ตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์จนถึงมีนาคม เว็บไซต์ airvisual.com ซึ่งรายงานคุณภาพอากาศของทั่วโลก รายงานดัชนีคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในอันดับต้นๆ ของเมืองที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่และเป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก
นี่ไม่ใช่ปีแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องเจอวิกฤตเช่นนี้ ที่ผ่านมาเรียกได้ว่าแทบจะเป็นปัญหาประจำปีที่เวียนมาตามนัดอย่างไม่เคยคลาด และครั้งหนึ่งปัญหาฝุ่นควันก็เคยถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งแก้ไขมาแล้ว
แต่ก็ดูเหมือนการแก้ไข (?) ในหลายปีที่ผ่านมาจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมชัดนัก
ในวันที่ดอยสุเทพหายไปจากเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมซ้ำกันทุกปี ขณะที่รัฐดูเหมือนจะไม่มีความกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหา คนเชียงใหม่ และเราทุกคนควรต้องเข้าใจปัญหานี้อย่างไร ? แล้วหนทางในการแก้ไขนั้นอยู่ตรงไหน
ชวนมาฟังความเห็น นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยเรื่องราวของปัญหาฝุ่นควันที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ
และที่ซุกอยู่ใต้พรม…
อยากให้ช่วยวิเคราะห์ที่มาปัญหาฝุ่นควันของเชียงใหม่ และทางภาคเหนือหน่อยว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
ผมคิดว่าเรื่องการเผาเป็นวิถีชีวิตชาวเอเชียอาคเนย์มาเนิ่นนาน ที่ไหนมีป่าเต็งรังกระจายอยู่แสดงว่ามนุษย์แถบนั้นมีการใช้ไฟในการเผาป่าเพื่อประโยชน์ต่างๆ มานานแล้ว ป่าก็ปรับตัวทำให้เกิดนิเวศป่าเต็งรังที่ปรับตัวกับไฟได้ ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องหมอกควันก็จากการเผาชีวมวล และเราก็รู้ได้ว่าฤดูนี้จะต้องมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน แต่ที่มันดูน่าตกใจเพราะช่วง 8-10 ปีที่ผ่านมา มันปรากฏเด่นชัดมาก คนเชียงใหม่ตื่นขึ้นมาแล้วมองไม่เห็นดอยสุเทพ นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่บ่อย แต่ 10 ปีที่ผ่านมา เราจะเจอว่าเดือนนี้ดอยสุเทพมันหายไป ซึ่งเป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นว่ามันรุนแรงมากขึ้น
ประกอบกับก่อนหน้านี้ยังไม่มีตัวชี้วัดด้านมลพิษ ทางกรมควบคุมมลพิษก็มีตัวเลข PM10 คนก็ยังไม่ค่อยรู้ว่ามันคืออะไร อันตรายอย่างไร แต่ก็เริ่มเห็นความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างมลพิษทางอากาศกับสุขภาพของคนในช่วงนี้พอดี ข้อมูลก็ออกมาเยอะขึ้น เราก็พยายามจะมองว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรที่ทำให้มันเป็นอย่างนั้น สิ่งที่คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องมากที่สุดก็คือการเผาไร่เพื่อเตรียมพื้นที่ทำการปลูกข้าวโพด ที่ตอนนี้ได้ขยายตัวมากขึ้นในหลายๆ อำเภอรอบจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดทางภาคเหนือ รวมถึงการขยายตัวทั้งในประเทศเพื่อนบ้านในประเทศพม่าหรือลาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะของเกษตรพันธะสัญญาที่ให้เมล็ดพันธุ์แก่เกษตรแล้วเข้ารับซื้อผลผลิตแบบครบวงจร ผลที่เกิดแน่นอนว่าทำให้ข้าวโพดราคาดี ชาวบ้านก็ปลูกกันมากขึ้น การขยายพื้นที่ก็เพิ่มตามไปด้วย
หากเทียบสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างภาคเหนือกับภาคหลาง หรือเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ ที่ไหนมีความรุนแรงมากกว่ากัน
หากเป็นความรุนแรงที่เชียงใหม่คงรุนแรงกว่า เพราะช่วงมีค่ามลพิษสูงที่เชียงใหม่ขึ้นไปเกิน 400 แต่ที่กรุงเทพฯ ไม่ถึง แต่ในกรณีของกรุงเทพจะเป็นปัญหาที่เรื้อรังมากกว่า เพราะเชียงใหม่ปัญหามาจากการเผาเพื่อการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะมาเป็นฤดูกาล ถ้ามาเที่ยวเชียงใหม่ในฤดูฝนหรือฤดูหนาวก็จะพบอากาศที่ดี แต่กรุงเทพฯ จากข้อมูลที่วิเคราะห์ว่าฝุ่นมาจากไหน จะเห็นชัดว่ามีส่วนประกอบที่หลากหลาย โดยเฉพาะครึ่งหนึ่งมาจากภาคอุตสาหกรรมและการคมนาคม ทำให้กรุงเทพฯ มีปัญหามลพิษตลอดทั้งปี ก็ขึ้นอยู่กับว่าช่วงไหนจะมีเยอะหรือมีน้อย
แล้วปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ หรือลักษณะทางภูมิประเทศมีผลให้ที่เชียงใหม่มีความรุนแรงมากกว่าด้วยหรือเปล่า
ใช่ครับ ความซวยของเชียงใหม่คือเป็นพื้นที่แอ่งกะทะหลายๆ แอ่ง แอ่งลุ่มน้ำปิง วัง ยม ล้อมด้วยภูเขาทั้งด้านตะวันตก ตะวันออก และทางเหนือ ส่วนด้านล่างก็เปิดรับลมจากการเผาเข้ามา มันก็ไปติดอยู่ในกระพุ้งแอ่งอันนี้ ถ้าลมไม่ได้แรงฝุ่นก็ถูกขังอยู่ด้านใน และก็มีเรื่องความผกผันทางสภาพภูมิอากาศ (temperature inversion) ที่ทำให้มวลอากาศอุ่นเข้ามาแทนที่มวลอากาศเย็นในด้านบน กลายเป็นฝาปิดขังฝุ่นควันไม่ให้ลอยขึ้นไปสูง ปกติแล้วมันจะเกิดขึ้นในช่วงกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม แต่ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นถี่และรุนแรงมากกว่าเดิม ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้ระบบมันรุนแรงมากขึ้นเพราะเมื่อก่อนมันก็ไม่ได้เป็นถึงขนาดนี้
อย่างเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีป่าเขาหรือต้นไม้มาก ตรงนี้จะช่วยทุเลาปัญหาลงได้บ้างไหม
ในแง่ของการลดฝุ่น ต้นไม้คงไม่ได้ลดฝุ่นหรือซับฝุ่นโดยตรง เพราะต้นไม้มันไม่ได้ครอบตัวเราไว้ ก็อาจดักฝุ่นเม็ดใหญ่ๆ ไม่ให้เข้าบ้านได้ แต่ถ้าเป็นเม็ดเล็กๆ แบบ 2.5 คงทำไม่ได้ แต่ต้นไม้จะมีความสำคัญในแง่การเพิ่มความชื้นในอากาศ ช่วยควบคุมอุณหภูมิ ก็อาจช่วยลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นของไฟป่าได้ในทางอ้อม ลดการกระจายตัวของไฟ ซึ่งดีกว่าพื้นที่แห้งแล้งที่อุณหภูมิจะสูงมาก ความรุนแรงของไฟก็จะเยอะขึ้นด้วย
ผลกระทบจากฝุ่นละอองตอนนี้ จะมีผลต่อเราอย่างไรในระยะยาว
การที่ดอยสุเทพหายไป มีอาการแสบตา หรือรู้สึกหายใจลำบาก มีเสมหะเยอะ ขี้มูกดำ ล้วนแต่เป็นผลระยะสั้น ส่วนเรื่องผลระยะยาวมันเป็นเรื่องของพิษสะสม เพราะว่า PM 2.5 มันเล็กมากจนมันผ่านเข้ากระแสเลือดไปได้ทั่วร่างกาย ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ ทำให้มีโรคหลอดเลือดตีบในสมอง ในหัวใจ และปรากฏว่าอัตราการตายที่สูงคือโรคหัวใจที่มาจากปัญหามลพิษ เราคิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจใช่ไหม โรคหอบหืดอาจจะป่วยเยอะก็จริง แต่อัตราการตายไม่สูงเท่า สมมติว่าใน 100 คนที่ตายเพราะโรคหัวใจ อาจจะมีสาเหตุมาจากการเป็นเบาหวาน เพราะสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย แต่ในจำนวนนั้นมี 25% เป็นผลมาจากมลพิษทางอากาศ ถือเป็นสัดส่วนที่สูงมากครับ จากที่เราไม่เคยนึก ได้กลายมาเป็นสาเหตุต้นๆ ของการตายจากทั่วโลกไปแล้ว
แล้วตอนนี้เราหวังพึ่งใครได้บ้าง หรือว่าต้องช่วยตัวเองไปก่อน
วันนี้ต้องเป็นตัวเรา สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าตัวเราจะไปหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ที่ไหน กรมควบคุมมลพิษยืนยันว่าข้อมูลของเขาเป็นมาตรฐาน แต่ทางการแพทย์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เห็นด้วย เพราะใช้มาตรฐานที่สูงเกินไปในการบอกว่าอากาศไม่ดี ไม่ได้อิงทางหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือระบาดวิทยา เช่น ค่ามลพิษที่เราเห็นในแอพพลิเคชั่น air4thai มันเป็น ค่าเฉลี่ยต่อวัน แต่ว่าค่าเฉลี่ยต่อวันมันไม่ตอบสนองคน เพราะคนอยากรู้ว่าตอนไหนจะสามารถออกไปข้างนอกได้ บริเวณไหนที่ควรหลีกเลี่ยง ตอนไหนต้องใส่หน้ากาก แล้วจะถอดหน้ากากได้ตอนไหน ระดับมลพิษมันขึ้นลงตลอดเช้าสายบ่ายเย็น ฉะนั้นค่าเรียลไทม์มีความจำเป็นมาก
ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ทางแก้ปัญหาต้องไปทางไหน
สิ่งที่ผมอยากจะเห็น คือ การยกระดับให้เป็นวาระของชาติจริงๆ อย่างที่ชอบพูดกันว่าบูรณาการ แต่ก็ไม่เห็นบูรณาการจริงๆ เสียที ยกตัวอย่างว่า กระทรวงสาธารณสุขอาจเห็นความสำคัญของปัญหา แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะฝ่ายการเมืองท้วงว่าเดี๋ยวคนจะตื่นตระหนก นักท่องเที่ยวจะหายหมด ไม่มีการเตือนภัยอย่างจริงจังกับประชาชน กลายเป็นว่าประชาชนต้องหาทางขวนขวายข้อมูลเพื่อเอามาเตือนตัวเอง มันต้องมีประกาศเตือนออกมาให้ชัดเจนทุกทางว่าตอนนี้ปัญหาฝุ่นควันมีความรุนแรงระดับไหน ต้องประกาศเป็นเขตภับพิบัติได้แล้วหรือยัง ต้องมีการประกาศเตือนไม่ให้คนเข้าไปในพื้นที่ไหนบ้าง
เพราะอะไรถึงเป็นอย่างนั้น
วัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหามากคือการกลัวเสียภาพพจน์ เราเลยรักษาภาพพจน์มากกว่าสุขภาพ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่ไม่เคยใส่หน้ากากเพราะกลัวคนจะตระหนก ฝ่ายประชาสัมพันธ์มาสัมภาษณ์หมอ ขอให้หมอถอดหน้ากากออกเพราะกลัวภาพจะทำให้คนกลัว กรมควบคุมมลพิษประกาศว่าปีนี้ปัญหามลพิษดีขึ้น เกินค่ามาตรฐานไม่กี่วัน แต่ว่าค่ามาตรฐานของเขายกสูงมากเลยมองไม่เห็นปัญหา ทุกอย่างซุกอยู่ใต้พรมหมด
ผมยกตัวอย่างเรื่องโรคเบาหวาน ถ้าพรุ่งนี้คุณอยากให้คนไทยสุขภาพดี คืนนี้ประกาศไปเลยว่าโรคเบาหวานต้องมีน้ำตาลในเลือดเกิน 200 มก. ถึงจะเป็นโรคเบาหวาน รับรองคนไทยสุขภาพดีในชั่วข้ามคืนเลย แต่มันใช่หรือเปล่า มันคือการปิดกั้นไม่มองปัญหา
ทัศนคติแบบนี้แสดงว่าคุณไม่ยอมรับความจริง เราควรยอมรับความจริงจากสิ่งที่เกิด เอาปัญหามาดูกัน ไม่ต้องดราม่า ไม่ต้องตระหนก แต่ต้องตระหนักให้มันถูกต้อง ใช้หลักฐานแก้ปัญหาด้วยหลักวิทยาศาสตร์และมิติทางสังคม วิทยาศาสตร์เป็นแกนในการบอกว่าอะไรอันตราย แต่ในแง่ของการลดปัญหาหมอกควันก็ใช้ปัจจัยเชิงสังคมมาช่วยเสริม
ยกตัวอย่างเพิ่มเติมในเรื่องปัจจัยเชิงสังคม
ถ้าเราทราบแล้วว่าการปลูกพืชเศรษฐกิจสร้างผลกระทบ เราอาจจะต้องหาทางส่งเสริมให้มีการทำเกษตรแบบหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นพืชเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว ทางการเกษตรก็ช่วยหากลไกทางตลาดที่ดีมาเสริม หรือสมมติจะทำข้าวโพด ชาวบ้านเขาไม่มีเงินทุนในการเตรียมพื้นที่เลยใช้วิธีเผาเพราะต้นทุนมันถูกที่สุด หากเปลี่ยนวิธีก็อาจเป็นการเพิ่มภาระให้กับเกษตรกร หน่วยงานท้องถิ่นก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือ มีเครื่องมือการเกษตรให้ยืม หรือบริษัทรับซื้อผลผลิตซึ่งเป็นการเกษตรแบบพันธะสัญญา ซึ่งเกษตรกรเป็นเหมือนลูกจ้างอยู่แล้ว จะเข้ามาช่วยดูแลในส่วนนี้ด้วยได้หรือเปล่า อย่างไปช่วยในการกำจัดซังข้าวโพดโดยไม่ต้องเผา คุณรวยอยู่คนเดียวแต่สุขภาพเราย่ำแย่ คุณก็ต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมที่มากขึ้นด้วย คุณจะปฏิเสธว่าคุณรับช่วงเฉพาะตอนซื้ออย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะกระบวนการผลิตของคุณมันกระทบสิ่งแวดล้อม คุณก็ต้องเข้าไปลงทุนปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้มันเป็นมิตรต่อสังคมมากยิ่งขึ้น
ผมคิดว่าเวลาเรามองถึงความยุติธรรมในสังคม เราต้องมองให้ครบวงจร อะไรที่ใครได้เปรียบได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเยอะๆ แล้วเขาตอบแทนให้กับสังคมเพียงพอไหม
คิดว่าในปีต่อๆ ไป เราจะสามารถปรับตัวหรือแก้ไขปัญหาได้ดีกว่านี้ไหม
สำหรับตัวผมเอง เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ผมเดินขบวนประท้วงที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครเคลื่อนไหวเรื่องนี้ แต่ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครรู้ว่าอะไรคือ PM10 PM2.5 เราก็พยายามให้คนส่วนใหญ่ได้ตระหนักถึงปัญหา แต่ผ่านมาหลายปีก็ยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด แต่การตื่นตัวมีมากขึ้น นักวิจัยเข้ามาทำด้านนี้มากขึ้น ที่ยังไม่ขยับจริงๆ คือภาครัฐที่ยังเล่นขายของกับเน้นการจัดอีเว้นท์ ผมมองว่ามันต้องมีแรงผลักให้มากขึ้นไปอีก คนที่รับผลกระทบต้องเสียงดังกันขึ้นไปอีก ต้องนำไปสู่การขยับตัวทางสังคมให้มากขึ้น ความตระหนักมันต้องเกิดขึ้นจากประชาชนในวงที่กว้าง