เสือโคร่งในประเทศไทย กับงานวิจัยเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์

เสือโคร่งในประเทศไทย กับงานวิจัยเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์

เสือโคร่งในอดีตมี 9 สายพันธุ์ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 6 สายพันธุ์ ความจริงข้อนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิเสธและไม่ควรมองข้าม

ทำไมเสือโคร่งถึงสูญพันธุ์ ? และจะทำอย่างไรเพื่อการป้องกัน ?

ปัจจุบันสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กำลังทำงานเพื่อช่วยให้เสือโคร่งสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ที่เหลืออยู่ได้อย่างปกติ ผ่านการทำงาน “วิจัย”

งานวิจัย ช่วยเหลือเสือโคร่ง ได้อย่างไร ?

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้อธิบายเอาไว้ว่า “เพราะไม่มีองค์ความรู้เรื่องเสือโคร่ง มีเพียงข้อมูลที่เป็นคำบอกเล่าปากต่อปาก สามารถอ้างอิงได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ทั้งหมด ไม่สามารถอ้างอิงข้อมูลตามหลักวิทยาศาสตร์ได้เลย จึงต้องทำงานวิจัย ซึ่งงานวิจัยน่าจะช่วยให้เกิดการจัดการอย่างจริงจังได้สำเร็จ”

เพราะงานวิจัย ไม่ใช่แค่องค์ความรู้ แต่เป็นการทำความเข้าใจ เพื่ออยู่ร่วมกันได้ และใช้ประโยชน์ได้

นักวิจัย เล่าว่า งานวิจัยเสือโคร่งนั้น เริ่มต้นจากการศึกษาร่องรอยที่สัตว์ผู้ล่าได้ทิ้งไว้ ถามว่าทำไมต้องศึกษาร่องรอย ไม่เฝ้าศึกษาพฤติกรรมของเจ้าตัวไปเลย คำตอบคือ เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ใช้พื้นที่ในการเป็นที่อยู่อาศัยเป็นบริเวณกว้าง การจะตามหาตัวนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งที่พบเห็นได้ง่ายกว่าเสือโคร่งนั้นคือร่องรอย

ร่องรอยที่เสือโคร่งทิ้งไว้ อาทิ รอยตีน รอยคุ้ย มูล การทำสเปรย์ (หรือฉี่)

เหตุที่พบร่องรอยของเสือโคร่งได้ง่าย เพราะร่องรอยคือปัจจัยในการสื่อสารของสัตว์ป่าแทนการพูดคุย โดยอาศัยการมอง และการดมกลิ่น ยกตัวอย่างในมูลของเสือโคร่งอาจมีเฮอร์โมนของเพศเมียที่กำลังเป็นสัด หรือการสเปรย์ก็เป็นการประกาศอาณาเขตที่อยู่อาศัยของตัวโคร่งเพศผู้

ดังนั้นในการเริ่มทำวิจัยเรื่องเสือโคร่ง ก็คือการอาศัยร่องรอยเป็นหลัก

ในมูลทำให้ทราบว่าเสือโคร่งกินอะไรเป็นอาหาร เพราะมูลที่ถ่ายออกมาจะมีพวกเศษขน เศษเล็บ เศษกระดูกของสัตว์ที่ไม่สามารถย่อยได้ออกมาด้วย เป็นการวิจัยแบบลัดขั้นตอนโดยไม่ต้องไปนั่งเฝ้า

“เอาเส้นขน เอากระดูก มาสังเกต มาส่องกล้อง ก็จะทราบว่าเป็นสัตว์ชนิดใด เพราะมีงานวิจัยเรื่องพวกนี้อยู่ก่อนแล้ว”

งานวิจันเสือโคร่ง สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ / PHOTO ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

การทราบว่าเสือโคร่งกินสัตว์ใดเป็นอาหาร ทำให้สามารถประเมินถึงจำนวนประชากรของสัตว์ชนิดอื่นได้ด้วย เพราะเสือจะกินเหยื่อเพื่อการดำรงชีวิตเท่านั้น ไม่ได้กินฟุ่มเฟือย ถ้าเศษของสัตว์ชนิดไหนเริ่มน้อยลงไป หรือไม่มี ก็จะทราบว่าอาหารของเสือกำลังลดลง

“บางคนเห็นเสือโคร่งกินวัวแดง ก็เข้าใจว่าแบบนี้วัวแดงต้องหมดแน่ แต่ที่ห้วยขาแข้งยังมีฝูงวัวแดงในจำนวนที่มาก”

ในทางตรงกันข้าม เสือเป็นตัวช่วยในการคัดเลือกพันธุ์ ตัวที่อ่อนแอ หรือเจ็บป่วยก็จะถูกล่าได้ง่าย การกระจายของโรคก็จะได้ไม่ไปไกล ส่วนตัวที่แข็งแรงก็จะรอด และสามารถสืบพันธุ์ได้ต่อ ฉะนั้นในป่า การสูญเสียชีวิตหนึ่ง ก็คือการเริ่มต้นของอีกหลายชีวิต

งานวิจัยจากการตามร่องรอยอีกเรื่องคือการตามรอยสเปรย์ (ฉี่) ของเสือด้วยการดมกลิ่น

การตามรอยสเปรย์ของเสือนั้นมีประโยชน์มากในงานวิจัย เพราะรอยสเปรย์ถือเป็นร่องรอยที่พบได้มากที่สุด ในขณะที่ทีมวิจับใช้เวลากว่า 3 ปี ในการหามูลได้เพียง 257 กอง จากการออกหาทุกวัน แต่รอยสเปรย์นั้นจะถี่ มีทุกที่ที่เสือผ่าน เพราะอย่างเสือตัวผู้ก็ต้องการทำอาณาเขตของมันไว้

ในช่วงปี 2547 มีการพยายามประเมินจำนวนประชากรของเสือโคร่ง โดยการติดกล่องคาเมราแทป แต่ติดปัญหาที่ว่า ไม่รู้จะติดตั้งกล้องไว้ตรงไหนจึงจะสามารถถ่ายภาพเสือโคร่งได้ จะสุ่มตั้งก็ไม่ได้ ก็ต้องอาศัยการตามรอยสเปรย์เอาแทน

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ บอกกว่า กว่าจะทราบว่าอันไหนเป็นรอยสเปรย์ของเสือโคร่งก็ใช้เวลาในการศึกษานานเหมือนกัน เพราะต้องแน่ใจว่านี่ใช้รอยของเสือโคร่งแน่ๆ ไม่ใช่รอยของเสือชนิดอื่น อย่างเสือดาว (ในไทยพบว่าเสือดาวไม่มีการสเปรย์)

เมื่อแน่ชัดเรื่องรอยสเปรย์ตามจุดต่างๆ แล้วก็สามารถหาจุดติดตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพของเสือได้อย่างเหมาะสม งานวิจัยเรื่องจำนวนประชากรของเสือโคร่งก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น

งานวิจัยเสือโคร่งในปัจจุบันมีเป้าหมายหลักอยู่ 3 เรื่อง คือ (1) การศึกษานิเวศวิทยาของเสือในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งถือเป็นไข่แดงของผืนป่าใหญ่ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย (2) การติดตามตรวจวัดประชากรของเสือโคร่งและเหยื่อ และ (3) ศึกษาการแพร่กระจายของเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตก

การศึกษานิเวศวิทยาเสือโคร่ง เพื่อทราบถึงปัจจัยแวดล้อมของเสือโคร่งว่าเสือโคร่งตัวหนึ่งใช้ชีวิตอย่างไร และตัวของเสือโคร่งมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร

ซึ่งงานวิจัยทั้ง 3 เรื่อง ดร.ศักดิ์สิทธิ์บอกว่า จะไม่ได้เป็นเพียงแค่องค์ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่จะสามารถนำมาใช้เป็นแบบแผนในงานอนุรักษ์ได้อีกด้วย

“เสืออยู่ได้ ไม่ใช่เพราะตัวมันเอง แต่เพราะมีการป้องกัน ถ้ามีการล่าอย่างรุนแรง มีการทำลายพื้นที่ป่าอย่างรุนแรง ประชากรของเสือจะลดลง”

ดังนั้น แนวโน้มของการอยู่รอดของเสือ ใจความสำคัญอีกอย่าง คือ การมองเรื่องการป้องการหรือการจัดการพื้นที่

งานวิจัยเรื่องเสือโคร่ง การติดตามจำนวนประชากร ทำให้ทราบว่า ตรงไหนมีเสือโคร่ง ตรงไหนไม่มี ตรงที่ไม่มี ไม่มีเพราะอะไร เพราะไม่มีเหยื่อให้ล่า หรือเพราะมีภัยคุกคามเข้าไปถึงตรงนั้น แล้วที่ไม่มีจะทำอย่างไร จะทำให้มีหรือไม่ แล้วตรงที่มี จะทำอย่างไรต่อไป จะให้มีต่อไปหรือไม่ หรือต้องการจะเพิ่มหรือไม่ เหล่านี้สามารถนำไปสู่เรื่องของการทำงานอนุรักษ์

“เสือโคร่งมีความสำคัญ ไม่เฉพาะว่ามันเป็นเสือโคร่ง เป็นสัตว์ใกล้สุญพันธุ์ แต่เพราะมันมีความสำคัญมากกว่านั้น”

การรักษาเสือโคร่ง คือ การรักษาเผ่าพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่ขณะเดียวกันธรรมชาติก็ได้รับการดูแลไปด้วย การมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ไม่ได้เป็นประโยชน์เพียงกับเสือโคร่งๆ แต่เป็นผลดีโดยตรงต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ การป้องกันภัยธรรมชาติ เพราะการรักษาเสือโคร่งได้ คือการรักษาป่าขนาดใหญ่ การรักษาป่าขนาดใหญ่คือการรักษาพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต และก็เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์อีกด้วย

“เรายังไม่รู้อะไรอีกเยอะแยะมากมายว่าเสือโคร่งจะมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์หรือเปล่า แต่ถ้าเราไม่พยายามรักษาป่าไว้ เสือโคร่งก็หมด เพราะฉะนั้นการรักษาเสือโคร่งเป็นการรักษาสัตว์ที่สูญพันธุ์เพื่อมนุษย์”

เสือโคร่งจะหมดไปก็ด้วยมนุษย์ แต่เสือโคร่งจะอยู่ได้ก็ด้วยมนุษย์เช่นกัน


 

บทความโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
เผยแพร่ครั้งแรก 21 พฤศจิกายน 2011