ว่ากันว่า ‘เยาวชน’ คือกล้าพันธุ์ที่จะเติบโตไปเป็นต้นไม้ของผืนป่าใหญ่ แต่ต้นไม้นั้นจะสูงใหญ่และแผ่กิ่งก้านออกไปได้กว้างแค่ไหนนั้นก็อยู่ที่การดูแลเอาใจใส่ การใส่ปุ๋ย และพรวนดิน
ปุ๋ยก็เปรียบได้ดั่งองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ที่ช่วยให้ต้นไม้ได้เติบโตขึ้นไป เยาวชนเองก็ต้องการความรู้หลากหลายด้านมาส่งเสริมให้พวกเขาได้โตขึ้นไปเป็นในสิ่งที่ตนต้องการ
‘กลุ่มใบไม้’ นำโดย คุณโชคนิธิ คงชุ่ม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ เก่ง กลุ่มใบไม้ คือบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังต้นไม้ใหญ่หลายต้น หน้าที่ของเขาคือการเติมปุ๋ยที่เรียกว่าการอนุรักษ์ให้แก่เยาวชนมากมายที่เข้ามาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มใบไม้
วันนี้คุณโชคนิธิ ได้พา คุณวสพล เปรมปริ่ม (เต๋า) และ คุณอัฐพล นิยม (โจ) มาร่วมพูดคุยกับเราด้วย ทั้งคู่นั้นได้รู้จักกับคุณโชคนิธิผ่านเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม โดยแต่เดิมคุณวสพลและคุณอัฐพลเป็นสมาชิกชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
กลุ่มใบไม้คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร
กลุ่มใบไม้คือองค์กรอิสระที่ทำงานเกี่ยวกับด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันเริ่มมาจากความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมของเราตอนเป็นนักศึกษา ตอนนั้นเราก็สนใจทั้งเรื่องต้นไม้ ป่าไม้ สัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ จากความสนใจ เราจึงได้ตั้งกลุ่มใบไม้ขึ้น โดยคอนเซปต์หลัก ๆ ของเราคือ การทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมศึกษา มันคือการใช้กิจกรรมหรือกระบวนการบางอย่างที่ทำให้คนทั่วไปมีความรู้และความตระหนักต่อเรื่องธรรมชาติมากขึ้น
แล้วกลุ่มใบไม้ทำงานกันยังไงบ้าง
ในช่วงแรก ๆ ของกลุ่ม เราทำงานภายใต้กรอบคิดที่ว่า เราจะต้องออกไปทำอะไรให้ธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้กิจกรรมช่วงแรกของเราจะเป็นการออกไปในพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ป่า เพื่อเป็นห้องเรียนธรรมชาติให้เราได้เรียนรู้และทำกิจกรรมกับมัน ก็คงเปรียบได้กับสนามจริงให้สมาชิกได้ลงไปทำงานกัน
ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มใบไม้จะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ งานทุกอย่างของกลุ่มจะถูกขับเคลื่อนด้วยอาสาสมัครล้วน ๆ เลย แต่พอหลังสถานการณ์โควิดเราก็ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรเป็นการไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำ แต่จะเป็นอาสาสมัครและฟรีแลนซ์แทน
เยาวชนมีบทบาทสำคัญอย่างไรกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
เรามองว่าเยาวชนเป็นช่วงวัยที่เปิดรับความคิดมาก ๆ แล้วพอเขาได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวทุกคน เราก็คาดหวังว่าเขาจะเข้าใจเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น “ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ” ก็จะเกิดขึ้น เราเลยอยากถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่กลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ เพราะเรามองว่าทุกคนล้วนก็ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอยู่แล้ว แต่จะมีแค่คนกลุ่มเดียวเข้าใจและดูแลมันเองก็คงไม่ได้
อีกอย่างเราเชื่อว่าเยาวชนเหล่านี้ ถ้าเราใส่ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไป ไม่ว่าเขาจะเติบโตไปเป็นอะไรก็ตาม เขาก็จะมีจิตวิญญาณและความเป็นนักอนุรักษ์อยู่ในตัว นี้แหละเป็นภาพที่เราอยากเห็นหลังจากที่เขาได้มาร่วมกิจกรรมกับเรา อย่างคุณวสพลและคุณอัฐพลก็เป็นผลผลิตจากค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติของเราด้วยเช่นกัน ทั้งคู่ได้มาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มใบไม้ขณะที่เป็นนักศึกษา จนตอนนี้ทั้งคู่ก็ได้เข้ามาร่วมเป็นวิทยากรประจำของกลุ่มใบไม้ด้วย คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าเรื่องอะไรพวกนี้มันต้องเริ่มกันตั้งแต่เป็นเด็กนี่แหละ
“นักเรียน นักศึกษาเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญอย่างมาก พวกเขาเป็นเหมือนสะพานเชื่อมไปหาคนรุ่นใหม่ ๆ พอพวกเราไปทำงานกับพวกเขา เราก็จะได้รับความรู้หรือวิธีการอะไรใหม่ ๆ กลับมาด้วย และบางทีเด็กเหล่านี้ยังเป็นเครื่องมือที่เชื่อมเข้าหากับผู้ใหญ่ด้วย จากที่พ่อแม่บางคนไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม พอลูกของพวกเขามาเล่าให้ฟัง เขาก็จะสนใจและเปิดรับมัน ” คุณอัฐพลเสริม
“เรามองว่าสิ่งที่จะดึงเยาวชนให้มาสนใจและอนุรักษ์ธรรมชาติคือการทำยังไงก็ได้ให้เยาวชนเหล่านี้เกิดความรักและหลงใหลในธรรมชาติที่อยู่รอบตัวพวกเขา ความรู้อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีความรักด้วย ถ้าจะบอกว่าธรรมชาติมันสำคัญ ทุกคนก็รู้ว่ามันสำคัญ แต่จะมีสักกี่คนที่ลุกขึ้นมาทำเพื่อธรรมชาติ” คุณวสพลกล่าวเพิ่มเติม
แล้วกลุ่มใบไม้มีกิจกรรมอะไรบ้างที่มาช่วยส่งเสริมเยาวชนกับการอนุรักษ์
กลุ่มใบไม้มีกิจกรรมอยู่ค่อนข้างหลากหลายพอสมควร โดยเรามองว่าจุดเริ่มต้นของกิจกรรมที่ดีคือการสร้างความรักต่อธรรมชาตินะ นี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการอนุรักษ์สำหรับเราเลย ถ้าเริ่มต้นให้เขาหลงใหลในธรรมชาติได้ ต่อไปเขาก็จะไปศึกษาหาข้อมูลกันต่อเอง
ยกตัวอย่างเช่น การชวนเยาวชนมาอนุรักษ์ผ่านการดูนก เราจะมีนกไม้ที่เป็นการจำลองพันธุ์นก เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ดูและสังเกตุนกเหล่านี้ใกล้ ๆ หลังจากนั้นเราจะมีหนังสือรวมพันธุ์นกให้พวกเขาได้หาคำตอบว่านกชนิดนี้คือนกอะไร พอเด็ก ๆ เริ่มสนใจก็จะชวนออกไปดูนกในพื้นที่จริง ทั้งในป่า ทุ่งนา ฯลฯ กิจกรรมเล็ก ๆ นี้จะค่อย ๆ ดึงเด็ก ๆ เข้าสู่การอนุรักษ์โดยไม่รู้ตัว เพราะการออกไปดูนกนั้นเราก็ไม่ได้เห็นแค่นก แต่เราก็จะเห็นทั้งพืชพรรณ แมลง และสัตว์อื่น ๆ อีกมากมาย กล่าวได้ว่าเด็ก ๆ จะได้ทั้งความรู้และความสนุกกลับไปแน่นอน
คุณคิดว่าความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของกลุ่มใบไม้คืออะไร
อย่างที่กล่าวไปว่าที่นี้เราเป็นเหมือนสถานที่เรียนรู้ให้เด็ก ๆ เราได้ประกอบร่างสร้างส่วนต่าง ๆ ให้แก่เด็กเหล่านี้ได้นำไปใช้ต่อ เราเลยมองว่าสิ่งที่จะมาชี้วัดความสำเร็จของการทำงานของพวกเราได้มันคือการที่เด็กเหล่านี้เอาสิ่งที่ได้จากการมาร่วมกิจกรรมออกไปใช้มากน้อยแค่ไหน บางทีแค่พวกเขาออกไปตั้งชมรมหรือกลุ่มเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือมีความสนใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มันก็เรียกว่าความสำเร็จได้เช่นกัน
“ความสำเร็จอาจไม่ต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากมาย แค่จากเมล็ดพันธุ์ได้เติบโตเป็นกล้าพันธุ์ ก็ถือเป็นความสำเร็จของพวกเราแล้ว”
อนาคตกลุ่มใบไม้มีแพลนจะทำอะไรบ้าง
เรามองออกเป็น 2 ภาพ คือ อย่างแรก ว่าด้วยเรื่องของ ‘พื้นที่’ เราจะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของกลุ่มใบไม้ให้เป็น activity space มากขึ้นด้วย ทั้งนี้พื้นที่ใหม่นี้จะต้องเอื้อต่อการเรียนรู้และการจัดค่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถนำพาผู้เข้าร่วมมาเชื่อมโยงกับผืนป่าและธรรมชาติได้ด้วย อีกส่วนคือในเรื่องของ ‘กิจกรรม’ ที่มันจะต้องสอดรับกับผู้คนที่มีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากเราจะเริ่มเจาะกลุ่มคนกลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้น อาทิ สายครอบครัว สายองค์กร สายเที่ยว ฯลฯ เพราะการมองกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายจะมีส่วนช่วยในการสร้างการตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมต่อสังคมได้มากขึ้น
หลังจากนี้เราคงจะพยายามออกแบบกิจกรรมที่สามารถสร้างทักษะและความรู้หลาย ๆ ด้านให้กับผู้เข้าร่วมที่หลากหลายมากขึ้น ยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัด ๆ เลยคือ กลุ่มองค์กรหรือบริษัท ในแต่ละปีบริษัทเหล่านี้ก็จะมีการอบรบพัฒนาศักยภาพหรือทำ CSR ซึ่งเราก็อยากจะออกแบบกิจกรรมที่สามารถให้คนเหล่านี้สามารถเรียนรู้ด้านอนุรักษ์ ร่วมกับการทำงานเป็นทีมได้ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการออกแบบกิจกรรมในอนาคตของพวกเราเลยก็ว่าได้
ทราบมาว่าวันที่ 18 กุมภาพันธ์ (2566) นี้จะมีการจัดคอนเสิร์ต folk song เลยอยากให้คุณช่วยแนะนำหน่อยว่ามันคืออะไร แล้วภายในงานจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง
งานคอนเสิร์ตนี้เราใช้ชื่อว่า “Leaf and Rhyme” โดยคอนเซ็ปต์ของงานนี้คือการขยายฐานของกลุ่มใบไม้ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เราจึงได้เริ่มมองหากลุ่มคนอื่น ๆ ที่เราจะร่วมทำงานด้วย แล้วยิ่งเราเป็นคนชอบฟังดนตรีโฟล์คอยู่แล้วด้วย เราจึงชวนพี่ ๆ ศิลปินมาจัดงานดนตรีครั้งนี้ดู
เราอยากให้คนที่สนใจเรื่องของดนตรีและศิลปะมาพบกับแง่มุมด้านสิ่งแวดล้อม เรามองว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของใครหลายคนในการดึงเขาเข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มใบไม้ในอนาคตด้วย
“เพราะบางคนมองว่าธรรมชาติสามารถให้คำตอบในการใช้ชีวิตของใครบางคนได้”
งานในครั้งนี้เราได้ใช้เหล่าอาสาสมัครเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งหมดเลยก็ว่าได้ โดยรายได้ทั้งหมดที่ได้จากงานดนตรีในครั้งนี้ เราจะนำมาพัฒนากลุ่มใบไม้ตามที่กล่าวไปทั้งในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ รวมถึงกิจกรรมในอนาคตของพวกเราด้วย ซึ่งงานจะจัดในวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ ที่กลุ่มใบไม้ สามารถติดตามข้อมูลและแผนที่ที่ตั้งของกลุ่มใบไม้ได้ที่ https://www.facebook.com/LeafRhyme
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ