ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ผืนป่าบริสุทธิ์ของคนไทย สู่การเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก

ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ผืนป่าบริสุทธิ์ของคนไทย สู่การเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก

กว่ามรดกทางธรรมชาติของไทยผืนนี้ จะได้รับการคุ้มครองเป็นมรดกโลกอันทรงคุณค่ามหาศาล เพื่อมอบไว้แก่มนุษยชาติ ธรรมชาติต้องใช้เวลาสร้างความอุดมสมบูรณ์ของสรรพชีวิตทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง และยาวนานเกินกว่าจะประเมินค่าได้ กว่าจะเกิดความสมดุลทางธรรมชาติ เพื่อความอยู่รอดของทุกชีวิต โดยไม่เสื่อมสูญเผ่าพันธุ์ เป็นภาระแห่งชีวิตร่วมกัน นับตั้งแต่พันธุ์ไม้ใหญ่น้อย ต้นน้ำลำธาร สัตว์ป่าทุกชนิด และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ล้วนมีชีวิตร่วมกัน ต่างดำเนินงานสร้างสรรค์วัฏจักรธรรมชาติอันยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่องและไม่มีสิ้นสุด

ตราบจนกระทั่งมนุษย์เอื้อมมือเข้ามาเกี่ยวข้อง จัดสรรและเก็บเกี่ยวเอาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมากมายเกินความจำเป็น แหล่งธรรมชาติถูกทำลายจนเสื่อมสลาย หลายพื้นที่ไม่อาจฟื้นฟูสถานะดั้งเดิมได้ ทำให้ความสมดุลทางธรรมชาติพลิกผัน เกิดภาวะวิกฤตสำแดงผลร้ายสะเทือนต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้วยกันเองอย่างรุนแรง ก่อผลเสียหายโยงใยถึงกันทั่วโลก ทำให้ชาวโลกได้พลันตระหนักต่อคุณค่าอันมหาศาลของธรรมชาติ เป็นความรู้สึกหวงแหนและห่วงใยต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่างหันมาพิทักษ์รักษามรดกทางธรรมชาติที่เหลือ เพื่ออนาคตของมวลมนุษยชาติรุ่นต่อไป ให้มีโอกาสดำรงชีวิตอยู่ได้

องค์การสหประชาชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาประชาคมโลก จึงได้มีมติยอมรับ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก จากการประชุมสามัญ ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 ของยูเนสโก ณ กรุงปารีส นับเป็นมาตรการหนึ่งที่นานาชาติร่วมมือกันแก้ไขวิกฤตการณ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

คำจำกัดความของคำว่า “มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก”

คำว่า “มรดกทางวัฒนธรรม” หรือ Cultural Heritage หมายถึงสถานที่ดังต่อไปนี้

ก. โบราณสถาน ผลงานทางสถาปัตยกรรม ผลงานภาพแกะสลักทางโบราณสถาน ภาพเขียนส่วนประกอบทางโบราณคดี รอยจารึก ถ้ำที่อยู่อาศัยและการรวมลักษณะต่างๆ ซึ่งมีคุณค่าอย่างเด่นชัดในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะหรือวิทยาการ

ข. กลุ่มสถานที่ก่อสร้าง กลุ่มสถานที่ที่แยกหรือเชื่อมต่อกัน ซึ่งทางสถาปัตยกรรมปรากฏในภูมิทัศน์ว่ามีคุณค่าอย่างเด่นชัดในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือวิทยาการ

ค. แหล่งสถานที่สำคัญ ผลงานฝีมือมนุษย์ หรือผลงานผสมผสานของธรรมชาติและมนุษย์รวมทั้งพื้นที่ที่เป็นแหล่งทางโบราณคดี ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา

คำว่า “มรดกทางธรรมชาติ” หรือ Natural Heritage หมายถึงสถานที่ดังต่อไปนี้

ก. ลักษณะทางธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาติสร้างขึ้นตามสภาพ มีคุณค่าเด่นชัดด้านความงาม

ข. ลักษณะทางธรณีวิทยาและภูมิศาสตร์ ปรากฏเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชพันธุ์ต่างๆ

ค. แหล่งความงามตามธรรมชาติ

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง / สหภาพ

ประเทศไทยได้ประสบภาวะวิกฤตเช่นที่กล่าวมาเป็นเวลานาน อย่างแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดเน่าเหม็น บรรยากาศในเมืองใหญ่ถูกห่อหุ้มครอบคลุมด้วยควันพิษ ป่าไม้กว่าครึ่งค่อนประเทศถูกทำลายจนเสื่อมโทรม แผ่นดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ชุ่มฉ่ำ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล กลายเป็นแผ่นดินแห้งแล้งไร้วิญญาณ ภัยพิบัติทางธรรมชาติทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน

ประเทศไทยของเราเริ่มตื่นตัวเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ จึงได้เสนอมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติให้องค์การสหประชาชาติพิจารณาขึ้นบัญชีไว้เป็นมรดกโลก รวม 6 แห่ง คือ

แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อารยธรรมเก่าแก่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของดินแดนอีสานโบราณ

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย – ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร นครแห่งประวัติศาสตร์ราชธานีแห่งแรกของอาณาจักรไทย

นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ร่องรอยความเจริญสูงสุดของศิลปวัฒนธรรมไทย ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 ให้แก่พม่า

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกแห่งเอเชียคู่ตะรุเตา

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติทางทะเลของไทย ที่มีร่องรอยอดีตทางประวัติศาสตร์การเมืองในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แหล่งรวมปะการังที่มากที่สุดในโลกแห่งหนึ่งของชายฝั่งทะเลอันดามัน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการกระจายพันธุ์สัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดบนผืนแผ่นดินใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Mainland S.E.Asia) ขนาดของพื้นที่ในผืนป่าแห่งนี้มีรวมกันถึง 6,222.2 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,888.875 ไร่ อยู่ในอำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

สภาพธรรมชาติประกอบด้วยความหลากหลายของสภาพป่าไม้ทั้งชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ปรากฏว่าสัตว์ป่าที่มีถิ่นกำเนิดในเขตต่างๆ มารวมกันในผืนป่าแห่งนี้ รวมทั้งสัตว์ป่าหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ จนก่อให้เกิดแหล่งพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญ และมีค่าควรแก่การอนุรักษ์ไว้

แล้วในที่สุดยูเนสโกก็ได้มีมติขึ้นบัญชีทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง ไว้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก และอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย – ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร กับนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาขึ้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ในการประชุมที่ประเทศตูนีเซีย ระหว่างวันที่ 9 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ท่ามกลางความยินดีของชาวไทยทั้งประเทศ

ร่องรอยมูลสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง / สหภาพ

 

เพียงแห่งเดียวของประเทศไทย

เมื่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรห้วยขาแข้ง ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกโลก (World Heritage List) เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกแล้ว จะได้รับความช่วยเหลือในระดับนานาชาติจากคณะกรรมการมรดกโลกหลายประการ คือ

ก. การศึกษาวิจัยปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางป้องกัน สงวนรักษาและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก

ข. ผู้เชี่ยวชาญ ช่างฝีมือที่มีความสามารถ

ค. การฝึกอบรมผู้ร่วมงาน และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา

ง. จัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องการและจำเป็น

จ. ให้เงินกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือไม่คิดดอกเบี้ยระยะยาว

ฉ. ให้เงินช่วยเหลือในกรณีพิเศษ

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า มรดกทางธรรมชาติระดับโลกเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความมุ่งมั่นของ สืบ นาคะเสถียร ผู้ทุ่มเทชีวิตให้งานอนุรักษ์ธรรมชาติ การจากไปของสืบ นาคะเสถียร ได้ส่งผลล้ำลึกต่อผู้ที่รักธรรมชาติ และกระตุ้นเตือนให้นักอนุรักษ์ในอีกซีกโลกหนึ่งได้หันมามองเขตรักษาพันธุ์สัตว์)ห้วยขาแข้งอย่างสนใจ บวกกับความหลากหลายทางพันธุ์ไม้และสัตว์ป่า ทำให้ทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง ได้รับการยกฐานะเป็นมรดกโลก เฉือนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไปอย่างฉิวเฉียด

มรดกโลก… คือ ภาพสะท้อนของความอุดมสมบูรณ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง

มรดกโลก… คือ เตือนใจให้ระลึกถึงสืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ธรรมชาติผู้ปรารถนาให้ทั้งโลกไม่มีพรหมแดนกั้นขวางความรักและห่วงใยของมนุษย์ที่พึงมีต่อธรรมชาติ พึงเคารพวงวัฏจักรธรรมชาติ ไม่รบกวนย่ำยีธรรมชาติจนเกินความพอดี

ผู้ปรารถนาให้มนุษย์ยุติการขุดหลุมฝั่งศพตนเองด้วยการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเกื้อกูลต่อชีวิตมนุษย์เอง

มรดกโลก… คือภาพสะท้อนการพิทักษ์รักษาโลกของมวลมนุษยชาติที่ต้องช่วยกันโอบอุ้มคุ้มครองสมบัติของโลกทุกชิ้น มิให้มนุษย์คนใดบังอาจใช้อภิสิทธิ์เหยียบย่ำทำลาย

 


เขียนโดย รัตนวาลี
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ทุ่งใหญ่ ห้วยขาแข้ง มรดกโลก มรดกไทย
จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตุลาคม 2535