กลุ่มป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง เพราะนอกจากเป็นกลุ่มป่าที่มีขนาดใหญ่และต่อเนื่องกันแล้ว ยังพบร่องรอยสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง อาทิ กระทิง หมูป่า ช้างป่า กวางป่า เก้ง และวัวแดง ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเสือโคร่งอีกด้วย
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา สถานการณ์แหล่งอาศัยของเสือโคร่งได้ลดจำนวนลง และสูญหายไปจากป่าธรรมชาติของประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนประเทศไทยนอกจากในกลุ่มป่าตะวันตก รองลงมาคือกลุ่มป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ และพื้นที่แห่งอื่นกระจายออกไปไม่ถึง 10 ตัว
สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งปัจจุบันกำลังทำวิจัย “การครอบครองพื้นที่ของเสือโคร่ง (Occupancy) ในผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น–เขาใหญ่” อธิบายว่า “การกระจายของเสือโคร่งสัมพันธ์กับความเป็นอยู่ของเหยื่อ ถ้ามีเหยื่อขนาดใหญ่อยู่ก็จะมีเสือโคร่งอยู่ เช่นป่าตะวันตกที่มีทั้งกระทิง วัวแดง กวาง และในกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่เองก็มีกระทิงและวัวแดงอยู่บ้าง”
การทำวิจัยนี้เกิดจากความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่จากกลุ่มวิจัยสัตว์ป่า, WCS, Freeland, สถานีวิจัยสัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติในพื้นที่ ร่วมกันอบรมเรียนรู้เทคนิคการใช้เทคโนโลยี GIS การจำแนกร่องรอยและทำความเข้าใจพื้นที่พร้อมทีมงานจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำและ สถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทราเข้ามาช่วยทำงาน
จากการสำรวจ สังเกต จำแนกร่องรอย และบันทึกข้อมูลการกระจายของสัตว์ป่าตลอดระยะเวลา 5 เดือน (เมษายน–สิงหาคม 2560) รวมระยะทาง 1,329 กิโลเมตรพบร่องรอยสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งทั้งกระทิงหมูป่าช้างป่ากวางป่าเก้งและวัวแดงตามลำดับ
สัตว์เหล่านี้กระจายไปตามพื้นที่เหมาะสมสำหรับกระทิงสามารถพบได้ทั่วไปในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และทับลานหมูป่ากระจายอยู่ทั่วไปส่วนกวางป่าสามารถพบได้น้อยโดยพวกมันกระจายอยู่บริเวณกลางอุทยานพบได้น้อยในพื้นที่ปางสีดาและมักจะอาศัยอยู่ห่างไกลกับการเลี้ยงปศุสัตว์แบบปล่อยส่วนเก้งสามารถพบได้ตามขอบป่า
“การกระจายของเสือโคร่งนั้นไม่ปรากฏร่องรอยบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเหยื่อจะทราบว่าเสือโคร่งมีความสัมพันธ์กับหมูป่าในพื้นที่สูง โดยเสือโคร่งจะอาศัยพื้นที่บริเวณหนึ่งในกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่”
นอกเหนือจากการสำรวจด้านสัตว์ป่าแล้ว ในการสำรวจยังพบภัยคุกคามในพื้นที่ซึ่งซ้อนทับกับถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง ทั้งการทำไม้พะยูง ไม้กฤษณา คิดเป็นอัตราร้อยละ 79, การล่าสัตว์ ร้อยละ 11 รวมถึงการปศุสัตว์
“ความเสี่ยงในการอยู่รอดของเสือโคร่งในกลุ่มป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ เป็นความท้าทายของเจ้าหน้าที่ในการรักษาทรัพยากรที่สำคัญนี้ไว้ ซึ่งพื้นที่ที่เสือโคร่งใช้ประโยชน์นั้นซ้อนทับกันกับพื้นที่ที่มีภัยคุกคาม“
ปัจจุบัน “โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่ดงพญาเย็น–เขาใหญ่“ กำลังดำเนินการ 4 ภารกิจหลัก ดังต่อไปนี้
(1) สร้างเสริมความเข้มแข็งในการเดินลาดตระเวนให้กับพื้นที่โดยใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Partrol) (2) นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการติดตามการกระทำผิดกฎหมายอย่างเป็นระบบ (3) พัฒนาระบบการติดตามตรวจวัดประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น–เขาใหญ่ และข้อมูลสัตว์ป่าในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง (4) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและชุมชนโดยรอบพื้นที่ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่ดงพญาเย็น–เขาใหญ่