เมื่อโรคถามหา การรักษาจึงเป็นทางออก คุยเรื่องสุขภาพ ผู้พิทักษ์ป่า กับ พ.ญ.วรางคณา ทองคำใส ผู้ที่เชื่อว่า “คุณจะรักษาป่าได้ คุณต้องดูแลพวกเขาก่อน”

เมื่อโรคถามหา การรักษาจึงเป็นทางออก คุยเรื่องสุขภาพ ผู้พิทักษ์ป่า กับ พ.ญ.วรางคณา ทองคำใส ผู้ที่เชื่อว่า “คุณจะรักษาป่าได้ คุณต้องดูแลพวกเขาก่อน”

เมื่อโรคถามหา การรักษาจึงเป็นทางออก คุยเรื่องสุขภาพ ผู้พิทักษ์ป่า กับ พ.ญ.วรางคณา ทองคำใส ผู้ที่เชื่อว่า “คุณจะรักษาป่าได้ คุณต้องดูแลพวกเขาก่อน”

“เมื่อวานเป็นยังไงบ้าง หลับสบายดีรึเปล่า” คำถามหนึ่งที่ผู้เขียนมักได้ยินบ่อย ๆ เมื่อไปหาหมอที่โรงพยาบาล คงรู้สึกดีไม่น้อยหากมีคนคอยถามไถ่คุณ แม้จะเป็นเพียงหน้าที่ของเขาก็ตาม 

สำหรับคนเมืองอย่างเราแล้ว คงไม่ใช่เรื่องยากอะไร หากจะไปพบหมอเมื่อยามเจ็บป่วย นั่งรถไฟฟ้าเพียงไม่กี่สถานีก็เป็นอันถึงที่หมาย บางคนก็นั่งรถเมล์หรือไม่ก็รถแท็กซี่ แม้จะต้องเจอกับรถติดบ้าง แต่ก็ถึงโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย

การเข้าถึงการรักษาพยาบาล คือสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ แต่สำหรับบางพื้นที่หรือคนบางกลุ่มแล้ว การจะไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายมากนัก เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพผู้พิทักษ์ป่าและชุมชนโดยรอบพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ บ้านโละโคะ บ้านป่าหมาก และบ้านป่าคา อ.โกสัมพีนคร จ.กำแพงเพชร

บรรยากาศการทำงานของผู้เขียนในครั้งนี้เปลี่ยนไปจากการลงพื้นที่กว่าทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะครั้งนี้มีทีมแพทย์จากสภากาชาดร่วมด้วย วงการอนุรักษ์กับวงการทางการแพทย์นั้นต่างก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนรู้สึกเหมือนกันก็คือ วันนี้โลกของเราเจ็บปวดมามากพอแล้ว เราจะทำอย่างไรให้โลกใบนี้ได้อยู่กับเราไปนาน ๆ 

เราเริ่มรู้สึกว่าปัญหาเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนเริ่มรุนแรงขึ้น การตัดไม้ทำลายป่าเริ่มมีมากขึ้น ถ้าเรามีส่วนในการให้กำลังใจกับผู้ที่ดูแลรักษาป่า ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการดูแลสุขภาพ เราเลยอยากมาเน้นกับผู้พิทักษ์ป่าและชุมชนโดยรอบ ” พ.ญ.วรางคณา ทองคำใส

 

“คนในเมืองอย่างเรา ได้ประโยชน์จากการที่เขาดูแลรักษาป่า และการดูแลสุขภาพของผู้พิทักษ์ป่า ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เราพอจะทำได้” ใจความหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับจาก พ.ญ.วรางคณา ทองคำใส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุแพทย์ และแพทย์ทางเลือกฝังเข็มประยุกต์ หัวหน้าหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ สํานักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย 

ภารกิจหลักของสํานักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ คือการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแบบครบวงจร ทั้งการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัย การจัดการขณะเกิดภัย และการฟื้นฟูบูรณะสู่ภาวะปกติ รวมถึงการบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลในการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์และบุคคลากรทางการแพทย์  

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจสุขภาพผู้พิทักษ์ป่าและชุมชนในครั้งนี้มีตั้งแต่ตรวจโรคทั่วไป การแพทย์ทางเลือก (ฝังเข็มประยุกต์) การบริการด้านทันตกรรม ให้ความรู้เรื่องสุขศึกษา มอบสิ่งของเครื่องใช้ รถข็น ให้กับผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ รวมถึงตู้ยาสามัญประจำบ้านให้กับหน่วยพิทักษ์ป่า

พ.ญ.วรางคณา ทองคำใส หัวหน้าหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ สํานักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย

“ปัญหาสุขภาพ” ที่มาพร้อมกับภาระหน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่า

ใน 4 วันที่ผ่ามา (28-31 ต.ค.62) มีผู้พิทักษ์ป่าเข้ามาดูแลรักษา มักจะเป็นเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้อ อาจจะมาด้วยอาการปวดคอ ปวดไหล่ ปวดเข่า คิดว่ามาจากการทำงาน จากการสอบถามทราบว่าต้องแบกสัมภาระหนัก 20-30 กิโลกรัม เพื่อที่จะเดินทางไกล มีบางคนก็ปวดไหล่จนยกไหล่ไม่ขึ้น รวมไปถึงอาการเรื่องข้อเข่าเสื่อม ความน่ากังวลของโรคปวดเมื่อย ถ้าเราปล่อยให้เป็นนาน ๆ มันอาจจะส่งผลทำให้โครงสร้างเราไม่สมดุล บางคนที่มาอาจจะมีปัญหาเรื่องปวดไหล่แล้วพอปวดไปนาน ๆ ไหล่ติด ยกไหล่ไม่ขึ้นก็จะทำให้การใช้มือข้างนั้นไม่สะดวก หรือบางคนที่มีอาการปวดเข่า ปวดหลังก็จะทำให้ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ 

อีกเรื่องหนึ่งที่เจอเยอะก็คือปัญหาเรื่องทันตกรรม เนื่องจากผู้พิทักษ์ป่าต้องอยู่ในป่านาน ๆ แล้วการออกมารับบริการในเมืองค่อนข้างยาก ก็จะเจอปัญหาเรื่องฟันผุ หินปูน เมื่อหินปูนมีการสะสมมาก ๆ ก็จะทำให้เป็นโรคเหงือก อาจจะทำให้มีการสูญเสียฟันไปได้ ถ้าเกิดว่าฟันหายไปก่อนวัยอันควร การเคี้ยวอาหารหรือการบดเคี้ยวมันก็น่าจะเสียไป จะทำให้การดูดซึมการย่อยอาหารได้ไม่ดี ส่งผลต่อสุขภาพตามมาทีหลังได้ 

โรคแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในระยะเฉียบพลันไม่ได้อันตรายถึงขนาดนั้น แต่ก็จะมีในบางกรณี เช่น บางคนได้รับแผลแล้วไม่ได้ดูแลเรื่องความสะอาดทันที หรือไม่ได้ฉีดวัคซีนกันบาดทะยักก็อาจจะส่งผลได้ แต่โรคทางกล้ามเนื้ออาจจะส่งผลในระยะยาวมากกว่า

 

เมื่อโรคถามหา การรักษาจึงเป็นทางออก “บรรเทาอาการปวดเมื่อยด้วยการฝังเข็ม”

การฝังเข็มถือว่าเป็นการแพทย์ทางเลือกอย่างหนึ่ง เป็นการปรับสมดุลของร่างกาย ลดอาการปวด การฝังเข้าไปในบางจุดจะทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีบางอย่างเพื่อที่จะเยียวยาตัวเอง อย่างคนไข้ที่ผ่านมาอาจจะมีเรื่องปวดศรีษะจากการทำงาน ปวดหัวไมเกรน พอเราฝังเข้าไปเขาก็จะรู้สึกผ่อนคลายและสมดุลมากขึ้น อาจจะทำให้นอนหลับดีขึ้น เลือดดีขึ้น 

ถ้าเป็นเรื่องปวดหลัง ปวดไหล่ เมื่อฝังเข้าไปก็จะช่วยให้เลือดลมเดินดีขึ้น ไม่ติดขัด ช่วยลดอาการอักเสบลงได้ ถ้าการเจ็บปวดลดลงก็จะช่วยให้เขาลดการใช้ยาแก้ปวด บางคนใช้ยาแก้ปวดติดต่อกันนาน ๆ อาจจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องโรคกระเพาะอาหารได้ หากเราไม่ได้ไปตรวจหาสาเหตุก็อาจจะทำให้โรครุนแรงมากขึ้น 

การฝังเข็มเป็นศาสตร์เดียวกันกับแพทย์แผนจีน เป็นการฝังเข็มประยุกต์เพราะเราเปลี่ยนมาใช้เข็มที่มาจากประเทศญี่ปุ่น เพราะมันเหมาะในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ด้วยจำนวนคนไข้ที่มีปริมาณมากเราก็เลยใช้เข็มชนิดนี้เพราะเราไม่ได้ใช้ไฟฟ้ากระตุ้น คนไข้ที่เข้ารับการบริการบางคนฝัง 1-2 ครั้ง ก็จะได้รับคำแนะนำว่านอกจากการกินยาแก้ปวดแล้วมันยังมีศาสตร์อื่น ๆ เช่น การฝังเข็ม นวดกดจุด ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้

 

เมื่อโลกของเราเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ความห่วงใยจึงส่งถึงกัน

ผู้พิทักษ์ป่าเขามีใจในการที่อยากดูแลปกป้องรักษาผืนป่า จนบางทีเขาอาจจะไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเอง บางคนเดินเข้าป่าหลายวัน อาจจะมีปัญหาเรื่องของการขาดน้ำ ขาดเกลือแร่ หรือได้รับสารอาหารที่ไม่เหมาะสม อันนี้ก็อยากให้กลับมาคำนึงถึงสุขภาพตัวเองด้วย อย่าหักโหมจนเกินไป หรือถ้าเป็นอะไรไปก็ควรที่จะเข้ารับการตรวจหรือรักษาก่อน

 

 


บทความ/ภาพ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร