เพราะเหตุใดเราควรเลิกปล่อยปลา และการปล่อยปลาส่งผลอย่างไรต่อระบบนิเวศ ?
คนที่สามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจน จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกเสียจาก ผู้เชี่ยวชาญระบบนิเวศน้ำจืดอย่าง ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ เจ้าของรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Siamensis เครือข่ายที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย
อะไรคือ ข้อเท็จจริงของเหตุผลที่เราไม่ควรปล่อยปลา รวมทั้งสถานการณ์ปลาน้ำจืดในบ้านเราเป็นอย่างไร และอะไรที่ทำให้สถานการณ์ดำเนินไปสู่จุดที่น่าหวั่นวิตกอย่างการ ‘สูญพันธุ์’
ถ้าเข้าใจ 3 เรื่องนี้คุณจะรู้ว่าทำไมเราไม่ควรปล่อยปลาลงน้ำ
‘สัตวภูมิศาสตร์’ เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการกระจายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีลักษณะการกระจายพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไป อย่างกลุ่มนกนางนวลที่สามารถบินไปได้รอบโลก หรือปลาที่ถิ่นอาศัยอยู่ในบ่อน้ำเล็ก ๆ ปลาแซลมอนที่ว่ายน้ำมาไกลเพื่อกลับมาวางไข่ จะเห็นว่าการกระจายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มันถูกจำกัดด้วยความสามารถในการเคลื่อนที่ พอมีมนุษย์ขึ้นมา เราก็เริ่มมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ไปโน้นไปนี่ และตอนนั้นเองคำว่า ‘เอเลี่ยนสปีชีส์’ ก็เริ่มเกิดขึ้น
เอเลี่ยนสปีชีส์ไม่จำเป็นต้องข้ามประเทศหรือไปไกล ๆ แค่ข้ามลุ่มน้ำก็ถือว่าใช่แล้ว อย่างการเอาปลาบางชนิดจากแม่หนึ่งไปอีกแม่น้ำก็นับว่าเป็นเอเลี่ยนแล้ว ซึ่งเอเลี่ยนสปีชีส์เองก็แบ่งได้ออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ‘สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น’ และ ‘สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกราน’
ตัวอย่างเช่น ‘ส้มตำ’ อาหารบ้านๆ ที่เรากินกัน รู้ไหมว่าองค์ประกอบเกือบทั้งหมดในส้มตำถือว่าเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ไม่ว่าจะเป็นพริก มะละกอ แต่เหล่านี้เป็นสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่เราก็จำเป็นต้องใช้งาน แต่ในส่วนของประเภทที่ขยายพันธุ์เองได้อย่าง ผักตบชวา หอยเชอรี่ ปลาหมอสีคางดำ พวกนี้จะขยับเป็น สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุกราน (Invasive alien species) ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ปลาดุกที่มักถูกปล่อยในงานบุญต่าง ๆ ซึ่งเป็นปลาดุกลูกผสม ประเทศไทยมีปลาดุกอุย แต่ปัญหามันคือตัวเล็ก เนื้อน้อย โตช้า กรมประมงเลยนำปลาดุกยักษ์แอฟริกามาผสม จนกลายเป็น ปลาดุกบิ๊กอุย ที่เป็นที่ต้องการตามตลาด
แต่เมื่อบิ๊กอุยมีดีเอ็นเอของปลาดุกยักษ์แอฟริกา มันก็ถือว่าเป็น Invasive alien species ถึงจะบอกว่าไม่สามารถขยายพันธุ์เองได้ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรมารับประกันขนาดนั้น เพราะพอลงไปในน้ำแล้วเราก็ไม่สามารถมองเห็นได้ทั้งหมด แต่อาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่า ‘ความสามารถในการรองรับ’ มองง่าย ๆ มันก็เหมือนกับการไปกินข้าวที่ร้านอาหารสักร้านหนึ่งที่เขามีโต๊ะวางอยู่ โต๊ะนั้นก็เปรียบเหมือนความสามารถในการรองรับของร้านนั้น แต่ในน้ำเรามองไม่เห็นว่าสภาพเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่ามากหรือน้อย การคิดเอาเองว่าการปล่อยสิ่งมีชีวิตลงไปน่าจะช่วยให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ แต่ความจริงมันอาจทำให้เกิดการแก่งแย่งกันมากขึ้นด้วยซ้ำ จนทำให้ระบบนิเวศพังในที่สุด การปล่อยปลาลงไปจึงไม่ใช่เรื่องดี
ปัญหาหลักของระบบนิเวศน้ำจืดคือเรา ‘มองไม่เห็น’ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ลองมองกลับกันหากเราเอาหมาสักหมื่นตัวไปปล่อยบนเขาใหญ่ คงกลายเป็นประเด็นปัญหาอย่างแน่นอน แต่พอเป็นปลาเรากลับมองเป็นเรื่องเล็กไม่ให้ความสำคัญทั้งที่มันก็เป็นเอเลี่ยนเหมือนกัน สร้างปัญหาต่อระบบนิเวศเหมือนกัน
กฎหมายในบ้านเป็นอย่างไรกับเรื่องการปล่อยเอเลี่ยนสปีชีส์
จากที่ผมเห็นหน่วยงานบางหน่วยงานก็ยังมองว่าการปล่อยเอเลี่ยนสปีชีส์เป็นเรื่องดี เป็นการเพิ่มอาหารให้แก่ประชาชน เราไม่มีกฎหมาย่ที่เกี่ยวกับการปล่อยเอเลี่ยนสปีชีส์ที่ชัดเจน แตกต่างจากต่างประเทศมากที่เขาเข้มงวดเรื่องพวกนี้มาก อย่างเครื่องมือประมงแค่จะเอาไปใช้ต่างลุ่มน้ำยังมีข้อบังคับ เพราะอาจมีไข่ปลาหรือพืชน้ำปนมา
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ปลาหายไป
มี 3 เหตุผลหลักที่ทำให้ปลาน้ำจืดในบ้านเรากำลังลดลง คือ การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย การจับที่เกินขนาด และการปล่อยสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น โดยสิ่งที่เป็นปัญหามากสุดคือการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น การสร้างฝายการทำเขื่อนสร้างอ่างเก็บน้ำ การขุดลอก ส่วนในเรื่องของการจับปลาก็เป็นปัญหา อย่างในภาคเหนือการจับปลาตามลำธารในระบบนิเวศขนาดเล็กค่อนข้างเป็นปัญหาเพราะจับกันจำนวนมาก ซึ่งปลามันหมดได้จริง ๆ แต่คนทั่วไปไม่เข้าใจ บางทีปลาที่เขากินเป็นปลาที่หายากมาก ผมเคยบอกชาวบ้านคนหนึ่งว่าพี่เชื่อไหมว่าปลาตัวนี้ในโลกนี้มันมีอยู่ลำธารนี้แห่งเดียว ถ้ากินหมดก็คือหมดเลยนะ
เขื่อนทำให้ปลาน้ำจืดไทยสูญพันธุ์
ส่วนใหญ่ปลาน้ำจืดในประเทศไทยวิวัฒนาการมาเพื่อผสมพันธุ์ วางไข่ เลี้ยงดูตัวอ่อน ในช่วงน้ำท่วม บนพื้นที่ทุ่งน้ำท่วม ซึ่งพอมีเขื่อนมากั้น มันทำให้ปลาไม่อพยพขึ้นไปวางไข่ นอกจากนั้นพื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วมมันก็ไม่ท่วม ซึ่งจริงๆ แล้วพื้นที่บางพื้นที่มันควรถูกน้ำท่วมเพื่อให้ปลาเหล่านี้ขยายพันธุ์ต่อไปได้ เขื่อนมันไม่ได้ทำลายแค่พื้นที่บริเวณนั้นแต่มันทำลายทั้งลำน้ำยาวลงไป 40 -50 กิโล อย่างเขื่อนเชี่ยวหลานสุดท้ายก็จะเหลือปลาไม่กี่ชนิด น้ำที่เราเห็นว่าเป็นสีฟ้าสวยงาม มันคือน้ำที่ไหลลงมาจากเขาหินปูนมีแคลเซียมคาร์บอเนตเยอะ ซึ่งแร่ธาตุมันตกตะกอนเร็วมาก น้ำมันจึงใส แต่น้ำที่ใสเกินไปแบบนั้นปลาอยู่ไม่ได้ และพื้นที่รอบๆ เราจะสังเกตเห็นว่ามันเป็นภูเขาชันๆ ไม่มีขอบตลิ่ง ซึ่งนั้นก็ทำให้ปลาไม่มีพื้นที่อยู่อาศัย
บันไดปลาโจนช่วยได้ไหม ?
ปลาน้ำจืดในไทย มีความหลากหลายสูงมาก บันไดปลาโจนจึงไม่ตอบโจทย์ อย่างปลาบึก ปลากดคัง มันขึ้นบันไดปลาโจนไม่ได้ แต่ถึงแม้ปลาที่ขึ้นไปวางไข่ได้ ไข่มันก็กลับลงมาไม่ได้
สุดท้ายแล้ว เราควรปล่อย หรือ ไม่ควรปล่อย
ปกติปลาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ออกไข่เยอะ แต่รอดน้อย ปลาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถ้าเรามีพื้นที่ ระบบนิเวศที่ดีปลาฟื้นตัวเร็วมาก ดังนั้น ‘ไม่มีความเป็นจำเป็นที่จะต้องปลาปล่อยเลย’ ส่วนตัวไม่เคยมองว่าการปล่อยปลาดีต่อระบบนิเวศ แต่ถ้าอยากปล่อยก็ควรหาที่เหมาะสม หรือไม่ก็ซื้อไปเลี้ยงเองยังดีกว่าการปล่อยลงแม่น้ำ การปล่อยปลาที่ไม่ใช่ปลาท้องถิ่นลงแม่น้ำ นอกจากปลาที่ปล่อยจะอยู่ไม่ได้แล้วตาย แต่ถ้าอยู่ได้ก็จะไปรุกรานปลาท้องถิ่น ผลมันมีแต่เสียกับเสีย เป็นสิ่งที่ควรหยุดได้แล้ว เพราะสัตว์น้ำเรามองไม่เห็นเหมือนสัตว์บก… เราจึงไม่รู้ว่ามันเหลือเท่าไหรแล้ว
ผู้เขียน
เราไม่มีทางอนุรักษ์สิ่งที่เราไม่เห็นคุณค่า และเราไม่มีทางเห็นคุณค่าถ้าเราไม่รู้จักมัน