หากพูดถึงสัตว์ที่เป็น ‘เจ้าป่า’ หลายคนคงนึกถึงพญาราชสีห์ หรือสิงโตที่วิ่งล่าเหยื่ออยู่ในทุ่งหญ้าสะวันนาในแอฟริกา แต่สำหรับซีกโลกตะวันออก ‘เสือโคร่ง’ ถือเป็นราชาแห่งพงไพร โดยหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมามีรายงานว่าเสือโคร่งส่วนใหญ่เดินทางไปมาอยู่ในแถบทวีเอเชีย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมจำนวนประชากรสัตว์กินพืชในผืนป่าธรรมชาติ
ความดุดันผนวกกับความเด็ดขาดของเสือโคร่งในการล่าเหยื่อ ส่งผลให้ธรรมชาติโดยทั่วไปของ เจ้าพยัคฆ์ลายพาดกลอน มักใช้ชีวิตอย่าง ‘สันโดษ’ ไม่นิยมอยู่กันเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม
ชีวิตและหน้าที่ของเจ้าป่า
หากนึกถึงสัตว์ที่มักจะดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดียวแล้ว เสือโคร่งคงเป็นสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่ต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง แน่นอนว่า ‘เจ้าลายพาดกลอน’ นั้นมีชีวิตที่รักความสันโดษ แต่มีข้อยกเว้นไว้สำหรับแม่เสือที่มีลูกอ่อน ขณะเดียวกันเสือแต่ละตัวอาจจะมีอาณาเขตหากินที่ไม่ห่างไกลกันนัก เสือโคร่งบางตัวอาจมีพฤติกรรมการเข้าสังคม อย่างการแบ่งปันเหยื่อซึ่งกันและกันอีกด้วย
โดยทั่วไปเสือโคร่งมักจะหลบซ่อนตัวอยู่ตามถ้ำ โพรงไม้ และในบริเวณที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ส่วนใหญ่มักจะออกมาในตอนกลางคืน ซึ่งเสือโคร่งแต่ละตัวจะมีอาณาเขตอาศัยเป็นของตัวเอง มีงานวิจัยเสือโคร่งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งพบว่า เสือเพศผู้มีขนาดพื้นที่อาศัยประมาณ 267-300 ตารางกิโลเมตร ส่วนเพศเมียมีขนาดพื้นที่อาศัยประมาณ 60-70 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่ที่มีเหยื่ออุดมสมบูรณ์
ดังนั้นหากพูดตามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศแล้ว เสือโคร่งถือเป็น ‘ผู้ล่า’ ที่อยู่บนสุดของสายใยอาหาร (food web) โดนการล่าเหยื่อของเสือนั้น ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ช่วยทำให้ระบบนิเวศมีความสมดุลเกิดขึ้น
เสือโคร่งมีหน้าที่เป็น ‘ผู้ควบคุมจำนวนประชากร’ สัตว์กินพืชในผืนป่าไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป ซึ่งอุปมาอุปมัยได้ว่า หากป่าแห่งใดมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ ผืนป่าแห่งนั้นย่อมมีสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือโคร่งมาก ดังนั้นเสือโคร่งจึงสามารถเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่มีสัตว์ป่าดำรงอยู่ได้อย่างชัดเจน
ล่าเหยื่อด้วยความสันโดษ
สำหรับอุปนิสัยโดยทั่วไปของเสือโคร่ง มักใช้ชีวิตเป็นปัจเจก สันโดษ และมักเป็น ‘นักล่าฉายเดี่ยว’ โดยมีวิธีการล่าเหยื่อด้วยการใช้ประสาทสัมผัสทางตาและฟังเสียง มากกว่าการดมกลิ่น และมักจะออกล่าเพียงตัวเดียว สำหรับวิธีการล่าเหยื่อของเสือโคร่งนั้น จะมีวิธีการซุ่มรอเช่นเดียวกันกับเสือและแมวทั่วไป โดยอาศัยต้นไม้ใบหญ้าพรางตัวแล้วค่อย ๆ ย่องเข้าไปใกล้เหยื่อทางด้านหลังหรือด้านข้าง เมื่อได้จังหวะและระยะพอเหมาะ เสือโคร่งก็จะกระโจนเข้าใส่เหยื่อที่หมายตาไว้อย่างรวดเร็ว โดยหมายที่บริเวณขอของเหยื่อซึ่งเป็นจุดตายสำคัญ
เมื่อกินเหยื่อจนอิ่มหนำสำราญแล้ว เสือโคร่งก็จะนำหญ้าหรือเศษใบไม้มาคลุมอำพรางเหยื่อไว้ เพื่อกลับมากินซากที่เหลือต่อในสองถึงสามวัน ซึ่งเสือหนึ่งตัวสามารถกินเนื้อได้ถึง 40 กิโลกรัมในหนึ่งครั้ง เพราะฉะนั้นเสือต้องกินเก้งถึง 3 ตัวต่อสัปดาห์จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ถ้ากินกวาง 1 ตัวอาจอยู่ได้ทั้งสัปดาห์
ดังนั้นสังคมสัตว์ผู้ล่าอันประกอบด้วย เสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ และหมาใน จะสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีสัตว์ที่เป็นเหยื่อหลายชนิด และมีจำนวนมากเพียงพอต่อสัตว์ทั้งหมด
มีบ้างหากประสบอยู่ในภาวะอาหารขาดแคลน เสือโคร่งก็อาจล่าสัตว์เล็กอย่างลิง นก ปลา หรือสัตว์เลื้อยคลาน หรือแม้แต่กระทั่งบางครั้งเสือโคร่งอาจฆ่าและกินเสือดาวหรือแม้แต่เสือโคร่งด้วยกันเอง รวมถึงสัตว์ล่าเหยื่อชนิดอื่น ๆ อีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลประกอบ WCS Thailand WWF-ประเทศไทย เสือโคร่ง
บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร