุดความรู้ในการจัดการข้อมูล
ศศิน เสนอว่า นี่คือเรื่องที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องทำ โดยขยายงานนี้ออกไปสู่พื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะในผืนป่าตะวันตกเท่านั้น
ถือเอาวิกฤตตรงนี้ขยายผลต่อยอดงานลาดตระเวน เพิ่มหน่วยพิทักษ์ป่า เพิ่มสวัสดิภาพ เพิ่มความรู้ นั่นล่ะคืออนาคตของการปกป้องป่าอย่างยั่งยืน