ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต่างให้ความสำคัญ เพื่อร่วมกันหาแนวทาง อันจะนำไปสู่การสร้างจิตสำนึก และเปลี่ยนมุมมองผู้คนในยุคดิจิทัล ให้หันมาสนใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศที่กำลังได้รับผลกระทบจากน้ำมือของมนุษย์
ทฤษฏีเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ จากปลายปากกาและนักวิชาการผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด และกลายเป็นการผลักดันในเชิงนโยบาย ที่ไปสู่กระบวนการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามความจริงแล้วแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นมานับตั้งแต่ มนุษย์รู้จักบันทึกเรื่องราวลงบนวัตถุ
ย้อนกลับไปราว 2,600 ปี ที่ผ่านมา การตรัสรู้ของ ‘สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า’ ในเรื่องความจริงอันถ่องแท้ของธรรมชาติ ที่รู้จักกันในชื่อ ‘อริยสัจ 4’ ได้สร้างความตื่นรู้ถึงปัจจัยความเป็นจริงที่ไม่มีใครหลีกหนีไปได้
ความผูกพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับป่าไม้
หลังจากที่เจ้าสิทธัตถะตัดสินใจออกผนวชถือครองสมณเพศ เดินทางออกจากมหานครกบิลพัสดุ์มุ่งหน้าสู่พงไพร เฉกเช่นนักบวชทั่วไปที่หวังละทิ้งความเป็นอยู่ที่ถูกปรุงแต่ง ผืนป่าจึงถือเป็นอีกหนึ่งสถานสำคัญและมีคุณอนันต์ในเชิงพุทธศาสนา
จะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลาในการออกบวชและเผยแพร่พระธรรมคำสอน พระพุทธองค์ทรงเลือกป่าเป็นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การตรัสรู้ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ณ ป่าลึกในแคว้นมคธ และการแสดงปฐมเทศนาธรรมจักรกัปวัตนสูตรให้กับเหล่าปัญจวัคย์ จนเป็นพระอรหันต์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ในทางลายลักษณ์อักษร แม้พระพุทธองค์จะไม่ได้ห้ามฆราวาสตัดต้นไม้ทำลายป่า แต่ก็ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุ ‘ตัด’ หรือ ‘ทำลาย’ ต้นไม้ ซึ่งปรากฎใน ‘ภูตคามสิกขาบท’ ว่า พระภิกษุต้อง อาบัติปาจิตติย์ เพราะพรากภูตคาม ซึ่งพระวินัยปิฎกอธิบายคำว่า ‘พราก’ หมากถึงการตัด หรือใช้ให้ตัดทำลายพืชพันธุ์
สำหรับคำว่า ‘ภูตคาม’ ในวินัยปิฎกมีความหมายกว้างครอบคลุมถึงพืชพันธุ์ 5 ชนิด ได้แก่ พืชพันธุ์ที่เกิดจากเหง้า เช่น ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิต ข่า แฝก แห้วหมู หรือพืชพันธุ์อย่างอื่น ซึ่งเกิดหรืองอกที่เหง้า
ต่อมาคือ พืชพันธุ์ที่เกิดจากลำต้น เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นดีปลี หรือพืชพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งเกิดหรืองอกที่ลำต้น ชนิดที่สามคือ พืชพันธุ์ที่เกิดจากตา (ข้อหรือปล้อง) เช่น อ้อย ไม้ไผ่ หรือพืชพันธุ์อย่างอื่นที่เกิดจากข้อหรือปล้อง
ถัดมาคือ พืชพันธุ์ที่เกิดจากยอด เช่น ผักบุ้งล้อม แมงลัก เถาหญ้านาง หรือพืชพันธุ์อย่างอื่นที่งอกจากยอด สุดท้ายคือ พืชพันธุ์ที่เกิดจากเมล็ด อันได้แก่ ข้าว ถั่ว งา หรือพืชพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งเกิดจากการงอกที่เมล็ด
ต้นไม้เป็นมิตรกับคน
การกล่าวถึงหลักของการไม่เบียดเบียนธรรมชาติไม่ได้มีแค่ในพระวินัยเท่านั้น แต่ในพระไตรปิฎกก็ยังมีคำสอนให้ฆราวาสรักและกตัญญูต่อต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น รวมไปถึงการเป็นแหล่งต้นน้ำให้ทุกสรรพสิ่งได้ใช้สอยกันตามธรรมชาติ และถือว่า ‘ต้นไม้เป็นมิตรกับคน’ ดังนั้นเมื่อบุคคลใดได้อาศัยประโยชน์จากต้นไม้แล้ว จึงไม่ควรเบียดเบียนต้นไม้
ดังข้อความใน ‘อังกุรเปตวัตถุ’ ที่ระบุตอนหนึ่งไว้ว่า บุคคลอาศัยนั่งนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น ไม่พึงทำลายแม้ใบของต้นไม้นั้น เพราะการประทุษร้ายต่อมิตรเป็นความเลวทราม
นอกจากเรื่องการผดุงรักษาต้นไม้แล้ว พระพุทธศาสนายังสงเสริมให้มนุษย์ปลูกต้นไม้อีกด้วย โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าเคยตรัสไว้ใน ‘วนโรปสูตร’ ว่า บุญย่อมเจริญทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดกาลทุกเมื่อ แก่ชนที่ปลูกสวนไม้ดอกไม้ผล ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา สร้างสะพาน โรงน้ำ บ่อน้ำ และศาลาที่พักอาศัย ทั้งชนเหล่านั้นยังตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล จึงไปสวรรค์แน่นอน
จากข้อความข้างต้น จึงเป็นที่เห็นได้ชัดว่า พระพุทธศาสนาส่งเสริมฆราวาสปลุกต้นไม้ และถือว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีงาม ทำแล้วจะได้บุญเพิ่มขึ้น แนวคิดดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจน ในรัชสมัยของ พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์โมริยะ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งชมพูทวีป ผู้ยึดหลักพระธรรมคำสอนของพุทธองค์เป็นสรณะ
โดยมหาราชผู้ยิ่งใหญ่มีพระบัญชาให้ ข้าราชบริพานนำพันธุ์ไม้ไปปลูกตามถนนหนทางต่าง ๆ เพื่อสร้างร่มเงาให้แก่มนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งมีระบุใน ‘เสาศิลาจารึกอโศก’ ลงรายละเอียดว่า มีการปลูกต้นมะม่วง และขุดบ่อน้ำในทุกระยะทางที่สมควร รวมถึงมีการสร้างศาลาไว้ให้คนได้พักผ่อน อันเป็นการอำนวยประโยชน์ให้กับมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ได้ใช้สอย
แม้พระบรมศาสดาจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพานมากว่า 2,500 ปีแล้ว แต่หลักธรรมคำสอนที่ว่าด้วยการอนุรักษ์ป่าไม้ ก็ยังคงแสดงออกมาผ่านลายลักษณ์อักษร รวมถึงหากมองผ่านม่านประเพณีก็จะมองเห็น วัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ควบคู่กับการรักษาต้นไม้ อย่างการบวชป่า รวมไปถึงการทอดผ้าป่า อันเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ศาสนาได้มีการเดินควบคู่ไปกับการดูแลธรรมชาตินับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ขอขอบคุณข้อมูลประกอบ พุทธนิเวศวิทยาเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพัลลภ กฤตยานวัช
บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร