สัมภาษณ์ : ก้าวที่ 27 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กับ ศศิน เฉลิมลาภ

สัมภาษณ์ : ก้าวที่ 27 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กับ ศศิน เฉลิมลาภ

17 กันยายน 2558 หนึ่งวันก่อนครบรอบการก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรครั้งที่ 25 รตยา จันทรเทียร ได้ยุติบทบาทการเป็นประธานองค์กรลงตามวาระ หลังจากที่รับหน้าที่นี้ยาวนานมาตั้งแต่การก่อตั้ง และส่งไม้ต่อให้ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมารับหน้าที่นี้ต่อ

ทั่วไปคงคุ้นเคยกับเลขาธิการคนนี้ในบทบาทแอคชั่นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเขื่อนแม่วงก์ ทั้งจากการเดินเท้ากว่า 388 กม. จากแม่วงก์ถึงกรุงเทพฯฯ ตลอดจนการปักหลักนั่งให้กำลังใจคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ถึง 3 วันเต็มที่หน้าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใต้บรรยากาศการห้ามชุมชนของ คสช. แต่ในบทของการรับหน้าที่ประธานนั้นคงไม่ใช่งานแค่ที่เห็น

ปัจจุบันนี้อาจารย์ศศินได้ดำรงตำแหน่งประธานเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว ซึ่งปีนี้เป็นปีแห่งการครบรอบการก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 27 ปี มาดูบทบาทของเขาในฐานะประธานกันค่ะ

 

“การบริหารมูลนิธิสืบนาคะเสถียรระหว่างอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ กับอาจารย์รตยา จันทรเทียร ในบทบาทประธานมีความแตกต่างกันอย่างไร?”

บทบาทการทำงานของเราไม่แตกต่างกันมากนัก คือเราเข้าไปเป็นคณะกรรมการนโยบายของประเทศในกลไกการตัดสินใจต่างๆ ด้านการอนุรักษ์ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงเราย่อมมีช่องทางการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น ผมเพิ่มบทบาทด้านการสื่อสารต่อสาธารณชนในรูปแบบโซเซียลมีเดีย แล้วก็เข้าไปทำงานร่วมกับสื่อมวลชนและแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้น

 

“ด้านภาพลักษณ์หรือว่าการทำงาน ไม่ได้เพิ่ม ลดหรือปรับเปลี่ยนอะไรมูลนิธิเลย?”

การเปลี่ยนแปลงระหว่างยุคการเป็นประธานของอาจารย์รตยากับผม มันเห็นได้ไม่ชัดนัก เพราะผมดำเนินการปรับเปลี่ยนมาตั้งแต่เราทำงานร่วมกันหรือตั้งแต่ผมดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ

ประมาณปี 2547 ผมเป็นคนพลิกโฉมมูลนิธิใหม่ทั้งหมด จัดทำแผนยุทธศาสตร์ของมูลนิธิอย่างเป็นระบบตามหลักการบริหารยุคใหม่ ซึ่งพอผมมาเป็นประธานก็ยังคงรักษาระบบนั้นไว้อยู่

เมื่อก่อนมูลนิธิใช้คนทำงานน้อย เพราะไม่มีโครงการจากต่างประเทศมา ตอนผมมาเรามีงบประมาณจากโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (โครงการจอมป่า) ที่ผมรับเป็นผู้จัดการโครงการ เรามีคนทำงานมากขึ้น หากผมอยู่ในยุคอาจารย์รตยาด้วยบริบทนั้น ผมก็คงทำไม่ต่างกันเพราะไม่มีงบประมาณ แล้วพอเรามีผลงานจากโครงการจึงสามารถต่อยอดจากโครงการเดิม คือโครงการชุมชนวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่าตะวันตก

และมาปรับอีกครั้งหนึ่งตอนปี 2553 ที่เป็นปีแห่งการครบรอบ 20 ปี มูลนิธิสืบฯ มีการปรับภาพลักษณ์ทั้งหมด กระบวนการทำงาน โครงสร้างพนักงาน จัดทำแผนงาน 4 ปี ที่มียุทธศาสตร์เรื่องการสื่อสารงานอนุรักษ์ที่ชัดเจนขึ้น ปีนี้เองที่เรามีสื่อใหม่ทางโซเซียลมีเดีย สมัยนี้มันไม่ต้องรอเราสามารถสื่อสารได้ทุกวัน

รวมทั้งปรับรูปแบบการจัดงานรำลึกคุณสืบจากคอนเสิร์ตมาเป็นงานกิจกรรม ‘จากป่า สู่เมือง’ ที่ภายในงานจะนำเสนอเนื้อหาข้อมูลต่างๆ ในระยะเวลาหลายวันบนพื้นที่ใหม่ๆ เช่น หอศิลปะวัฒนาธรรมกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันมันไม่สามารถจัดคอนเสิร์ตได้ ไม่ว่าจากปัญหาเรื่องการจราจรก็ดี ตัวศิลปินที่ออกมาสื่อสารยาวๆ ให้เข้ากันกับงานมันก็น้อยลง ไม่ค่อยมีศิลปินใหม่ๆ ที่เข้าใจคุณสืบ แต่งานเล็กๆ มีช่วงระยะเวลาสั้นๆ ให้ศิลปินใหม่ๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ถือว่างาน ‘จากป่า สู่เมือง’ ที่ดำเนินการมาแล้ว 6 ปี เป็นอีกงานและอีกช่องทางที่สำคัญในการช่วยเผยแพร่งานอนุรักษ์

 

“มูลนิธิสืบฯ เพิ่มช่องทางการสื่อสารทำให้กระแสอนุรักษ์เพิ่มขึ้น?”

ผมมองว่ากระแสอนุรักษ์มันเพิ่มขึ้นโดยธรรมชาติตลอดเวลาอยู่แล้ว ขณะที่โลกมีแนวโน้มการพัฒนามากขึ้น ในทางกลับกันคนเห็นธรรมชาติถูกทำลายผ่านสื่อต่างๆ คนก็มีความพร้อมเกิดความสามัคคีที่จะร่วมมืออนุรักษ์ธรรมชาติมากขึ้น เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นำเสนอความรู้ ข้อมูล สถานการณ์ด้านการอนุรักษ์เท่านั้น ซึ่งการเพิ่มช่องทางการสื่อสารทำให้คนได้รู้จักมูลนิธิและบทบาทของมูลนิธิมากขึ้น ภาพลักษณ์เราไม่ใช่แค่คุณสืบเท่านั้น แต่คือองค์กรที่ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์อย่างมืออาชีพ มูลนิธิสืบฯ เป็นองค์กรที่มีความเป็นมืออาชีพด้านการอนุรักษ์

บทบาทของมูลนิธิต้องเป็นองค์กรที่เป็นนักอนุรักษ์เข้ามาทำงาน นักอนุรักษ์นั้นมีหลายแบบ นักอนุรักษ์ที่เป็นนักสื่อสาร นักอนุรักษ์ที่เป็นคนทำงานแก้ไขปัญหาในภาคสนาม นักอนุรักษ์ที่คอยผลักดันขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ซึ่งองค์กรของเราจำเป็นต้องมีคนที่มีศักยภาพในการทำงานเข้ามาทำงานเต็มเวลา

เพื่อให้ประเทศไทยยังคงมีการอนุรักษ์ป่า สังคมยังรับรู้ถึงการอนุรักษ์ เรามีความตั้งใจที่จะสืบทอดเจตนาของคุณสืบ คุณสืบคือสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ป่าไม้สัตว์ป่า การตายของคุณสืบคือการกระตุ้นเตือนให้สังคมหันมาดูแลป่าไม้สัตว์ป่า การมีมูลนิธิสืบฯ เพื่อทำหน้าที่นั้น ทำหน้าที่ให้สังคมไทยยังสนใจป่าไม้สัตว์ป่าอยู่ นี่คือเป้าหมายเดิม เพียงแต่เพิ่มการสื่อสารให้มากขึ้น

 

“การทำงานในช่วงที่มีความไม่เสถียรทางการเมืองทำงานยากขึ้นไหม?”

ด้านการทำงานในช่วงยุคความไม่เสถียรทางการเมือง เกิดการปฏิวัติ ทหารเข้ามาเป็นรัฐบาล ถามว่าทำงานยากไหม มันก็ไม่ได้ยาก คือในการปฏิบัติเราก็ต้องระมัดระวังบางอย่าง อย่าให้มันไปผิดกฎหมาย เช่นในช่วงที่มีการประกาศกฎอัยการศึก เราก็จะต้องทำไม่ให้มันผิดกฎอัยการศึก ต่อมาเรื่องมาตรา 44 เราก็ต้องดูว่ามันมาปิดกั้นการทำงานหรือว่าสร้างผลกระทบไหม

แต่ว่าโดยรวมเรื่องงานอนุรักษ์นั้น ไม่ว่ายุคของรัฐบาลไหนไม่มีความแตกต่างกัน รัฐบาลทุกรัฐบาลมุ่งที่จะพัฒนาโดยการทำลายทรัพยากรไม่ต่างกัน เราก็มีหน้าที่ถ่วงดุลทักท้วงไป ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องด้านการเมือง ดังนั้นเราเคยทักท้วงอย่างไรเราก็ทำเช่นเดิม

หมายเหตุ มูลนิธิสืบฯ มีการเปลี่ยนประธานจากอาจารย์รตยา จันทรเทียร เป็นอาจารย์สุรพล สุดารา ในปี 2544 แต่อาจารย์สุรพลได้เสียชีวิตลงหลังรับตำแหน่งได้ 2 ปี อาจารย์รตยาจึงกลับมารับตำแหน่งต่ออีกครั้ง


บทความโดย พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร