ภาพรวมประชากรช้างป่าในพื้นที่อนุรักษ์ถ้าเทียบกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน บ้านเราถือว่าอยู่ในสถานภาพค่อนข้างดี ในเรื่องของขนาดประชากรที่ยังคงที่เมื่อเทียบกับตัวเลขเมื่อ 14 ปีที่แล้วที่ได้มีการศึกษาเอาไว้ อยู่ที่ประมาณ 3000-3500 ตัว ซึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก มีแนวโน้มค่อนข้างคงที่
ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวน่าจะมีประชากรช้างต่ำกว่า 100 ตัว ประกอบกับพื้นที่ป่าในประเทศเริ่มลดลง ส่วนประเทศเวียดนามอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์แล้ว
แม้ช้างป่าในประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในสถานะวิกฤติ แต่ปัญหาหนึ่งที่เราพบเจอนั่นก็คือปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เนื่องจากช้างมีพฤติกรรมออกหากินประชิดขอบป่ามากขึ้น อีกทั้งยังพบว่าประเทศแถบภูมิภาคเอเชียก็ประสบปัญหาในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
ชวนคุยกับดร.พิเชฐ นุ่นโต ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชีย IUCN SSC และหัวหน้าโครงการการวิจัยและพัฒนาระบบเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าอย่างสันติ บนฐานพลเมืองมีส่วนร่วมและงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.) ถึงแนวทางแก้ปัญหาช้างป่าที่ออกมาประชิดขอบป่ามากขึ้น
ในงานวิจัยจากต่างประเทศหลาย ๆ ชิ้นพบว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ช้างป่าออกมาประชิดขอบป่าเพิ่มขึ้นเกิดจากปัจจัยหลักสองส่วน คือปัจจัยภายนอก ที่เกิดจากเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์พื้นที่ โดยการพัฒนาที่ผ่านมาทำให้พื้นที่เกษตรอยู่ติดชิดกับขอบป่า และอาจซ้อนทับกับเส้นทางหากินของช้างป่าในอดีต อีกปัจจัยคือปัจจัยภายในที่เกิดจากตัวช้าง ช้างที่มีปัญหาส่วนมากคือช้างตัวผู้ เนื่องจากช้างตัวผู้ ต้องหากินเพื่อแข่งขันกันสืบพันธุ์ ซึ่งเป็นแรงขับภายใน
ดังนั้นเวลาที่เขาเดินออกมาเจอแหล่งอาหาร เขาต้องแข่งขันด้วยการกินพืชพลังงานสูง ได้แก่ พืชผลทางการเกษตรที่เราปลูก เช่น อ้อย กล้วย ทุเรียน ฯลฯ การกินพืชเหล่านี้ก็เพื่อที่จะให้ตัวโตมากที่สุดและพร้อมในการแข่งขันเพื่อให้ได้สืบพันธุ์กับช้างตัวเมีย
ในอีกมุมหนึ่ง เราไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้หรือลดผลผลกระทบได้อย่างเหมาะสม เป็นเพราะเรายังขาดการศึกษา ทั้งในเชิงประชากร พฤติกรรม และการจัดการของชุมชนและรัฐที่ผ่านมา จึงไม่สามารถจัดการกับปัญหาคนกับช้างป่าได้อย่างจริงจัง และตรงเป้า
เราจะแก้ปัญหาช้างที่ออกมาประชิดขอบป่าด้วยวิธีไหนบ้าง ?
ดร.พิเชฐเล่าให้ฟังว่าจริง ๆ แล้วแนวทางที่ยั่งยืนที่สุดคือการเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับช้าง แต่ในบางพื้นที่ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ ด้วยชุมชนและปัจจัยต่าง ๆ แต่บางพื้นที่ก็ต้องใช้ในเรื่องของการทำสิ่งกีดขวาง หรือรั้ว และมันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางพื้นที่มันจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ขึ้นอยู่กับว่าช้างในพื้นที่ตรงนั้นมีพฤติกรรมอย่างไร
การแก้ปัญหาช้างป่าด้วยการย้ายช้างไปยังผืนป่าอื่น ๆ ได้ผลมากน้อยแค่ไหน ?
การย้ายช้างไปยังพื้นที่ป่าอื่น ๆ มีบทเรียนจากประเทศศรีลังกา ได้ทำการย้ายช้างแต่ช้างกลับมีพฤติกรรมในการเดินกลับที่เดิม บางตัวก็มีการเดินหลงเข้าไปในชุมชนแล้วก็เกิดปัญหากับชุมชน ทางมาเลเซียเองเขาก็มีการย้ายช้างแล้วก็พบว่ามีปัญหากับชุมชนที่อยู่อาศัยในป่าซึ่งการย้ายมันทำได้ แต่ก็ต้องแน่ใจว่าพื้นที่นั้นมันสามารถที่จะรองรับช้างได้ และชุมชนมีความเข้าใจและยอมรับได้ว่าช้างจะไปอยู่ตรงนั้น ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องมีการศึกษาอีกเยอะ
สำหรับเคสในประเทศไทยเท่าที่มีการศึกษาก็คือที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีการย้ายไปแต่พบว่าช้างมีการเดินออกมา เช่น สีดอแดง สีดอแก้ว เพราะช้างจะรู้ว่าแหล่งอาหารมันอยู่ตรงไหนบ้าง สุดท้ายก็ต้องมีการกักบริเวณเพื่อไม่ให้เขาออกไปได้ หรือเคสที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา มีการย้ายจากฮาลาบาลาไปอีกพื้นที่หนึ่งใกล้ ๆ คือเขตบางลางก็พบว่าช้างได้เดินกลับมาเขตฮาลาบาลาเหมือนเดิม
วิธีนี้อาจจะใช้ไม่ได้ทุกตัวเพราะพฤติกรรมของช้างป่าต้องเดินเคลื่อนที่หากินเป็นธรรมชาติของเขา มีการงานวิจัยแบ่งกลุ่มและบุคลิคภาพช้างป่าจากพฤติกรรมการเดินหากิน โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ชอบเดินสำรวจ เดินหากินเป็นระยะทางไกล ๆ กับกลุ่มพวกที่เดินสำรวจหากินในวงแคบ เมื่อมองในพื้นที่ขนาดใหญ่ จึงเป็นกลุ่มค่อนข้างอยู่กับที่ ซึ่งถ้าเราไปจับช้างป่าที่อยู่ในกลุ่มชอบเดินสำรวจไปอยู่ในพื้นที่อื่น เขาก็จะมีพฤติกรรมแบบนั้น คือเดินไปเรื่อยและอาจเดินกลับมาที่เดิม
ถ้ามีการศึกษา ติดตาม ช้างป่าแต่ละกลุ่มแล้วพบว่าเขาน่าจะเป็นกลุ่มที่ชอบอยู่กับที่ เดินไปไม่ไกลมาก การย้ายอาจจะย้ายได้ผล ดังนั้นการศึกษาพฤติกรรมการเดินหากินของช้าง ขนาดพื้นที่อาศัยของช้างป่าจึงมีความสำคัญมากต่อการวางแผนและตัดสินใจจัดการเรื่องการย้ายช้างป่า หรือแม้กระทั่งประเด็นเรื่องการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ที่ในอนาคตเราต้องรู้พฤติกรรมช้างป่าในระดับตัวตน
“การแก้ปัญหาด้วยการย้ายช้างจากพื้นที่หนึ่งไปอีกพื้นที่หนึ่งยังไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดซะทีเดียว สำหรับประเทศไทยก็ต้องดูกันต่อว่า ถ้าย้ายไปแล้วมันจะมีผลกระทบอะไรตามมาอีกบ้าง ทั้งในเชิงของพฤติกรรมช้าง ประชากรช้าง และมิติทางสังคมว่าด้วยการยอมรับของคนในชุมชนใกล้เคียง”
การย้ายช้างจากป่าหนึ่งไปอีกป่าหนึ่งมันส่งผลกระทบต่อคนและช้างอย่างไรบ้าง ?
ผลกระทบจากการย้ายช้างป่าจากป่าหนึ่งไปอีกป่าหนึ่ง อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน เนื่องจากเส้นทางที่ช้างป่าหากินเส้นใหม่ในป่าหรือขอบป่าอาจเป็นบริเวณที่ชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์ เช่น เดินทางข้ามระหว่างหมูบ้านในป่า หรือเก็บหาของป่า อีกส่วนที่พบเห็นคือ ช้างที่มีพฤติกรรมเคยออกนอกป่าแล้ว เมื่อปล่อยไปกลุ่มป่าอื่นก็จะมีพฤติกรรมคล้ายเดิม คือ จะชอบเดินเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรม หรือพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชน เดินไปสำรวจกินโน่นกินนี่ เช่น เกลือ น้ำปลา หรือน้ำในโอ่ง ช้างป่าพวกนี้ปรับตัวเกิดความคุ้นชินกับมนุษย์แล้ว จะเป็นช้างที่ไม่ค่อยกลัวคน พอเขาเดินเข้าไปในชุมชนบ่อย ๆ เขาก็จะเริ่มชินกับคน ชาวบ้านที่ค่อนข้างกลัวช้าง เขาก็อาจจะไม่ชอบมันก็จะมีปัญหาตามมาได้
ภาพรวมสถานการณ์ช้างป่าในประเทศไทย
ดร.พิเชฐเล่าว่า ปัจจุบันมีการจัดการค่อนข้างดีเพียงแต่ว่าตอนนี้ต้องเร่งศึกษาวิจัยในประเด็นที่มันยังมีช่องว่างของความรู้อยู่ เพราะปัญหาในเรื่องของความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า หรือการเติบโต ลดลงของประชากรช้างในบางพื้นที่ ปัญหามันเคลื่อนไปเร็วกว่าที่เราจะศึกษาวิจัย ดังนั้นในช่วงนี้หรืออนาคต รัฐหรือเอกชนสามารถที่จะสนับสนุนในเรื่องของการทำวิจัยช้าง การอนุรักษ์ช้าง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างภาคประชาชนในการทำงาน ทั้งในถิ่นอาศัยและในกรงเลี้ยงให้มากขึ้น แนวทางวิจัยและพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมจะทำให้การจัดการช้างบ้านเราพัฒนามากขึ้นกว่าในปัจจุบัน และเป็นโมเดลที่ดีให้กับประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย
บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ทรงวุธ ต๊ะน้อย