การปล่อยสัตว์ป่า กับราคาที่ต้องจ่าย – น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์

การปล่อยสัตว์ป่า กับราคาที่ต้องจ่าย – น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์

‘การปล่อยสัตว์ป่า’ คืนสู่ธรรมชาติ ถือเป็นศาสตร์แบบประยุกต์ เป็นศาสตร์แบบสหสาขา และเป็นการรวบรวมความเชี่ยวชาญของบุคลากรในหลากหลายอาชีพมาทำงานร่วมกัน ไม่ใช่แค่ชีววิทยา ไม่ใช่แค่นิเวศวิทยา แต่เป็นเรื่องครอบคลุมทั้ง วิทยาศาสตร์ สุขภาพ พันธุกรรม เศรษฐศาสตร์ สังคม และประชาชน ดังนั้นทุกสาขาวิชาชีพต้องมาร่วมบูรณาการการทำงานทั้งหมด โครงการจึงจะประสบความสำเร็จ

ในอดีต โลกของเราเคยมีบทเรียนเรื่องการนำสัตว์ป่าหายากหรือใกล้สูญพันธุ์กลับมาสู่ธรรมชาติมามากมายหลายชนิด มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว ต้องอาศัยต้นทุนทรัพยากรจากหลากหลายมิติ เริ่มตั้งแต่ต้นทุนด้านทางวิชาการ หรือราคาที่ต้องจ่ายเพื่อนำสัตว์ป่าชนิดหนึ่งกลับคืนสู่วงจรธรรมชาติ

ในธรรมชาติ มนุษย์มีต้นทุนทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ทะเล ภูเขา แม่น้ำ รวมถึงทรัพยากรสัตว์ป่าที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้น คุณค่าของทรัพยากรชีวภาพสัตว์ป่าทั้งหลาย บางอย่างมนุษย์เอามาใช้เป็นอาหาร ชิ้นส่วนร่างกายต่างๆ เช่น หนังมาประดิษฐ์เป็นเครื่องนุ่งห่ม อวัยวะบางส่วนถูกนำมาใช้ตามความเชื่อว่าอาจมีคุณสมบัติทางยา ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บบาง หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยบางอย่างลงได้ ไม่นับว่า ยังมีการใช้เพื่อความสันทนาการ และความสวยงาม เหล่านี้ล้วนแต่ทำให้สัตว์ป่าลดจำนวนลงไปอย่างมาก กระทั่งนำมาสู่แนวคิดอนุรักษ์ รักษา และฟื้นคืนสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ให้มีชีวิตรอดในธรรมชาติต่อไปได้อีกครั้ง

การนำสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์กลับคืนสู่ธรรมชาติ เป็นแนวคิดจากโลกตะวันตก มีตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการล่าและใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่ามานับตั้งแต่การค้นพบทวีป จนกระทั่งสัตว์บางชนิดลดน้อย ดังนั้นแนวคิดในเรื่องของการเติมสัตว์ป่าเข้าไปให้ธรรมชาติ ส่วนหนึ่งเปรียบกับการเติมสต๊อกในธรรมชาติ ทำให้สัตว์ป่าเหล่านี้ไม่สูญพันธุ์ มีเพียงพอให้คนรุ่นปัจจุบัน และอนาคต สามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อเนื่อง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การลดลงจองสัตว์ป่าก็เกิดจากการที่มนุษย์เข้าไปบุกรุกทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า จนกระทั่งปริมาณสัตว์ป่าลดน้อยลด จึงจำเป็นต้องหาทางอนุรักษ์สายพันธุ์เหล่านั้นเอาไว้

การฟื้นคืนสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์นั้น มีหลายวิธี ตัวอย่างหนึ่งก็คือ Reintroduction (การปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติ) หรือ De-extinction

De-Extinction หรือการ ‘ทำให้ไม่สูญพันธุ์’ เป็นความตื่นเต้นของแวดวงวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบัน โดยอาศัยความก้าวหน้าของนวัตกรรมตัดต่อยีนส์ที่ล้ำหน้า จนสร้างความหวังใหม่ให้กับนักนิยมธรรมชาติทั่วโลก อาจทำให้เรา ‘ใกล้เคียง’ ที่จะกู้ชีพสรรพสัตว์ที่เคยหายหน้าไปจากประวัติศาสตร์ให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้งหนึ่ง

ดังเช่นที่เห็นในภาพยนตร์เรื่อง จูราสสิค ปาร์ค จะเห็นความพยายามโคลนนิ่งไดโนเสาร์ให้กลับมามีชีวิตอยู่ร่วมกับมนุษย์ ตัวอย่างเช่น มีแนวคิดที่จะเอาช้างแมมมอธที่มันสูญพันธุ์ไปแล้วอย่างถาวร หรือแม้กระทั่งไทลาซีน และแทสมาเนียไทเกอร์ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่จะนำตัวอย่างสัตว์ดองในพิพิธภัณฑ์มาโคลนนิ่งเพื่อนำให้เขากลับมามีชีวิตร่วมกับคนเราอีกครั้งหนึ่ง แต่ประเด็นนี้อาจจะเกินเลยขอบเขตของคำว่า การปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติมากไปหน่อย

เพราะฉะนั้น คำว่า De-extinction อาจเป็นเจตนารมณ์ที่ดี แต่ก็เป็นเรื่องของจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ หรือเป็นภารกิจที่ไม่ใช่หน้าที่ของมนุษย์ในปัจจุบัน ที่พยายามจะนำสิ่งที่ธรรมชาติคัดสรรให้พ้นไปแล้วกลับมาอยู่กับโลกในปัจจุบันอีก

ส่วนเรื่อง ‘การปล่อยสัตว์ป่า’ คืนสู่ธรรมชาติ ถือเป็นศาสตร์แบบประยุกต์ เป็นศาสตร์แบบสหสาขา และเป็นการรวบรวมความเชี่ยวชาญของบุคลากรในหลากหลายอาชีพมาทำงานร่วมกัน ไม่ใช่แค่ชีววิทยา ไม่ใช่แค่นิเวศวิทยา แต่เป็นเรื่องครอบคลุมทั้ง วิทยาศาสตร์ สุขภาพ พันธุกรรม เศรษฐศาสตร์ สังคม และประชาชน ดังนั้นทุกสาขาวิชาชีพต้องมาร่วมบูรณาการการทำงานทั้งหมด โครงการจึงจะประสบความสำเร็จ

บทเรียนที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติในต่างประเทศ คือเรื่อง ‘เฟอเรทเท้าดำ’ สัตว์ชนิดนี้เคยถูกคิดว่ามันสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ปรากฎว่ามันยังเหลืออยู่ในธรรมชาติอีก 18 ตัว ก็ได้เกิดความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งจาก U.S. fish and wildlife service กระทรวงมหาดไทย National Park Service ภาคเอกชนและมูลนิธิต่างๆ ช่วยกัน เพราะถือว่าเป็นสัตว์ป่าดั้งเดิมของสหรัฐอเมริกา สวนสัตว์หลายๆ แห่ง ซึ่งมีทรัพยากรเสนอตัวช่วยเพาะขยายพันธุ์ มีการตั้งโครงการระดับประเทศเรียกว่า Species Survivor Plan หรือ SSP จนเพิ่มจำนวนได้สำเร็จ

แต่ก่อนจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ ก็ต้องผ่านเงื่อนไขข้อที่ว่า เฟอเรทเท้าดำ จะต้องรู้จักตัว ‘แพรรีด็อก’ ให้ได้เสียก่อน คือรู้ว่านี่คือเหยื่อที่ต้องล่า ถึงจะผ่านเกณฑ์ในการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ อีกทั้งยังมีเรื่องของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัข รวมถึงการเพาะขยายพันธุ์แพรรีด็อก เพื่อให้สัตว์ที่ถูกปล่อยไปมีอาหารเพียงพอ ก็เป็นบทเรียนหนึ่งที่บอกว่าถ้าจะช่วยให้สปีชีส์อยู่รอด

สำหรับบทเรียนของการปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติของประเทศไทย ก็เคยถูกตั้งคำถามในเชิงจริยธรรม ว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่ที่จะปล่อยสัตว์ที่เป็นอาหาร ยกตัวอย่าง เช่น สัตว์กินพืช (อย่างกวาง) คืนสู่ป่าธรรมชาติที่ยังมีเสือซึ่งเป็นสัตว์ผู้ล่าอาศัยอยู่

แน่นอนว่าในด้านหนึ่งเมื่อเราย้ายสัตว์ที่เคยมีคนดูแลให้อาหารเอาไปอยู่ในป่า สัตว์จะต้องหลีกภัยด้วยตัวเอง อาจทำให้สัตว์เกิดความเครียดได้ แต่ถ้ามีมุมมองอีกด้านหนึ่งบอกว่า นี่คือการปล่อยสิ่งที่เคยหายไปโดยฝีมือมนุษย์ เช่น ห้วยขาแข้งเคยมีละมั่งอยู่ และเป็นอาหารของเสือดาวและเสือโคร่ง เมื่อมันหายไปก็เหมือนเมนูอาหารหนึ่งหายไป ประชากรของเสือดาวและเสือโคร่งก็ก็จะได้รับผลกระทบตาม แต่ถ้าเราเติมละมั่งกลับคืนไปก็จะเกิดความหลากหลายของอาหารเพิ่มขึ้น ประชากรของสัตว์ผู้ล่าที่อยู่ด้านบนห่วงโซ่อาหารก็จะมีความสมดุลยั่งยืนมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างวัตถุประสงค์ที่เราจะปล่อยสัตว์ชนิดหนึ่งกลับไปว่ามันมีหน้าที่ในระบบนิเวศอย่างไร ตลอดจนการท้าชิงว่าโอกาสทำให้เผ่าพันธุ์จะสามารถดำรงอยู่ได้อีกครั้งหรือไม่ แน่นอนว่าตัวที่อ่อนแอก็จะต้องเป็นอาหารของสัตว์ผู้ล่าที่แข็งแรงกว่า ส่วนตัวที่แข็งแรงก็จะสามารถอยู่รอดได้

อีกประเด็นหนึ่ง หากสัตว์สปีชีส์หนึ่งกำลังจะหายไปเพราะฝีมือมนุษย์ ทั้งการล่าโดยตรง หรือไปทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย มันก็เป็นเหตุเป็นผลที่มนุษย์จะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยส่วนที่เหลืออยู่ให้สามารถกลับมาตั้งตัวตั้ง ออกลูกออกหลานดำรงประชากรได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาตินั้น หลักการอีกเรื่องที่ต้องตรวจสอบให้ถ้วนถี่ คือความเสี่ยงเรื่องของโรคระบาด เพื่อป้องกันไม่ให้ประชากรดั้งเดิมที่อยู่ในป่าได้รับผลกระทบ

หนึ่งบทเรียนสำคัญ คือ การเพาะพันธุ์นกกระเรียนในช่วงปี พ.ศ. 2533 ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ที่มีความพยายามนำนกกระเรียนกลับมาปล่อยที่ประเทศไทย โดยทำงานร่วมกับ ICF หรือ International Coaching Federation โดยได้นำนกกระเรียนจากออสเตรเลียมาที่เมืองไทย แต่ความพยายามในหนนั้นกลับมันไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะองค์ความรู้ที่ยังมีไม่มากพอ ทั้งเรื่องทางสายพันธุ์ที่เป็นคนละชนิดกับที่ประเทศไทยเคยมี ตลอดจนเทคนิคและเครื่องไม้เครื่องมือติดตามนกกระเรียนหลังปล่อยก็ยังไม่พร้อม ความพยายามในยุคนั้นก็เลยจบลงด้วยความล้มเหลว

กระทั่งต่อมาได้เกิดการทบทวนและนำบทเรียนที่เคยล้มเหลว มาตั้งหลักใหม่โดยเอาจุด Pain Point มาศึกษา ทำให้งานในปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหลายฝ่าย

แต่กว่าจะประสบความสำเร็จได้ ก็พบว่ามีต้นทุนที่แพงมาก โดยต้นทุนที่จะต้องจ่ายไปนอกจากเรื่องของเงินงบประมาณ เวลา และบุคคลากรแล้ว ยังมีชีวิตของนกหลายๆ ตัว ที่ต้องสูญเสียไป บางตัวถูกล่า บางตัวไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพของพื้นที่ได้ มีอุปสรรคทางกายภาพเช่น สายไฟฟ้า ลวดหนาม หรือแม้กระทั่งถูกสุนัขกัด ไปจนถึงเรื่องที่ว่าไม่สามารถหากินได้ด้วยตัวเอง

สิ่งเหล่านี้ คือต้นทุนที่เราคงต้องคิดให้หนัก ว่าการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติแต่ละครั้ง มีโอกาสทำให้สัตว์บาดเจ็บและเสียชีวิต

หรือเมื่อเห็นว่ารอดแล้วในระดับหนึ่ง ก็ต้องมองต่อในมิติของการอนุรักษ์ต่อ กรณีของนกกระเรียนนั้น เป็นสัตว์ที่พึ่งพาพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ นกกระเรียนยังต้องอยู่ร่วมกับคน ชาวนา คนหาปลา ถ้าคนเหล่านั้นไม่ให้โอกาสนกกระเรียน นกกระเรียนก็จะอยู่ไม่ได้

ตัวอย่างสัตว์อีกชนิดหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จในการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ คือ กวางผา

โดยมีโครงการวิจัยกวางผากับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อยมากว่า 10 ปี ซึ่งเช่นเดียวกับเรื่องของนกกระเรียนที่ในเบื้องต้นยังขาดองค์ความรู้ ทั้งเรื่องการผสมพันธุ์ วันเวลาทั้งท้องและให้กำเนิดลูก ที่ยังไม่แน่ว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนประชากรในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าให้เพียงพอต่อการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้หรือไม่

กว่าจะทำสำเร็จมีขั้นตอนตั้งแต่เขียนโครงการศึกษาวิจัย สร้างกรง ติดกล้องวงจรปิด บันทึกพฤติกรรม ว่าถ้าจะผสมพันธุ์กวางผาตามธรรมชาติต้องทำไงบ้าง มีการวางยางสลบ เจาะเลือด ตรวจโรค ตรวจพันธุกรรม เก็บน้ำเชื้อแช่แข็ง ทำทุกอย่างที่ทำได้ จนกระทั่งเราสามารถปล่อยบางส่วนคืนสู่ธรรมชาติได้สำเร็จที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา – แม่แสะ เป็นครั้งแรก ภายหลังยังพบว่ากวางผาที่เกิดจากสถานีเพาะเลี้ยง (ซึ่งสวมคอลลาร์) ไปจับคู่ผสมพันธุ์กับกวางผาในธรรมชาติได้จริง

จากบทเรียนที่ผ่านมา หากตรองดูจะพบว่ามีสัตว์ป่า มีพืชป่า มีแมลง มากมายหลายชนิดที่ได้สูญพันธุ์จากธรรมชาติไปแล้ว ขณะเดียวกันก็มีสัตว์อีกไม่น้อยที่ต้องการความช่วยเหลือจากมนุษย์ แต่เราคงไม่สามารถช่วยได้ทุกชนิด และเรื่องคงหนีไม่พ้นที่เราต้องมาจัดลำดับความสำคัญว่า จะช่วยชนิดใดก่อน เรามีบุคลากรที่สนใจสัตว์เหล่านั้นเพียงพอหรือไม่ มีงบประมาณเท่าไหร่ และคงจะต้องตั้งคำถามให้ชัดเจนว่า ถ้าเราจะทำโครงการ Reintroduction ควรจะทำกับสัตว์ชนิดไหน โอกาสความสำเร็จมีมากมีน้อยมากแค่ไหน สิ่งเหล่านี้ต้องมาวางแผนร่วมกัน

สุดท้ายสิ่งที่อยากฝากไว้ คือ การอนุรักษ์สัตว์ป่าที่อยู่ในธรรมชาติคือสิ่งที่สำคัญที่สุด รวมถึงอนุรักษ์พื้นที่อาศัยก็เป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรก การปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติควรเป็นทางเลือกสุดท้าย


เรียบเรียง จิรฐา สมศรี เอกวิทย์ เตระดิษฐ์