ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ฉันมีโอกาสเดินทางไปที่ตอนล่างสุดของลำห้วยขาแข้ง หรือพื้นที่ตอนล่างสุดของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยมีหัวหน้าวีรยา โอชะกุล ผู้ได้รับฉายาว่าเป็นหญิงแกร่งแห่งผืนป่า (ตอนนั้นยังเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้อยู่) เป็นผู้นำทางไปยังจุดหมาย
เราออกเดินทางจากบริเวณเหนือสุดของเขื่อนศรีนครินทร์ มุ่งหน้าสู่ปราการทางน้ำองค์ทั่ง (อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง) เพื่อตรวจดูความเรียบร้อยของหน่วยพิทักษ์ป่าประจำเดือน ใช้เวลาเดินทางด้วยเรือยนต์กันร่วม 2 ชั่วโมงระหว่างทางเราแลกเปลี่ยนข่าวสารการทำงานกันระหว่างเจ้าหน้าที่ภาคสนามของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กับหัวหน้าและเจ้าหน้าที่ห้วยขาแข้งต่อสถานการณ์เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณโซนล่างแห่งนี้
ในการสนทนามีเรื่องที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกแปลกใจ จากที่มูลนิธิสืบฯ ได้สนับสนุนและทำโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก ผ่านการใช้กิจกรรมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ พบว่ามีปัจจัยคุกคามที่มาจากการท่องเที่ยว และล่าสัตว์ มีรายงานการตั้งแคมป์ เจอกระดูกของนกยูง และยังมีขนของกระรอก กระแตอีกด้วย
ที่ว่าเป็นที่น่าแปลกใจ คือพื้นที่บริเวณนี้ภายหลังปรากฏว่ามีจำนวนนกยูงเพิ่มมากขึ้น แต่จากการลงพื้นที่สำรวจชาวบ้านที่อยู่บริเวณโดยรอบไม่ปรากฏว่ามีใครจะบริโภคนกยูงเป็นอาหาร กรณีนี้จึงคาดว่าเป็นการเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่มีเจตนาจะเข้ามาล่าสัตว์ อาจด้วยความสนุกหรือคึกคะนองก็แล้วแต่ แต่นั่นหมายถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องเพิ่มความเข้มงวดต่อผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ และเฝ้าระวังการกระทำผิดที่จะส่งผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่าให้มากขึ้น
เมื่อเรือแล่นมาถึงโค้งน้ำหนึ่งของภูเขาลูกสุดท้ายก่อนถึงปราการทางน้ำองค์ทั่ง เรือเครื่องที่พาเรามาต้องชะลอความเร็วอยู่หลายครั้ง เพราะกระแสน้ำด้านใต้นั้นค่อนข้างเชี่ยวแรง แม้ผิวน้ำด้านบนจะแลดูนิ่ง และปรากฏเพียงริ้วคลื่นเบาๆ ตามสายลมพี่พัดมาก็ตาม
ปรากการทางน้ำองค์ทั่ง เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยพิทักษ์ป่าองค์ทั่ง ตั้งอยู่บนภาคพื้นดินห่างออกไปไม่ไกลจากปราการทางน้ำ เหตุที่ต้องมีปราการทางน้ำแยกออกมาอีกส่วน เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นช่องทางที่แม่น้ำแม่กลองไหลออกมาจากพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกก่อนลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยวใช้เส้นทางนี้ในการสัญจรเข้าไปยังผืนป่าด้านใน หลายครั้งมีผู้ที่จ้องจะขโมยทรัพยากรแอบแฝงเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นพวกลักลอบตัดไม้ หรือล่าสัตว์ การมีหน่วยพิทักษ์ป่าเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถปฏิบัติการได้ทันต่อสถานการณ์ จึงจำเป็นต้องมีปราการทางน้ำ เพิ่มเติมไว้เป็นด่านในการตรวจคัดกรองคน และเรือที่จะผ่านเข้าออกทางลำน้ำสายนี้
ปราการหลังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันถูกสร้างด้วยเงินจากสาธารณชนทั้งสิ้น ผ่านกิจกรรมระดมทุนกันในงานรำลึก 24 ปี สืบ นาคะเสถียร ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2557 ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ พ.ศ. 2559 ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าประจำอยู่ 3 นาย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาปราการทางน้ำองค์ทั่ง ทำหน้าที่ป้องปรามภัยคุกคามที่แอบแฝงมาทางสายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้กระทำความผิดก็ไม่กล้าที่จะเข้ามาเสี่ยง ในส่วนนี้จึงต้องขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดสร้างปราการทางน้ำแห่งนี้เอาไว้ด้วย
โครงสร้างอาคารออกแบบมาไม่ให้เป็นเพียงฐานประจำการของเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่ให้สามารถใช้ในการประชุมรายงานผลการลาดตระเวนได้ แบบปราการทางน้ำของที่นี่จึงกำลังจะถูกนำไปเป็นแบบในการสร้างปราการทางน้ำอีกแห่งหนึ่งของห้วยขาแข้ง คือ ปราการทางน้ำกรึงไกร อีกหนึ่งปราการทางน้ำที่มุ่งเน้นให้เป็นสถานที่ในการประชาสัมพันธ์และประสานงานกับชุมชนในละแวกใกล้เคียง เป็นจุดหมายที่เรากำลังจะเดินทางไปต่อ
ก่อนจะถึงหน่วยพิทักษ์ป่ากรึงไกร ลุงคนขับเรือดับเครื่องยนต์และชี้ให้พวกเราดูที่ริมฝั่งของเขตอุทยานแห่งชาติศรีนครินทร์ พร้อมกับเล่าว่า เมื่อสองวันที่แล้วแกเห็นควายป่าสองสามตัวออกมาเดินอยู่ทางริมฝั่งน้ำ ซึ่งก็เป็นที่น่าแปลกอยู่เหมือนกันที่ควายป่าเริ่มออกนอกเขตห้วยขาแข้งลงมายังเหนือเขื่อนศรีฯ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ควายป่าจะออกมาหากินนอกพื้นที่หากินเดิมบ้าง เพราะด้วยพื้นที่ก็อยู่ตรงข้าม มีเพียงลำขาแข้งคั่นกลางเท่านั้น
หากพูดถึงควายป่านี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจของวงการป่าไม้ไทยที่เรายังคงรักษาผืนป่าห้วยขาแข้งที่เปรียบเสมือนบ้านที่เหมาะสมของควายป่าฝูงสุดท้ายของประเทศไทยเอาไว้ได้ นั่นหมายถึงสิ่งแวดล้อมและการดูแลรักษาป่าในบ้านเรายังดีอยู่
แต่สถานการณ์ควายป่าในปัจจุบันก็ยังไม่ใช่เรื่องควรจะวางใจ เพราะตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาจำนวนประชากรควายป่ายังคงที่ คือมีประมาณ 60 ตัว ซึ่งหากมีโรคระบาดเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ควายป่าก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจนไม่เหลืออีกต่อไป
ส่วนสาเหตุที่ประชากรควายป่ายังคงที่ไม่เพิ่มหรือลด อาจเพราะถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะต่อการดำรงชีวิตของพวกเขามีอยู่อย่างจำกัด พวกเขาใช้พื้นที่ที่ราบริมน้ำลำขาแข้ง และพบได้เฉพาะโซนลำขาแข้งตอนล่างตั้งแต่หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันไดลงมาจนถึงหน่วยพิทักษ์ป่ากรึงไกร แม้จะมีที่อยู่ที่ปลอดภัยชัดเจน แต่นั่นไม่ใช่สัญญาณที่ดีของการดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ของควายป่าสักเท่าไหร่
นอกจากนี้ ยังพบว่าการล่าควายป่านั้นยังไม่หมดไป ดังที่มีข่าวขึ้นเมื่อราวสองปีก่อน แสดงให้เห็นว่าควายป่ายังเป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ทั้งเนื้อทั้งเขา
สำหรับพื้นที่โดยรอบของหน่วยพิทักษ์ป่ากรึงไกรลงมาเป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีบริเวณประชิดขอบป่า อาชีพหนึ่งที่จะส่งผลต่อการดำรงอยู่ของควายป่า คือ การทำปศุสัตว์แบบเปิด มีโอกาสเสี่ยงที่การเลี้ยงสัตว์อาจนำพาโรคระบาดแพร่กระจายสู่สัตว์ป่าอื่นๆ นั่นจึงเป็นอีกงานหนึ่งที่เจ้าหน้าที่จะต้องทำงานร่วมกับชุมชน ประสานความร่วมมือและหาทางออกร่วมกันในการจัดการพื้นที่
การสนทนาเรื่องราวของควายป่าจบลงเมื่อเราเดินทางมาถึงโค้งน้ำก่อนถึงที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ป่ากรึงไกร หัวหน้าวีรยาบอกว่าตรงจุดนี้เคยเป็นที่ตั้งของปราการทางน้ำกรึงไกร ทำหน้าที่เหมือนกันกับปราการทางน้ำองค์ทั่ง เพียงแต่อยู่คนละจุด และอยู่บนลำน้ำคนละแห่งเท่านั้น
ปัจจุบันปราการทางน้ำทรุดโทรมเสื่อมสภาพไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งได้จมลงในลำน้ำภายหลังจากได้มีการเยียวยามากว่าสองปีโดยเจ้าหน้าที่ใช้ไม้ไผ่มัดเป็นฐานขนาดใหญ่ใช้แทนทุ่นเพื่อช่วยให้ปราการสามารถลอยอยู่เหนือผืนน้ำได้ แต่ก็ประวิงเวลาได้ไม่นานนัก สุดท้ายก็ไม่สามารถใช้งานได้
“การที่มีปราการทางน้ำตรงจุดนี้จะเป็นจุดสกัดกั้นการเข้าพื้นที่ของทางห้วยขาแข้งทางน้ำได้ดีมากกว่าปัจจุบันที่เจ้าหน้าที่จะต้องขึ้นไปอยู่บนหน่วย เมื่อมีผู้กระทำความผิดเข้ามาอาจเกิดความล่าช้าในการสกัดกั้น และจะเป็นการป้องปรามเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ที่เห็นได้ชัดว่า หลังจากพื้นที่ตรงนี้ไปแล้วจะเป็นเขตหวงห้าม เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ถ้าเข้าไปจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้น จุดนี้จึงเป็นจุดที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเข้าใจและเห็นแนวเขตได้อย่างชัดเจน”
นั่นเป็นสิ่งที่หัวหน้าวีรยาได้บอกกับพวกเราก่อนที่จะเดินเท้าด้วยการปีนตลิ่งขึ้นไปบนหน่วยพิทักษ์ป่ากรึงไกร
จะเห็นได้ว่าตลอดการเดินทางผ่านสายน้ำมาถึงจุดหมาย เรามีเรื่องราวมากมายของสรรพชีวิตในผืนป่า พื้นที่แต่ละแห่งดูเผินๆ อาจมีความคล้ายคลึงกัน มีต้นไม้ มีใบหญ้า มีลำน้ำ แต่หากมองในเชิงระบบนิเวศแล้วนั้น พื้นที่แต่ละแห่งทำหน้าที่แตกต่างกัน เป็นบ้าน เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าต่างชนิดและสายพันธุ์
ปราการทางน้ำแห่งหนึ่งก็อาจดูแลสัตว์ป่าได้บางชนิดในพื้นที่หนึ่ง ปราการทางน้ำอีกแห่งหรือหน่วยพิทักษ์ป่าอีกแห่งก็ทำหน้าที่ในการดูแลพื้นที่อีกแห่งและสัตว์ป่าอีกจำนวนหนึ่ง แต่ละที่แต่ละแห่งล้วนมีภารกิจที่ต่างคนต่างต้องทำ ไม่อาจขาดที่ใดที่หนึ่งไปได้
วันนี้ปราการทางน้ำกรึงไกรกำลังเข้าสู่การปรับปรุงเพื่อให้กลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง
และนั่นหมายถึง เรื่องราวการปกป้องควายป่าฝูงสุดท้ายของประเทศไทย และอีกหลากหลายสรรพชีวิตในผืนป่ามรดกโลกให้คงอยู่สืบต่อไป