“วิ่งไป เก็บขยะไป” กิจกรรมออกกำลังกายแนวใหม่ที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก ภายใต้ชื่อ Plogging ออกวิ่งครั้งแรกที่ประเทศสวีเดท เมื่อปี 2016 ผู้วิ่งจะพกถุงไว้กับตัวระหว่างวิ่ง เมื่อเจอขยะจะก้มเก็บไปตลอดทาง ข้อความหนึ่งจากเว็บไซต์ ploggingworld เขียนไว้ว่า
“ Whether alone or together, we can all help to keep our environment clean with a few simple gestures ”
ไม่ว่าคุณจะวิ่งคนเดียวหรือหลายคนเราสามารถช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาดด้วยท่าทางง่าย ๆ
เราคงคิดไม่ถึงว่าวันหนึ่งการออกกำลังการง่าย ๆ แค่ Jogging รอบบ้านจะช่วยเปลี่ยนโลกแถมยังได้เพื่อนที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ปัจจุบัน Plogging กระจายไปหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยมีเทรนด์วิ่งนี้ด้วยหนึ่งในนั้นคือ Plogging Pattani อยู่ที่จังหวัดปัตตานี และ Plogging Narathiwas อยู่ที่จังหวัดนราธิวาส โดยไม่นานมานี้ทั้งสองกลุ่มถูกบรรจุเป็นสมาชิกของ Plongging World แล้ว
ชวนคุยกับ ปฏิญญา อารีย์ หรือ พี่ปาร์ค ผู้ร่วมก่อตั้ง Plogging Pattani พี่ปาร์คบอกกับเราว่า Plogging Pattani เริ่มวิ่งครั้งแรกวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 และจัดกิจกรรมต่อเนื่องทุกสัปดาห์ “เราเชื่อว่าความต่อเนื่อง สม่ำเสมอในการลงมือทำ คือ สิ่งสำคัญที่ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาขยะซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในระยะยาวได้”
10 เดือนกับกิจกรรม “วิ่งเก็บขยะ “ ของเหล่า Ploger หรือนักวิ่ง ขยะที่เก็บได้ทั้งหมดรวม 1,879.9 กิโลกรัม เฉลี่ย 63.9 กิโลกรัมต่อครั้ง มีอาสาเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 1,063 คน และระยะทางสะสมที่อาสาร่วมกันวิ่งคือ 2,746 กิโลเมตร (คำนวณจาก ระยะทางโดยประมาณเดินวิ่ง ไปและกลับ 2 กิโลเมตร คูณด้วยจำนวนคน)
ทำไมต้องวิ่งเก็บขยะ วิ่งแล้วค่อยเก็บ หรือเก็บแล้วค่อยวิ่งได้ไหม ?
นักวิ่งบางคนไม่ชอบเก็บขยะ คนเก็บขยะบางคนไม่ชอบวิ่ง พี่ปาร์คกล่าว “กิจกรรมนี้มันเปลี่ยนมุมมอง เราสามารถทำสองอย่างไปพร้อม ๆ กันได้ ต่อจากนี้เราจะไม่วิ่งผ่านขยะไปเฉย ๆ ส่วนคนชอบเก็บขยะยังได้สุขภาพที่ดีด้วย”
กิจกรรมเป็นอย่างไร อยากเข้าร่วมต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ?
“เราจะนัดทำกิจกรรมกันทุกสัปดาห์ แต่ละสัปดาห์เราจะมีลีดเดอร์ ซึ่งสลับกันเป็นไปเรื่อย ๆ ลีดเดอร์สามารถกำหนด วัน เวลา สถานที่ได้เองว่าจะไปวิ่งเก็บขยะที่ไหนอย่างไร โดยวันจริงจะมีทีมงานคอยซัพพอร์ตอีกที พี่คิดว่าจุดตรงนี้ก็เป็นเหมือนเราสร้างพื้นที่ให้กับคนอื่น ๆ ได้ก้าวมาเป็นผู้นำกิจกรรม ลีดเดอร์จะประชาสัมพันธ์ชวนเพื่อน ๆ มาร่วมวิ่ง ด้วยวิธีง่าย ๆ คือ โพสต์เชิญชวนผ่านเฟสบุ๊คของตัวเอง และเพจ Pongging Pattani ใคร ๆ ก็สามารถมาร่วมเป็นอาสาสมัครกับเราได้ ไม่ว่าจะอาชีพไหน อายุเท่าไร เด็ก ผู้ใหญ่ได้หมด”
พี่ปาร์คบอกต่ออีกว่า “ก่อนวิ่งอาสาสมัครจะได้รับถุงพลาสติกหูหิ้วสีแดงใบใหญ่ จึงเป็นที่มาของอีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันว่า นักวิ่งถุงแดง พร้อมที่คีบ ออกวิ่งไปตามไหล่ทางถนน ระหว่างที่วิ่งก็คอยสอดส่องสายตามองหาขยะ เราจะเน้นเก็บขยะที่ย่อยสลายยาก เช่น ถุงพลาสติก ขวดน้ำ หลอด ฯลฯ เมื่อวิ่งจนถึงจุดสิ้นสุดเราจะเอาขยะมาชั่งน้ำหนักเก็บสถิติ แล้วจัดการขยะมัดใส่ถุงอย่างเรียบร้อยวางไว้ริมทาง เพื่อให้ทางอบต. มาเก็บ ขยะบางอย่างนำไปขายได้ ก็เป็นแรงจูงใจให้เขาอยากเข้ามาช่วยจัดการขยะกับเราด้วย”
มีขยะให้เราเก็บเยอะทุกสัปดาห์ไหม ?
“พอขากลับ เส้นทางเดิมที่เราเก็บขยะไปแล้ว น้องก็จะเห็นขยะถูกทิ้งแบบนี้อีก” พี่ปาร์คตอบ
“แสดงว่ามีคนทิ้งตลอดเลย เราก็ต้องเก็บไปตลอดเลยสิคะ ? ….. แล้วเมื่อไรมันจะหมด ?” ผู้เขียนถามต่อทันที
“คนภายนอกที่เห็นเราเก็บขยะมักจะถามว่า ทำไมต้องเก็บ เก็บไปแล้วได้อะไร จริง ๆ สำหรับพี่หรือทีมเราคิดง่าย ๆ คือ เห็นก็เก็บ แค่นั้นแหละ เก็บแล้วสนุก ได้มาเจอเพื่อน จนกลายเป็น community เป็นกลุ่มที่มีเเนวคิดเหมือน ๆ กัน ชวนไปทำกิจกรรมคล้าย ๆ กัน พอเราทำบ่อย ๆ คนรอบข้างเราเริ่มเปลี่ยน เริ่มจากคนในกลุ่ม เหมือนเป็นรังสี คนที่อยู่ใกล้เราก็จะรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนไปด้วย การเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดคือขยะสะสมน้อยลง ถึงแม้จะมีขยะใหม่เสมอ แต่ถ้าขยะสะสมน้อยลง คิดว่ามันจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ และสิ่งที่เราเห็นคือทุกสัปดาห์คือจะมีสมาชิกหน้าใหม่ ๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมตลอด หากจัดกิจกรรมสม่ำเสมอ คิดว่าความรู้สึกที่คนเข้าร่วมอยากจะเก็บขยะก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้วกระจายเป็นวงกว้าง”
งานวิ่งเก็บขยะ ที่ไม่สร้างขยะเป็นอย่างไร ?
“งานวิ่งนี้เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก ชื่อกิจกรรม Plogging World Clean Up Day 2019 ปกติเราทำกิจกรรมแบบนี้ทุกสัปดาห์อยู่แล้ว แต่เมื่อเราถูกบรรจุอยู่ในกลุ่ม Plogging World ที่กำหนดให้ทุกวันที่ 27 เมษายน ของทุกปีเป็นวันที่เราจะวิ่งเก็บขยะพร้อมกันทั่วโลก ที่อื่น ๆ อาจจะจัดแบบปกติ แต่ที่ปัตตานีเราจัดเป็นงานวิ่ง โดยเปิดรับสมัครนักวิ่ง ลงทะเบียน ความพิเศษของงานวิ่งครั้งนี้คือผู้เเข่งขันต้องเอาชนะกันด้วยปริมาณขยะที่เก็บได้
“เราระบุว่าคนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมจะต้องเอากระบอกน้ำมาด้วย หรือไม่ก็ซื้อแก้วพับซิลิโคนจากเรา วันนั้นมีหลายคนซื้อแก้วจากเรา บางคนพกกระบอกน้ำแล้วมาเติมน้ำกันจากจุดบริการที่เราจัดเตรียมไว้” พี่ปาร์คบอกอีกว่า “อาหารที่บริการภายในงานจะไม่ใช้พลาสติกเด็ดขาด ขนม ข้าวเหนี่ยวไก่ย่าง ห่อด้วยใบตอง ผลไม้เป็นแตงโมหั่นเป็นชิ้น ๆ หยิบทานได้เลย หลังจัดงานจะมีขยะธรรมชาติเราก็นำไปทำปุ๋ยหมัก ส่วนขยะพลาสติกที่เราเก็บได้ตอนวิ่งเราก็คัดแยกจัดการให้ถูกวิธี”
“ในวันนั้นรวมจำนวนทีมงานและคนเข้าร่วมทั้งหมด 212 คน ขยะที่เก็บได้ 382 กิโลกรัม ทีมงานทุกคนที่มาคืออาสาทั้งหมด หลัก ๆ เราเห็นพลังอาสา มันเป็นงานที่เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นไปได้ในงานนี้ เราสามารถจัดงานวิ่งที่ไม่สร้างขยะได้ เราสามารถจัดงานวิ่งที่ไม่ต้องใช้เงินได้ อาจเป็นเพราะเพื่อนที่อาสาด้วยกัน”
ชวนฝันว่าอนาคตอยากเห็นอะไรใน Plongging Pattani
“เราต้องการสื่อสารให้กับงานวิ่งหลาย ๆ งานว่า ไม่จำเป็นต้องมีแก้วน้ำก็ได้ เปลี่ยนมาใช้แก้วพับ หรือทางเลือกการจัดการอื่น ๆ เราเป็นคนจัดงาน เราเป็นคนเลือกได้ว่าเราจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก หรือเป็นใบตอง ถ้าเราเลือกใช้เป็นพลาสติกมันก็จะมีขยะพลาสติก แต่ถ้าเราเลือกใช้ใบตอง เราจะได้เป็นขยะวัสดุธรรมชาติ พี่คิดว่าเราเลือกได้”
“อนาคตขอวิ่งไม่เก็บขยะ อยากเห็นงานวิ่งที่ไม่สร้างขยะโดยเราจะแสดงให้เห็นผ่านการสื่อสารที่ง่ายที่สุดนั้นคือการเก็บเท่าที่เราทำได้”
บทความ นรินทร์ ปากบารา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ เฟสบุ้คเพจ Plogging Pattani