เมื่อไหร่มีไฟเมื่อนั้นมีควัน แต่เราสามารถจัดการควันได้ด้วยการ ‘ชิงเผา’ อย่างถูกวิธี

เมื่อไหร่มีไฟเมื่อนั้นมีควัน แต่เราสามารถจัดการควันได้ด้วยการ ‘ชิงเผา’ อย่างถูกวิธี

หากพูดถึงไฟป่าสิ่งที่คนมากคิดตามต่อมาก็คือเรื่องของปัญหาฝุ่นควัน เพราะเป็นสิ่งที่เกิดผลกระทบอย่างชัดเจน นอกจากผลกระทบแล้ว สาเหตุการเกิดไฟป่ายังเป็นเรื่องที่ถกเถียงว่าเกิดขึ้นจากอะไร เพื่อเข้าใจถึงปัญหาและการบริหารจัดการไฟป่า จึงชวนอาจารย์กอบศักดิ์ วันธงไชย คณบดี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร่วมพูดคุยถึงปัญหา สถานการณ์ไปจนถึงข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการ

ต้นไม้เสียดสีกัน มันทำให้เกิดไฟได้จริงไหม? 

ในต่างประเทศเกิดขึ้นได้จริงเช่นออสเตรเลีย อเมริกา มันผ่าในช่วงฤดูแล้งเราเรียก “ฟ้าผ่าแห้ง” ส่วนกิ่งไม้เสียดสีกัน ตั้งแต่ผมเด็กยันโต จนมาทำงานวิจัยไฟป่าผมก็ยังไม่เคยเห็น ส่วนใหญ่มันเกิดจากมนุษย์ทั้งสิ้น (ในประเทศไทย) กรณีฟ้าผ่าในประเทศไทยโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะบ้านเราฟ้าผ่ามักเกิดในฤดูฝนเราเรียก “ฟ้าผ่าเปียก” ฟ้าผ่ามันก็มาพร้อมฝน โอกาสที่เกิดจึงน้อยมาก 

ไฟป่าประเทศไทยเกิดช่วงไหน ? ประเทศไทยเกิดไฟป่าช่วงหน้าฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือน ธันวาคม ไปจนถึง กุมภาพันธ์ แล้วแต่สภาพอากาศในแต่ละปีในป่าภาคเหนือ ส่วนในภาคใต้ เรามีป่าพรุ ฤดูไฟจะเกิดในช่วงพฤษภาคม มิถุนายน 

ปัญหาการเผาในภาคเหนือกับภาคใต้ก็มีความแตกต่างกัน ภาคเหนือเขาจะทำการเผาหาของป่า การควบคุมไฟป่าในประเทศไทย เรามีอยู่สองกรมที่ทำหน้าที่ดูแลตรงนี้คือ (1) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืข ดูแลในป่าอนุรักษ์ (2) กรมป่าไม้ ดูแลในพื้นที่ป่าสงวน แต่ในความเป็นจริงไฟมันก็ล่ามไปทั่วทั้งป่าสงวนป่าอนุรักษ์ งานของไฟป่าจริงๆ จึงควรจะเป็นงานเดียวกันทำร่วมกัน

วิธีการดับไฟ ก่อนเกิดไฟป่าก็จะมีการทำแนวกันไฟ นั้นคือมาตรการในการป้องกัน และอีกวิธีหนึ่งที่เชื่อว่าในอดีตมีการทำก็คือ การชิงเผา คนในพื้นที่เขารู้ว่าพื้นที่ไหนเสี่ยง ก็ต้องทำการชิงเผาไว้ก่อนเพื่อพอถึงฤดูไฟความรุนแรงจะได้ไม่แรงมาก 

ปัจจุบันตอนนี้ระบบการจัดการนอกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเรายังมี เครือข่ายอาสาสมัคร คือชาวบ้าน เพราะเขาเป็นคนพื้นที่เขาจะมีความชำนาญ แต่ส่วนสำคัญคือ คนเหล่านี้ไม่มีทักษะในการดับไฟ ทำให้เกิดอันตรายได้ ฉะนั้นการจะจัดการไฟป่าให้ดีต้องมีการอบรม เครื่องมือต้องพร้อม กำลังใจต้องได้ เพราะปัจจุบันคนเหล่านี้ไม่ได้อะไรตอบแทน นอกจากความเสี่ยง แถมถ้าไม่ทำก็โดนว่าอีก เรื่องการแก้ปัญหาไฟป่า การกระจายอำนาจเป็นสิ่งสำคัญ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถเข้มแข็งได้ด้วยตัวเอง ซึ่งตอนนี้เราเริ่มดำเนินการแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ว่าเป็นงบประมาณ กำลังคน หรือ องค์ความรู้ มันเหมือนกับเราส่งคนไปรบโดยให้มีดไปแต่ไม่สอนวิธีใช้มีด  

ชิงเผา คืออะไร 

ถ้าในภาษาชาวบ้านหรือความเข้าใจของคนทั่ว ๆ ไป ชิงเผาก็คือ “การรีบเผา” ในภาษาอังกฤษเราใช้คำว่า Early burning early คือ ก่อน หรือเผาก่อนที่ฤดูไฟป่าจะมาถึง ซึ่งกระบวนการชิงเผาเป็นส่วนหนึ่งของ Prescribed burning หรือ การเผาตามกำหนด โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงในฤดูไฟ ลดเชื้อเพลิง เผาเพื่อจัดการทุ่งหญ้าสัตว์ป่า เผาเพื่อควบคุมโรคและแมลง เผาเพื่อรักษาโครงสร้างป่า ป่าบางประเภทอย่างป่าเต็งรังการมีไฟขึ้นเป็นบางครั้ง บางปีถือว่าดี แต่การเกิดไฟทุกปีไม่ดีแน่นอน  

ในปัจจุบันความเข้าใจคำว่าชิงเผา ถูกคาดเคลื่อนไปมากจากความจริง คำว่าชิงเผา มันต้องมีกระบวนการของมัน การทำข้อมูลพื้นที่ สภาพภูมิประเทศ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ในประเทศไทยพอบอกว่าชิงเผาทุกคนก็ลงมือเผาโดยที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการเหล่านี้  

ชิงเก็บ ลดเผา หนึ่งในวิธีแก้ไขปัญหาไฟป่าที่รัฐบาลใช้ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่ผ่านมาเราเก็บเชื้อเพลิงได้ 5,000 ตัน ถ้าถามว่าจำนวน 5,000 ตัน นั้นเป็นจำนวนมากหรือน้อย ป่าผลัดใบในบ้านเรามีอยู่ประมาณ 11-12 ล้านไร่ ตีว่า ใน 1 ไร่จะมีเชื้อเพลิงอยู่ประมาณ 1 ตัน นั้นหมายความว่าเราเก็บไปได้ประมาณแค่ 5,000 ไร่เท่านั้น มันเทียบกันไม่ได้เลยกับพื้นที่ทั้งหมดฉะนั้นการชิงเผาจึงเป็นสิ่งจำเป็น 

เมื่อไหร่มีไฟเมื่อนั้นมีควัน การชิงเผาก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดควัน ยังไงก็เกิดควันแน่ แต่ควันที่เกิดเราควบคุมได้ เพราะเราควบคุมการเผาไว้แล้ว แล้วพอถึงในฤดูไฟถ้าหากเกิดไฟอีก ความรุนแรงก็จะน้อยลงเพราะมีการควบคุมไว้แล้ว เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปดับได้ง่าย แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรโอกาสเกิดไฟไหม้ก็จะสูงกว่าแน่นอน และก็จะตามมาด้วยปัญหาหมอกควัน

ประเด็นนี้ต้องเน้นย้ำว่า “การชิงเผาไม่ได้ทำให้ปัญหาหมอกควันหายไป” เพียงแต่ช่วยลดปัญหาหมอกควันที่จะเกิดขึ้น เวลานี้การชิงเผาจึงเป็นสิ่งจำเป็น ที่ทุกคนต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ เป็นวิธีการที่ทั่วโลกยอมรับ แต่ในอนาคตหากบริบทมันเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนตาม อย่างการทำการเกษตร (ด้วยการเผา) ก็ต้องเปลี่ยนตาม พร้อมๆ กับหาทางทำให้ชาวเขากับชาวพื้นราบสามารถอยู่ร่วมกันได้ แน่นอนคนเมืองอยากได้อากาศบริสุทธิ์ แต่ชาวเขาไม่มีกิน ไม่มีเครื่องการทำเกษตรเขาจะอยู่ได้อย่างไร เราบอกให้เขาเปลี่ยน แต่ใครจะส่งเสริม ใครจะรับซื้อ มีใครสนับสนุนไหม 

ไฟไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี มันมีทั้งดีและร้าย ไฟก็กำเนิดมาจากเรา เราเป็นคนสร้างไฟขึ้นมา มันจะดีจะร้ายขึ้นอยู่กับว่าเราใช้มันไปในทิศทางไหน สิ่งสำคัญคือเราต้องทำความรู้ความเข้าใจก่อนที่เราจะไปตัดสินมัน 

  • ภาพเปิดเรื่อง เอกสารนำเสนอเรื่อง สถานการณ์ไฟป่าของประเทศไทย โดย ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย

ผู้เขียน

+ posts

เราไม่มีทางอนุรักษ์สิ่งที่เราไม่เห็นคุณค่า และเราไม่มีทางเห็นคุณค่าถ้าเราไม่รู้จักมัน