คุยกับ ‘นายสัตวแพทย์เบญจพล’ เมื่อ PM2.5 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่มนุษย์

คุยกับ ‘นายสัตวแพทย์เบญจพล’ เมื่อ PM2.5 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่มนุษย์

ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ซึ่งปกคลุมท้องฟ้าและลอยอยู่บนอากาศ หากมองด้วยสายตาก็จะพบความความพร่ามัวของบรรยากาศที่ดูเผิน ๆ หลายคนอาจจะคิดว่าเป็น ‘หมอก’ ซึ่งแท้จริงแล้วคือฝุ่นละอองขนาดจิ๋วอันเป็นต้นเหตุที่ส่งผลต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตโดยตรง

สำหรับ ‘เมืองหลวง’ อย่างกรุงเทพมหานครนั้นถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวอย่างชัดเจน  ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (ออนไลน์) รายงานว่า ช่วงเช้าของวันที่ 9 มกราคม 2563 ข้อมูลจากแอปพลิเคชั่น Air Visual ระบุ สภาพอากาศโดยทั่วไปของกรุงเทพมหานคร ตามมาตรฐาน US AQI อยู่ที่ 173 (PM 2.5 อยู่ที่ 57.8 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ติดอันดับที่ 8 เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก แน่นอนว่าปัญหาฝุ่นขนาดจิ๋วไม่ใช่เรื่องปรกติที่เกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะสำหรับ ‘ชาวกรุง’ ที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยมลภาวะทางอากาศที่นับวันจะแย่ลงไปทุกขณะ

นอกจาก คนเมืองที่จะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ฝุ่นขนาดจิ๋วแล้ว ‘สัตว์ที่อยู่ในเมือง’ เองก็เป็นอีกสิ่งมีชีวิตที่จะต้องดำรงชีพอยู่ภายใต้หมอก (ควัน) อันเกิดจากปัญหาทางมลภาวะดังกล่าว

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้สนทนากับ หมอเบน – นายสัตวแพทย์เบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์พนาลัย นายสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาสัตว์ป่าและสัตว์พิเศษ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องปัญหาของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ประเภทต่าง ๆ ที่ดำรงชีพอยู่ในเมืองหลวง

 

วิกฤตฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ส่งผลกระทบกับสัตว์ที่อยู่ในเมืองหรือไม่

หากพูดถึงขนาดของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นั้นอยากให้ลองนึกภาพเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยตัวฝุ่นดังกล่าวนี้มันเล็กกว่าเม็ดเลือดแดงครึ่งหนึ่ง แปลว่ามันมีขนาดเล็กนิดเดียวเอง จึงส่งผลให้มีโอกาสที่จะเล็ดลอดกระบวนการกรองที่คอยปกป้องร่างกายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โพรงจมูก ขนจมูก เยื่อเมือกที่คอยดักกรอง เป็นต้น 

ที่ผ่านมาปัญหา PM 2.5 ค่อนข้างจะเป็นประเด็นร้อนที่พูดถึงกันในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ซึ่งถ้าเรามองถึงสัตว์ มนุษย์เองก็ถือเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในระบบนิเวศ เพราะฉะนั้นถ้ามนุษย์ได้รับผลกระทบทางสุขภาพก็สามารถอุปมาอุปมัยได้ไม่ยากว่า สัตว์ป่า หรือสัตว์เลี้ยง ที่อาศัยอยู่ในเมือง เขาก็ไม่ต่างกับเรา ดังนั้นวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก จึงมีผลต่อสิ่งมีชีวิต…ต้องใช้คำว่า ‘แทบทุกชนิดเลย’ 

ฝุ่นละอองขนาดเล็กส่งผลกระทบต่อสัตว์อย่างไร

จริง ๆ แล้วมนุษย์กับสัตว์มีกลไกการเกิดโรคต่าง ๆ ที่คล้ายกันแทบไม่แตกต่างกันเลย ถ้าสิ่งไม่ดีสามารถเข้าสู่ระบบเลือดได้ ดังนั้นการที่ PM 2.5 มีประสิทธิภาพในการเดินทางผ่านกระแสเลือด เข้าสู่ระบบประสาทการรับกลิ่นต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะทำให้การทำงานของระบบการรับกลิ่นเสียหายและเสื่อมประสิทธิภาพ  ดังนั้นสัตว์ป่าหลายชนิดที่ใช้การรับกลิ่น ใช้การดม ใช้การรับสัมผัสจากส่วนนี้ อาจจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นขนาดเล็กไปแล้ว และในเวลาต่อมาอีกหลายตัวอาจจะมีอาการสมองกระทบกระเทือนจากฝุ่นพวกนี้ก็ได้ ที่ผ่านมาเคยเจอกรณีที่นกยืนอยู่ดี ๆ ก็ร่วงลงมาเลย โดยที่เราได้ทำการชันสูตร แต่ก็ไม่ได้พบการติดเชื้อหรือไวรัสอะไรเลย ซึ่งมันอาจจะเป็นเกิดจากผลกระทบจากฝุ่นก็ได้ 

นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาที่พบว่า ในเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็ก มนุษย์แร่ธาตุสะสมที่อยู่ในมวลกระดูกของมนุษย์ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวมีความผิดปกติไป ซึ่งสัตว์ทุกชนิดก็มีกระดูกเหมือนกับมนุษย์ แต่อย่าลืมว่าสัตว์ต้องใช้งานโครงสร้างส่วนนี้หนักหน่วงกว่าคนเพื่อความอยู่รอด จะเห็นได้ว่ากระรอกต้องกระโดด หรืออาจจะเห็นภาพนกบินบนท้องฟ้า แสดงให้เห็นว่า สัตว์จำเป็นต้องใช้กล้ามเนื้อกระดูกอย่างหนักในการดำรงชีพ ซึ่งตามรายงาน PM 2.5 มันไปลดการสะสมแร่ธาตุต่าง ๆ ที่กระดูก ซึ่งส่งผลให้โครงสร้างของมวลกระดูกบางลง และเสียหาย ก็อาจจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์ป่า ถ้าหากโครงสร้างกระดูกของสัตว์ป่าเบาบางลง อาจจะทำให้เกิดปัญหาการในใช้ชีวิต ซึ่งมาจากความเสื่อมโทรมของสภาพกระดูก ซึ่งจะทำให้เกิดการเจ็บปวดเวลาใช้ชีวิต

ระหว่างควันรถ และควันจากไฟป่า ที่มีลักษณะเป็นฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 แบบไหนส่งผลกระทบต่อร่างกายของสัตว์มากกว่ากัน

ต้องคิดว่า PM 2.5 จากไฟป่า หรือจากรถยนต์มันเป็น particle หรืออนุภาคที่ไร้พรมแดน แปลว่ามันอาจจะเกิดขึ้นในเมืองแต่ก็ไม่ได้อยู่แค่ในเมืองนั้น หรือมันเกิดขึ้นในป่ามันก็ไม่ได้อยู่แค่ในป่า ซึ่งแน่นอนฝุ่นละอองขนาดเล็กมันสามารถแพร่กระจายออกไปด้วยตามลมหรือล่องลอยได้ไปตามอากาศ อย่างเช่นไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลทำให้เกิดปัญหาเรื่องหมอกควันที่บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย  เพราะฉะนั้นผลกระทบมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะจุดตรงนั้น อย่างในกรุงเทพมหานครมีการใช้รถที่ขับเคลื่อนโดยน้ำมันดีเซลเยอะมาก ทำให้เกิดฝุ่นละอองมาก มันก็จะส่งผลไปยังพื้นที่ป่ารอบนอกได้รับผลกระทบด้วย ส่วนไฟป่ามันก็อาจจะลามมาถึงข้างนอก 

แต่สำหรับสัตว์บางตัวอาจมีความโชคดีอยู่บ้าง ซึ่งมันก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานที่อยู่อาศัยด้วยยกตัวอย่าง เช่น สัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่า ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 จากเมืองอยู่บ้าง แต่อาจจะเบาบางลงเนื่องด้วย ในผืนป่าย่อมมีตัวกรองที่เกิดจากขึ้นธรรมชาติ อาทิ ต้นไม้ ใบไม้ หรือแม้กระทั่งต้นหญ้า ที่จะเป็นตัวดักจับฝุ่นละอองต่าง ๆ ส่งผลให้สัตว์ป่าที่อยู่ในผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์หรือเขตอนุรักษ์ จึงมีอายุที่ยืนยาวและแข็งแรงกว่าสัตว์ทั่วไป

 

สัตว์ประเภทไหน ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

สัตว์ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในเมือง หรือที่เรียกว่า ‘Urban wildlife’ อันนี้หนัก ลองถอดภาพสิ่งแวดล้อมในเมืองดูจะเห็นได้ว่ามีสัตว์ป่าที่ปรับตัวมาอยู่อาศัยในพื้นที่เมืองค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นนก กระรอก ฯลฯ ซึ่งกระทบก็เกิดจากว่าสัตว์ป่า (ในเมือง) เหล่านี้ ไม่มีใครดูแล ไม่สามารถที่จะปกป้องตัวเองจากฝุ่นได้ แต่เขาจำเป็นจะต้องใช้ชีวิตและเขาจำเป็นต้องอาศัยในพื้นที่เมืองต่อไป

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ PM 2.5 แต่ต้องรับมลพิษต่าง ๆ รอบตัวที่มีค่อนข้างเยอะด้วย  ทั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าในวันหนึ่ง สัตว์ป่าพวกนี้จะมีการปรับตัวและโครงสร้างของร่างกายให้สามารถดำรงชีพอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาวะอากาศที่แย่ลงขึ้นทุกวันได้หรือเปล่า

ปัญหาในปัจจุบันมันไม่ใช่เรื่องปกติแล้ว ทุกวันนี้เห็นนกบินชนกระจกเยอะ เมื่อก่อนอาจคิดว่าเป็นอาคารสูง ๆ มักทำกระจกใสนกเลยบินชน แต่มาคราวนี้ผมคิดว่าอาจจะเป็นเพราะ หมอก (ควัน) ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตฝุ่นก็ได้ ลองนึกภาพตามขนาดคนขับเรายังมีอุบัติเหตุเลย นกเองผมก็ว่ามีมันคงอาจพบปัญหาในลักษณะเดียว อันนี้น่าจะเป็นหนึ่งในภัยทางอ้อมที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองซึ่งเกิดจาก PM 2.5

 


บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ธัชนาท พนาสันติสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร