การออกแบบเมืองที่ดี จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นด้วย คุยกับ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ถึงความสัมพันธ์ของการเมืองกับการออกแบบเมือง

การออกแบบเมืองที่ดี จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นด้วย คุยกับ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ถึงความสัมพันธ์ของการเมืองกับการออกแบบเมือง

“ผมฟันธงตลอดเวลาเลยนะว่า หมาก็เป็นผู้ว่าได้ ก็เพราะว่าผู้ว่ากทม. ไม่เคยทำงานที่ตัวเองทำได้ ความเป็นจริงของผู้ว่ากทม. มันมักจะเหลืออยู่แค่สองเรื่องก็คือขยะกับน้ำท่วม ฉะนั้นน้ำท่วมผู้ว่ามันต้องเดินออกมา ไม่ใช่อ้างว่าให้ไปบริหาร เพราะอะไร เพราะคุณไม่มีปัญญาแก้ สิ่งเดียวที่คุณต้องทำคือออกมายืนเพื่อให้ถูกคนด่า”

ประโยคฟาดฟันของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อถูกถามถึงนโยบายทางการเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ที่ให้สัมภาษณ์ทางรายการ SEUB INSPIRE รายการสิ่งแวดล้อมใหม่ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรว่าด้วยเรื่องราวแรงบันดาลใจของคนทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ถือเป็นซิตี้บอยตัวจริง เพราะเกิดและเติบโตในย่านสุขุมวิท แหล่งรวมความศิวิไลซ์ของกรุงเทพฯ มีต้นตระกูลอยู่ที่บ้านสาย เป็นหมู่บ้านคราฟท์วิลเลจที่อยู่ติดกับป้อมมาหกาฬ ซึ่งตอนนี้ที่ถูกไล่รื้อออกไปเรียบร้อยแล้ว  แม้ประโยคข้างต้นดูจะเสียดสีระบบราชการไทยอยู่บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่เขาอยากเห็นก็คือ การที่กรุงเทพฯ มันดีขึ้นกว่าเดิม

“ผมไม่สนใจ ผมรักกรุงเทพฯ ผมรักในแบบที่มันเป็น แต่ผมก็อยากให้กรุงเทพฯ มันดีขึ้น ผมไม่ได้รู้สึกเหมือนกับว่า โห กรุงเทพฯ นี่มันเลวร้ายเดียวดาย ที่น่าสนใจคือเราจะมีชีวิตอยู่กับคนที่มีความหลากหลายในกรุงเทพฯ อย่างมีความสุขโดยที่ไม่กินชีวิตของคนอื่นได้ยังไง”

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

การออกแบบเมืองเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนยังไง

ถ้าผมพูดเรื่องนี้อาจจะต่างกับนักผังเมืองทั่วไป ผมมักจะตั้งต้นพูดอย่างนี้ว่า คำว่ารัฐศาสตร์มีรากฐานมาจากเรื่องเมืองอยู่แล้ว แต่จุดแตกหักอันหนึ่งที่ทำให้รัฐศาสตร์แยกกับสถาปัตย์มันอยู่ที่ว่าคุณจะออกแบบเมืองทางกายภาพอย่างเดียว หรือออกแบบเมืองด้วยวิธีคิด กรอบกฎหมาย แนวคิด ใครเรียนวิศวะก็พอจะแปลได้ แต่ในทางรัฐศาสตร์หรือกฎหมายมันคือรัฐธรรมนูญ มันเป็นฐานองค์ประกอบของบอดี้อย่างหนึ่ง

คุณเรียนประวัติศาสตร์มันก็บอกว่าเป็นป่า เป็นคนที่อยู่กระจัดกระจาย ส่วนใหญ่จะพูดถึงกลุ่มคนที่อาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่นและมีพื้นที่จำกัด มีความมั่งคั่ง และสำคัญกับพื้นที่โดยรอบ พอคุณเป็นสถาปัตย์คนก็จะถามว่าคุณจะออกแบบยังไงให้มีชีวิตที่ดี ส่วนรัฐศาสตร์ก็ต้องถามคำถามอื่นอีกว่าออกแบบรูปแบบความสำคัญทางอำนาจยังไง ผู้ปกครองยังไง ระบบการปกครองแบบไหน จะเอาประชาธิปไตย เผด็จการ อภิชนาธิปไตย มันก็เหมือนกันเพียงแต่มันไม่ใช่แค่เรื่องกายภาพ ไม่ใช่แค่เรื่องของนักเทคนิก แต่มันเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งมันเกี่ยวพันเข้าไปอีก 

เวลานักออกแบบเมืองรุ่นหลัง ๆ เขาจะไม่เชื่อว่าเขาเป็นเทวดาเนรมิตทุกอย่าง หลังจากไฟไหม้เมือง เขาจะต้องไปสอบถามประชาชน ต่อมาเขาจะเริ่มตระหนักมากขึ้น ว่าสิ่งที่เขากำลังจะไปออแบบมันเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และผลประโยชน์ ถ้าคุณทำอย่างนี้ลงไปบางกลุ่มได้ บางกลุ่มเสีย เพราะฉะนั้นการออกแบบไม่ได้หาเพียงแค่ว่ารูปแบบที่สวยที่สุดมันจะต้องเป็นรูปแบบที่ทุกคนรับได้
.

.
ชีวิตของเราทุกคนมันสัมพันธ์กันเหมือนกับระบบนิเวศ 

ชีวิตที่ดีของคุณมันดีโดยที่คุณเบียดเบียนคนอื่นมากน้อยแค่ไหน คนอื่นเป็นส่วนหนึ่งของความสุขของคุณแค่ไหน 

เวลาเราพูดถึงระบบนิเวศ มันไม่ได้มีแต่ในชนบทหรือในธรรมชาติ เมืองมันมีความซับซ้อนเพราะมันเป็นทั้งสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่สิ่งในนั้นมันมีระบบหรือธรรมชาติที่มันมีชีวิตของมันทุกวัน เมืองเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อน 24 ชั่วโมง ไม่ต่างกับระบบธรรมชาติ มันเป็นระบบที่ไม่ได้มีแค่คน ๆ เดียวกำหนด ทุกคนทำงานประสานสอดคล้องแต่ทุกคนกินชีวิตกัน 

คุณเป็นชีวิตที่ดีของคนอื่นในเมืองหรือเปล่า เราทดแทนชดเชย ประสานสอดคล้องกันยังไง เช่น เราอยู่ในห้องนี้มันเย็น แต่ความเย็นของเรามันทำให้คนอื่นที่อยู่ข้างนอกมันร้อนขึ้นหรือเปล่า เรามีตึก มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดี ทุกคนเข้าถึงไหม เรามีรถไฟฟ้าที่ดีแต่คุณไล่ใครออกไป รถไฟฟ้าสวยงามวิ่งมาถึงตรงนี้ได้ แล้วคนที่ไม่มีตังค์ขึ้นได้ไหม 

ในบรรดานักผังเมืองโบราณมักมีความเชื่อที่คุณต้องประสานมิติทางธรรมชาติให้เข้ากับมิติของเมืองด้วยนะ เพื่อที่จะให้มันเป็น Garden city ให้มันมีความหลากหลาย แต่จริง ๆ แล้วคุณไม่ได้คิดถึงขนาดนั้นไง คุณแค่คิดด้วยสายตาอยากให้ตรงนั้นเขียว ตรงนี้เขียว ออกแบบอยู่ในกฎหมายอ้างว่ามันดี 

อาจารย์ผมท่านหนึ่งในเมืองไทยเคยพูดไว้ว่า คุณจะสร้างพื้นที่สีเขียวในฐานะการมีธรรมชาติในเมือง ตัวชี้วัดมันไม่ใช่พื้นที่สีเขียวต่อจำนวนคน อันนี้คิดแบบโคตรเห็นแก่ตัวเลย เพราะเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง คุณเคยคิดไหมว่าถ้าจะทำพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ คุณควรจะทำในแบบที่มันเชื่อมต่อกัน เช่น กระรอกหนึ่งตัวมันสามารถวิ่งได้เท่าคนกรุงเทพฯ ไหม 

หมายความว่าถ้าคุณอยากทำถนนวงแหวน คุณก็ต้องทำพื้นที่สีเขียวให้เป็นวงแหวนดิ่ ให้สัตว์มันอยู่ได้ ถ้าคุณจะทำธรรมชาติคุณก็ต้องคิดถึงระบบนิเวศวิทยาหรือระบบธรรมชาติของเมือง ไม่ใช่ทุกอย่างคือการประดิษฐ์ด้วยสวน วันหนึ่งอยากเอาดอกไม้ไปตั้งตรงนี้ก็ตั้ง อันนั้นมันเป็นการจัดสวนแต่การจัดสวนมันไม่ใช่ระบบนิเวศ
.

.

จะแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ คุณต้องเข้าใจระบบนิเวศวิทยาก่อน

คุณไม่เข้าใจธรรมชาติของกรุงเทพฯ จนถึงวันนี้ทุกปีคุณก็ยังโวยวายเรื่องน้ำท่วม คลองมันเป็นธรรมชาติของกรุงเทพฯ ถ้าคุณมีแผนที่กรุงเทพฯ คุณจะเข้าใจในการที่จะใช้ระบบคลอง เพื่อลดปัญหาน้ำท่วม ต่อให้มันเป็นเมือง เมืองก็ต้องสร้างอยู่บนระบบของธรรมชาติ ไม่ใช่คุณคิดว่าคุณจะถม ใช้เทคโนโลยีอย่างเดียว เพราะคุณก็จะจมปัญหาเดิม 

ประเทศอื่นทำไมมีน้ำท่วมยังแก้ได้ ของเราใช้วิธีง่าย ๆ คือปิดประตูหนีมัน ที่ผมเล่าให้ฟังเพื่อที่จะโยงกลับมาให้เห็นว่าอย่าเพิ่งไปมองว่าเมืองเป็นสิ่งเลวร้าย หรือตรงข้ามกับธรรมชาติ กับชนบทที่สวยงาม ทำให้เมืองมันสวยงามได้ แต่ต้องเข้าใจว่าเมืองที่สวยงามมันเป็นเมืองที่ทุกคนมีชีวิตอยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะเนรมิตโดยผู้รู้เพื่อที่จะสนองความต้องการของคุณ 

เมืองมันเต็มไปด้วยผลประโยชน์และความขัดแย้งชีวิตของคุณมันกินชีวิตของคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่จะออกแบบเมืองไม่ใช่แค่ออกแบบเพื่อให้คนมีชีวิตที่ดีอย่างเดียว มันต้องออกแบบเพื่อให้ความขัดแย้งมันลดลงเพื่อให้คนรู้สึกว่ามันอยู่ร่วมกันได้
.

.

นโยบายมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของคนอย่างชัดเจน

ผมเป็นคนที่ผลักดันเรื่องนี้อย่างชัดเจน ผมฟันธงตลอดเวลาเลยนะว่าหมาก็เป็นผู้ว่าได้ เพราะผู้ว่ากทม. ไม่เคยทำงานที่ตัวเองทำได้ สถานะของผู้ว่ากทม.ในมุมมองของระบบรัฐรวมศูนย์มันเล็กมาก มันเท่ากับนายกเทศมนตรีคนหนึ่ง ในขณะเดียวกันมันมีเรื่องที่ควรจะทำแต่ไม่ได้ทำ เช่น ต้องดูแลเรื่องรถเมตัวเอง ก็ไม่ทำ น้ำไฟก็ไม่ได้ดูเอง สุดท้ายแล้วความเป็นจริงของผู้ว่ากทม. มันมักจะเหลืออยู่แค่สองเรื่องก็คือขยะกับน้ำท่วม 

ผู้ว่าคนไหนที่ไม่ได้รับความนิยมที่สุดก็คือคนที่ไม่ได้ทำเรื่องพวกนี้ ที่บอกว่าทำไม่ได้ ประดิษฐ์คำขึ้นมาแล้วบอกว่า น้ำรอระบาย ฝนพันปี แล้วมันก็จะถูกด่า ฉะนั้นน้ำท่วมผู้ว่ามันต้องเดินออกมา ไม่ใช่อ้างว่าให้ไปบริหาร เพราะอะไร เพราะคุณไม่มีปัญญาแก้ สิ่งเดียวที่คุณต้องทำคือ ออกมายืนเพื่อให้ถูกคนด่า เพราะคุณออกแบบระบบมาผิดเพี้ยน คุณใช้วิศวกรรมนำธรรมชาติ ฉะนั้นคุณแก้ไม่ได้หรอก 

กรุงเทพฯ เป็นการปกครองที่ล้าหลังในยุคหนึ่งเราเชื่อว่า เราก้าวหน้าที่สุดเพราะเรามีการเลือกตั้ง แต่ระบบการเลือกตั้งไม่สามารถแก้ปัญหากทม. ได้ เพราะเรามีระบบเขตที่ล้าหลังมาก ผอ.เขต 50 คน มีใครรู้ไหมว่าเป็นใคร มาจากไหน เขาเป็นแค่เจ้าหน้าที่กทม. ที่ผู้ว่าเลือกมา ผมว่าคุณสมบัติน้อยกว่านายอำเภออีก นายอำเภอเขาแข่งขันกันเยอะกว่า เขามีหลักสูตรมหาศาล ต้องผ่านคนกี่คนมาเป็นนายอำเภอ คุณคิดว่าผอ.เขตเนี่ย ผ่านมาแค่ไหน มีความรู้ในพื้นที่มากแค่ไหน เราประเมินเขาได้ไหม 

ป้าทุบรถหน้าบ้าน ผอ.เขตยังบอกให้ไปอยู่ที่อื่นเลย มีปัญหาเรื่องพระสวดมนต์ตอนเช้ากับคอนโดที่ออกมาโวยวายกับพระ คุณคิดดูสิ่ ผอ.เขต ความเข้าใจแบบนี้ยังไม่มีเลย เพราะฉะนั้นคุณต้องเลือกตั้ง หรือสองถ้าไม่เลือกตั้ง แต่ระบบประเมินมันต้องดีกว่านี้ สภาเขตเป็นสภาที่ปรึกษา ปัจจุบันโดนยุบกำลังจะใช้แบบใหม่ยังไม่รู้เป็นยังไง 

คุณดูนนทบุรีที่คุณอยู่อีกด้านหนึ่งคือเชยเป็นจังหวัด อีกด้านหนึ่งคือเจริญเพราะมันเป็นเทศบาล นายกเทศมนตรีคุณเลือก สท.คุณเลือก อย่างน้อยมันเดินมาไหว้คุณ ผอ.เขตมันเดินมาไหว้คุณมั้ยอ่ะ แต่ในชนบทหรือต่างจังหวัดรอบกรุงเทพฯ เขาไปไกลแล้ว อบจ. อบต. เทศบาลเขาก็มี คุณรู้ว่าใครอยู่ตรงไหน 

บ้านผมอยู่บางนา ไม่เคยรู้ว่า ผอ.เขตบางนาเป็นใคร ผมข้ามไปอีกซอยหนึ่งเทศบาลตำบลด่านสำโรง น้ำท่วมเทศบาลขับรถออกมาขอโทษประชาชนแล้วบอกว่าเรากำลังสูบน้ำครับ ปีใหม่สงกรานต์มีป้ายติดยกมือไหว้ผู้คน คุณมองว่ากรุงเทพฯ มันเจริญแล้วคุณได้อะไรจากเขต
.

.
“ผมไม่ได้อยากจะออกมาอธิบายว่ากรุงเทพฯ มันดีสำหรับคนหนึ่งคน คำถามคือแล้วกรุงเทพฯ มันจะดีสำหรับทุกคนได้ยังไง ไม่ใช่ว่ากรุงเทพฯ เหมือนห้างสักแห่งหนึ่ง แล้วตอนเย็นมีเวลาปิด มีแต่คนรวยเท่านั้นแหละที่อยู่ในคอนโดชั้นบนได้”

คำว่าของทุกคนมันยังไง ไม่ใช่พวกเราทุกคนต้องเดินออกจากเมืองตอนเวลาสามทุ่ม เพราะว่าหมดเวลาของพวกเราทุกคนแล้ว เราต้องกลับบ้าน ตอนเช้าก็เข้าไปเป็นแรงงานในเมืองใหม่ อย่างนี้หรอ มันต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ดิ่ แต่มันไม่ง่าย มันก็ยังเป็นโจทย์เดิมอยู่ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่ เพราะเมืองมันไร้ระเบียบมันถึงสนุก แต่เราอยู่กันลำบาก หลายคนก็อยู่ไม่ไหว แต่ว่ามันก็ยังมีสเน่ห์ของมันอยู่ 

ยังไงความเป็นเมืองคือสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้หรอก การทำเมืองให้ดีขึ้นแม้แต่นิดหนึ่งมันก็ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีตัวตนนะ ไม่งั้นก็จะเป็นเหมือนสัตว์ที่ถูกเลี้ยงอยู่ในคอกมันก็จะมีคนที่เชื่อว่าจะออกแบบคอกนี้ขึ้นมาให้เรา
.

 


เรียบเรียง นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ คชาณพ พนาสันติสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร