‘KongGreenGreen’ ก้อง ชณัฐ วุฒิวิกัยการ จากเด็กสถาปัตย์ สู่เส้นทางสายครีเอทีฟเพื่อสิ่งแวดล้อม

‘KongGreenGreen’ ก้อง ชณัฐ วุฒิวิกัยการ จากเด็กสถาปัตย์ สู่เส้นทางสายครีเอทีฟเพื่อสิ่งแวดล้อม

คุยกับ ก้อง ชณัฐ วุฒิวิกัยการ จากเด็กสถาปัตย์ สู่เส้นทางสายครีเอทีฟ ผลิตรายการสิ่งแวดล้อม ‘KongGreenGreen’ ที่สามารถครองใจคนดูทุกเพศทุกวัย

จากเด็กสถาปัตย์เข้ามาในสายโปรดักชั่นได้ยังไง

เรียน (สถาปัตย์) แล้วรู้ว่าไม่เก่ง ตอนเรียนออกแบบเราอาจไม่ได้ถนัดเรื่องการออกแบบซะทีเดียว แต่ว่าเราชอบเรื่องของการคิดคอนเซ็ปต์ เราชอบเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เราชอบความครีเอทีฟ เราจึงเอาเรื่องที่มันเป็นหัวใจหลักของการเรียนออกแบบเอามาปรับทำกับงานอย่างอื่น แล้วตอนนั้นในรั้วมหาลัยมันมีกิจกรรมพวกละครเวที เราก็ได้ร่วมการทำละครเวที ได้อยู่ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง พอได้ทำกิจกรรมอะไรแบบนี้เรารู้สึกมีความสุขที่ได้ทำ เราอาจจะมาอยู่ในฝั่งของสื่อสารมวลชน เราก็เลยลองเริ่มจากมาเขียนหนังสือ เริ่มไปฝึกงานกับนิตยสาร พอจบมาเราก็ไปทำงานกับนิตยสาร กับโทรทัศน์แล้วเราก็รู้สึกว่าชอบ ชอบการเล่าเรื่อง ชอบเอาความคิดสร้างสรรค์ เอามุมต่างๆ มาถ่ายทอดผ่านสื่อ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน งานพากย์ งานวีดีโอ งานโฆษณา เราก็รู้สึกว่าเอออันนี้เราชอบ

จุดเรื่อมต้นของ KongGreenGreen

มันเริ่มจากหลายทาง ที่ทำให้เกิด KongGreenGreen หลักๆ ทางแรก คือ เรามีโอกาสได้ทำรายการชื่อ The Green Diary มีคนมาจ้างให้เราเป็นพิธีกร พอทำรายการทำงานเกี่ยวกับด้านนี้ เราได้ไปสัมผัสกับข้อมูล ได้ไปสัมผัสคนที่เขาเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนธุรกิจเพื่อมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ได้ไปเจอแม่สายกรีนหรือว่าคนที่เปิดร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างสายกรีนที่เขาพยายามเอาซองรีฟิลล์น้ำยาล้างจานมาเจาะรูหูหิ้วแล้วก็ใส่น๊อต ใส่ตะปู ใส่กระดาษทรายให้ช่าง แม้แต่สก็อตเทปติดถุงเขายังไปตัดเอาสติ๊กเกอร์ที่แปะบนข้าวกล่องไมโครเวฟตัดมาแล้วก็แปะ คือเขาไม่สร้างขยะใหม่ ถามว่ามันสร้างงานเพิ่มให้เขาไหม ก็ใช่ ถ้าง่ายๆ แค่ไปซื้อถุงพลาสติกมาแพ็คนึงไม่กี่บาทก็หยิบใส่ให้ใช่ไหมครับ แต่ว่าเขาใส่ใจมาก แล้วมันเป็นสื่อที่ดีต่อคนที่เดินออกจากร้านเขา มันทำให้เกิดความคิด เกิดการรับรู้ของคนทุกคนที่เป็นลูกค้าเขาว่าทำไมต้องทำแบบนี้ เราก็เลยได้ความรู้ตรงนั้นไปด้วย แล้วก็ติดมาใช้ในชีวิตประจำวัน

สาเหตุที่สอง มันเป็นสิ่งที่พี่ก็ทำในชีวิตประจำวันอยู่แล้วในเรื่องการแยกขยะ ต่อให้ไม่มีใครรณรงค์ และในออฟฟิศทุกคนก็ให้ความร่วมมือดีเพราะว่าเขาก็อยู่ในขั้นตอนทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นช่างภาพ คนเขียนบท คนตัดต่อ คนทำกราฟฟิก ประสานงาน พิธีกร ทุกคนอยู่ในคอนเทนต์นี้หมด ทุกคนต้องเข้าใจคอนเทนต์พวกนี้อยู่แล้ว เพราะเขาทำงานในหน้าสื่อ

ในออฟฟิศเรามีถุงผ้าให้คุณจะได้ไม่ต้องใช้ถุงพลาสติกเวลาออกไปซื้อของ เรามีปิ่นโต เรามีหลอดที่เป็นรียูสให้ เรามีกระบอกน้ำให้ใช้ แล้วก็มีถังขยะที่จำแนกไว้อย่างละเอียด มีถังหมักเศษอาหารเวลาคุณทานอาหารเสร็จคุณก็มาทิ้งลงในถังนี้ มีกะละมังเล็กๆ เอาไว้แช่ถุงก๋วยเตี๋ยว ถุงแกงที่คุณซื้อมา อย่างน้อยๆ แช่ไว้ในกะละมังแล้วตอนเย็นก็มีแม่บ้านมาช่วยล้างให้ แล้วก็คัดแยก เขาก็เห็นอยู่ว่ามีถังที่เอาไว้ใส่ถุงแกงที่เขาซื้อมาแล้วก็ถูกล้างสะอาด ถูกหนีบตากให้แห้งในออฟฟิศแล้วก็ถูกรวบรวมไว้แล้ว พอครบเดือนเราก็เอาไปส่งกัน ทุกคนก็เลยเห็นถึงเหตุและผลหมด

คือพี่เชื่อในเรื่อง ‘เหตุและผล’ มากๆ ที่ผ่านมาถูกสั่ง โดยที่เราไม่รู้ว่าทำแล้วได้อะไร แต่ถ้าเราบอกทุกคนให้เข้าใจหมดว่าทำไมคุณต้องล้าง เชื่อว่าก็คงมีคำถามอยู่แล้วว่าทำไมต้องล้างขยะ มันดูสิ้นเปลืองทั้งน้ำและเวลา แต่ที่เราล้างเพราะเราแยกมันไง เพราะเราต้องเก็บเขาไว้ในบ้านเราเป็นเดือนกว่าที่จะรวบรวมแล้วไปส่งสถานที่รับรีไซเคิล ไปส่งเผาเชื้อเพลิง ถ้าเราไม่ล้างมดก็ขึ้น เหตุผลมันแค่นั้นเอง ปลายทางเขาไม่ได้อยากได้ขยะที่มันสะอาดเนี๊ยบหรอก ขยะอะไรก็ได้ให้เขาไปเผา แต่ถ้าคุณไม่ล้างแล้วคุณมีวิธีที่ทำให้มดไม่ขึ้นอยู่ในบ้านคุณได้เป็นเดือนก็เรื่องของคุณ แค่รู้เข้าใจเหตุผลและหลักการมันแค่นั้นเอง

ทีนี้พอประกอบกันสองส่วน สิ่งที่เราทำเองอยู่แล้วในชีวิตประจำวันกับงานที่ทำให้เรามีความรู้มากขึ้น มันเลยทำให้เรารู้สึกอยากเล่าเรื่องนี้ออกมาแบบในชีวิตเรา ที่เราบอกว่าเราแยกขยะละเอียดขึ้น ทำมันเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น เราเต็มใจและเตรียมพร้อมที่จะถือปิ่นโตถือถุงผ้า พกแก้วมีหลอดส่วนตัวที่จะลดปริมาณขยะในชีวิตประจำวันของเรา มันท้าทายตัวเองมากขึ้น ไหนๆ ทำแล้วก็ทักชวนคนอื่น ก็เลยทำสื่อออกมา

ก็ไม่คิดว่าจะมีคนให้ความสนใจเยอะขนาดนี้ ปรากฏว่าพอเราไปอยู่บนแพลตฟอร์มติ๊กต๊อก ก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น กดไลค์ ช่วยกันแชร์ไปตามกรุ๊ปไลน์ต่างๆ เยอะมาก เพราะเราทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่มันดูเหมือนไม่มีประโยชน์ จริงๆ แล้วมันยังสร้างคุณค่าอะไรได้มากมายดีกว่าไปกองไว้ที่ภูเขาขยะ เนื้อหาพวกนี้มันก็เลยถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ มีคนมาติดตามเยอะขึ้น แล้วก็ได้ฟีดแบ็กกลับมาว่าตอนนี้เขาเริ่มแยกขยะแล้วจริงจังมากขึ้นแล้ว ขอบคุณมากที่เราช่วยทำคลิปอธิบายให้เขา แสดงว่าเราไม่ได้ทำอยู่คนเดียว มีคนที่อยากจะทำแบบพี่ก้องเยอะมาก แต่ไม่เคยมีใครให้ความรู้เขาเลย แค่เดินไปข้างนอกเห็นถังขยะสองสามสีตั้งอยู่ แต่ไม่เคยมีใครบอกเลยว่าเขาควรจะต้องทิ้งถังไหนอย่างไร แล้วมันจะไปไหนต่อ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีสื่อต่างๆ มาช่วยบอกเขา มันก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกมีแรงบันดาลใจที่จะทำตามมากขึ้น

หัวใจหลักของ KongGreenGreen

ต้องง่าย! พี่จะโปรยคำไว้เลยว่า ‘วิธีรักษ์โลก’ อะไรที่มันเป็นคำว่า ‘วิธี’ มันรู้สึกว่ามันย่อยแล้ว ดูแล้วจะทำตามได้เลย

พี่จะต้องถามตัวเองก่อนว่า ถ้าดูจบแล้วเขาจะทำตามได้หรือเปล่า ถ้าไม่ได้พี่อาจแก้ไขใหม่ หรือคิดหัวข้อใหม่ คือ ต้องง่ายแล้วก็ต้องดูสนุก ดูเพลิน ไม่เครียดจนเกินไป

คนอาจจจะคิดว่าการที่เขาต้องมาแยกขยะมันเป็นการเพิ่มต้นทุน ทั้งต้นทุนเวลา ต้นทุนแรง ความยากลำบาก ไม่สะดวกสบาย ต้องเปลืองพื้นที่ในบ้าน บางคนแยกขยะไว้ในบ้านก็ต้องล้าง แล้วค่าน้ำล่ะ? ค่าน้ำยาล้างจานล่ะ? เขาจะคิดว่ามันมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมา แต่จริงๆ แล้วทุกวันนี้ คุณไม่ได้ทิ้งขยะกันฟรีๆ นะ งบประมาณในการจัดการขยะของกรุงเทพมหานครจ่ายเป็นหมื่นล้าน แล้วคุณก็เสียค่ารถมาเก็บขยะทุกวัน ฉะนั้น ถ้าเรากลับมาแก้ตั้งแต่ต้นทาง จัดการให้ถูกวิธี งบประมาณจะสามารถเอาไปทำอย่างอื่นให้เป็นประโยชน์ได้อีกเยอะ ขยะที่คุณแยกไว้อาจจะเป็นรายได้หมุนเวียนกลับมา ไม่ต้องไปเปลืองทรัพยากรต่างๆ ให้มากขึ้น

ตัวอย่างประเทศที่มีวิธีจัดการขยะที่ดี

น่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น เราจะเห็นถังขยะของเขาตามสถานที่ต่างๆ มีช่องแยกไว้หน้ามินิมาร์ท หน้าร้านค้าสะดวกซื้อ เคยเห็นที่หนึ่งถังตั้งเรียงเป็น 7 สี อย่างกับยอดมนุษย์เรนเจอร์ เราก็ประทับใจแล้วถ่ายรูปเก็บมา แต่ก็ไม่ได้เข้าใจหรอก แต่พอมาศึกษาข้อมูลต่อเลยรู้ว่าตามบ้านเรือนเขาจะมีกฎแต่ละเมืองไม่เหมือนกัน แต่กฎคร่าวๆ จะแบ่งขยะเป็น 4 ประเภท คือ ขยะที่เผาได้ ขยะเผาไม่ได้ ขยะรีไซเคิล แล้วก็ขยะชิ้นใหญ่ ไม่เหมือนแบบบ้านเราที่เป็นขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะทั่วไป แต่ถ้าบอกว่าเผาได้เราพอนึกออก ผ้าเผาได้ ก้างปลาทูเผาได้ใช่ไหมครับ อย่างกระบอกน้ำมันเป็นโลหะไม่น่าจะเผาได้ เราพอรู้อันไหนเผาได้เผาไม่ได้ แค่การตั้งกฎแบ่งประเภทมันก็ช่วยให้แยกได้ง่ายและเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ที่สำคัญ คือ มันรู้ว่าปลายทางเผาได้แปลว่าเอาไปเผาทำอะไรสักอย่าง เผาทำพลังงานไฟฟ้าอะไรแบบนี้ใช่ไหมครับ ขยะแต่ละประเภทก็จะมีถุงขยะแต่ละสีต่างกันไป ซึ่งเราต้องไปซื้อถุงขยะตามร้านสะดวกซื้อ คือเขาพยายามบอกว่าการทิ้งขยะของคุณมันมีต้นทุน ถ้าคุณขยะเยอะก็ต้องซื้อถุงเยอะ และมีวันเวลาเก็บขยะที่ไม่ได้มาเก็บทุกอย่างทุกวันแบบบ้านเรา สัปดาห์นึงอาจมาเก็บขยะที่เผาได้แค่ 2 ครั้ง เดือนนึงอาจจะมาเก็บขยะรีไซเคิลแค่ครั้งเดียว เพราะฉะนั้นมันบังคับให้คุณต้องแยกไว้ที่บ้าน เพราะคุณไม่สามารถใช้เสร็จก็ทิ้งได้ทันที และถ้าใครมาทิ้งผิดถุงแยกไม่ละเอียดหรือทิ้งผิดวัน ถุงขยะของคุณก็จะไม่ถูกเก็บไป ก็ใช้ระบบสังคมเข้ามากดดัน นี่ถุงของเธอนะยังอยู่ในซอยหมู่บ้านคนเดียวเลย มันใช้ระบบสังคมเข้ามากดดัน พี่เลยรู้สึกว่าเขาใช้กลไกหลายอย่างมากที่ทำให้เรื่องนี้มันเกิดขึ้นแล้วมันก็เลยเป็นจริง

ปัญหาการจัดการขยะในประเทศไทยคืออะไร

ประเทศเราอย่างแรกคือ ‘ระบบยังไม่ชัดเจน’ เรายังมีวิธีจัดการขยะแบบคลุมเครือ ขยะในปัจจุบันเฉพาะกรุงเทพฯ 80 เปอร์เซ็นต์ของขยะทั้งหมดคือการไปฝังกลบ ซึ่งพี่ไม่ได้มองว่าเป็นวิธีจัดการขยะ มันแค่เอาขยะจากที่หนึ่งไปไว้อีกที่หนึ่ง

คำว่าฝังกลบตอนนี้มันก็ไม่ใช่ว่าฝังและกลบนะ มันเรียกว่าเอาไปกองเป็นภูเขา อันนี้ไม่ได้เรียกว่าเป็นวิธีการจัดการเลย วันดีคืนดีอาจจะผ่านไปเป็น 10 ปีมีใครไปขุดขึ้นมาเพื่อเอาขยะที่มันแห้งแล้วไปทำประโยชน์ แต่ว่ามันไม่ใช่วิธีจัดการปัญหา

แค่ระบบจัดการขยะถ้าเราทำให้มันชัดเจนมีประสิทธิภาพ ควรมีหน่วยแยกขยะรีไซเคิลเพื่อไปทำอะไร อันนี้จัดการระบบเอาไปเผาทำพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพให้มันแบบรับปริมาณได้มากขึ้นหรือขยะเศษอาหารไปทำอะไรได้บ้าง คือ ทำให้ปลายทางชัดเจนก่อนเป็นอย่างแรก

อย่างที่สอง เราสามารถสร้างความเข้าใจให้ผู้คนได้ เพราะที่ผ่านมาเรายังไม่จริงจังและจริงใจในการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับประชาชน เรามัวแต่เป็นคนดีทางจิตสำนึก แต่ว่าเราไม่ได้สร้างความเข้าใจด้วยหลักการและเหตุผล

อย่างที่สาม ต้องสร้างกฎขึ้นมา กฎจะทำให้คนที่มีจิตสำนึกหรือไม่มีจิตสำนึกก็ตามต้องอยู่ในภายใต้กฎเดียวกัน ตอนนี้เรายังไม่ค่อยมีทั้ง 3 อย่าง ระบบ ความเข้าใจ แล้วก็กฎเกณฑ์เรายังไม่พร้อม มันเลยสบายๆแบบนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่มันมีทั้ง 3 อย่าง มันทำได้ มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวที่ต้องใช้ระยะเวลาหรือเทคโนโลยีอะไรมากมาย แต่ที่ผ่านมาเหมือนกับว่ามันเป็นปัญหาที่ไม่สำคัญต่อปากท้องหรือเปล่า ? เรื่องสิ่งแวดล้อมมันมาหลังจากเรื่องเงินทองและธุรกิจหรือเปล่า ? แต่เราไม่เคยคำนวณต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมทางด้านสุขภาพ เราก็เลยซ่อนมันไว้ใต้พรมเรื่อยๆ จนตอนนี้พรมมันปูดมันนูน มันไม่ไหวแล้ว

ติดตามคอนเทนต์วิธีจัดการขยะได้ที่ KongGreenGreen