Refill Station ปั๊มน้ำยาของคนอยากลดขยะ

Refill Station ปั๊มน้ำยาของคนอยากลดขยะ

ความสำเร็จของนักธุรกิจมักวัดด้วยผลประกอบการ ปริมาณลูกค้า หรืออาจเป็นการขยายกิจการให้ใหญ่โตมากขึ้น แต่สำหรับร้านเล็กๆ อย่าง Refill Station ได้รวมผลการลดปริมาณขยะพลาสติกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ

แอน สุภัชญา เตชะชูเชิด, แพร์ ปภาวี พงศ์ธนาวรานนท์ และน้ำมนต์ ชนินทร์ ศรีสุมะ หนุ่มสาวเด็กปั๊มผู้ก่อตั้ง Refill Station ร้านปั๊มน้ำยาแห่งแรกในประเทศไทย โดยนำเอาปัญหาขยะพลาสติกมาใช้จุดเริ่มต้น

จากโครงการทดลองตามแผงลอยกระทั่งปัจจุบันมีร้านเป็นของตัวเอง ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของคนกลุ่มน้อยที่ลุกขึ้นต่อสู้กับปัญหาเรื้อรังอย่างขยะพลาสติกที่ใครหลายคนเริ่มชินชา แต่พวกเขากล้าที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคม

จากซ้าย แอน สุภัชญา เตชะชูเชิด, แพร์ ปภาวี พงศ์ธนาวรานนท์ และน้ำมนต์ ชนินทร์ ศรีสุมะ

 

Q : จุดเริ่มต้นของการตั้งร้าน มารวมตัวกลายมาเป็นร้าน Refill Station ได้อย่างไร ?

A : เริ่มจากแอนและแพร์พูดคุยกับถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและตั้งคำถามว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ด้วยความที่อินกับ Zero Waste คือการทำยังไงให้ชีวิตไม่มีขยะอยู่แล้ว รวมถึงได้เห็นตัวอย่างจากต่างประเทศที่เขามี Bulk Store (ร้านค้าแบบเติม) แต่ประเทศไทยยังไม่มีจึงทำให้เราใช้ชีวิต Zero Waste ได้ยาก เพราะไม่มีตัวเลือกให้คนที่พร้อมจะเปลี่ยน สุดท้ายเราจึงเริ่มจากสิ่งที่เราทำได้ อย่างพวกสบู่ ยาสระผม แบบเติม จึงไปชวนน้ำมนต์ที่พกขวดน้ำส่วนตัวและคลุกคลีกับเพื่อนที่ทำสบู่หรือยาสระผมใช้เอง น้ำมนต์โอเคกับคอนเซ็ปต์นี้ เล็งเห็นว่าแนวทางนี้จะช่วยลดในส่วนของตัวเองได้ จึงกลายมาเป็นร้าน Refill Station อย่างปัจจุบันนี้

 

Q : ในเมื่อปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นมีมากมาย ทำไมจึงเจาะจงไปที่ปัญหาขยะพลาสติก

A : ก่อนหน้านี้ปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยสนใจ อย่างที่สารคดีหนึ่งกล่าวว่าคนชอบมองว่าเรื่องของธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องอะเมซิ่งเวลาพูดถึงให้ดูดราม่าและมักมองภาพในสเกลใหญ่ เช่น น้ำตกอลังการ แต่เรากลับลืมสิ่งเล็กๆ ที่เราทำได้ มันอยู่รอบตัวเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้และเริ่มลงมือทำได้เลย แต่คนชอบลืมมันไป   

 

Q : ปัญหาขยะพลาสติก ณ ตอนนี้ กังวลเรื่องอะไรมากที่สุด ?

A : เรามองว่ายังไม่มีทางออกอื่นได้ดีเท่ากับการไม่ใช้หรือไม่ก่อขยะพลาสติก ปัญหาที่ห่วงคือเรื่องไมโครพลาสติกและเส้นใยพลาสติกเนื่องจากมันมีขนาดเล็กมากและแทรกซึมปนเปื้อนในธรรมชาติได้ง่าย ในขณะที่เราไม่ได้ตระหนักถึงปัญหานี้เลยโดยตั้งแต่ผลิตขึ้นมาพลาสติกมันไม่ได้หายไปไหนเพียงแค่แตกย่อยเป็นส่วนเล็กๆ จนย่อยต่อไปไม่ได้แล้ววนเวียนเข้ามาในห่วงโซ่อาหารของเรา ยกตัวอย่างปลากินไมโครพลาสติกเข้าไปและเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่อาหารของเราแม้แต่ในน้ำประปาของแต่ละประเทศเองก็มีเส้นใยพลาสติกพวกนี้หรือกระทั่งในอากาศที่เราหายใจเข้าไปก็อาจมีสิ่งเหล่านี้เจือปนอยู่

แต่ก็ไม่มีงานวิจัยออกมายืนยันผลกระทบจากการที่มนุษย์ได้รับไมโครพลาสติกหรือเส้นใยพลาสติกเข้าไปในร่างกาย แอนมองว่าผลกระทบต่อมนุษย์มันใช้ระยะเวลานานมากจึงจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเรา แต่กับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างแพลงก์ตอน Copepod พอส่องกล้องจะเห็นว่าในร่างกายของพวกมันมีไมโครพลาติก โดยเฉพาะเจ้า Copepod ที่ตัวใสทำให้การส่องกล้องสามารถเห็นเม็ดไมโครพลาสติกได้ชัดเจนพลาสติกชิ้นเล็กๆเข้าไปส่งผลทำให้เกิดการเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไปทำลายระบบสมดุลฮอร์โมนที่ทำให้มันมีการเจริญเติบโตผิดปรกติ

 

Q : ร้านมีคอนเซ็ปต์อย่างไร ?

A : จุดเริ่มต้นของร้านมาจากความต้องการลดขยะพลาสติก นี่ป็นหัวใจหลักและตัวชี้วัดของร้าน Refill Station ด้วยความที่มันเป็นธุรกิจจึงต้องได้กำไร แต่เราไม่ได้วัดผลที่กำไรเพียงอย่างเดียว แต่วัดจากจำนวนขยะพลาสติกที่เราลดได้ด้วย สิ่งนี้ทำให้ธุรกิจของเรามีคุณค่า เปรียบเสมือนช่วยเพิ่มทางเลือก นอกจากร้านจะมีน้ำยาต่างๆ ที่ให้เอาขวดมาปั๊มเองได้ ยังมีกล่องข้าว หลอด ช่วยให้คนเมืองใช้ชีวิต Low Waste ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการลดขยะจากชีวิตประจำวัน หากทำคนเดียวมันยาก เราชวนคุณมาทำด้วยกันเป็นชุมชน    

 

Q : เป้าหมายที่วางไว้มีอะไรบ้าง ?

A : เป้าหมายคือเป็นธุรกิจที่ทำแล้วอยู่ได้ ทำแล้วเวิร์ค และสามารถกระจายไปในหลายๆ พื้นที่ การที่อยากมีสาขาเพิ่มเพราะมันไม่ Make sense หากลูกค้าอยู่หมอชิตแล้วต้องเดินทางไกลเพื่อมาเติมน้ำยาที่ร้านควรมีแหล่งที่สะดวกกับเขาจริงๆอย่างใต้หอหรือคอนโดฯ ทำให้เปลี่ยนวิถีชีวิตได้ง่ายและช่วยสร้างอาชีพให้คนอื่นๆ ได้ ส่วนเป้าหมายด้านสังคมคือการลดขยะพลาสติกให้ได้เยอะที่สุด  ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการให้ความรู้แก่ผู้ซื้อเพราะมันเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่คนไทยไม่คุ้นเคยมีคนไม่เข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งนี้คืออะไรทำไมเราต้องลดพลาสติก รวมไปถึงเรายังจะจัดเวิร์คช็อปให้คนสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้นมีทางเลือกในการใช้ชีวิตไม่ต้องไปซื้อของในห้างสรรพสินค้าเช่นสอนทำสบู่หรือยาสระผม

 

Q : ผลตอบรับตั้งแต่ทำร้านมาเป็นอย่างไรบ้าง ?

A : ด้านยอดขายก็โอเคแต่ไม่ถึงกับสามารถขยายสาขาหรือยั่งยืนนัก เพราะยังอยู่ในช่วงทดลองที่เราเพิ่งตั้งร้านได้ประมาณ 1 เดือนเท่านั้น นี่คือก้าวเล็กๆ จากร้อยก้าวที่เราต้องทำ เราแบ่งลูกค้าเป็น 2 กลุ่ม เพราะเรามีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง หนึ่ง คือเพิ่มทางให้คนที่สนใจด้านนี้อยู่แล้ว ผลตอบรับจึงค่อนข้างบวกมากๆ สองคือการเปลี่ยนพฤติกรรมคน ให้สิ่งเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะกลุ่มนี้หากเขาไม่สนใจเขาก็จะไม่สนใจเลย 

สำหรับคนไทยที่ไม่สนใจเราจะพยายามใช้ราคาหรือว่าใช้ตัว Product ในการดึงดูด เช่น ผงถั่วเขียว ที่ขายดีมาก หรือกลุ่มคนที่แพ้สารเคมีเขาสามารถปั๊มในปริมาณที่ต้องการไปทดลองใช้ได้ ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องซื้อต่อ ต้องบอกก่อนว่าสินค้าที่นำมาจำหน่ายได้มาจากพาร์ทเนอร์เรา ซึ่งไม่ได้ออแกนิคทุกตัว บางตัวมีสารเคมีแต่จะน้อย สาร SLS และ SLE อย่างที่บอกเราไม่ได้เน้นออแกนิคแต่เราเน้นการลดขยะพลาสติก ซึ่งที่ร้านจะมีทั้ง สบู่ ยาสระผม โทนเนอร์มะเฟือง โลชั่นกันยุง และเราตั้งใจจะหาอย่างอื่นมาเพิ่มในอนาคต เช่น ครีมกันแดด ส่วนคนต่างชาติทุกคนเดินมาแล้วแบบ “This is what we have to do” , “This is very good” คือเขาเข้ามาแล้วรู้สึกว่าต้องได้อะไรกลับไป   

 

Q : ทั้ง 3 คน แบ่งหน้าที่กันทำอะไรบ้าง ?

A : น้ำมนต์เป็น Business Developer หาและจัดอีเว้นท์เข้ามายังร้าน ดูแลภาพรวม บัญชีของร้าน และเป็นแอดมินแฟนเพจ Refill Station ส่วนแอนเป็นทีมวิชาการดูเรื่องข้อมูล การ Research ขยะพลาสติก และจัดทำ Content ต่างๆ ที่เรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญ ลูกค้าที่เข้ามาส่วนใหญ่มาเพราะคอนเซ็ปต์พวกเขาจึงสนุกและชื่นชอบการมีข้อมูลให้อ่าน เราไม่อยากขายเพียงอย่างเดียวแต่ต้องการ Educate ด้วย อีกทั้งแอนยังประสานงานกับพาร์ทเนอร์และ QC Product ต่างๆ สำหรับแพร์ที่เป็นเจ้าของร้าน Better Moon ให้การเอื้อเฟื้อสถานที่ Refill Station อีกทั้งยังเป็น In-house-designer ให้เรามีแบรนด์และหน้าตาที่ดูดีได้ขนาดนี้ ปัญหาหลายอย่างจึงได้รับการแก้ไขได้ด้วยการออกแบบ หรือทำดีเทลการจัดการร้านทั้งหมด แพร์ก็จะเป็นคนออแกไนซ์และดูแลร้านเป็นหลัก

 

Q : ปัญหาที่พบจากการทำร้านมีอะไรบ้าง ?

A : ภาพรวมคือตั้งแต่การตั้งบูธจนถึงตอนนี้เป็นเรื่องของ ความเข้าใจ แม้จะอ่านป้ายและมาดูก็ยังมีคนไม่เข้าใจว่าร้านแบบนี้คืออะไร และพยายามจะสื่ออะไร ซึ่งเราพยายามจะแก้และสื่อสารออกไป โดยภายหลังการสื่อสารออกไปก็มีทั้งเสียงด้านลบและบวก มีทั้งคนที่ไม่เชื่อว่าเราจะทำได้จะเปลี่ยนได้ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือเชื่อว่าพลังสเกลเล็กของผู้บริโภคมันสามารถเปลี่ยนได้ แต่บางคนไม่คิดแบบนั้นเขาจึงไม่เชื่อ เขาเชื่อว่าจาก Top-down ลงมามันจะเวิร์คกว่าคือจากนโยบายรัฐหรือให้บริษัทใหญ่เป็นฝ่ายเปลี่ยนแต่เราเชื่อว่าการไปด้วยกันสองทางมันคือวิธีที่ดีแต่ถ้าเกิดเขายังไม่ทำแล้วทำไมเราจะต้องรอ

แพร์เปรียบไทม์ไลน์นี้เหมือนกับคนจะขี่จักรยานก่อนหรือรอให้มีเลนจักรยานก่อนแล้วค่อยขี่ คือตอนนี้มีคนที่อยากขี่อยู่แล้ว คนไม่อยากขี่ก็ช่างไป เหมือนรอนักปั่นเยอะๆ กว่านี้แล้วเขาค่อยสร้างเลนจักรยาน ก็เป็นเรื่องธรรมดา 

ผลด้านบวกเห็นได้เยอะมาก ทั้งจากพาร์ทเนอร์เราที่ทุกคนเขาเอาของมาวางด้วยความเข้าใจคอนเซ็ปต์และอยากสนับสนุนหลายอย่าง คนที่เชื่อในคอนเซ็ปต์นี้ก็พยายามมาช่วยกัน ชวนไปออกงานออกอีเว้นท์ทุกคนเชื่อว่ามันเวิร์ค เราจึงยิ่งเชื่อว่าเราไม่ต้องรอ Top-down ลงมาหรอก เพราะมันทำได้เลย ส่วนเรื่องปัญหาความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ว่าเป็นของแท้หรือไม่ ไม่ค่อยมีแล้วหลังจากมีหน้าร้าน 

ก็จะโดนคำถามเหนื่อยขนาดนี้จะรวยหรือ” , “จะไปสู้กับเซเว่นได้ยังไงเราจำได้วันที่ขายได้มีกำไรแล้วเอามาหารแบ่งกันได้คนละ 30 บาท ยังไม่ได้ค่าแรง และไม่พอกินข้าวเลย แต่สำหรับพวกเรารู้สึกว่ามันคุ้มเพราะนี่หมายถึงมีคนที่พร้อมจะเปลี่ยน    

เราว่าอย่างหนึ่งคือมันเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ การไปออกร้านจะช่วยทำให้คนเริ่มคุ้นชิน ที่ทำให้กิดการเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น เราว่าจริงๆ การปั๊มน้ำยาแบบนี้มันคล้ายกับกระแสการพกขวดน้ำ พอมีการพูดถึงมากขึ้นคนจะรู้สึกเฉยๆ มากขึ้น เราเชื่อว่าการออกสื่อเยอะๆ ทำให้คนคุ้นชินว่ามันมีสิ่งแบบนี้อยู่ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมมากขึ้น แม้วันนี้คุณอาจมองว่ามันเป็นเรื่องแปลก แต่อีกสิบปีข้างหน้ามันก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา    

 

Q : การสื่อสารในแฟนเพจ Refill Station เป็นยังไง ?

A : ในเพจจะมีแชร์ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะพลาสติก ต่อไปก็หวังว่าเราจะมี Content เป็นของเราเอง แรกๆ อาจจะเขียนเรื่องขยะอันตราย การจัดการขยะยังไงบ้าง ขยะพลาสติกมีปัญหายังไง ผลิตภัณฑ์ในร้านคืออะไร แล้วก็เล่าเรื่องราวของร้าน ครั้งแรกที่ยังใหม่มากตั้งแต่ยังไม่มีเพจด้วยซ้ำมีคนแชร์เยอะมาก ในขณะที่เราขายไม่ได้เลย แต่ทุกวันนี้รู้สึกว่าคนเริ่ม Aware มากๆ เลยรู้สึกว่าช่วงนี้คนเริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาขยะพลาสติกมากขึ้นอาจเพราะมีช่องทางอื่นที่ช่วยกันให้ข้อมูลเช่นเพจ ReReef

แต่ก็จะมีคนติดความคิดว่าเราไม่ใช้ คนอื่นก็ใช้อยู่ดีหรือเราลดแค่นี้ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้หรอกคนก็จะรู้สึกว่าถุงใบเดียวเอง หลอดอันเดียวเอง ของมันดูเล็กมากจริงๆ แต่ยิ่งเล็กมันยิ่งจัดการยาก   

จริงๆ เรื่องที่สื่อสารไป กระแสสังคมพูดถึงการรีไซเคิลเยอะๆ แต่จริงๆ การรีไซเคิลมันก็ดี แต่มันจะดีกว่าถ้าเป็นการรียูสหมายถึงว่าหากลงไปลึกๆ แล้ว การรีไซเคิลขวดที่รีไซเคิลนั้น พอไปดูข้อมูลจริงๆ ขวดที่อยู่ในกลุ่มนั้นไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด 100% ซึ่งต่ำกว่า 30% ด้วยซ้ำที่สามารถรีไซเคิลได้จริงๆ โดยการรีไซเคิลต้องผ่านกระบวนการต่างๆ การแยกประเภทขวด ขวดต้องไม่มีสี จริงๆ ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา Agent กันขนาดนั้น แต่หมายถึงแคมเปญเน้นการรณรงค์รีไซเคิลมันกลบปัญหาการรียูสลงไป เหมือนกับการเป็นสิวแล้วเอาคอนซีลเลอร์มาโปะ เรามองว่าการลดใช้ ไม่ก่อขยะไปเลยดีกว่า   

.
.
.

Q : การได้เริ่มต้นและทำตามคอนเซ็ปต์ที่ตั้งใจไว้สนุกกันสิ่งที่ทำไหม ?

A : (หัวเราะ) ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าสนุกแต่สนุกกันคนละแบบ

น้ำมนต์ : หลังจากที่ทำร้านยอมรับว่ามีความกดดันจากคนรอบข้างมากขึ้น เราถือว่าเป็นแรงในทางบวกเพราะเราสนใจทางนี้อยู่แล้ว แม้ไม่ได้ Stick กับตัวเองมาก เพราะเราทำในจุดที่เราทำได้ แต่พอทำร้านคนรอบข้างจะเริ่มสังเกตแล้วหลายคนจะมี Effect ว่าเราต้องไม่ใช่พลาสติกเลยซึ่งมันเป็นไปได้ยากแต่นี่หมายถึงความท้าทายต่อตัวเองว่าจะสามารถทำได้ขนาดไหน

แอน : เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ทำธุรกิจมาก่อน จึงรู้สึกสนุกกับการนั่งเช็คสต็อคดูของ รับเข้า ส่งออกของต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มาก รวมไปถึงการหาข้อมูล สำรวจของในท้องตลาด อ่านฉลากผลิตภัณฑ์ว่าใส่อะไรหรือมีสารเคมีอะไร กลายเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับเนิร์ดอย่างเรา   

แพร์ : มันมีความท้าทายมีโจทย์ให้แก้ตลอด คล้ายๆ กับแอน คือไม่เคยทำธุรกิจแบบนี้ เรารู้สึกว่าโอเคที่ได้ทำอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น อีกทั้งยังมีประโยชน์ และทำแล้วก็ได้รับแรง Osmosis มาจากน้ำมนต์และแอนก็เป็นพลังบวกในการใช้ชีวิต

 

Q : จะแนะนำให้คนที่อยากเริ่มต้นปฏิวัติการลดขยะพลาสติกในชีวิตประจำวันตัวเองอย่างไร ?

A : ง่ายๆ เลยคือเริ่มจากการพกขวดน้ำดื่มหรือถุงผ้าเป็นของตัวเองก่อน เพราะขวดและถุงพลาสติกถูกจัดให้เป็นประเภทอันดับต้นๆ ของปัญหาขยะที่พบ และยังใช้กันบ่อยและแพร่หลาย หรือเพิ่มแรงผลักดันตัวเองด้วยการชวนเพื่อนมาจอยกันเป็นกลุ่มทำไปด้วยกัน มันจะช่วยให้เรามีพวกพ้องพยายามในสิ่งเดียวกันและช่วยกันกดดันให้เราทำสำเร็จได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในเฟสบุ๊คจะมีกลุ่ม Greenery Challenge ถ้าสนใจก็สามารถมาจอยกันได้ กลุ่มนี้แอนเป็นคนทำเอง ในกลุ่มก็จะร่วมกันแชร์ประสบการณ์ ให้คำแนะนำ แลกเปลี่ยนข้อมูล และแบ่งปันทริคกัน เป็นการรวมกลุ่มของคนที่มีหัวอกเดียวกันทำให้กิจกรรมครึกครื้นขึ้น และการเห็นคนอื่นพยายามจะยิ่งเป็นแรงผลักดันให้รู้สึกว่าตัวเราเองก็สามารถทำได้เช่นกัน 

สำหรับคนอื่นที่บอกว่าการเริ่มพกของอะไรแบบนี้ว่าขี้เกียจแบกเรามองว่ามันไม่ใช่เหตุผลแต่เป็นข้ออ้างมากกว่า คือเขาอาจมองว่าปัญหาขยะพลาสติกมันไม่สำคัญ บางคนอาจเจอประโยคแค่นี้ไม่ได้ช่วยอะไรหรอกจะทำให้คนที่คิดจะลงมือทำรู้สึกถูกบันทอนกำลังใจ เราอยากบอกว่าคุณทำไปเถอะเดี๋ยวคนรอบข้างก็เปลี่ยนเอง เมื่อวันหนึ่งมันถูกสื่อสารออกไปมากขึ้น เขารู้ข่าวสารเหมือนที่เรารู้ เขาก็จะเข้าใจว่าเราทำไปทำไม หรือหากมีโอกาสเขาไม่ได้ดื้อดึงจนเกินไปก็ให้ข้อมูลถึงเหตุผลที่เราทำไปว่าเราทำเพื่ออะไรทำไมขยะพลาสติกถึงเป็นปัญหา

เอาจริงๆ ทุกคนก็อยากสบาย เราไม่อยากสบายน้อยไปกว่าคุณหรอก แต่ที่เราทำเพราะเราเห็นว่าปัญหาขยะพลาสติกมันเป็นเรื่องสำคัญ

 

ความตั้งใจของนักอนุรักษ์รุ่นใหม่จะสามารถสื่อสารเข้าถึงและสร้างความเข้าใจและเกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงไหนอาจไม่สำคัญเท่าคุณแต่ละคนว่าเลือกที่จะเปลี่ยนหรือเลือกที่จะรออย่างที่พวกเขาว่า

ปัญหาขยะเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องง่าย สามารถทำได้เลย เพียงแค่พร้อมและเลือกที่จะเปลี่ยนหรือไม่

ก่อนที่จะตัดสินใจ ลองไปติดตามหรือแวะเข้าไปเยี่ยมชมเพื่อทำความเข้าใจแนวทางของพวกเขามากขึ้นได้ที่แฟนเพจ Refill Station หรือจะเดินทางไปได้ที่ร้าน Better Moon x Refill Station ซอยสุขุมวิท 77/1 เพื่อหาคำตอบให้กับตัวคุณเอง

 


เรื่อง / ภาพ พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร