ป่าตะวันตก บ้านของสัตว์ป่า

ป่าตะวันตก บ้านของสัตว์ป่า

ประเทศไทยทางฝั่งตะวันตก มีผืนป่าอนุรักษ์เชื่อมต่อกันเป็นขนาดใหญ่ ประมาณ 12 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ในภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี

ผืนป่า 12 ล้านไร่นี้ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ 11 พื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ เฉลิมรัตนโกสินทร์ เขื่อนศรีนครินทร์ พุเตย แม่วงก์ คลองลาน คลองวังเจ้า ลำคลองงู เขาแหลม ทองผาภูมิ ไทรโยค เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 พื้นที่ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ห้วยขาแข้ง เขาสนามเพรียง อุ้มผาง และเขตรักษาทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และด้านตะวันออก หรือที่เรียกกันในภาพรวมว่า กลุ่มป่าตะวันตก

ป่าตะวันตก เป็นกลุ่มป่าที่มีลักษณะป่าหลากหลายประเภท อาทิ ป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ ป่าดิบเขา ป่าพรุน้ำจืด ทุ่งหญ้า เป็นผลมาจากสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล มีสภาพพื้นที่ที่เป็นยอดเขาสูง แม่น้ำ และถ้ำหินปูน ซึ่งเหมาะสมกับการเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ซึ่งมีลักษณะการดำรงชีวิต และถิ่นที่อยู่ที่แตกต่างกัน

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ป่าไม้ แม่น้ำ ดิน และสภาพอากาศ เป็นตัวกำหนดชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าที่พบในบริเวณนั้น เช่น พื้นที่ป่าที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นบ้านของนกเงือก ต้องใช้โพรงของต้นไม้ใหญ่ในการทำเป็นโพรงรัง

แหล่งน้ำ ซึ่งสัตว์ส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ทั้งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์น้ำ หรือถ้ำหินปูนต่างๆ ที่เป็นบ้านของค้างคาวนานาชนิด ยกตัวอย่างถ้ำหินปูนในอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ที่เป็นบ้านของค้างคาวคุณกิตติ

พื้นที่ทุ่งหญ้า เป็นแหล่งอาหารให้กับสัตว์กีบ เช่น กระทิง วัวแดง กวางป่า ช้างป่า ฯลฯ ซึ่งสัตว์กีบเหล่านี้ เป็นอาหารให้กับสัตว์ผู้ล่า ได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว/ดำ หมาใน หมาจิ้งจอก ฯลฯ

โดยสัตว์ป่าและพื้นที่ป่าจะมีความเกี่ยวข้องกันเป็นระบบห่วงโซ่ ด้วยสภาพพื้นที่ และความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ จึงส่งผลให้ป่าตะวันตกมีความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์สูง

พันธุ์พืชมีจำนวนมากกว่า 3,500 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 150 ชนิด นก มากกว่า 490 ชนิด ปลา มากกว่า 108 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน มากกว่า 90 ชนิด และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มากกว่า 40 ชนิด

นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีความหลากหลายสูงแล้ว การดูแลรักษาให้ทรัพยากรนั้นคงอยู่ได้นั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ก็ถือเป็นการดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ไว้

หากไม่มีป่า ก็ไม่มีสัตว์ป่า และหากไม่มีสัตว์ป่าก็จะไม่มีผู้ทำหน้าที่ทางระบบนิเวศ เช่น ไม่มีนกเงือกผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ ไม่นานหากพันธุ์พืชไม่ก็ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป ก็ไม่สามารถเติมเต็มระบบนิเวศได้ ทั้งป่า และสัตว์ป่า

จะเห็นได้ว่าการที่สัตว์ป่าจะสามารถรักษาเผ่าพันธุ์ไว้ได้ จำเป็นต้องมีบ้าน ที่มีอาหาร มีน้ำกิน และมีเพื่อนบ้านแวดล้อมกลายเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ นอกจากเราจะดูแลไม่ส่งเสริมการล่าสัตว์ป่าด้วยการไม่บริโภครวมถึงใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าแล้ว ยังสามารถช่วยดูแลบ้านของสัตว์ป่าด้วยการสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าที่คอยสอดส่องเป็นรั่วคอยเฝ้าบ้านให้กับสัตว์ป่าได้อีกด้วย

 

ซ่า… ซ่า… เสียงกระเซ็นพร้อมละอองของสายน้ำที่ไหลบ่าและตกลงตามแนวเขาหินปูน ซึ่งสายน้ำเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากการบรรจบของลำห้วยสำคัญ ทั้งห้วยม่องไล่และห้วยอมตะลา นั่นคือ “น้ำตกเอราวัณ” ที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเอราวัณ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี

น้ำตกเอราวัณนั้นประกอบไปด้วย 7 ชั้น ได้แก่ ไหลคืนรัง วังมัจฉา ผาน้ำตก อกนางผีเสื้อ เบื่อไม่ลง ดงพฤกษา และภูผาเอราวัณ ตามลำดับ ยกตัวอย่างน้ำตกเอราวัณชั้นที่ 2 ที่ได้ชื่อว่า วังมัจฉา เนื่องจากมีปลาแหวกว่ายอยู่น้ำตกชั้นนี้จำนวนมาก อาทิ ปลาพลวง ที่กินเศษไม้และเมล็ดพืชเป็นอาหาร พวกมันมักอาศัยอยู่บริเวณธารน้ำตก ลำห้วย หรือลำธารที่มีน้ำใสสะอาดที่มีกรวดหรือทราย โดยน้ำตกเอราวัณแต่ละชั้นมีความโดดเด่นสวยงาม จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดังของจังหวัดกาญจนบุรี

นอกเหนือไปจากความสวยงามที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติแล้ว อุทยานแห่งชาติเอราวัณยังปกคลุมไปด้วยป่าถึง 3 ประเภท ทั้งป่าเบญจพรรณป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ตามลำดับ ที่จะเป็นที่อยู่อันเหมาะสมให้แก่สัตว์ป่าน้อยใหญ่ได้อาศัยอย่างปลอดภัย

 

หากเราเปรียบป่าผืนหนึ่งให้เป็นบ้านของสัตว์ป่าแล้ว ทุ่งหญ้าเองก็ไม่ต่างอะไรจากโรงอาหารอันโอชะของสัตว์กีบนั่นเอง

ป่าสลักพระ ตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ถูกประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2508 เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นบ้านที่ปลอดภัยแก่สัตว์ป่า ซึ่งถือเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย

ป่าสลักพระมีสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ประกอบไปด้วยนก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทือนน้ำสะเทินบก ปลาน้ำจืด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิ ช้าง กระทิง เก้ง กวาง วัวแดง เป็นต้น มีความโดดเด่นมาตั้งแต่อดีตกาลก่อนที่พื้นที่แห่งนี้จะได้รับการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ แน่นอนว่ารวมไปถึงโด่งดังในหมู่นักล่าพรานป่าสมัยก่อน

ความสมบูรณ์ของผืนป่าสลักพระนี้นั้นปกคลุมไปด้วยป่าเบญจพรรณ ภูเขาลูกน้อยลูกใหญ่โอบล้อมผืนหญ้าเขียวขจี ที่ผู้พิทักษ์ป่าเรียกทุ่งหญ้านี้ว่า หัวใจของผืนป่าสลักพระ นั่นคือ ทุ่งสลักพระ อันกว้างใหญ่มีเนื้อที่ 21,500 ไร่ โดยถัดไปทางตอนเหนือก็เป็นที่ตั้งของ ทุ่งนามอญ มีเนื้อที่ 10,000 ไร่ ที่สัตว์ป่าสามารถข้ามฝั่งไปมาเพื่อหากินและหลบหนีภัยได้

นอกจากนั้นยังมีห้วยสะด่องที่เป็นแหล่งน้ำสายหลักที่มีน้ำตลอดปี ห้วยเส้นนี้ไหลพาดผ่านป่าสลักพระลงสู่แม่น้ำแควใหญ่ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของผืนป่า อีกทั้งป่าผืนนี้ยังมีพื้นที่โล่งที่เป็นโป่งธรรมชาติจำนวนนับร้อยโป่งที่ช่วยเสริมสร้างแร่ธาตุเสริมตลอดเวลา ทำให้ป่าสลักพระเป็นทั้งบ้านที่เหมาะสมของสัตว์ป่า

 

ลำธารไหลเอื่อยเฉื่อยลอดออกมาจากตัวถ้ำ เสียงน้ำเพิ่มระดับความฉ่ำเย็นที่รายล้อมรอบกาย สองขาพาเราไปสำรวจถ้ำน้อยใหญ่ที่รายล้อมด้วยป่าไม้ ชวนเราดำดิ่งเข้าไปสู่ห้วงที่เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนมหัศจรรย์แห่งป่าตะวันตก ป่าผืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติรังสรรค์ความสวยงามด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ ด้วยการยุบตัวของหินปูน ผนวกเข้ากับการกัดเซาะของน้ำทำให้ภูเขาหินปูนกลายเป็นสะพานธรรมชาติขนาดมหึมา

บวกกับการค้นพบภาพเขียนในผนังถ้ำ อีกทั้งหลักฐานที่เผยร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ให้เห็นเรื่องราวการเดินทัพของพม่าและญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ทำให้ที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความน่าตื่นตาตื่นใจ

ด้วยความสำคัญทั้งด้านทรัพยากรทางธรรมชาติและคุณค่าด้านประวัติศาสตร์นี้เอง พื้นที่แห่งนี้จึงถูกผลักดันให้เป็น อุทยานแห่งชาติ ตั้งอยู่ในอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ราว 36,875 ไร่ พื้นที่อนุรักษ์แห่งหนึ่งที่เล็กที่สุดในป่าตะวันตก

อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ ปกคลุมไปด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ที่อุดมไปด้วยความสมบูรณ์ด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ จึงมีรายงานการพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ทั้ง วัวแดง และช้างป่า ที่เป็นสัตว์ที่ต้องการถิ่นที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ แม้อุทยานฯ แห่งนี้จะมีเนื้อที่ขนาดเล็กที่สุดในป่าตะวันตก แต่เนื่องจากมีพื้นที่ติดต่อกับป่าข้างเคียงทั้ง พื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ และ เขตรักษาพันธุสัตว์ป่าสลักพระ ทำให้สัตว์ที่ต้องการพื้นที่เยอะอย่างวัวแดงและช้างสามารถเคลื่อนย้ายไปมาเพื่อหากินได้

สำหรับสัตว์ที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในอุทยานฯ นั้น มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป ทั้งกระรอกหลากสี หนูท้องขาว และสัตว์ประเภทนกประจำถิ่น ได้แก่ ไก่ป่า นกเขาเปล้า และนกกก เป็นต้น

ขณะเดียวกันนอกจากพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นบ้านของสัตว์ป่าแล้ว ยังเหมาะแก่การศึกษาด้านธรณีวิทยา เขาหินปูน การยุบตัวของถ้ำ และการกัดเซาะจากการกระทำของน้ำอีกด้วย

และขณะที่หลายคนยังเฝ้ารอให้พื้นที่เตรียมผนวกอุทยานฯ เฉลิมรัตนโกสินทร์ ที่เดิมเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าโรงงานกระดาษไทยแปลงที่ 6 จำนวนพื้นที่ประมาณ 101,500 ไร่ ให้ได้รับการอนุมัติที่แห่งนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อุทยานฯ เฉลิมรัตนโกสินทร์ด้วยความหวัง เพื่อให้พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ได้อยู่ภายใต้การดูแลและปกป้องทรัพยากรผ่านระบบการบริหารจัดการที่ได้รับกำลังสนับสนุนอย่างมีมาตรฐาน นอกจากพื้นที่เตรียมผนวกนี้จะมีความอุมดสมบูรณ์และเป็นบ้านของสัตว์ป่าแล้ว ยังสามารถเป็นพื้นที่ให้สัตว์ป่าได้เคลื่อนตัวอพยพไปมาภายใต้การคุ้มครอง ความหลากหลายทางชีวภาพจะกลับคืนมา และเมื่อเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะยิ่งพอกพูกความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 

อุทยานแห่งชาติพุเตย มีพื้นที่ประมาณ 198,422 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณเขตรอยต่อจังหวัดสุพรรณบุรีกับอุทัยธานี ถือเป็นป่าแห่งสุดท้ายของจังหวัดสุพรรณบุรี

สถานที่แห่งนี้ขึ้นชื่อในการปักหมุดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ป่าสนสองใบธรรมชาติ ที่มีแห่งเดียวในภาคกลาง การชมทะเลหมอกบน ยอดเขาเทวดา พื้นที่สูงที่สุดในแผ่นดินสุพรรณบุรี หรือร่วมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินเลาดาห์ตกที่อนุสรณ์ ศาลเลาดาห์ และหอบร่างพาตัวเองไปสัมผัสความชุ่มฉ่ำจากสายน้ำตกตะเพินคี่

โดยพื้นที่ ตะเพินคี่ ซึ่งติดต่อกับป่าทางตอนใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พื้นที่มรดกโลก โดดเด่นเรื่องของแหล่งต้นน้ำลำธาร ส่วนคำว่า “ตะเพินคี่” เป็นภาษาชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแปลว่า “ต้นน้ำ” เพราะถือเป็นแหล่งต้นกำเนิดของสายน้ำอีกแห่งหนึ่งในผืนป่า ที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดินตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังมีป่าต้นน้ำให้แก่ลำห้วยน้อยใหญ่หลายสาย อาทิ ต้นน้ำลำตะเพิน ต้นน้ำคลองกะเวน ห้วยองค์พระ ห้วยขนุน ห้วยชลอม ห้วยขมิ้น ซึ่งเป็นสายน้ำหลักของชาวบ้านจังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี

สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยทรัพยากรอันอุดมไปด้วย ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าสนสองใบ ที่กระจายอยู่ทั่วไปตามพื้นที่อุทยานฯ

ด้วยความเหมาะสมนานาประการทำให้สัตว์ป่าเข้ามาอาศัยที่แห่งนี้เป็นบ้าน เป็นแหล่งอาหาร และอพยพไปมาหาสู่กันระหว่างพื้นที่อนุรักษ์ใกล้เคียง โดยส่วนมากจะพบสัตว์กีบ อาทิ ช้างป่า กวางป่า หมูป่า พบทั้งด่านสัตว์เช่นกระทิง อีกทั้งยังได้ภาพจากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ (Camera Trap) ทั้งเสือไฟ ชมดแผงหางปล้อง และเลียงผาที่เป็นสัตว์ป่าสงวน ขณะที่เพื่อนสัตว์ป่าสงวนอย่างสมเสร็จเองก็เคยปรากฎร่องรอยให้พบเห็นเมื่อครั้นอดีต

ปัจจุบันมีการเดินลาดตระเวนร่วมระหว่างพื้นที่อนุรักษ์ทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติพุเตย กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อปกป้องบ้านของสัตว์ป่า ป้องปรามการกระทำผิด และเก็บข้อมูลพื้นที่เพื่อใช้ในการวางแผนงานอนุรักษ์ในอนาคต

 

อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ตั้งในพื้นที่ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี มีขนาดพื้นที่ 957,500 ไร่

โดยสภาพพื้นที่เป็นบริเวณที่ราบเป็นส่วนใหญ่ ไปจนถึงที่เป็นภูเขาสูง และถ้ำหินปูน โดยอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีฯ มีป่า 3 ประเภท ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ด้วยลักษณะพื้นที่เป็นพื้นที่เงาฝน (Rain Shadow) จึงมีฝนตกน้อย แต่เป็นพื้นที่ที่เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่

เป็นพื้นที่รับน้ำจากต้นน้ำที่ไหลมากจากทุ่งใหญ่ตะวันตก ห้วยขาแข้ง สามประสบ จึงทำให้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร แหล่งน้ำ และพันธุ์พืช ซึ่งสัตว์ป่าจำเป็นที่จะใช้เป็นแหล่งอาหารในการดำรงชีวิต เมื่อเป็นพื้นที่สมบูรณ์ย่อมส่งผลให้ความชุกชุมของสัตว์ป่าสูงตามไปด้วย เนื่องจากสัตว์ป่าต้องใช้ประโยชน์พื้นที่ในบริเวณที่ราบ และที่ริมน้ำเป็นส่วนใหญ่

นอกจากจะมีชื่อในเรื่องความสวยงามของน้ำตกแล้ว อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีฯ ยังมีพื้นที่ที่เป็นถ้ำที่เป็นจุดเด่นของอุทยาน และเป็นที่ที่เหมาะสมกับการศึกษาในเรื่องของธรณีวิทยา หินงอกหินย้อย ได้แก่ ถ้ำเนรมิต ถ้ำพระปราง ถ้ำน้ำมุด ถ้ำพระ

สัตว์ป่าที่พบ โดยส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าที่ใช้พื้นที่ในที่ราบริมแหล่งน้ำ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ได้แก่ กระทิง ช้างป่า กวางป่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดกลางถึงเล็กได้แก่ พญากระรอกดำ พญากระรอกบินหูแดง ข้างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว เก้ง

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยองค์การยูเนสโกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2534 มีลักษณะเป็นผืนป่าที่มีความยาวจากเหนือจรดใต้วัดเป็นเส้นทางตรงมากกว่า 100 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศมีทั้งเทือกเขาและที่ราบ มีความหลากหลายของภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และมีความชื้นสูง ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวได้ว่าที่นี่มีป่าเกือบทุกประเภท ยกเว้นป่าชายเลน ป่าชายหาด และป่าพรุน้ำจืด

บริเวณลำห้วยขาแข้งทางตอนใต้ ตั้งแต่หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันไดจนถึงบริเวณสบห้วยไอเย๊าะ มีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบริมลำห้วย มีพืชพันธุ์ของพืชริมน้ำที่เป็นอาหารหลักของควายป่าขึ้นในบริเวณนี้ ทำให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของควายป่า ซึ่งเป็นควายป่าฝูงสุดท้ายในประเทศไทย

ควายป่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ มีอุปนิสัยชอบนอนแช่อยู่ในปลักโคลน ซึ่งต่างจากสัตว์กีบชนิดอื่นๆ เนื่องมาจากมีวิวัฒนาการร่วมกับสิ่งแวดล้อมนับตั้งแต่โบราณ ควายป่าในอดีตพบแพร่กระจายในที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ซึ่งดินเลนทำให้ควายป่ามีวิวัฒนาการของกีบตีนให้มีลักษณะกลมแป้น ช่วยให้ย่ำในโคลนได้ดี ปัจจุบันที่อยู่อาศัยของควายป่าได้ถูกบุกรุกรบกวนไปจนหมด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับอนุรักษ์ควายป่าของประเทศไทย

 

อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ครอบคลุมพื้นที่ อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร อ.แม่วงก์ และกิ่ง อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ มีเนื้อที่ 558.750 ไร่ หรือ 894 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์

สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเรียงรายกัน ยอดที่สูงที่สุดคือ “ยอดเขาโมโกจู” สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,964 เมตร เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่หลายคนต่างอยากจะพิชิต และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์

อีกทั้งยังมีพื้นที่ราบริมน้ำปรากฏบริเวณลำน้ำแม่วงก์ หน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา จัดว่าเป็นถิ่นอาศัยที่ค่อนข้างเฉพาะและสำคัญอย่างมากต่อสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น นาก นกยูง กวางป่า หมูป่า สัตว์ป่าทั้งหลายหลายเหล่านี้ใช้พื้นที่ในการหาอาหารและสืบพันธุ์

พื้นที่ราบริมน้ำของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์มักดึงดูดสัตว์เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ทางตอนบนที่ติดกับอุทยานแห่งชาติคลองลาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และตอนล่างที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ความอุดมสมบูรณ์ของเหยื่อบริเวณที่ราบนี้จะดึงดูดผู้ล่าอย่างเสือโคร่ง ซึ่งเสือตัวผู้นั้นจะมีอาณาเขตหากิน 200-300 ตารางกิโลเมตร

หากความอุดมสมบูรณ์ยังคงดำเนินต่อไป ภัยคุกคามไม่แผ้วพานอาณาบริเวณผืนป่า โอกาสที่สถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นบ้านของสัตว์นักล่าอย่างเสือโคร่งก็มิใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป ป่าแม่วงก์ผืนนี้จึงนับว่าเป็นผืนป่าแห่งความหวังในการกระจายตัวของเสือโคร่ง ที่จะเป็นบ้านเป็นโรงอาหารของสัตว์ป่า และแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมของสัตว์ป่าในประเทศไทย

 

อุทยานแห่งชาติคลองลาน ตั้งอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร มีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ประกอบกับการภูมิประเทศที่มีเทือกเขาสลับซับซ้อน จึงก่อให้เกิดป่าต้นน้ำลำธารที่ไหลจากยอดเขาลงมาสู่พื้นล่างเกิดเป็นน้ำตกคลองลานที่มีความสูงถึง 1,439 เมตร และยังเป็นต้นกำเนิดของน้ำหลายสาย เช่น คลองขลุง คลองสวนหมาก ที่ไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำปิง

และเพราะอุทยานแห่งชาติคลองลานมีอาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ที่เป็นบ้านของเสือโคร่ง ทางหน่วยงานต่างๆ จึงมีความพยายามในการฟื้นฟูประชากรสัตว์กีบเพื่อรองรับประชากรเสือจากป่าแม่วงก์ ให้เสือโคร่งได้ใช้อุทยานแห่งชาติคลองลานได้ใช้ประโยชน์ ทั้งเป็นแหล่งอาหารและเป็นบ้านพักอาศัยอีกแห่งหนึ่ง เพราะเสือโคร่งที่แต่ละตัวจำเป็นต้องบ้านขนาดใหญ่ รวมถึงในบ้านต้องมีอาหารที่หลากหลาย นั่นจึงจะถือเป็นแหล่งอาศัยที่เหมาะสมแก่เสือโคร่ง

ดังนั้น การฟื้นฟูประชากรสัตว์กีบอันเป็นเหยื่อของเสือโคร่งนั้น เจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ในการดูแลทั่วทั้งผืนป่า เพื่อเฝ้าระวังและลดภัยคุกคามต่างๆ เช่นการล่าสัตว์ เป็นต้น ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เมื่อป่าคงความสมบูรณ์และปัจจัยคุกคามลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว สัตว์กีบชนิดต่างๆ ก็จะสามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้เองตามกลไกธรรมชาติ จากนั้นเมื่อพื้นที่มีความเหมาะสมมีทั้งน้ำมีทั้งอาหารเสือโคร่งก็สามารถขยับขยายไปเลือกป่าคลองลานเป็นบ้านได้

 

น้ำตกที่ตั้งตะหง่านสูงชะลู่เบื้องหน้า กำเนิดจากน้ำที่ไหลจากตาน้ำลัดเลาะผ่านหินผาไหลลงสู่เบื้องล่าง หินดำมะเมื่อมแหวกด้วยสายน้ำไหลทอดยาวลงมาตามกฎแรงโน้มถ้วงของโลก ความงามแห่งธรรมชาติอันโดดเด่นน่าแปลกตาเป็นเอกลักษณ์นี้ได้รับการขนานนามว่า น้ำตกเต่าดำ ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า

อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ ใน 2 จังหวัด ได้แก่อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก มีขนาดพื้นที่ 466,875 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่า มีความหลากหลายทางธรรมชาติ ทั้งถ้ำ น้ำตก หน้าผา โป่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึงยังเป็นป่าต้นน้ำแม่น้ำปิง

ด้วยความที่ป่าแห่งนี้เป็นป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูง จึงส่งผลให้นอกจากจะมีความหลากหลายทางธรรมชาติแล้ว ยังเชื่อมโยงไปสู่การช่วยให้ทรัพยากรสัตว์ป่ายิ่งสูงตามไปด้วย

สัตว์ป่าส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นสัตว์ป่าที่มีการปรับตัวต่อสภาพพื้นที่ได้สูง เช่น หมูป่า เก้ง กระจงหนู สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นผู้ล่า เช่น เสือปลา แมวดาว เสือไฟ ชะมดแผงหางปล้อง หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สูง อย่างกระทิง กวางป่า เลียงผา ก็สามารถพบในพื้นที่แห่งนี้ได้เช่นกัน

และสัตว์ป่าอีกจำนวนหนึ่งชื่นชอบที่จะใช้ประโยชน์จากโป่งธรรมชาติ ที่เป็นบ่อน้ำร้อนมีอุณหภูมิประมาณ 50-60 องศาเซลเซียส นั่นคือ เก้ง กวาง หมูป่า ที่มักจะเข้ามากินและอยู่อาศัยบริเวณโป่งน้ำ เพื่อเติมเต็มแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายอาทิ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม และกำมะถัน ซึ่งปรกติแล้วแร่ธาตุนั้นเป็นองค์ประกอบของน้ำหนังในร่างกายสัตว์เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถขาดได้ ก็ไม่ต่างอะไรไปจากร่างกายมนุษย์ที่เราจำเป็นต้องรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ทั้งเพื่อพัฒนาการเติบโต การรักษาสมดุล และเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง ตั้งอยู่ที่ จ.กำแพงเพชร เนื้อที่ประมาณ ประมาณ 63,125 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูนต่อเนื่องกันตามแนวเหนือลงใต้ มียอดเขาสนที่สูงที่สุด สูงจากระดับน้ำทะเล 852 เมตร ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง

พื้นที่โดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงประกอบไปด้วย ป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรังผสมสน โดยบริเวณยอดเขาสนนั้นสามารถพบต้นสนสองใบเป็นไม้เรือนยอดเด่น รองลงมาจะเป็นไม้เต็ง ไม้รัง นอกจากนี้ พืชชั้นล่างบนยอดเขาสนก็สวยงามไม่แพ้กัน ทั้ง กระเจียว เฟิร์น ปลง ซึ่งจะให้ความรู้สึกเสมือนเป็นห้องรับแขกทางธรรมชาติ

เนื่องจากลักษณะพื้นที่ที่เป็นเทือกเขาต่อเนืองกัน และเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำ คลองวังชมพู คลองคะยาง คลองแตงโม คลองไคร้ คลองไหล่ประดา คลองห้วยโป่ง คลองลึก คลอง ซึ่งเอื้อต่อการมีอยู่ของสัตว์ป่าเช่น เสือปลา หมาจิ้งจอก เก้งเหนือ และหมูป่า

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของป่ามรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มีขนาดพื้นที่ 1,619,280 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบล ในอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นพื้นที่ป่ากันชน (Buffer Zone) ให้กับป่ามรดกโลก

และยังถือได้ว่าเป็นพื้นที่รองรับการกระจายตัวของสัตว์ป่าจากทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น เสือโคร่ง ด้วยพฤติกรรมของเสือตัวผู้ที่จะมีพื้นที่เฉพาะในการหากินเฉลี่ยประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะไม่ใช้พื้นที่ซ้อนทับระหว่างตัวผู้ด้วยกันเอง ฉะนั้นแล้วหากการฟื้นคืนจำนวนประชากรเสือโคร่งประสบความสำเร็จ เสือโคร่งตัวผู้ซึ่งไม่มีพื้นที่หากินในเขตป่ามรดกโลกแล้ว ก็จะต้องกระจายไปยังพื้นที่อันมีความเหมาะสมข้างเคียง นั่นรวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางนั่นเอง

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางจึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการรองรับประชากรสัตว์ป่าที่เพิ่มขึ้นจากความสมบูรณ์ และการป้องกันภัยคุกคามต่างๆ และยังเป็นพื้นที่รองรับการกระจายของสัตว์ป่าจากทางตอนเหนือที่มาจากกลุ่มป่าแม่ปิง-อมก๋อย

โดยเขตอุ้มผางมีประเภทป่า ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ด้วยลักษณะพื้นที่ที่เป็นป่าดิบส่วนใหญ่ จึงเป็นพื้นที่อนุรักษ์ประชากรสมเสร็จ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย และยังถูกจัดสถานะให้อยู่ในระดับ EN-Endangered ที่ใกล้การสูญพันธุ์ โดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เนื่องจากงานวิจัยพบการใช้ประโยชน์พื้นที่ของสมเสร็จมีความชุกชุมสูงในพื้นที่ที่เป็นป่าดิบมากกว่าป่าประเภทอื่นๆ และป่าอุ้มผางยังเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลอง และยังเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำจืดหลายชนิด

เนื่องด้วยสภาพพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ หากได้รับการจัดการที่ดีก็จะยิ่งช่วยเพิ่มพื้นที่การใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น และแน่นอนว่าย่อมส่งผลให้จำนวนสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก เป็น 1 ใน 3 พื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มีขนาดพื้นที่ 1,331,062 ไร่ ตั้งอยู่ทางตอนล่างของเทือกเขาตะนาวศรี แบ่งเขตทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก กับตะวันออกโดยใช้เขตจังหวัดเป็นเกณฑ์ ซึ่งทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก อยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี

ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแควใหญ่ หากพูดในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าและความหลากหลาย ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์การล่าสัตว์ที่เป็นข่าวในทุ่งเซซาโว่ซึ่งเป็นบริเวณที่ราบ อยู่บริเวณตรงกลางของป่าทุ่งใหญ่ทั้งสองฝั่ง ก็สามารถบ่งบอกได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ และความชุกชุมของสัตว์ป่าในอดีต และเมื่อถูกประกาศเป็นมรดกโลก จึงเป็นที่ในการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า และเป็นบ้านของสัตว์ป่า

ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงเป็นส่วนใหญ่ โดยมียอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 800-1,811 เมตร จึงมีจำนวนประชากรเสือดาว เสือดำ ซึ่งถูกจัดสถานะให้อยู่ในระดับ VU-Vulnerable เกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ โดย IUCN ซึ่งมีจำนวนมากกว่าเสือโคร่งเมื่อเปรียบเทียบความชุกชุมกับพื้นที่มรดกโลกอีก 2 ที่ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่ด้านตะวันออก เนื่องด้วยตัวเล็ก มีความปราดเปรียว และความคล่องตัวสูง จึงสามารถหากินได้ในที่สูง และบนต้นไม้

จากงานวิจัยพบว่า สัตว์ที่เป็นอาหารของเสือดาว ดำ ได้แก่ ลิง หมูป่า กวางป่า จะเห็นว่าเสือดาว ดำ สามารถล่าลิงได้ เนื่องจากสามารถปีนเพื่อล่าในที่สูงได้ ทำให้พื้นที่หากินระหว่างเสือโคร่ง และเสือดาว ดำ เป็นพื้นที่ที่ซ้อนทับกัน และยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าอีกหลายชนิด ได้แก่ กระทิง กวางป่า เก้ง หมูป่า ในบริเวณพื้นที่ป่าที่ราบ และทุ่งหญ้า ซึ่งเป็นแหล่งอาหารให้กับสัตว์ผู้ล่า ทั้ง เสือโคร่ง เสือดาว ดำ หมาใน และสุนัขจิ้งจอก ด้วยความสมบูรณ์ของพื้นที่ และภูมิประเทศที่มีความหลากหลาย ยิ่งส่งผลให้มีความหลากหลายของระบบนิเวศสูง

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก ใจกลางผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ตั้งอยู่ที่จังหวัดตาก มีพื้นที่ประมาณ 900,000 กว่าไร่ ตั้งอยู่ทางตอนล่างตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของลำน้ำแคว

อดีตพื้นที่ราบบางแห่งเคยถูกชาวม้งแผ้วถางและสร้างแหล่งพักอาศัย แต่ชาวม้งเหล่านั้นถูกอพยพออกไปเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว จากพื้นที่ที่ที่เคยเป็นที่ทำกินจึงกลายเป็นป่าหญ้าขนาดใหญ่ปกคลุมด้วยหญ้าพง หญ้าแขม และแซมด้วยไม้ป่าที่กำลังฟื้นตัว เมื่อพื้นที่ป่าไร่ร้างถูกไฟไหม้ เกิดหญ้าระบัด ยิ่งกลายเป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศของสัตว์ป่า

นับได้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสวรรค์บนดินของสัตว์ป่า ที่ประกอบไปด้วยป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังผืนใหญ่ สลับทุ่งหญ้าจัดเป็นสวรรค์บนดินของสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์กีบที่พบอย่างหนาแน่น เช่น กระทิง กวาง ช้าง สมเสร็จ และหมูป่า

นอกจากนี้ยังพบร่องรอยสัตว์ผู้ล่าอย่างเช่น เสือโคร่ง หมี และหมาไน และยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำแควไหลผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

 

อุทยานแห่งชาติลำคลองงู ตั้งอยู่ที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่ได้ชื่อว่าลำคลองงูไม่ใช่เพราะในคลองมีงูเยอะ แต่เป็นชื่อของลำห้วย ที่ไหลวกวนไปวนมาและสลับซับซ้อนผ่านกลางผืนป่า คล้ายกับงูที่เลื้อยอยู่ นั้นทำให้น้ำในลำห้วยไหลกัดเซาะเพิงผาเทือกเขาหินปูนกลายเป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่หลายแห่ง ประกอบกับการสะสมของ ตะกอนหินปูนที่ใช้เวลานานจึงเกิดเป็นหินงอกหินย้อยประติมากรรมของธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากมาย

ถ้ำเสาหิน ซึ่งเป็นถ้ำที่เกิดขึ้นจากการสะสมตะกอนหินปูและถูกน้ำกัดเซาะเป็นเวลานาน จนบังเกิดเป็นถ้ำที่สูงที่สุดในโลก มีความสูงถึง 62.5 เมตร ในด้านการท่องเที่ยวก็ตื้นเต้นไม่แพ้กัน เพราะต้องเดินทางเท้าเข้าไป 3 กิโลเมตร ผ่านป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ ต่อจากนั้นต้องลอยตัวเข้าไปยังถ้ำเสาหินอีกด้วย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โด่งดังของอุทยานแห่งชาติลำคลองงู

อุทยานแห่งชาติลำคลองงูนับว่าเป็นป่าผืนเดียวกันกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จึงมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม อย่างเช่น เลียงผา ช้างป่า เก้ง กวางป่า หมูป่า หมีควาย เสือลายเมฆ เสือโคร่ง และผืนป่าแห่งนี้ยังทำหน้าที่เสมือเป็นเกราะกันกระสุนให้กับป่าข้างในอีกด้วย

 

อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี อยู่ในแนวเทือกเขาตะนาวศรี มีเทือกเขาสลับซับซ้อน และถือได้ว่าเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์

ส่วนใหญ่จะเป็นหินปูน หินลูกรัง มีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ อีกทั้งพื้นที่มีความชื้นสูงจะมีมีสภาพคล้ายป่าดงดิบที่มีพรรณไม้ขึ้นอย่างหนาแน่นและมีเรือนยอดทึบ จากสภาพที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนก่อให้เกิดลำน้ำหลายสาย ซึ่งไหลไปรวมกันที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขื่อนเขาแหลม)

อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ล้อมรอบไปด้วยเขตพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ โดยทิศเหนือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ทิศใต้ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ทิศตะวันออก อุทยานแห่งชาติลำคลองงู และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ทิศตะวันตก อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ

ด้วยสภาพพื้นที่ที่มีพื้นที่อนุรักษ์ล้อมรอบทำให้สัตว์ป่าสามารถเดิมข้ามไปหากันได้ จากรายงานการลาดตระเวนพบว่ามีเสือโคร่งเข้ามาอาศัยในอุทยานแห่งชาติเขาแหลมแห่งนี้ และมีบางตัวที่เดินมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร (ด้านตะวันตก) เข้ามาในพื้นที่นี้อีกด้วย

อีกทั้งยังมีบึงธรรมชาติที่รู้จักกันดีในชื่อ “บึงเกริงกระเวีย” มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกหลายประจำถิ่นและนกอพยพต่างถิ่นในช่วงฤดูหนาว

 

อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ประมาณ 700,000 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาที่สลับซับซ้อนตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี มียอดเขาที่เป็นที่รู้จักมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “เขาช้างเผือก” ทำให้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยต่างๆ ไหลลงสู่เขื่อนเขาแหลมและแม่น้ำแควน้อย

นอกจากอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิจะเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกที่สมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ พบได้ทั้งแต่ผืนป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ แล้วยังเป็นป่าที่ติดชายแดนผืนเดียวกันกับป่าของประเทศพม่า จึงทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่าและมีการย้ายถิ่นฐานไปมาระหว่างป่าทั้งสองฝั่งอยู่เป็นประจำ เช่น ช้างป่า เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากการเดินลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่พบร่องรอยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม บริเวณใกล้ลำห้วย อาทิ หมีขอ เก้ง กวาง หมูป่า และกระทิง

รวมถึงอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิยังโด่งดังในเรื่องของปูราชินีที่เป็นสัตว์เฉพาะถิ่น ซึ่งอาศัยอยู่ตามริมห้วยไม่ใกล้ไม่ไกลจากพื้นที่ ด้วยสีสันสวยงามจึงได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีแห่งปูน้ำจืดประเภทปูป่าอีกด้วย

 

อุทยานแห่งชาติไทรโยค มีพื้นที่ประมาณ 312,500 ไร่ ครอบคลุมถึง 2 อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี คือ อำเภอไทรโยคและอำเภอทองผาภูมิ ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาและภูเขาหินปูนที่มีความลาดชันค่อนข้างสูง

ด้วยสภาพที่เป็นหินปูนและมีถ้ำต่างๆ มากมาย ทำให้สามารถพบค้างคาวหลากหลายชนิด โดยเฉพาะการพบค้างคาวชนิดใหม่ของโลก ได้แก่ ค้างคาวกิตติ (Hog-Nosed Bat)

ค้างคาวกิตติมีลักษณะหูค่อนข้างใหญ่ จมูกคล้ายจมูกหมู มันมีลำตัวยาว 2.5-3 เซนติเมตร และเมื่อกางปีกออกจะกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ด้วยน้ำหนักเพียง 1.5-2 กรัมเท่านั้น พวกมันจึงถูกเรียกว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก

ค้างคาวกิตติเป็นสัตว์ที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะถิ่นและมีความเปรอะบางอย่างมาก เช่นหากมนุษย์รบกวนที่อยู่อาศัยพวกมันก็จะอพยพย้ายถิ่นทันที หรือสภาพพื้นที่บริเวณรอบถ้ำที่มันอาศัยเปลี่ยนแปลงทำให้มีอุปสรรคในการหากิน เช่น พื้นที่โล่งกว้างไร่มันสำปะหลัง พวกเขาก็จะพยายามหลีกเลี่ยงและย้ายไปอยู่ที่อื่นที่เหมาะสมกว่า ซึ่งบ้านของค้างคาวกิตติจะอยู่ตามแนวป่าและถ้ำหินปูนริมน้ำ โดยเฉพาะบริเวณเขาหินปูนในแถบไทรโยค

ดังนั้นหากบ้านและบริเวณบ้านของค้างคาวกิตติถูกรบกวน เกิดการบุกรุก การปรับเปลี่ยนสภาพถ้ำและบริเวณรอบถ้ำ การใช้สารเคมีในการเกษตรที่มีผลทำให้แมลงได้รับสารพิษ และค้างคาวที่มากินแมลงต่ออีกทอด นั้นทำให้ปัจจุบันค้างคาวกิตติจัดอยู่ในสถานภาพชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์จากพื้นที่ธรรมชาติในอนาคตข้างหน้า (Vulnerable – VU)

ในขณะที่ค้างคาวกิตติกินแมลงเป็นอาหาร พวกมันจึงช่วยควบคุมประชากรแมลงได้อีกความหมายหนึ่งด้วย เห็นแล้วใช่ไหมว่าไม่ว่าจะสัตว์จะมีขนาดใหญ่หรือเล็กที่สุดในโลก พวกเขาต่างก็มีหน้าที่ในระบบนิเวศช่วยกันรักษาสมดุลธรรมชาติให้คงอยู่ต่อไป สำหรับมนุษย์เองก็สามารถเริ่มต้นรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติได้โดยเริ่มจากตัวเราเอง

 


เรื่อง ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร