กาแฟรักษาป่า EP 1

กาแฟรักษาป่า EP 1

1
สภากาแฟ

หมู่บ้านแม่กลองน้อย มีนาคม พ.ศ. 2560 พระอาทิตย์เพิ่งเริ่มทำงาน หยาดน้ำค้างกำลังบอกลายอดหญ้า เทอร์มอมิเตอร์กลางเก่ากลางใหม่บนผนังไม้หน้าบ้าน วัดอุณหภูมิได้ 14 องศาฯ

ผมถูกชวนให้มานั่งล้อมวงสนทนาในภาษาที่ไม่คุ้นหู ชุมชนที่นี่เป็นคนชาติพันธุ์ม้ง และใช้ภาษาของชาติพันธุ์ตัวเองเป็นหลัก

“ย้อยง” แปลว่า สวัสดี ใช้สำหรับการทักทายเมื่อเจอหน้ากัน เป็นคำเดียวที่ฟังเข้าใจ

ในกลุ่มคนหนึ่งหันมาบอกผมเป็นภาษาไทยภาคกลางว่าวันนี้อากาศกำลังสบาย – ‘สบาย’ ในความหมายของเขาที่เป็นคนพื้นถิ่นและคุ้นชินกับสภาพอากาศมาตั้งแต่วัยเยาว์ แต่สำหรับแขกผู้มาเยือนเอาแต่นั่ง ‘ตัวสั่นงันงก’ อยู่เพียงคนเดียว

“กาแฟร้อนๆ ครับ จะได้หายหนาว” ซ้ง ณรงค์ศักดิ์ มาลีศรีโสภา คนหนุ่มวัยครึ่งสามสิบ เพื่อนผู้ชวนผมมาเที่ยวหมู่บ้านแม่กลองน้อยบ้านเกิดของเขา ยื่นแก้วกาแฟให้พร้อมละมุนกลิ่นหอมกับไอความร้อนเห็นเป็นสายควันลอยในอากาศ

กาแฟกับรุ่งอรุณในบางตำบลเป็นของคู่กัน

คนที่หมู่บ้านแม่กลองน้อยหลายคนชอบดื่มกาแฟ และมักนิยมดื่มกันเป็นกลุ่ม ยามเช้าคือช่วงเวลาของการนั่งหารือเรื่องราวมากมาย ทั้งเล็กและใหญ่ เรื่องเพื่อปากท้องไปจนถึงเรื่องเพื่อประเทศชาติ หลังดื่มเสร็จจึงค่อยแยกย้ายกันไปทำงานในสวนของแต่ละคน

สถานที่นั่งรวมพลมักจะไปประจำกันที่บ้านของซ้ง บางทีก็วนไปบ้านเพื่อนคนอื่น พอทำบ่อยเข้าไม่รู้ใครแอบตั้งชื่อว่า ‘สภากาแฟ’ และซ้งมักเอาคำนี้มาใช้จนเป็นคำติดปากไปในที่สุด

ในสภาต่างคนดื่มกาแฟ แต่กาแฟเหมือนกันบางครั้งไม่เหมือนกัน บางคนชอบกาแฟผงสำเร็จรูป บางคนชอบกาแฟที่เก็บเมล็ดมาจากต้นหลังบ้าน

กาแฟในแก้วที่ซ้งยื่นให้เป็นกาแฟที่เก็บมาจากต้น

เขาเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนในหมู่บ้านปลูกกาแฟไว้หลายร้อยต้น แต่ปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการดูแล บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร ชุมชนไม่มีความรู้ว่าต้องทำอย่างไรกับพันธุ์ไม้ตัวนี้ ไม่รู้ว่าผลของมันเอาไปทำอะไรได้บ้าง หรือมีมูลค่าเป็นเงินตรามากน้อยแค่ไหน ต้นกาแฟจึงเติบโตกันเองตามยถากรรม แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับโอกาสนั้น ล้มหายตายไปเสียเกือบหมด

“พอมูลนิธิเข้ามาส่งเสริมอาชีพเป็นมิตรกับป่า ถึงได้รู้ว่าบ้านเราก็มีของดีเหมือนกัน” เขาหมายถึงมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

“ดื่มกาแฟที่นี่ นอกจากสดชื่น และแก้หนาวแล้วยังได้รักษาป่าด้วยนะ” เพื่อนหนุ่มของซ้งสำทับพลางแอ่นอกยิ้มอย่างภูมิใจ

“กาแฟรักษาป่าได้อย่างไร” ผมวางคำถามลงพร้อมกับแก้วกาแฟที่เหลือเพียงรอยคราบสีน้ำตาลเข้ม ซ้งไม่ตอบในทันทีแต่รินน้ำชาดอกกาแฟให้ดื่ม

“กาแฟนอกจากเป็นกาแฟแล้ว ยังเป็นน้ำชา และเป็นอะไรได้อีกเยอะ ไว้ผมจะพาไปดูครับ” เป็นทีของซ้งที่ยืดอกยิ้มอย่างภูมิใจกลางสภากาแฟ

 

2
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

สวนสูงหลังคล้อยเที่ยงวันอากาศไม่น่ารักเหมือนตอนเช้า ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,400 เมตร ทำให้เรายืนอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นไปอีกหน่อย

ซ้งกวักมือเรียกผมที่ยืนงงแดดให้รีบหลบในเงาไม้ โชคดีพื้นที่ทำกินจำนวน 10 ไร่ของเขามีความร่มรื่นปกคลุมอยู่ครึ่งหนึ่ง

“ถ้ามาเมื่อ 4 – 5 ปีก่อนสงสัยเป็นลมไปแล้ว” ซ้งเย้าแหย่พลางยื่นกระติกใส่น้ำเย็นมาให้

ก่อนนั้นป่าเคยเป็นป่า แต่ระหว่างเวลาเดินทางมาถึงปัจจุบันที่เห็นหย่อมสีเขียวเมื่อมองลงมาจากฟ้าของวันนี้ พื้นที่ของหมู่บ้านแม่กลองน้อยในวันก่อนหน้าก็ไม่ต่างจากภาพข่าวเขาหัวล้านหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวในบางจังหวัด

ภาพอดีตกับปัจจุบันนั้นเคยมีความเหมือนกันและเคยมีความต่างกัน

ก่อนวันซ้งเกิด พ่อกับแม่รำลึกความหลังให้ฟังว่าที่นี่เคยเป็นดงฝิ่น แต่หลังจากรัฐไทยมีมาตรการปราบปรามพืชสิ่งเสพติด ชาวบ้านก็ปรับเปลี่ยนวิถีมาปลูกพืชผักอย่างอื่นทดแทน

ตามที่จำความได้ ซ้งเน้นว่าเป็นการปลูกเพื่อกิน

“สมัยเด็กๆ ผมชอบวิ่งเล่นในสวน เพราะมีผลไม้ให้กินเยอะแยะ ป่าไม้ร่มรื่น น้ำท่าก็มีให้ใช้ไม่เคยขาด สนุกมากๆ เลย”

แต่เมื่อหมู่บ้านลำเนาไพรมีถนนพาดผ่าน พ่อค้าจากเมืองไกลก็เริ่มเดินทางมาเจรจาธุรกิจขอซื้อพืชผักในราคาศิวิไล ทั้งยังแนะนำสารเคมีกำจัดหญ้าและศัตรูพืชไว้เป็นเพื่อนทุ่นแรง จากสวนครัวที่เคยหลากหลายจึงเหลือเพียง ‘กระหล่ำปลี’ ยืนเด่นอยู่ชนิดเดียว

ในยุคสมัยหนึ่งแทบทุกบ้านปลูกกันเป็นธรรมดา ไม่เว้นแม้แต่ครอบครัวของซ้งเพราะเป็นสินค้าหลักที่พ่อค้าต้องการ

เผลอไผลไม่ทันไรป่ารอบบ้านก็หายวับไปราวถูกเสกด้วยเวทย์มนต์ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ดินแล้งร้อน เรื่องราวก็เข้าทางอีหรอบที่ว่า “พวกชาวเขาชอบทำลายป่า”

ซ้งไม่ปฏิเสธข้อกล่าวหา และยอมรับว่าตัวเองคือหนึ่งในผู้ทำลาย “เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้านไปสุดที่ไหน สนแค่ว่าได้ไปเล่นน้ำจับปลากับตักน้ำมาใช้ ชาวบ้านก็ไม่รู้เลยบริบทของพื้นที่เป็นอย่างไร มีความสำคัญแบบไหน เกี่ยวข้องกับคนมากน้อยเท่าไหร่ รู้แค่ว่าอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร…”

แดดบ่ายร้อนแรงอย่างไม่น่าทำความรู้จัก แต่บางนาทีมีสายลมเย็นพัดมาปลอบประโลมช่วยให้คนลืมความท้อแท้

“ผมหวังว่ากาแฟที่ทำอยู่จะช่วยพลิกฟื้นความสมบูรณ์กลับคืนมา” เขาพูดระหว่างกวาดตามองพื้นที่โล่งกว้างเบื้องหน้า

ในประโยคนั้นมีความถูกต้องแล้วกึ่งหนึ่ง ร่มไม้ที่เรานั่งใช้หลบร้อนนี้เป็นหลักฐานชั้นดีของความพยายามที่ได้เริ่มต้นกันมาแล้ว

“นอกจากสวนของพี่แล้ว ตอนนี้มีกี่คนแล้วครับที่เริ่มหันมาปลูกกาแฟเพื่อรักษาป่าแบบพี่” สายลมแห่งความหวังยังพัดโชยมาไม่ขาดแม้สิ้นเสียงคำถาม

“เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังตอนมื้อเย็นนะ ผมขอรดน้ำต้นไม้ต่ออีกหน่อย” ซ้งตอบพลางพาตัวเองออกเดินฝ่าแสงแดดย่ามบ่ายอย่างไม่ยี่หระ

 


บทความโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร