เสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ มีความสามารถในการล่าสัตว์กีบขนาดใหญ่ได้อย่างน่าอัศจรรย์
จากผลการศึกษาในอดีตของ ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ นักวิจัยเสือโคร่ง พบว่าอาหารของเสือโคร่งมีทั้ง กระทิง วัวแดง กวางป่า เก้ง และหมูป่า โดยพฤติกรรมในการล่าเหยื่อจะใช้วิธีซุ่มรอ เมื่อได้ระยะที่เหมาะสม (ประมาณ 15 – 30 เมตร) จะทำการกระโจนเข้าหาเหยื่ออย่างรวดเร็ว เมื่อฆ่าเหยื่อได้มักจะกินไป และลากเหยื่อไป วิธีการล่าเหยื่อของเสือโคร่งจะแตกต่างจากสัตว์กลุ่มหมาหรือว่าสัตว์ในกลุ่มแมวป่าที่อยู่ในแอฟริกา เช่น เสือชีต้าห์ ที่จะใช้วิธีการวิ่งไล่ล่าเหยื่อ
การศึกษา เรื่อง การเลือกพื้นที่ล่าเหยื่อของเสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี โดย สมพร พากเพียร ได้ทำการศึกษาอิทธิพลของปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อความสำเร็จในการล่าเหยื่อของเสือโคร่ง รวมทั้งอธิบายพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการล่าเหยื่อของเสือโคร่ง
ผลการศึกษาข้อมูลพบว่า พื้นที่ที่เหมาะสำหรับการล่าเหยื่อของสัตว์ผู้ล่าโดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับความชุกชุมของเหยื่อ และลักษณะของพื้นที่ที่เอื้อต่อการล่าเหยื่อเป็นสำคัญ แต่สำหรับเสือโคร่งความชุกชุมของเหยื่อไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการล่าเหยื่อ ปัจจัยที่ส่งผลอย่างมาก คือ ลักษณะของพื้นที่ โดยลักษณะของพื้นที่ที่มีไม้พุ่มมากหรือมีความหนาแน่นของต้นไม้มากจะพบว่าความสำเร็จของการล่าเหยื่อของเสือโคร่งมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่มีลักษณะของการปกคลุมเรือนยอดที่หนาแน่นกว่า
ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าชนิดเหยื่อหลักๆ ของเสือโคร่ง มี 11 ชนิดด้วยกัน เช่น กวาง วัวแดง กระทิง สอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นอื่นๆ ที่ได้ทำการศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ และจากงานวิจัยยังพบว่าเสือเป็นผู้ล่าช้างที่สำคัญ
ในงานวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบข้อมูลพื้นที่ที่มีความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า และข้อมูลสถานภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมของกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า พบว่าพื้นที่ที่มีความชุกชุมของช้างป่าปานกลางถึงสูง เป็นพื้นที่ที่ไม่มีเสือโคร่งหรือมีความชุกชุมของเสือโคร่งน้อยหรือน้อยมาก การศึกษาทำให้ทราบว่าเสือโคร่ง น่าจะเป็นสัตว์ผู้ล่าชนิดเดียวในประเทศไทยที่เป็นตัวควบคุมประชากรช้างป่า
นักวิจัยให้ความเห็นว่า พื้นที่ไหนมีช้างป่าเยอะควรมีการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งเพื่อให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ
ปัจจุบัน ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้คำมั่นสัญญาในการประชุมเสือโคร่งระดับโลก (Tiger Summit) ปี 2553 ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ว่าจะฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ได้ให้เป็นสองเท่าของจำนวนประชากรในปัจจุบัน ภายในปี 2565 ซึ่งการจะฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งนั้นจำเป็นต้องมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายอย่าง ที่สำคัญการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งให้ประสบผลสำเร็จ ระบบการป้องกันรักษาพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าพื้นที่ป้องกันดีมีความปลอดภัยเหมาะสมต่อการเป็นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง ประชากรเหยื่อได้รับการฟื้นฟู เมื่อนั้นโอกาสในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งให้กลับมาเพื่อสร้างความสมดุลในระบบนิเวศพื้นที่อื่นๆ ก็ยังคงมีความหวัง