หากกล่าวถึงผืนป่าตะวันตก ผืนป่าใหญ่ที่สุดของไทยซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 12,215,159 ล้านไร่ หาใช่เพียงแต่มีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพันธุ์และสัตว์ป่าเท่านั้น ในป่าผืนดังกล่าวยังมีชุมชนตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยอยู่กว่า 100 ชุมชน
ในปี พ.ศ. 2547 – 2557 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เข้าไปเก็บข้อมูลผืนป่าตะวันตกภายใต้การทำงานในโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก ทำให้ทราบว่า ภายในผืนป่าตะวันตกมีชุมชนที่เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ปาเกอญอ และชาติพันธุ์อื่นในพื้นที่รวมประมาณ 30 ชาติพันธุ์ นับเป็น 129 ชุมชน จึงส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาผืนป่าตะวันตกที่เป็นป่าที่มีความสำคัญระดับประเทศ
หากจะกล่าวถึงความสัมพันธ์หรือสถานะของคนกับป่านั้น จำเป็นต้องท้าวความไปใน ปี พ.ศ. 2484 ซึ่งเกิดพระราชบัญญัติป่าไม้ขึ้นมาเพื่อประกาศพื้นที่ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีการใช้ประโยชน์ทั้งหมดให้เป็นพื้นที่ป่าทั้งหมด หลังจากนั้นเริ่มมีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ เริ่มมีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และเริ่มนโยบายป่าไม้แห่งชาติมาจัดการคนที่อยู่ในป่าโดยการอพยพคนออกนอกพื้นที่ที่เรียกว่าป่า
ต่อมาชุมชนเริ่มลุกขึ้นมาต่อสู้ด้านพระราชบัญญัติป่าชุมชน ก่อเกิดเป็นภาพประชาสังคมใส่ใจดูแลทรัพยากรธรรมชาติเป็นรูปธรรมที่สุด จนถึงปัจจุบันนี้ ในเรื่องของสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ภาพของการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐบาลตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบันกับชุมชนยังปรากฎให้เห็นได้น้อย ถึงแม้จะสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการร่วมกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติ แต่ในด้านกระบวนการปฏิบัตินั้นไม่ได้รับความสำคัญมากนัก
แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันยังน่าเป็นห่วง แต่พื้นที่ป่าไม้ประเทศไทยมีการจัดการดูแลไปในทิศทางที่ดีขึ้น จนปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ (จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียม ปี 2559) ประมาณ 102 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังคงพื้นที่ป่าประมาณ 61 ล้านไร่ และพื้นที่ในความดูแลของกรมป่าไม้ที่ยังคงสภาพป่า ประมาณ 41 ล้านไร่
แต่พื้นที่เพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอให้ธรรมชาติเกิดความสมบูรณ์ กระบวนการดูแลและจัดการทรัพยากรนับจากนี้ไปคงไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวแล้ว ภาคเอกชน ประชาชนต้องเข้ามาช่วยฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน
ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้กล่าวข้อเสนอถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้านการจัดการพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ป่าไม้ประเทศไทยว่า พื้นที่ป่ามีเพียงพอและเต็มที่ของมันแล้ว ถึงเวลาที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากร โดยขอเสนอให้มีการใช้มติ ครม. ใหม่ ในการสำรวจพื้นที่ป่าอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาชุมชน ซึ่งชุมชนต้องดูแล แบ่งแนวเขต และกฎกติกาที่ชัดเจน ด้านรัฐบาลควรส่งเสริมอาชีพโดยใช้แนวทางชุมชนเป็นมิตรกับพื้นที่ เช่น วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่และชุมชนสร้างกลไลทำงานร่วมกัน
ด้านการดูแลพื้นที่ป่าไม้ในป่าสงวนแห่งชาติ ควรใช้ข้อมูลเดียวกันกับป่าอนุรักษ์ในการสำรวจพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งทั้งบทบาทการรักษาป่าที่เหลือไว้ เจ้าหน้าที่และชุมชนเข้มแข็ง การจัดตั้งป่าชุมชน เปลี่ยนเกษตรพืชเชิงเดี่ยวให้เป็นพื้นที่สีเขียว รัฐบาลต้องส่งเสริมงบประมาณหรือพันธบัตรป่าไม้ และปรับให้องค์กรอิสระเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน อีกทั้งการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่ต้องเป็นไปได้ด้วยความเข้าใจ มิใช่การใช้อำนาจทางกฎหมายข่มเหงชาวบ้าน
ช่วงเปลี่ยนผ่านยุคสมัยหน้าที่บทบาทการดูแลทรัพยากรนี้เองเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ รัฐบาลเข้ามามีอำนาจในการสูบกินทรัพยากรตั้งแต่อดีตถึงประมาณปี 2540 เป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน แม้ปัจจุบันประชาชนจะเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมแล้วก็ตาม แต่การจะทำให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลานานกว่า และอาจนานเป็นร้อยปี กว่าช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จะสิ้นสุดลง