ถ้าใครได้ติดตามเฟซบุ๊กเพจมูลนิธิสืบนาคะเสถียรอยู่ อาจจะคุ้นหน้าคุ้นตากับ คุณนีล – นีลปัทม์ โพธิ์สุวัฒนากุล ครีเอเตอร์เจ้าของเพจ ‘Royal Blue on the Earth’ ผู้สร้างงานศิลปะโทนสีน้ำเงินซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในงานของเธอ จากโพสต์ขอบคุณสำหรับการบริจาคเงินจำนวนมากกว่าแสนให้แก่มูลนิธิฯ โดยยอดบริจาคคือกำไรจากการจำหน่ายผ้าคลุมไหล่ลวดลายพิเศษ ที่เธอบรรจงออกแบบด้วยตนเอง
หลังจากโพสต์ดังกล่าวทำให้เราได้มีโอกาสทำความรู้จักคุณนีลมากขึ้น และพบว่าเรื่องราวของเธอนั้นมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก จากสถาปนิกสู่การเป็นนักเรียนภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม จนกระทั่งผันตัวมาเป็นนักสร้างสรรค์งานศิลปะ ที่ได้ผลิตผลงานออกมามากมายทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์
ในวันนี้เราจึงได้มาชวนคุณนีลพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของเธอ ว่ากว่าที่เธอจะกลายมาเป็นศิลปินอิสระที่มีผลงานมากมายขนาดนี้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คุณนีลตัดสินใจเลือกที่จะบริจาคให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
อะไรคือจุดเริ่มต้นของการเรียนสถาปัตย์
จริง ๆ แล้วนีลชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กเลย พอคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าเราชอบวาดรูป ก็กลัวว่าเราจะเป็นศิลปินไส้แห้ง (หัวเราะ) เลยแนะนำเราว่าทำไมไม่ไปเรียนสถาปัตย์ล่ะ…ได้วาดรูปด้วย เราก็เลยไปเรียน ทั้งป.ตรีและป.โทเลย ช่วงป.ตรีนีลจะเรียนสถาปัตย์ ส่วนตอนป.โทก็เรียนสาขาที่เรียกเต็มๆว่า ภูมิสถาปัตยกรรม ค่ะ
หลังเรียนจบคุณนีลทำงานอะไร
ตอนเรียนจบ ป.ตรี นีลได้ทำงานให้กับออฟฟิศแห่งหนึ่งที่รับงานออกแบบประเภทบ้านเดี่ยว โรงแรม รีสอร์ท รวมถึงโครงการบ้านจัดสรรต่างๆ ซึ่งสิ่งที่นีลมองว่าเป็นความโชคดีของนีลมากเลยก็คือ การที่เราได้ลองทำอะไรหลายอย่างตอนทำงาน นีลได้ทำตั้งแต่การออกแบบงานชิ้นเล็ก ๆ อย่างพวกงานรูปปั้นประดับตกแต่งสวน แล้วเพิ่มขนาดชิ้นงานขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างการออกแบบภูมิทัศน์ถนน ศาลา (Pavilion) สวนบ้าน ไปจนถึงการวางผังรีสอร์ทเลย
แล้วคุณนีลสนใจเรียนต่อสาขาภูมิสถาปัตยกรรมตั้งแต่เมื่อไหร่
ขอเล่าย้อนไปนิดนึง ตอนที่ทำงานออฟฟิศ นีลได้ทำงานที่หลากหลาย แล้วก็ค่อนข้างอินกับงานแลนด์สเคปพอสมควร เลยเอาความชอบของเราตรงนี้ไปต่อตอนป.โท โดยเลือกเรียนในสาขาภูมิสถาปัตยกรรม
ภูมิสถาปัตยกรรมเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง
ตอนเรียนภูมิสถาปัตยกรรม ป.โท จะเน้นเรื่องของการฟื้นฟูธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เรียกว่า Brownfield หรือที่นีลเข้าใจง่ายๆ เองว่ามันคือ พื้นที่สีน้ำตาล หมายถึงพื้นที่ที่ถูกทำลายไปแล้ว เช่น เหมืองแร่หรือบ่อขยะ เราก็จะเข้าไปสำรวจ และออกแบบที่ตรงนั้นให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง อย่างเช่น พื้นที่ที่มีแม่น้ำลำคลองเสียหาย เราก็ไปลงสำรวจพื้นที่ ค้นหาข้อมูลเพื่อวิเคราะห์วิธีการออกแบบที่เหมาะสม โดยการจัดวางองค์ประกอบธรรมชาติที่มีอยู่เดิมและเพิ่มเติมตัวช่วยต่างๆ ให้กลายเป็นพื้นที่บำบัดน้ำเสียแบบธรรมชาติ เป็นต้น การเรียนเกี่ยวกับการฟื้นฟูธรรมชาตินี้แหละที่ทำให้เราอินกับมัน
งานสถาปัตย์ก็ถือว่าดีเลย แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนความคิดตรงนั้นของเรา
ทำงานออกแบบมันก็ดีนะ…แต่ก็ยังไม่รู้สึกตอบโจทย์ตัวเองเท่าไหร่ นีลก็มองว่ามันเป็นประสบการณ์ในชีวิตเรา
และอีกอย่างนึงเลยนีลรู้สึกว่า เราอยากทำงานที่มันไม่กรอบเรามาก เวลาทำโปรเจคอะไรสักอย่าง ในหัวเรามันมีจินตนาการไปไกลแล้ว แต่มันมีกรอบมากั้นเอาไว้ทำให้ไม่สามารถแสดงอะไรออกมาได้เต็มที่ ตอนนั้นเราเลยตัดสินใจออกมาเป็นนักออกแบบอิสระ
แล้วจากการเป็นสถาปนิกมาสู่ NFT Creator ได้อย่างไร
ช่วงที่นีลลาออกมาทำอาชีพอิสระ เป็นช่วงที่ NFT มันบูมขึ้นมาพอดี เพื่อนก็มาเล่าให้เราฟังว่ามันมี NFT นะ แล้วมันก็ดังมากในวงการศิลปะด้วย พอเราเห็นแบบนั้นเราก็คิด “เราต้องเริ่มบ้างแล้วล่ะ” นีลเลยเริ่มศึกษาข้อมูลแล้วก็วาดรูปเลย
หลังจากที่เปลี่ยนมาทำ NFT แล้ว มีความกังวลอะไรบ้างมั้ย เพราะมันก็ค่อนข้างใหม่พอสมควรเลย
กังวลว่าคนอื่นจะชอบงานเรามั้ย มันเป็นนิสัยที่ติดมาตั้งแต่ตอนทำงานออฟฟิศด้วยแหละ เวลาเรามีไอเดีย ออกแบบอะไรไป ถ้าเขาไม่ชอบ งานเราก็จะถูกตีกลับ ตรงนี้มันเลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรากลัวจะเริ่มทำงานศิลปะอย่างที่เราอยากทำ
แต่ NFT มันแตกต่างนะ เพราะมันเป็นใครทำก็ได้ แล้วเจ้าของผลงานก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนด้วย จุดนี้นี่แหละที่ทำให้เรารู้สึกเซฟ เราเลยกล้าที่จะเริ่มต้น
ทำไมต้อง RBNeallaen (นามปากกา)
RBNeallaen (อาร์-บี-นีล-เล่น) RB คือ Royal Blue และ Neal ก็คือชื่อเรา ส่วน Laen ก็มาจากคำว่า “เล่น” ซึ่งนีลมองว่า การทำงานศิลปะคือความสนุกของเราค่ะ และนามปากกาของนีลเกิดขึ้นหลังจากที่นีลได้ใช้ดินสอสีน้ำเงินวาดรูปแล้วมันทำให้เราสงบสุข เราก็เลยได้ไอเดียนามปากกานี้มาค่ะ
แล้วชื่อเพจเฟซบุ๊ก Royal Blue on the Earth ล่ะ มาจากไหน
พอเราทำ NFT มาได้สักระยะนึง เราเริ่มมีความคิดที่อยากจะทำโครงการอะไรสักอย่างในชีวิตจริง ถ้าจะใช้ชื่อ RBNeallaen เลย คนอาจจะยังไม่เก็ทเท่าไหร่
ด้วยความที่งานของเรามันเกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลก ประกอบกับงานทุกชิ้นจะอยู่ในโทนสีน้ำเงิน ดังนั้น Royal Blue on the Earth มันเลยตอบโจทย์มากกว่า แล้วชื่อนี้ก็สื่อความหมายให้คนเข้าใจได้ดีกว่าด้วย
เรามาพูดถึงคอนเซปต์งานของคุณนีลกันบ้างดีกว่า พอจะอธิบายแนวคิดเบื้องหลังผลงานต่างๆ ให้ฟังหน่อยได้ไหม
เดิมทีนีลมีความฝันที่อยากทำงานศิลปะเพื่อธรรมชาติมาตั้งนานแล้ว แต่ก็ไม่รู้จะเริ่มยังไง ความคิดนี้เป็นเหมือนจุดตั้งต้นที่ผลักดันการทำงานศิลปะของเรา เราได้นำความคิดนั้นมาต่อยอดกับการวาดรูป และเวลานีลวาดรูป นีลจะจินตนาการว่าตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ที่กำลังอาศัยอยู่บนโลกในจินตนาการ โลกที่มีสภาพแวดล้อมที่สวยงามอุดมสมบูรณ์ และไม่มีความโหดร้าย ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็จะมีแต่ความสุข
อันนั้นคือคอนเซปต์คร่าว ๆ ของนีลนะ งานของนีลเลยจะเป็นสิงสาราสัตว์ที่มีความแฟนตาซี อาศัยอยู่ในธรรมชาติที่สวยงาม ประมาณนี้ค่ะ
ที่นี้เวลาลงขายงาน บนเว็บไซต์จะมีช่องให้ใส่คำอธิบายใต้ภาพ เราก็จะบรรยายว่า “สิ่งมีชีวิตพวกนี้มีความสุขจังเลยที่ได้อยู่ในโลกที่สวยงาม” เพื่อให้คนอ่านเกิดความรู้สึกที่อยากให้สิ่งเหล่านี้มีความสุข ดังนั้นพวกเขาก็ควรจะรักษาธรรมชาติเหล่านี้เอาไว้
เราแทบจะไม่เห็นสีอื่นในงานคุณนีล ทำไมถึงเลือกที่จะใช้สีน้ำเงินเป็นหลัก
สีน้ำเงินเนี่ยมันมีมาตั้งแต่ตอนที่นีลพึ่งเริ่มทำงานค่ะ ที่ออฟฟิศจะใช้ดินสอสีแดงและสีน้ำเงินเพื่อร่างแบบ แล้วเวลานีลใช้ดินสอสีน้ำเงินจะเป็นช่วงที่มีความสุขและรู้สึกสงบในการทำงานมากๆ ซึ่งนีลก็ใช้มาตลอด แต่ก็ไม่ได้ใช้สีน้ำเงินโทนเดียวในงานนะ ก็เอาสีน้ำเงินโทนอ่อนเข้มมาร่วมด้วย เราว่าสีน้ำเงินมันดูสงบและสวยในตัวของมันเอง จนตอนนี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของเราไปแล้ว
ขอย้อนกลับไปนิดนึง ตรงส่วนของ “ความฝันที่อยากทำงานศิลปะเพื่อธรรมชาติ” คำนี้หมายความว่าอย่างไร อยากให้คุณนีลช่วยอธิบายหน่อย
จริง ๆ แล้วนีลเริ่มทำงานศิลปะเพื่อธรรมชาติมาก่อนทำ NFT แล้ว แต่ตอนนั้นเป็นการทำสติกเกอร์เพื่อเอารายได้มาช่วยหมาแมวจร หลังจากเราเริ่มทำ NFT เราก็ได้มีโอกาสทำงานเพื่อธรรมชาติอีกครั้ง โดยตอนนี้แบ่งออกเป็นสามโครงการหลัก ๆ ภายใต้แนวคิดที่ว่า
“งานศิลปะของเราจะต้องช่วยธรรมชาติได้”
โครงการแรก เราออกแบบแสตมป์ที่ใช้ได้จริงออกมาจำหน่าย (ตัวเราเองเป็นคนชอบสะสมแสตมป์อยู่แล้วด้วย) โดยก่อนจะเริ่มโครงการ เราได้พยายามหาทางติดต่อโรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาฯ จนกระทั่งได้ไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์ประจำภาควิชาที่เราเคยเรียนอยู่ตอน ป.โท ซึ่งอาจารย์ท่านสนิทกับอาจารย์ภายในคณะสัตวแพทย์ฯ อาจารย์ได้ช่วยติดต่อและพูดคุยให้เรา เราเลยได้เริ่มดำเนินโครงการศิลปะเพื่อการแพทย์แก่สุนัขและแมวจร จนกระทั่งโครงการสำเร็จลุล่วง สามารถนำรายได้ส่วนหนึ่งไปมอบให้กับโรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาฯ รวมถึงคุณหมอศัลยแพทย์ที่ภูเก็ตผู้คอยช่วยเหลือแมวจรด้วย โดยทุนที่ใช้ในการผลิตแสตมป์ได้มาจากการที่นีลขายงาน NFT ชิ้นแรกได้
หลังจากนั้น นีลได้มีโอกาสรู้จักกับนักประดาน้ำชาวสิงคโปร์ผ่านทวิตเตอร์ เขาต้องการทำผลงาน NFT ร่วมกับนีลและศิลปินไทยอีกท่านหนึ่ง โดยเขาจะส่งรูปและวิดีโอที่ได้มาจากการไปดำน้ำของเขามาให้เราเลือก เพื่อนำรูปนั้นมาสร้างสรรค์ผลงานต่อในแบบของเรา นีลเลยเลือกภาพเต่าทะเลที่กำลังแหวกว่ายลอยตัวอยู่ท่ามกลางปะการังฟอกขาวมา
ตอนนั้นไอเดียเราผุดขึ้นมาเลยว่า “อยากให้เต่าทะเลได้อาศัยอยู่ในโลกใต้ทะเลอย่างมีความสุข” จึงเกิดเป็นงาน Royal Blue Flying Sea Turtle โดยรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายภาพนี้ได้ถูกนำไปมอบให้กับศูนย์วิจัยทางทะเล (Marine Research) ของประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้เขาได้พัฒนาและนำไปดูแลสัตว์ทะเลต่อไป
นอกจากนี้ งานเต่าทะเลสีน้ำเงินของเราได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Hope is Dope ด้วย ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับความหวังในด้านต่าง ๆ บนโลก ทำให้งานศิลปะของนีลได้เป็นตัวแทนความหวังด้านสิ่งแวดล้อม
มาพูดถึงโครงการผ้าคลุมไหล่กันบ้าง เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้รู้จักคุณนีลเลย…อยากให้เล่าเกี่ยวกับผ้าคลุมไหล่ผืนนี้หน่อยว่า ทำไมต้องเป็นผ้าคลุมไหล่
ต่อเนื่องมาจากโครงการ Royal Blue Flying Sea Turtle เลยนะคะ เรามีความรู้สึกว่า นอกจากการทำงานศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เรายังอยากให้งานศิลปะของเราสามารถถูกนำติดตัวไปด้วยได้ทุกที่ทุกเวลา แล้วผ้าคลุมไหล่เป็นตัวเลือกที่ดีเลยล่ะ อย่างแรกมันพกติดตัวได้ อีกอย่างคือสามารถนำเอาไปใส่กรอบแขวนผนังได้หรือก็คือเป็นงานศิลปะที่ใช้งานได้จริง
พอเราได้ไอเดียผ้าคลุมไหล่แล้ว เราก็ลองเอาโครงการไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ (ซึ่งเรารู้จักอาจารย์มาตั้งแต่ตอนที่อาจารย์ไปเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะ) อาจารย์ก็โอเค นีลเลยได้เริ่มทำโครงการนี้ขึ้นมา
โครงการนี้ถือเป็นอีกงานที่นีลรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากเลย เพราะเป็นโครงการที่ทำให้นีลได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ทำมาก่อน อย่าง การไปออกบูธตามที่ต่าง ๆ เช่น Central Embassy, Siam Discovery, หรือ BACC เป็นต้น นอกจากนี้มันยังทำให้เราได้พบเจอผู้คนมากมาย ถึงแม้เราจะกังวลมาก ว่ามันจะสำเร็จหรือเปล่านะ จนกระทั่งเหลือผ้าคลุมไหล่ 20 ผืนสุดท้าย ก็ได้ฝ่ายระดมทุนของมูลนิธิฯ ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ด้วยค่ะ
“การทำโครงการนี้ทำให้นีลได้พบเจอแต่คนดี ๆ ได้เจอคนที่เห็นความสำคัญของโครงการนี้”
คอนเซปต์ของผ้าคลุมไหล่คืออะไร
แรกเริ่มเดิมทีงานของนีลจะไม่มีคนอยู่ในนั้น ซึ่งครั้งนี้พอต้องออกแบบผ้าคลุมไหล่เพื่อมูลนิธิฯ นีลเลยใช้วิธีใส่องค์ประกอบที่แสดงถึงความเป็นคุณสืบลงไปในงาน จึงเลือกที่จะนำเสนออกมาในรูปแบบ abstract นิดนึง กล่าวคือ มันเป็นภาพสะท้อนผ่านเลนส์แว่นตาของคุณสืบที่มองเห็นสัตว์ป่าและธรรมชาติที่กำลังจะสูญพันธุ์หรือสูญพันธุ์ไปแล้ว
ทั้งหมดเป็นโทนสีน้ำเงิน เพราะนีลมองว่ามันเป็นสีที่ให้ความสงบ แต่ก็เป็นสีที่มีพลัง อีกอย่างสีน้ำเงินเป็นสีที่ทุกคนก็สามารถนำไปใช้ได้ในทุกโอกาส
อยากให้เล่าย้อนกลับไปนิดหน่อยว่า…อะไรคือสิ่งที่จุดประกายความคิดด้านสิ่งแวดล้อมของคุณนีล
ตั้งแต่เล็กจนโตคุณพ่อคุณแม่ชอบพาไปเที่ยวต่างจังหวัด ซึ่งการเดินทางมันก็ทำให้เราได้เห็นธรรมชาติมากมาย แล้วอีกอย่างเราก็เป็นคนที่รักสัตว์และรักธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเราด้วย ต่อมาเมื่อเราเข้ามาเรียนสถาปัตย์มันปลูกฝังเราให้เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติ เช่น การออกแบบอาคารบ้านเรือนที่ไม่ทำให้โลกร้อน การใช้วัสดุต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พอตอนป.โทเราได้เรียนลึกไปถึงความหลากหลายทางระบบนิเวศ เราเห็นเลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันมีความเชื่อมโยงและมีความสัมพันธ์ถึงกันและกัน
“ประสบการณ์กับธรรมชาติ มันหล่อหลอมเรา ให้เราเป็นเรา และเราก็รักธรรมชาติมาก ๆ เช่นกัน”
อีกอย่างนีลว่าการปลูกฝังความคิดตั้งแต่วัยเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญมากเลยนะ ถ้าผู้ใหญ่ปลูกฝังเด็กให้เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติ มันจะเกิดผลดีในอนาคตแน่นอน เพราะเด็กก็จะโตขึ้นมาพร้อมกับความคิดที่ได้รับนั้น
จากตรงนั้นมาสู่การบริจาคให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้อย่างไร
อันนี้คงต้องเล่าย้อนไปตอนป.4 ตอนนั้นคุณครูสอนให้ร้องเพลงสืบ นาคะเสถียร แล้วครูก็เล่าว่าคุณสืบ เสียสละชีวิตตัวเองเพื่ออุดมการณ์ ตอนนั้นด้วยความที่เรายังเด็ก เรารู้แค่ว่าเขาเสียสละชีวิตเพื่ออะไร เราก็ไม่ได้รู้เรื่องราวมากมายเท่าไหร่ แต่เหตุการณ์นั้นมันติดตัวเรามาจนถึงทุกวันนี้เลยนะ เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับเรามาก ๆ แล้วอุดมการณ์ของคุณสืบที่ถูกส่งต่อมานั้น มันคือสิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนมาทำงานที่นี้ อันนี้มันคือจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เราต้องการทำให้กับมูลนิธิสืบฯ เลยค่ะ
ในอนาคตคุณนีลอยากจะทำโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกมั้ย
มีค่ะ นีลตั้งใจว่าจะทำโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมแบบนี้ปีละหนึ่งครั้ง โครงการแรกนีลก็เริ่มทำมาตั้งแต่ปีแรกที่นีลทำ NFT นีลก็จะทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทำไม่ไหวเลยค่ะ
ส่วนเรื่องจะทำอะไร…ตอนนี้ก็ยังคิด ๆ อยู่ค่ะ มีหลายอย่างมากที่อยากจะทำ ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ อย่างพวกแมลง หิ่งห้อย จนไปถึงช้างเลย แต่ก็คิดหนักพอสมควร เพราะนีลมองว่างานศิลปะหนึ่งชิ้นก็ถือว่าเป็นการสร้างขยะเลยนะ นีลจึงกำลังวางแผนอยู่ว่า จะทำงานศิลปะอย่างไรไม่ให้เป็นการสร้างขยะดี
ในตอนนี้ก็เริ่มบ้างแล้วค่ะ เอากระดาษเก่า ๆ ไปย่อยทำเป็นชิ้นงานอะไรสักอย่าง เพื่อเอาไปขายหรือระดมทุนต่อได้ ซึ่งมันกำลังอยู่ในช่วงทดลองค่ะ
“ในอนาคตเราเชื่อว่าจะได้เห็นลายเส้นสีน้ำเงินโลดแล่นอยู่บนโลกศิลปะและธรรมชาติอีกมากมายแน่นอน”
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ